แทนที่จะทุกข์ร้อน คุณอาจเคยรู้สึกชอบใจ เมื่อมีคนโพสต์ถึงความล้มเหลว หรือความยากลำบากที่เขากำลังเผชิญลงบนโซเชียลมีเดีย

หรือในบางครั้ง คุณกลับรู้สึกโล่งเมื่อเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งโดนตำหนิในวงประชุม ตราบใดที่มันไม่ได้กระทบกับงานที่คุณรับผิดชอบ

ไม่ว่าจะแค่ยิ้มย่องอยู่ในใจลึกๆ หรือถึงขั้นสะใจเมื่อผู้อื่นเจอความทุกข์ ในอีกมุมหนึ่งหลายคนก็รู้สึกว่า การมีความคิดเช่นนี้อาจทำให้เราดูเป็นคนนิสัยไม่ดีเช่นกัน เมื่อนึกได้ว่าเรากำลังมีความสุขบนความทุกข์ของคนอื่น 

แต่จริงๆ แล้ว สิ่งนี้ถือเป็นกลไกทางอารมณ์ที่อาจเกิดได้กับทุกคน เพียงแต่มีความรุนแรงในระดับที่ต่างกันออกไป

เพราะสิ่งเป็นภาวะทางอารมณ์ที่เรียกว่า Schadenfreude (อ่านว่า ชาเดนฟรอยด์) เป็นศัพท์จากภาษาเยอรมัน โดยเป็นการรวมกันของคำว่า Schaden หมายถึง ความอันตรายหรือความเสียหาย และคำว่า Freude ที่แปลว่า ความสุขและความยินดี เมื่อรวมกันแล้วจึงหมายถึงความสุขที่มาจากการรับรู้ถึงความล้มเหลวของผู้อื่น 

คำถามต่อมาคือ แล้วทำไมเราจึงมีความสุขบนความทุกข์ของคนอื่น

เรื่องนี้ พอล ฮอกไมเยอร์ (Paul Hokemeyer) นักจิตอายุรเวทผู้เชี่ยวชาญในด้านพฤติกรรมมนุษย์ให้มุมมองเกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยระบุว่า

“ความได้เปรียบในการแข่งขันถือเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ เรามักสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้ตัวเอง โดยการเปรียบเทียบตนกับคนอื่น”

ที่สำคัญคือ เราจึงควรทำความเข้าใจก่อนว่า การมีความสุขบนความทุกข์ของคนอื่นไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้ายขนาดนั้น เพราะมันเป็นความปกติทางอารมณ์และความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ อีกทั้งในหลายครั้ง ความรู้สึกก็ไม่ใช่เรื่องที่สามารถแบ่งออกเป็นขาวหรือดำ ดีหรือไม่ได้อย่างชัดเจน 

ดังนั้น การหมั่นสังเกตตนเอง และรับรู้ว่าอะไรที่ทำให้เรากำลังเกิดภาวะเช่นนี้ จะทำให้สามารถจัดการกับความรู้สึกและรับมือกับมันได้ดีขึ้น

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเอมอรี (University Emory) เผยว่า คนที่มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ มักมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการ Schadenfreude สูง เพราะความสำเร็จของผู้อื่นถือเป็นภัยคุกคามความรู้สึกของพวกเขา เมื่อเห็นคนอื่นประสบกับความล้มเหลว จึงนำมันมาเปรียบเทียบกับประสบการณ์ของตนเอง จนรู้สึกพึงพอใจเมื่อเห็นว่าคนอื่นด้อยกว่า 

สุดท้ายแล้ว แม้ Schadenfreude จะเป็นอารมณ์ปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่เราก็ควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันอย่างพอดี ความภูมิใจในตัวเองถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการจัดการกับอาการ Schadenfreude เพราะหากเราพึงพอใจในตัวเองแล้ว การเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นก็จะลดลง และการยินดีกับความสำเร็จของผู้อื่นได้อย่างจริงใจย่อมดีกว่าการยินดีกับความทุกข์ของผู้อื่น

ที่มา:

https://www.sciencefocus.com/the-human-body/why-does-schadenfreude-exist 

https://www.verywellmind.com/schadenfreude-how-to-respond-when-bad-things-happen-to-people-you-dont-like-5083348 

https://bigthink.com/neuropsych/schadenfreude-and-psychopathy/

Tags: , ,