ต้องสารภาพกันตรงๆ เลยว่าผู้เขียนห่างเหินจากการชม ‘ละครเวทีนักศึกษา’ มาหลายปีแล้ว ทั้งที่สมัยก่อนติดตามดูเป็นประจำต่อเนื่อง โดยเฉพาะละครสถาปัตยศาสตร์ จุฬาฯ, นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เหตุผลคือ ในช่วงแรกที่เริ่มดูละครเวทีใหม่ๆ (ซึ่งก็เป็นเรื่องโบราณนานเกินทศวรรษแล้ว) ก็รู้สึกเพลิดเพลินไปกับละครพวกนี้ ละครนักศึกษาส่วนใหญ่จะเป็นแนวตลกยิงมุกกันรัวๆ หรือแม้ว่าเส้นเรื่องหลักจะซีเรียสแค่ไหนก็จะต้องหาที่ทางใส่มุกตลกเข้ามาจนได้ ทว่าเมื่อดูละครพวกนี้ไปสักห้าปี ก็รู้สึกถึงความซ้ำซากวนเวียนในความตลก แถมยังเสียดายที่หลายครั้งละครเนื้อหาดีๆ จะต้องถูกทอนอารมณ์ด้วยความขำขัน อีกทั้งต้องมีตอนจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งประนีประนอมอยู่ร่ำไป
ดังนั้นผู้เขียนจึงรู้สึกปลื้มใจเสมอ หากมีละครนักศึกษาสักเรื่องฉีกแนวไปจากความเบาสมองหรือลงลึกถึงประเด็นที่จริงจัง ตัวอย่างผลงานประเภทนี้เช่น ดาลิต ผู้เป็นที่รัก (2010, วารสารศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์) ที่ว่าด้วยการปะทะทางชนชั้น หรือ วงกฎ (2012, นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ) เล่าถึงตัวละครที่ถูกตีกรอบด้วยกฎเกณฑ์และการถกเถียงแนวคิดทางการเมืองในแบบต่างๆ
อันที่จริงการทำละครตลกไม่ใช่เรื่องผิด แต่ผู้เขียนก็แอบสงสัยว่าที่เลือกนำเสนอเช่นนั้นคือความตั้งใจอยากทำจริงๆ หรือทำไปเพราะเป็นแนวทางที่สืบต่อกันมา
ช่วงหลังมาละครนักศึกษาที่ผู้เขียนเลือกดูจึงจะเป็นผลงานที่ทีมแสดงเป็นนักศึกษา แต่มีอาจารย์หรือนักการละครอาชีพเป็นผู้กำกับ เพราะดูจะเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยกว่า งานที่ประทับใจในกลุ่มนี้ก็ เช่น ระเบียงโลกย์ The Balcony (2012) ละครเวทีว่าด้วยตัณหาราคะ กำกับโดย พรรณศักดิ์ สุขี แห่งมหาวิทยาลัยกรุงเทพ, ไต้ฝุ่น The Remains (2013) ของศิลปกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่มี ธีระวัฒน์ มุลวิไล เป็นผู้กำกับรับเชิญและเล่าถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา หรือล่าสุด 21 3/4 (2017) ละครมิวสิคัลที่กำกับโดย นพีสี เรเยส (ดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล) ที่แม้เนื้อเรื่องจะเกี่ยวกับความว้าวุ่นของหนุ่มสาวที่ไม่ได้มีอะไรลึกซึ้ง แต่การร้องเพลงก็ไพเราะน่าประทับใจ
ดังนั้นครั้งแรกที่ผู้เขียนผ่านตาอีเวนต์เฟซบุ๊กของละครเวทีเรื่อง WITCH TO HENRY ของคณะ Blitz Theater ก็ออกจะลังเลอยู่ไม่น้อย สืบข้อมูลมาได้ว่านี่เป็นกลุ่มละครที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของเหล่านิสิตนักศึกษา แถมนี่ยังเป็นผลงานเรื่องแรกของคณะนี้ด้วย แต่ท้ายสุดผู้เขียนก็ตัดสินใจไปดูด้วยสองเหตุผล หนึ่ง—โปสเตอร์และภาพนิ่งที่สวยงาม ดูตั้งใจทำ ไม่มักง่าย สามารถดึงดูดผู้ชม และสอง—โทนของละครที่ดูมืดหม่น และน่าจะมีประเด็นทางการเมือง
WITCH TO HENRY จัดแสดงที่ชั้นสองของร้าน Let’s Say Cafe เป็นห้องเปล่าที่ไว้จัดกิจกรรมหลากหลายทั้งเล่นบอร์ดเกมหรืองานเสวนา ดังนั้นผู้เขียนเลยไม่ได้คาดหวังอะไรกับโปรดักชันของละครเรื่องนี้นัก เดินเข้าไปก็เห็นต้นไม้จำลองที่เป็นอุปกรณ์ประกอบฉากหนึ่งเดียวของละครเรื่องนี้ นอกนั้นเป็นการจัดไฟบริเวณพื้นและเพดาน
ไม่ได้มีการระบุชัดว่าเรื่องราวของ WITCH TO HENRY เกิดขึ้นในสมัยใดหรือเป็นโลกจินตนาการ แต่บรรยากาศคล้ายกับช่วงยุคกลางที่ยังมีอัศวินและการล่าแม่มด ตัวละครหลักของเรื่องคือเจ้าชายเฮนรี่แห่งอาณาจักรเอลสินอร์ท ผู้คนอาณาจักรนี้ศรัทธาในพระเจ้าอย่างแรงกล้า พวกเขาเชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้กำหนดทุกสิ่งเอาไว้แล้วและการดำเนินตามเป็นสิ่งสมควรทำ แต่แล้ววันหนึ่งเฮนรี่หลงเข้าไปในป่ามรณะแล้วได้พบกับเฮคาที แม่มดที่เขาเคยมีภาพจำว่าเป็นพวกชั่วร้ายนอกรีต ทว่าเฮคาทีก็ได้ทิ้งประโยคสำคัญให้เฮนรี่ครุ่นคิดว่าเขาควรจะกำหนดชีวิตของเขาด้วยตัวเอง
WITCH TO HENRY มีลักษณะอย่างหนึ่งที่ละครนักศึกษาส่วนใหญ่ล้วนมี นั่นคือการให้นักศึกษาเล่นเป็นตัวละครหลากหลายช่วงวัยรวมถึงบทพ่อแม่ หากเป็นละครตามโรงใหญ่ที่นั่งอยู่ห่างไกลกับนักแสดง ถ้านักแสดงเล่นดีผู้ชมก็คงไม่ตะขิดตะขวงอะไร แต่สำหรับ WITCH TO HENRY ที่นักแสดงอยู่ห่างคนดูไปเพียง 3 ก้าวก็แอบรู้สึกติดขัดเล็กน้อย อย่างไรก็ดี เรื่องวัยไม่ใช่ประเด็นสำคัญ หากแต่นักแสดงบางรายไม่สามารถโน้มน้าวให้เชื่อได้ว่าเขาคือตัวละครนั้นๆ
ส่วนในด้านโปรดักชัน จุดหนึ่งผู้เขียนไม่อาจปล่อยผ่านไปได้จริงๆ คือเรื่องดนตรีประกอบที่หลายฉากก็เบาไป แต่หลายฉากก็ดังทะลุทะลวงเกินความจำเป็น จนกลายเป็นส่วนลดทอนพลังของละครมากกว่าช่วยส่งเสริม ผู้เขียนคิดว่าอาจจะต้องมีการคุมซาวด์ที่แม่นยำกว่านี้ รวมถึงตำแหน่งของลำโพงที่อาจจะตั้งรอบด้าน มากกว่าการวางไว้ตำแหน่งมุมเดียว
อย่างไรก็ดี จุดที่ผู้เขียนรู้สึกชื่นชอบมากของ WITCH TO HENRY คือการเป็นละครพูดด้วยภาษาเจ้าบทเจ้ากลอนตลอดการแสดงที่ยาวเกือบสองชั่วโมง ซึ่งน่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากละครของเชกสเปียร์ (ตัวละครเจ้าชายเฮนรี่มีบางส่วนซ้อนทับกับ Hamlet และแม่มดสามตัวก็น่าจะมาจากเรื่อง Macbeth) ภาษาโวหารแต่ละท่อนล้วนท้าทายและออกเสียงเรียบเรียงได้ยาก แต่นักแสดงส่วนใหญ่ก็ทำได้ไหลลื่นทีเดียว
ยิ่งไปกว่านั้นประโยคบทพูดของ WITCH TO HENRY ไม่ได้เป็นการเล่นโวหารอย่างฉาบฉวย แทบทุกตอนของละครเป็นการถกเถียงเรื่องอุดมการณ์ เช่นความขัดแย้งในจิตใจของเฮนรี่ที่ว่าเขาควรจะยังเชื่อในพระเจ้า หรือควรจะเลือกทางเดินด้วยตัวเอง แม้ว่าละครความยาวสองชั่วโมงจะถือว่านานและเหนื่อยไม่ใช่น้อย แต่การพูด-ถก-ทุ่มเถียงสารพัดของเหล่าตัวละครก็นำพาเราไปสู่จุดหมายปลายทางว่าเหตุใดเฮนรี่จึงเลือกจะเปลี่ยนความเชื่อของตัวเอง
แต่ทั้งนี้ไดอะล็อกที่อัดแน่นด้วยสาระและความคมคายก็กลายเป็บดาบสองคมของ WITCH TO HENRY ผู้เขียนรู้สึกว่าแทบทุกประโยคของละครมีความสำคัญเท่าๆ กันไปเสียหมด พอถึงจุดหนึ่งก็เริ่มสมาธิหลุดลอย ไม่สามารถแปลความประโยคต่อประโยคได้อีกต่อไป ซึ่งผู้สร้างการอาจช่วยเหลือคนดูด้วยการเน้นความสำคัญของบางตอนบางประโยคด้วยวิธีการมากมายที่ไม่ทำให้เป็นการบอกธีมกับคนดูอย่างโต้งๆ เกินไป
ยังมีหลายสิ่งที่น่าขบคิดต่อจาก WITCH TO HENRY เช่น การที่พระราชาสั่งให้กวาดล้างเหล่าแม่มดที่คิดต่างไม่เชื่อในพระเจ้า ก็ดูคับคล้ายคับคลากับเรื่องราวของบางประเทศ หรือตกลงแล้วพระเจ้าในเรื่องนี้คืออะไรกันแน่ มีตัวตนหรือไม่ ใครอยู่เบื้องหลัง หรือเป็นตัวแทนของอะไร ในส่วนนี้ผู้เขียนก็ขอเขียนไว้แบบจางๆ ทำตัวดั่งแม่มดเฮคาทีที่ต้องซ่อนตัวในป่ามืดมิด มิเช่นนั้นอาจได้เดือดร้อนกันหลายฝ่าย
โดยสรุปแล้ว WITCH TO HENRY ไม่ใช่ผลงานที่สมบูรณ์และมีบาดแผลพอสมควร แต่ผู้เขียนก็ชื่นชมในความพยายามของทีมผู้สร้างและนักแสดง โดยเฉพาะการแสดงทัศนะและจุดยืนของตัวเอง (ซึ่งเป็นสิ่งที่ละครนักศึกษาหลายเรื่องไม่มี) ก็หวังอย่างยิ่งว่าจะได้ห็นผลงานชิ้นถัดๆ ไปของคณะ Blitz Theater
** WITCH TO HENRY บทละครและกำกับการแสดงโดย อ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์ แสดงถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2561 ณ Let’s Say Cafe ซอยราชวิถี 3 (BTS อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/events/1325030944296540/
Tags: ละครเวที, WITCH TO HENRY, let's say cafe