หลังจากปิดปากเงียบ ปล่อยให้นักสืบชาวเน็ตนั่งคาดเดากันไปต่างๆ นานามาเดือนกว่าว่ามีนาฬิกากี่เรือน ราคาเท่าไร แต่ละเรือนมาจากไหน และหนักข้อมือไหม เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพิ่งยอมออกมาให้สัมภาษณ์ว่า นาฬิกาหรูทั้งหลายล้วนแล้วแต่ยืมมา ผลัดกันวนใส่กับมิตรสหาย

อันที่จริงพอเป็นเรื่องเครื่องประดับหรือเครื่องแต่งกายแล้ว คงไม่ได้มีแต่พลเอกประวิตรเท่านั้นที่ยืมของคนอื่นมา เพราะนับตั้งแต่หัวจรดเท้า คำศัพท์ภาษาอังกฤษก็เที่ยวหยิบยืมคนอื่นมาใช้ไม่ใช่น้อย แถมไม่ได้ยืมจากภาษาเดียว แต่หยิบมาจากภาษาอื่นไปทั่ว

ไปดูกันดีกว่า ว่ามีเสื้อผ้าอาภรณ์ชิ้นไหนที่ภาษาอังกฤษไม่ต้องแสดงในรายการทรัพย์สินเพราะว่ายืมมาจากคนอื่น

กระโปรง ยืมจากชาวนอร์ส

คำว่า skirt ที่แปลว่ากระโปรง ไม่ใช่คำภาษาอังกฤษโดยกำเนิด แต่หยิบยืมมาจากคำว่า skyrta ในภาษานอร์สเก่าสมัยที่ชาวเดนิชยกทัพมาตีและตั้งรกรากบนเกาะอังกฤษ หมายถึงเครื่องนุ่งห่มท่อนล่าง ใช้กับเครื่องแต่งกายของผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่

ที่น่าสนใจก็คือ อันที่จริงแล้วในภาษาอังกฤษเก่า มีคำที่เป็นแฝดคนละฝากับ skyrta อยู่แล้ว นั่นคือคำว่า scyrte ความแตกต่างอยู่ตรงที่คำว่า scyrte ในภาษาอังกฤษเก่าไม่ได้ใช้หมายถึงแต่กระโปรงของผู้หญิง แต่หมายถึงเครื่องนุ่งห่มขนาดสั้น ใส่ได้ทั้งชายหญิง และพัฒนามาเป็นคำว่า shirt หรือเสื้อเชิ้ตที่เราใส่กันในปัจจุบันนี่เอง

เนื่องจากสองคำความหมายไม่ทับกัน คำหนึ่งใส่ท่อนบน คำหนึ่งใส่ท่อนล่าง จึงไม่มีคำไหนถูกเบียดตกกระป๋องและรอดชีวิตมาได้ทั้งคู่จนถึงปัจจุบัน

กางเกง ยืมจากชาวอิตาเลียน

คำว่า pants ที่หมายถึง กางเกงขายาว ในภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน หรือหมายถึง กางเกงใน ในภาษาอังกฤษแบบบริติช ก็หาใช่คำอังกฤษแท้ไม่

ส่วนที่มาที่ไปนั้น จะต้องย้อนความกลับไปไกลถึงนักบุญรูปหนึ่งในคริสต์ศาสนา นามว่า Saint Pantaleon (บ้างก็ว่าชื่อ Panteleimon) ด้วยความที่นักบุญนี้เป็นนิยมในเวนิซ มีผู้คนสักการะมากมาย ชื่อของนักบุญจึงเป็นที่แพร่หลายจนกลายมาเป็นชื่อตัวละคร Pantalone ซึ่งเป็นตัวละครชายแก่ ใส่แว่นสวมรองเท้าแตะ พบได้บ่อยๆ ในละครตลกของอิตาลียุคนั้น

แต่จุดเด่นของตัวละครนี้ คือจะใส่กางเกงขายาวรัดรูป ไปๆ มาๆ กางเกงลักษณะคล้ายกันนี้ได้รับความนิยมในอังกฤษในเวลาต่อมา ก็เลยเรียกกางเกงแบบนี้ว่า pantaloons ตามชื่อตัวละคร ภายหลังชาวอเมริกันนำไปเรียกสั้นๆ เหลือเพียง pants และกลายมาใช้หมายถึงกางเกงขายาวอย่างในปัจจุบัน

ทั้งนี้ คำว่า pants นี้ยังเป็นที่มาของ panties ที่แปลว่า กางเกงในผู้หญิง และ pantyhose ที่แปลว่า ถุงน่อง อีกด้วย

เสื้อทักซิโด ยืมจากชนเผ่าพื้นเมืองในอเมริกา

คำว่า tuxedo หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า tux นี้ ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่าเสื้อทักซิโด หมายถึงเสื้อนอกของผู้ชายลักษณะกึ่งทางการ แม้คำนี้พูดขึ้นมาแล้วจะนึกถึงงานเลี้ยงทางการของเหล่าผู้ดี แต่อันที่จริงแล้วกลับมีที่มาจากชนพื้นเมืองของอเมริกา

เรื่องมีอยู่ว่าในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เหล่าสุภาพบุรุษทั้งหลายเริ่มต้องออกมาทำนู่นนี่นอกบ้านเยอะขึ้น แต่จะให้ใส่เสื้อสูททางการแบบเดิมที่มีหางยาวลงมาถึงช่วงข้อพับหลังเข่าทุกวันก็ไม่สะดวก ก็เลยมีคนแหวกขนบ ด้วยการทำเสื้อสูทแบบไม่มีหางขึ้นมา แต่กระนั้นก็ยังไม่ค่อยมีคนกล้าใส่ จนกระทั่งมีกลุ่มลูกคุณหนูชาวนิวยอร์ก ตัดสินใจกล้าฉีกธรรมเนียมการแต่งกายและใส่เสื้อสูทไม่มีหางไปออกงาน จนลงข่าวในหนังสือพิมพ์เป็นที่ฮือฮา

ด้วยงานนี้จัดที่ Tuxedo Park อันเป็นหมู่บ้านของเหล่าผู้มีอันจะกินในนิวยอร์ก คนก็เลยเริ่มเรียกชื่อเสื้อแบบนี้ว่าเสื้อทักซิโดตามชื่อหมู่บ้าน

แต่ชื่อละแวกนี้ แท้จริงแล้วมาจากคำว่า tucsedo ในภาษาของชนเผ่าพื้นเมืองในรัฐเดลาแวร์ชื่อ เลนาพี (Lenape) แปลว่า แม่น้ำอันคดเคี้ยว พอผู้ล่าอาณานิคมเข้ามารุกรานและยึดพื้นที่นี้ก็เลยเรียกพื้นที่นี้ว่า Tuxedo นั่นเอง

บิกีนี ยืมจากชาวหมู่เกาะมาร์แชลส์

คำว่า bikini ที่หมายถึง ชุดว่ายน้ำสองชิ้น แม้จะขึ้นต้นว่า bi- ที่ชวนให้คิดว่าต้องหมายถึง สอง แน่เลย แต่อันที่จริงแล้ว คำนี้มีที่มาจากชื่อเกาะชื่อ Bikini ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวเยอรมันใช้เรียกเกาะที่เดิมชาวหมู่เกาะมาร์แชลส์เรียกว่า Pikkini

ที่ชื่อเกาะกลายมาเป็นชุดว่ายน้ำได้ ไม่ใช่เพราะคนบนเกาะนี้ใส่ชุดแบบนี้แต่อย่างใด แต่เพราะสหรัฐอเมริกาทดลองระเบิดปรมาณูที่เกาะแห่งนี้ในปี 1946 เป็นข่าวฮือฮาไปทั่วโลก นักออกแบบที่คิดค้นชุดว่ายน้ำสองชิ้นแบบนี้ขึ้นมาอยากให้กระแสตูมตามแบบระเบิดปรมาณูบ้าง ก็เลยเอาชื่อเกาะนี้มาใช้ เป็นที่มาว่าทำไมชุดว่ายน้ำแบบนี้ถึงเรียกว่า bikini

ผ้าเช็ดหน้า ยืมจากชาวฝรั่งเศส

ผ้าเช็ดหน้าในภาษาอังกฤษเรียกว่า handkerchief คำนี้ก็ไม่ใช่คำอังกฤษแท้ทั้งคำ ประกอบขึ้นจาก hand ที่เป็นคำอังกฤษดั้งเดิม มารวมกับ kerchief

คำว่า kerchief นี้ ภาษาอังกฤษยืมมาจากภาษาฝรั่งเศสเก่าอีกที ประกอบขึ้นจาก couvrir ที่แปลว่า ปิดหรือคลุม (มาจาก cooperire ในภาษาละติน) มารวมกับ chief ที่แปลว่า ศีรษะ (มาจาก caput ในภาษาละตินอีกที) ได้ความหมายว่า ผ้าที่ไว้ใช้คลุมศีรษะ พอมารวมกับ hand ก็เลยหมายถึง ผ้าที่พกติดตัว หยิบถือด้วยมือได้โดยสะดวก เป็นที่มาของผ้าเช็ดหน้านั่นเอง

อีกอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับคำนี้ คือ มาจากรากเดียวกันกับคำว่า curfew ด้วย เพราะคำว่า curfew มาจาก couvrir มารวมกับ feu ในภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า ไฟ หมายถึงการดับฟืนไฟ มาจากที่ในสมัยพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 ทรงออกกฎว่า พอถึงสองทุ่ม ให้เคาะระฆังส่งสัญญาณให้บ้านทุกหลังดับฟืนไฟให้หมดเพื่อป้องกันอัคคีภัย ต่อมาภายหลังจึงกลายมาหมายถึงคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถานยามวิกาล

แต่กระนั้น คำว่า watch ที่หมายถึง นาฬิกา เป็นคำอังกฤษเก่าแท้ๆ ไม่ได้ยืมใครมาเหมือนบิ๊กป้อมแน่นอน

 

บรรณานุกรม

  • http://www.etymonline.com/
  • Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.
  • Crystal, David. The Story of English in 100 Words. Profile Books: London, 2012.
  • Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of English down the Ages: Words & Phrases Born out of Historical Events Great & Small. Kyle Cathie: London, 2005.
  • Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.
  • The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.
Tags: , , , , , , , , ,