ในยุคสมัยที่สังคมเริ่มตระหนักถึงโทษของ ‘Codependency’ หรือภาวะพึ่งพาและยึดติดในความสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว คนรัก หรือเพื่อน อย่างเกินพอดี เมื่อพูดถึงบุคลิกนิสัยแบบ ‘Independence’ หรือความเป็นอิสระ พึ่งพาอาศัยตัวเองได้ ไม่ต้องขึ้นอยู่กับการควบคุมหรือการสนับสนุนของใคร มีภาพที่ฉายชัดขึ้นมาในหัวต่างเป็นไปในเชิงบวก
ทำให้ปัจจุบัน เราจึงเห็นภาพผู้หญิงสมัยใหม่ที่มีหน้าที่การงานมั่นคง มีปากมีเสียงเป็นของตัวเองกว่าสมัยก่อน หรือไม่ก็ภาพของลูกคนหนึ่งที่เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาก จนพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องมาคอยดูแลประคบประหงมอีกต่อไป
ทว่าในขณะเดียวกันการยึดติดที่จะพึ่งพาตัวเองอย่างสุดโต่งเกินไปจนไม่อาจยอมรับความหวังดี ความช่วยเหลือ หรือแรงสนับสนุนของใครได้เลย ก็สามารถกลายเป็นภาวะที่เป็นพิษกับตนเองได้เช่นกัน
ซึ่งบุคลิกนิสัยแบบนี้จะถูกเรียกว่า ‘Hyperindependence’ หรือในอีกชื่อหนึ่งที่อาจช่วยให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งกว่าคือ ‘Toxic Independence’
สัญญาณของนิสัยแบบ Toxic Independence
แม้ว่าแต่ละคนจะแสดงนิสัยดังกล่าวออกมาด้วยวิธีที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ บ้างก็แสดงออกผ่านวาจา บ้างก็ผ่านการกระทำ หรือวิธีการอื่นๆ แต่ก็พอมีสัญญาณเบื้องต้นที่สามารถบอกใบ้ได้ว่า นิสัยของคุณอาจเข้าข่ายบุคลิกนิสัยเช่นนี้ เช่น
– เป็นเพอร์เฟกต์ชันนิสต์ (Perfectionist) กลัวความผิดพลาดอย่างมาก
– ตั้งเป้าหมายหรือรับเอาหน้าที่ความรับผิดชอบที่ดูเกินตัว
– ไม่เชื่อใจให้ผู้อื่นช่วย (ในบางกรณีอาจเกิดจากความรู้สึกเสียศักดิ์ศรี หรืออับอายที่จะร้องขอความช่วยเหลือ)
– รู้สึกต่อต้านรุนแรงเมื่อเผชิญหน้ากับคนที่มีนิสัยพึ่งพาคนอื่นบ่อยๆ
– เก็บเนื้อเก็บตัว ไม่กล้าเปิดใจเล่าเรื่องของตัวเองให้ใครฟัง
– ไม่ค่อยมีครอบครัวหรือคนสนิทให้พึ่งพาหรือปรึกษา
– มีปัญหาเรื่องการรักษาความสัมพันธ์ให้ยั่งยืนในระยะยาว
– มีเรื่องให้เครียดมากมายและเผชิญภาวะหมดไฟอยู่บ่อยๆ
– มีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวลร่วมด้วย
Toxic Independence เกิดขึ้นจากอะไร
เมื่อไรก็ตามที่คนเราประสบกับเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดแผลใจ สมองจะกระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองด้วยกลไกการป้องกันตัวเอง (Defense Mechanism) เพื่อให้สามารถหลีกหนีจากสภาพการณ์ที่คุกคามหรือไม่พึงปรารถนาได้ชั่วขณะ
แต่ด้วยสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์ที่จะต้องคอยสอดส่องอันตรายอยู่เสมอ บางครั้งก็เผลอเปิดโหมดป้องกันตัวเองค้างไว้เป็นเวลานานจนกลายเป็นนิสัย แม้เหตุร้ายจะผ่านพ้นไปแล้วก็ตาม โดยเฉพาะเมื่อเหตุร้ายดังกล่าวไม่ได้รับการคลี่คลายอย่างถูกต้อง หรือเมื่อเราไม่เคยได้รับคำอธิบายเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเลย
บุคลิกภาพแบบ Toxic Independence ของคนคนหนึ่งอาจมีที่มาได้จากทั้งเหตุไม่พึงประสงค์ในวัยเด็ก แผลใจที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น (Intergenerational Trauma) หรือไม่ก็ความเชื่อผิดๆ ที่ถูกปลูกฝังมา แต่ละปัจเจกบุคคลล้วนประสบกับหลากหลายเหตุการณ์แตกต่างกันไป บ้างเป็นเหตุร้ายแรง บ้างก็เป็นเพียงเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน
ตัวอย่างสาเหตุที่มีแนวโน้มจะทำให้คนคนหนึ่งตอบสนองด้วยการสร้างบุคลิกนิสัยแบบ Toxic Independence ขึ้นมา ได้แก่
ได้รับการปลูกฝังจากผู้ปกครองไม่ให้พึ่งพาผู้อื่น
เพราะศักดิ์ศรีถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนวัยผู้ใหญ่ การที่ลูกไปอ้อนอยากได้ ร้องขอ หรือแค่เพียงรับของจากผู้อื่น ก็อาจถูกมองเป็นเรื่องน่าเสียหน้าหรือเป็นการติดหนี้บุญคุญในหลายวัฒนธรรม
พ่อแม่ผู้ปกครองบางกลุ่มจึงเลือกที่จะส่งต่อวิธีมองโลกแบบเดียวกันจึงถูกส่งต่อไปให้เด็ก พวกเขาสอนลูกหลานให้รู้จักปฏิเสธน้ำใจผู้อื่น เช่น ในบริบทของประเทศไทยก็คือการสอนให้รู้จัก ‘เกรงใจ’ หรือ ‘อยากได้ อยากมีอะไรก็ต้องรู้จักทำเอง’
อย่างไรก็ดีเนื่องจากแนวคิดเรื่องการติดหนี้บุญคุณ การรักษาศักดิ์ศรี ความเสียหน้า ความเกรงใจ ล้วนเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ซับซ้อนเกินความเข้าใจของเด็ก คำสอนของผู้ใหญ่อาจถ่ายทอดไปสู่เด็กด้วยใจความที่ว่า ‘การรับความช่วยเหลือคือความอ่อนแอ’ หรือ ‘การพึ่งพาคนอื่นเป็นเรื่องผิดบาป’
ถูกละเลยในวัยเด็ก
ต่อให้จะไม่มีการปลูกฝังสั่งสอนค่านิยมดังกล่าวให้กับเด็ก แต่หากในช่วงวัยเด็กที่พวกเขากำลังทำความเข้าใจความเป็นไปของโลก เด็กถูกปล่อยปละละเลย ตกอยู่ในสภาวะที่ขอความช่วยเหลือใครไม่ได้ ขอความช่วยเหลือแล้วถูกปฏิเสธบ่อยๆ หรือต้องผิดหวังจากการผิดสัญญาของผู้อื่นอยู่บ่อยๆ พวกเขาก็จะเริ่มหมดความเชื่อมั่นใจตัวคนรอบข้าง เริ่มสอนตนเองด้วยประสบการณ์ที่ได้พบเจอว่า การขอความช่วยเหลือหรือการพึ่งพาคนอื่นนั้นไม่นำไปสู่ประโยชน์อะไร จากนั้นก็จะโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีทัศนคติแบบเดียวกัน
ถูกคนใกล้ชิดที่เชื่อใจใช้ความรุนแรง
ในบางกรณี คนที่มีบุคลิกแบบ Toxic Independence ก็เติบโตมากับการถูกคนที่รักและเชื่อใจทำร้ายด้วยเช่นกัน ทำให้พวกเขารู้สึกระแวงที่จะเปิดเผยเรื่องราว เงื่อนไขชีวิต และจุดอ่อนของตัวเองให้คนอื่นรู้ บางคนอาจเผลอเชื่อมโยงความเป็นเหตุ-ผลว่า การพึ่งพาใครสักคนจะนำไปสู่การถูกคนคนนั้นทำร้ายโดยไม่รู้ตัว เหมือนที่เคยเชื่อใจพ่อแม่ผู้ปกครองและครอบครัว แต่สุดท้ายก็โดยคนเหล่านี้ทำร้าย
มีชีวิตวัยเด็กที่ขาดความมั่นคง
ชีวิตวัยเด็กที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงได้เช่นกัน เมื่อรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมปัจจัยใดชีวิตได้เลย การแบกรับความรับผิดชอบเอาไว้ถือเป็นหนึ่งวิธีที่ทำให้พวกเขากลับมารู้สึกว่า ควบคุมชีวิตบางส่วนได้อีกครั้ง
นอกจากนี้หากในวัยที่กำลังเรียนรู้วิธีการสร้างความผูกพัน พวกเขากลับต้องลงเอยด้วยการทิ้งผู้คนที่ตัวเองผูกพันเอาไว้ข้างหลังบ่อยๆ พวกเขาอาจใช้การหลีกเลี่ยงมิตรภาพและความสัมพันธ์เป็นกลไกป้องกันตัวเองจากความเจ็บปวด
Toxic Independence นิสัยแบบนี้มีผลต่อชีวิตอย่างไร
บุคลิกนิสัยเช่นนี้ส่งผลชัดเจนที่สุดในด้านหน้าที่การงาน คนกลุ่มนี้จะมีปัญหาเรื่องการสื่อสารความต้องการของตนเอง รวมถึงอุปสรรคที่ตนพบเจอระหว่างทำงานด้วย ความกลัวที่จะถูกมองเป็นคนไร้ความสามารถ ทำให้เลือกมองข้ามความต้องการของตัวเอง แล้วซุกปัญหาที่เจอไว้ใต้พรม และหากอยู่ในบทบาทผู้นำก็จะมีปัญหาเรื่องการแบ่งสรรงานให้คนอื่น ทำให้ตนเองต้องแบกรับภาระหนักโดยไม่จำเป็น
ถัดมาคือปัญหาความสัมพันธ์ที่เรื้อรัง แม้ภายนอกอาจจะดูไม่มีปัญหาร้ายแรง แต่ความกลัวและความไม่เชื่อใจมักทำให้คนกลุ่มนี้เลือกเว้นระยะห่างหรือตั้งกำแพงกับคนรอบข้างเสมอ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พวกเขาไม่ค่อยมีคนสนิทให้พึ่งพาหรือปรึกษา และมีปัญหาเรื่องการรักษาความสัมพันธ์ให้ยั่งยืนในระยะยาว ดังที่กล่าวไปแล้วตอนต้น
จะบำบัดแก้ไขนิสัยเช่นนี้ได้อย่างไรบ้าง
ปัจจุบันภาวะ Toxic Independence ไม่ถือเป็นอาการทางจิตที่ต้องได้รับการวินิจฉัยโรคอย่างเป็นทางการจากแพทย์ และถือเป็นวิธีการรับมือต่อแผลใจรูปแบบหนึ่งมากกว่า อย่างไรก็ดีอาจพอมีวิธีที่จะช่วยให้เอาชนะนิสัยไม่ดีเช่นนี้ได้อยู่
เนื่องจากภาวะนี้เป็นการตอบสนองต่อสถานการณ์ร้ายแรงที่ก่อให้เกิดแผลใจ หรือความเครียดสะสมในชีวิต ดังนั้นการระบุที่มาของปัญหาให้ชัดเจนจึงถือเป็นขั้นตอนจำเป็น ซึ่งหนึ่งในวิธีการบำบัดที่ได้ผลชะงัดที่สุดคือ การเข้ารับคำปรึกษาและบำบัดอย่างเป็นทางการ ทั้งในรูปแบบของการไปพบนักจิตวิทยา จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือการไปเข้าร่วมกิจกรรมพบปะ แลกเปลี่ยน เรียนรู้กับกลุ่มคนที่ประสบกับภาวะคล้ายกัน
เทคนิคการให้คำปรึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติที่เรียกว่า Cognitive Behavioral Therapy (CBT) ถือเป็นวิธีการบำบัดทางจิตเวชที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ในการเยียวยาปัญหาสุขภาพจิตหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้ผู้เข้ารับการบำบัดได้เข้าใจถึงรากเหง้าของความรู้สึกที่ตนต้องเผชิญ รู้เท่าทันกลไกการป้องกันตัวเองแบบเดิม ทำให้สามารถเปลี่ยนวิธีการคิด ปรับพฤติกรรม และเรียนรู้วิธีใหม่ๆ ในการตอบสนองต่อปัญหาในชีวิต
นอกจากนี้ในกรณีที่ไม่พร้อมจะเข้ารับการปรึกษา หรือหากคุณมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถค่อยๆ ปรับพฤติกรรมได้ด้วยตนเอง อาจเริ่มได้ด้วยการฝึกฝนทำสิ่งเหล่านี้ให้ติดเป็นนิสัย
– ลด ละ เลิกการใช้ชีวิตแบบเพอร์เฟกชันนิสต์ เรียนรู้ที่จะโอบรับความผิดพลาด รับมือกับความผิดหวัง และยอมรับด้านที่อ่อนแอของตนเอง
– ฝึกทบทวนตัวเอง (Self-Reflection) ในแต่ละวัน หรือแต่ละสัปดาห์ว่าสามารถปรับพฤติกรรมใดได้อีกบ้าง เช่นอาจลองนึกย้อนกลับไปในช่วงเวลาดังกล่าวแล้วจดบันทึกว่า เราสูญเสียโอกาสเล็กๆ ในการพึ่งพาหรือขอร้องให้คนอื่นช่วยไปตอนไหนบ้าง แล้วการอมพะนำไม่ยอมสื่อสารความต้องการครั้งนั้นส่งผลเสียต่อตัวเองอย่างไร เพื่อให้ครั้งหน้าที่มีโอกาสเล็กๆ เช่นนี้มาถึงก็จะสามารถจดจำความผิดพลาดเดิมได้และแก้ไขมัน
– Unlearn หรือแก้ไขความเข้าใจผิดเดิมๆ ของตนเองอย่าง ‘การรับความช่วยเหลือคือความอ่อนแอ’ หรือ ‘การพึ่งพาคนอื่นเป็นเรื่องผิดบาป’ เสียใหม่ ย้ำเตือนตัวเองเสมอเมื่อมีโอกาสว่า การขอความช่วยเหลือเมื่อต้องการความช่วยเหลือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ปกติ และควรทำอย่างยิ่ง
– ค่อยๆ พัฒนาความสัมพันธ์และฝึกเชื่อใจผู้อื่นให้มากขึ้นทีละนิด การได้ออกไปพูดคุย เชื่อมต่อ และใช้เวลากับผู้คนบ้างจะช่วยให้มองสังเกตเห็นธรรมชาติของความสัมพันธ์มากขึ้น และอาจช่วยให้เข้าใจว่า การพึ่งพากันบ้างบางเวลาเป็นเรื่องที่คนอื่นทำกันเป็นปกติ
อ้างอิง
https://linkinghub.elsevier.com/retrieve/pii/S0749379715000501
https://www.verywellmind.com/hyper-independence-and-trauma-5524773
https://katrinaubellmd.com/what-is-toxic-independence/
https://getemergent.com/2024/06/25/toxic-independence/
Tags: Knowledge and Wisdom, Wisdom, Toxic Independence, Toxic, Hyperindependence, ลักษณะนิสัย, นิสัย