ในวันที่ท้องฟ้ามืดครึ้มตลอดทั้งวัน จากนั้นฝนก็ตกหนักนานหลายชั่วโมง แล้วอยู่ๆ คุณเริ่มรู้สึกซึมเศร้าขึ้นมา 

ทั้งที่ไม่มีเรื่องราวทุกข์ร้อนอะไร ไม่มีงานด่วนที่ต้องรีบแก้ ไม่มีธุระจำเป็นต้องไปข้างนอก ไม่มีอะไรรบกวนจิตใจ มีเพียงสายฝนที่โปรยปรายลงมาไม่หยุดและสายลมที่กระทบหน้าต่างอยู่เป็นระยะ แต่รู้ตัวอีกที ความเศร้าอันไร้ที่มาก็เริ่มเกาะกุมหัวใจ จนคุณอาจเผลอเริ่มคิดว่า ตัวเองอาจมีภาวะผิดปกติทางจิตหรือเครียดสะสม แต่ไม่สามารถมองหาต้นตอของความเครียดเหล่านั้นได้ 

แล้วขณะที่คุณกำลังวุ่นวายอยู่กับการเสิร์ชหาอาการของตัวเองทางอินเตอร์เน็ตอยู่ ไม่นานฝนก็หยุดตก แดดแรกแทรกตัวออกมาจากหมู่เมฆ เสียงนกกลับมาร้องเพลงอีกครั้ง จากนั้นคุณก็ค้นพบว่า อาการซึมเศร้าของตัวเองเริ่มดีขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ

หากเคยมีอาการดังที่กล่าวไปข้างต้น เป็นไปได้ว่าคุณอาจกำลังเผชิญหน้ากับหนึ่งในโรคที่มากับฝน ถึงแม้ไม่ได้รุนแรงเทียบเท่าโรคฉี่หนู หรือโรคไข้เลือดออก แต่ถือว่าเป็นหนึ่งในโรคที่น่ากังวลพอสมควร เพราะสิ่งนี้ไม่ใช่โรคที่ทำให้เจ็บป่วยทางกาย แต่เป็นโรคที่ทำให้เจ็บป่วยทางใจ และอาจส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวัน

โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล (Seasonal Affective Disorder) เป็นภาวะซึมเศร้าประเภทหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลหรือสภาพอากาศ โดยผู้ป่วยจะมีอาการซึมเศร้า รู้สึกหดหู่ มีอาการเหนื่อยล้าและง่วงนอนตลอดทั้งวัน โดยอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเพียงระยะเวลาสั้นๆ สอดคล้องกับช่วงเวลาตามฤดูการหรือสภาพอากาศ ที่สำคัญคือมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบได้น้อยในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี 

ถึงแม้ความเชื่อมโยงระหว่าง ‘อาการซึมเศร้า’ และ ‘สภาพอากาศ’ จะยังไม่ได้รับการสรุปอย่างแน่ชัดว่าสาเหตุหลักคืออะไร แต่นักวิจัยส่วนใหญ่เชื่อว่า อาจเป็นเรื่องของการรับแสงและสารเคมีในสมอง 

แสงสว่างเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการควบคุม ‘นาฬิกาชีวภาพ’ (Biological Clock) หรือระบบที่คอยควบคุมการทำงานบางส่วนของร่างกาย อาทิ การตื่น การนอน การเผาผลาญ รวมถึงการหลั่งฮอร์โมน หากในหนึ่งวันร่างกายรับแสงไม่เพียงพอจะทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายเกิดการแปรปรวน จึงอาจกล่าวได้ว่า ในช่วงฤดูฝนที่เมฆครึ้มตลอดทั้งวัน ทำให้แดดส่องลงมาได้น้อย ร่างกายได้รับแสงสว่างลดลง ส่งผลให้ระบบในร่างกายทำงานผิดปกติ นอนนานขึ้น กินเยอะขึ้น รู้สึกซึมเศร้าและสับสน อันเนื่องมาจากการแปรปรวนของเวลากิน เวลานอน และการหลั่งฮอร์โมนบางชนิด 

เมื่อการหลั่งฮอร์โมนผิดปกติจะส่งผลต่อความสมดุลของสารเคมีในสมอง รวมถึงสารสื่อประสาทที่เรียกว่า เซโรโทนิน (Serotonin) หรือฮอร์โมนควบคุมกระบวนการคิด พฤติกรรม และอารมณ์ในเชิงบวก ซึ่งถ้าเซโรโทนินอยู่ในระดับปกติ จะทำให้รู้สึกสงบ มีความสุข มีสมาธิ อารมณ์คงที่ ทว่าหากปริมาณเซโรโทนินลดต่ำลง ก็จะส่งผลในทางตรงกันข้าม นำไปสู่สภาวะซึมเศร้า 

นอกจากนี้การรับแสงและการหลั่งฮอร์โมนที่ผิดปกติยังส่งผลกระทบต่อเมลาโทนิน (Melatonin) หรือฮอร์โมนที่ควบคุมการตื่นและการนอน โดยปกติสมองจะกระตุ้นการสร้างเมลาโทนินในเวลากลางคืนหรือเมื่อมีแสงสว่างลดลง เพื่อทำให้รู้สึกง่วงและเข้าสู่โหมดพักผ่อน ซึ่งระดับเมลาโทนินจะอยู่ในกระแสเลือดของเราเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ก่อนลดลงเมื่อร่างกายได้รับแสงสว่างหรือแสงอาทิตย์ ซึ่งหากท้องฟ้ามืดครึ้มตลอดทั้งวันหรืออยู่ในที่แสงสว่างน้อย ร่างกายจะหลั่งเมลาโทนินออกมาเรื่อยๆ ส่งผลให้เรารู้สึกง่วงซึม อ่อนเพลีย และรู้สึกไม่กระปรี้กระเปร่าตลอดทั้งวัน 

ดังนั้นหากคุณแน่ใจแล้วว่าตัวเองมีอาการดังที่กล่าวไป และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น อย่านิ่งนอนใจหรือพยายามปล่อยให้มันหายไปเอง เพราะเราไม่รู้ว่าสภาพอากาศจะแย่แบบนี้อีกนานแค่ไหน ฝนจะหยุดตกเมื่อไร หากประวิงเวลาให้อยู่ในวังวนของความเศร้าเป็นเวลานาน อาจนำไปสู่สภาวะซึมเศร้าอย่างถาวร อีกทั้งความผิดปกติทางอารมณ์ตามฤดูกาล ยังคงเป็นปัญหาทางจิตวิทยาที่ซับซ้อน ซึ่งหมายความว่าคุณอาจมีภาวะซึมเศร้าหรือความผิดปกติอื่นแฝงอยู่ด้วย และต้องได้รับการปรึกษากับจิตแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยต่อไป

ในปัจจุบันแนวทางการจัดการและการรักษากับโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล จิตแพทย์จะพูดคุยกับคนไข้เกี่ยวกับแนวทางการเข้ารับการรักษา ซึ่งอาจใช้วิธีการบำบัดด้วยกล่องแสง (Light Box Therapy) โดยฉายแสงที่ให้ความสว่าง 10,000 ลักซ์ (Lux Meter) ซึ่งเทียบเท่ากับแสงสว่างในตอนกลางวันเป็นเวลา 30 นาที ร่วมกับการรับประทานยาต้านอาการซึมเศร้า หรือบางครั้งจิตแพทย์อาจใช้เลือกวิธีใดวิธีหนึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละบุคคล 

นอกจากวิธีการทางการแพทย์ เรายังสามารถลดทอนอาการซึมเศร้าตามฤดูกาลโดยการออกไปใช้เวลานอกบ้านให้มากขึ้น หากิจกรรมทำระหว่างวัน ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้ร่างกายได้รับแสงและปรับสมดุลให้กับฮอร์โมน ประกอบกับการรับประทานอาหารเสริมจำพวกวิตามินดี (Vitamin D) ที่จะช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบสังเคราะห์ฮอร์โมน ช่วยลดความเครียด และทำให้เราสามารถนอนหลับพักผ่อนได้ดีขึ้น

หรือระหว่างรอความสดใสที่ท้องฟ้าจะมอบให้อีกครั้ง เราอาจจะเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเราเองได้ง่ายๆ ด้วยการลองออกกำลังกายวันละ 30 นาที รับประทานอาหารดีๆ ที่มีประโยชน์ หาโอกาสพบปะเพื่อนฝูง ออกไปเดินเล่น แล้วสูดหายใจเข้าลึกๆ พร้อมกับทบทวนตัวเองให้มากขึ้น  

ที่มา: https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/seasonal-affective-disorder/symptoms-causes/syc-20364651

https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/seasonal-affective-disorder

https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/9293-seasonal-depression

Tags: , , , ,