ช่วงหลังมานี้ไม่ว่าจะหันหน้าไปทางไหน บนโลกอินเทอร์เน็ตก็มักจะเจอแต่คำผิดไปเสียหมด แต่ไม่ใช่คำผิดที่เกิดจากการพิมพ์ตก หรือการสะกดผิดโดยไม่ได้ตั้งใจแต่อย่างใด แต่เป็นการจงใจพิมพ์ผิด ‘เพื่ออรรถรส’ โดยเฉพาะ
Real or Fake จึงไม่ได้อ่านว่า เรียลออร์เฟก อีกต่อไป แต่เป็น ‘เรียลออร์ฟ้าเก้!’ และถ้าอยากจะบ่นว่าโดนด่าให้เข้าเทรนด์ อย่าลืมเปลี่ยนไม้เอกเป็นไม้โท จะได้ ‘โดนด้า’ เหมือนคนอื่นเขา ส่วนใครที่เรียกโครงการแจกเงินผ่านกระเป๋าสตางค์ดิจิทัลของรัฐบาลว่า ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ แสดงว่า ยังไม่ถูกชื่อเล่นติดหูที่คิดค้นขึ้นโดยชาวแอปพลิเคชันเอ็กซ์ (X) อย่าง ‘ดิจิมอนออมเล็ต’ ครอบงำ
ยังไม่นับคำผิดชวนมึนจนเกือบลืมวิธีเขียนจริงอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความลื่นล้มทางเพศ (ความลื่นไหลทางเพศ) บิวตี้สแตนเลส (บิวตี้สแตนดาร์ด) เซ็กซ์ชั่วฮารากุจุ (เซ็กซ์ชวลฮาราสเมนต์) และอะบูริจี้ (บุลลี)
เราอาจนึกว่า วัฒนธรรมการสะกดผิดเพื่อความสนุกสนานเช่นนี้ เป็นผลของบุคลิก ‘ติดเล่น’ แบบไทยๆ ของชาวเน็ตประเทศนี้ ที่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ขอเล่นมุข ทำมีม และขายขำเอาไว้ก่อน แต่รู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้ว มีคำอธิบายที่อยู่เบื้องหลังมุขตลกทำนองนี้
คำอธิบายที่ว่านั้นคือ สิ่งที่เรียกว่า ‘Satiric Misspelling’ หรือการจงใจสะกดคำผิดความหมาย ซึ่งอาจทำไปเพื่อวัตถุประสงค์ทางโวหารต่างๆ เช่น เรียกเสียงหัวเราะ ล้อเลียน หรือประชดเสียดสีแนวคิดบางอย่าง ซึ่งพบเห็นมากในสแลงบนโลกอินเทอร์เน็ต
Satiric Misspelling: ต่อกรกับ Status Quo ด้วยภาษา
เช่นเดียวกับที่เราอาจพิมพ์ว่า ‘ลื่นล้มทางเพศ’ เพื่อลดโทนเสียงที่มีความเป็นทางการและจริงจังของคำว่า ‘ลื่นไหลทางเพศ’ ลง ไม่ว่าจะด้วยเจตนาล้อเลียนตัวเองให้เกิดน้ำเสียงที่เป็นกันเอง หรือเจตนาอื่นใดก็ตามแต่
ในภาษาอังกฤษเอง ตัวอย่างก็มีให้เห็นตั้งแต่การสะกดชื่อสัตว์ผิดเพื่อแสดงถึงน้ำเสียงล้อเลียนด้วยความเอ็นดู เช่น สะกดคำว่า Cat เป็น Car, Kitty เป็น Kitteh, Bird เป็น Birb หรือ Snake เป็น Snek
ไปจนถึงเจตนาสะกดผิดไปจากวิธีปกติ เพื่อเสียดสีและโจมตีอย่างจริงจัง โดยมีเมสเสจทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง เช่น
– การสะกดคำว่า Election (การเลือกตั้ง) เป็น Erection (การแข็งตัวของอวัยวะเพศ) เพื่อแสดงความต่อต้านทางการเมือง และแฝงความหมายที่ว่า การเลือกตั้งครั้งดังกล่าวขาดความชอบธรรมบางประการ
– การนำตัวอักษร K สามตัว (kkk) ซึ่งสื่อถึงแนวคิดชาตินิยมคนขาวในสมัยที่กลุ่ม Ku Klux Klan เฟื่องฟูมาสะกดแทนตัวอักษร C เช่น ‘Amerikkka’ (แทนที่จะเป็น America) เพื่อสื่อว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศรัฐฟาสซิสต์ที่คนขาวเป็นใหญ่
– การนำสัญลักษณ์สกุลเงินมาสะกดแทนพยัญชนะทั่วไปลงในคำ ชื่อคน หรือชื่อหน่วยงานที่ผู้เขียนต้องการเสียดสีว่า เห็นแก่เงินและ/หรือขาดความโปร่งใสทางการเงิน เช่น สะกดชื่อตระกูลของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) ว่า ‘Bu$h’ สะกดดิสนีย์ (Disney) ว่า ‘Di$ney’ หรือสะกดคำว่าสภาคองเกรส (Congress) ว่า ‘Congre$$’
Malapropism: อีกหนึ่งอารมณ์ขันทางภาษาที่ไม่ได้มีแค่คนไทยที่รู้จัก
นอกเหนือจาก Satiric Misspelling ยังมีปรากฏการณ์ทางภาษาอันนำมาซึ่งเสียงหัวเราะอีกรูปแบบหนึ่งที่คล้ายกัน นั่นคือ Malapropism หรือการเลือกใช้คำที่ผิดไปจากความหมายที่ต้องการ ส่วนมากมักเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการของผู้ใช้ที่พยายามใช้คำศัพท์ที่ยากเกินระดับภาษาของตนเอง ทำให้ใช้คำผิดไปโดยไม่ตั้งใจ
แม้แต่กวีชื่อก้องโลกอย่าง วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) ก็ยังใช้ประโยชน์จากความฮาที่เกิดจาก Malapropism อยู่บ่อยๆ ในบทละครของเขา ถึงขั้นที่ว่าคนอังกฤษต้องเรียก Malapropism ด้วยอีกชื่อหนึ่งว่า Dogberryism เพราะนายตำรวจด็อกเบอร์รี (Constable Dogberry) คือตัวละครหนึ่งในบทละคร Much Ado About Nothing ของเชกสเปียร์ที่มีบทพูดลักษณะนี้มากมาย เช่น
Dogberry: Our watch, sir, have indeed comprehended (ควรเป็น apprehend) two auspicious (suspicious) persons.
ด็อกเบอร์รี: ท่านครับ ทหารยามของเราได้จับจอง (จับกุม) คนน่าสงสาร (น่าสงสัย) เอาไว้แล้ว1
แต่ในบางครั้ง Malapropism ก็เกิดจากการพูดผิดโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่ดันถูกคนเอามาล้อเลียนได้เช่นกัน เช่น โยกี เบอร์รา (Yogi Berra) นักเบสบอลชาวอเมริกันผู้ล่วงลับ ที่เคยสนทนากับจอร์จ ดับเบิลยู. บุช อดีตประธานาธิบดี ว่า
Berra: Texas has a lot of electrical (electoral) votes.
เบอร์รา: รัฐเท็กซัสมีเสียงโหวตจากคะน้าเลือกตั้ง (คณะเลือกตั้ง) เยอะนะครับ2
เช่นเดียวกับไมค์ ไทสัน (Mike Tyson) นักมวยแชมป์โลกเฮฟวีเวตชาวอเมริกัน หลังจากลงจากสังเวียนครั้งหนึ่งที่ต่อยได้ไม่ดีนัก เขาเคยให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า
Tyson: I might just fade into Bolivian (oblivion).
ไทสัน: ต่อไปผมก็คงหายหน้าหายตาไปจนถูกรางเลือน (ลืมเลือน)3
ภาษาวิบัติหรือวิวัฒนาการทางภาษา
แม้ในปัจจุบันคำที่ใช้ผิดเพื่ออรรถรสอย่าง ความลื่นล้มทางเพศ (ความลื่นไหลทางเพศ) และคำอื่นๆ จะไม่ถูกบัญญัติ หรือได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายโดยคนจำนวนมาก แต่ในอดีตก็เคยมีคำสะกดผิดเพื่ออรรถรสที่กลายมาเป็นวิธีสะกดที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย เช่น เริ่ด (เลิศ) ชิมิ (ใช่ไหม) พ่อง (พ่อมึง) ตู (กู) แม้ในยุคสมัยของมัน วิธีสะกดเหล่านี้จะถูกต่อต้านจากกลุ่มคนที่รักในความถูกต้องของภาษาก็ตาม
นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และพวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเขียนเอาไว้ในบทความภาษาวิบัติ-อย่าให้ภาษาขวางกั้นผู้คนอีกต่อไป ระบุว่า การดัดแปลงภาษาเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ในสังคมไม่ชอบ ถึงแม้ในความเป็นจริงภาษาจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอก็ตาม โดยมักให้เหตุผลว่า ภาษาเป็นสมบัติของชาติที่มีความศักดิ์สิทธิ์
ยกตัวอย่างผู้ใหญ่ที่ว่า เช่น ช่วงที่ภาพยนตร์หอแต๋วแตกแหวกชิมิ (2554) ปล่อยออกมาใหม่ๆ กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิตประเภทวรรณศิลป์ สาขาวิชาภาษาไทย กล่าวว่า ไม่มีปัญหาอะไรหากจะใช้คำว่า ‘ชิมิ’ แค่ในกลุ่มเฉพาะ เพราะเป็นเพียงภาษาหยอกล้อที่จะเลือนหายไปตามกาลเวลา แต่ตนไม่เห็นด้วยกับการนำคำนี้มาใช้ในเชิงสาธารณะ อย่างการนำมาตั้งชื่อภาพยนตร์เช่นนี้ ถือว่าไม่เหมาะสม
แต่สุดท้ายแม้จะไม่ใช่ทุกคนที่จะหยิบคำว่า ‘ชิมิ’ มาใช้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนส่วนใหญ่ที่อ่านออกเขียนได้ ก็รู้ความหมายของวิธีสะกดเช่นนี้เป็นวงกว้างอยู่ดี และหากพิจารณาย้อนกลับไปถึงคำศัพท์ภาษาไทยธรรมดาๆ ที่ได้รับการบัญญัติแล้วอย่าง ‘มะม่วง’ หรือ ‘มะพร้าว’ ก็เกิดจากการกร่อนเสียงให้พูดได้สะดวกขึ้นจากเดิมคือ ‘หมากม่วง’ และ ‘หมากพร้าว’ มาก่อนเช่นกัน
ที่มา
https://nosweatshakespeare.com/blog/dogberry-malapropisms/
https://www.rd.com/article/malapropism-examples/
https://web.archive.org/web/20111115202902/http://61.47.2.69/~midnight/midnight2544/0009999960.html
เชิงอรรถ
1 เป็นการแปลเพื่อให้เข้าใจความคล้ายคลึงด้านเสียงของคำผิดที่เชกสเปียร์เลือกมาใช้ ความหมายจริงๆ ของ comprehend (v) คือเข้าใจ ส่วน auspicious (adj) คือมงคล
2 เช่นเดียวกับข้อ 1 electrical (adj) แปลว่ามีกระแสไฟฟ้า ดังนั้นถ้าแปลตรงตัว ในวันนั้น เบอร์ราได้พูดกับประธานาธิบดีบุชว่า “รัฐเท็กซัสมีเสียงโหวตประจุไฟฟ้าเยอะนะครับ”
3 เช่นเดียวกับข้อ 1 Bolivian (n) หมายถึงชาวโบลิเวีย ดังนั้นถ้าแปลตรงตัว ไทสันได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า “ต่อไปผมก็คงหายหน้าหายตาไปเป็นชาวโบลิเวีย”
Tags: ภาษา, ภาษาศาสตร์, Knowledge and Wisdom, Wisdom, Malapropism, สะกดผิด, ภาษาวิบัติ