***บทความนี้มีการอ้างอิงถึงเห็ดเมา (Magic Mushroom) โดยอ้างอิงผ่านงานวิจัย***

ประเด็นสำคัญใน Kingdom of the Planet of the Apes (2024) ที่เพิ่งเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ รวมถึงเรื่องก่อนหน้าในแฟรนไชส์เดียวกันอีก 3 ภาค คือบอกเล่าถึงของการล่มสลายของมวลมนุษยชาติและการก้าวขึ้นมาครองโลกของเหล่าวานร ซึ่งเกิดจากจุดเปลี่ยนเล็กๆ เพียงจุดเดียว นั่นคือการเปลี่ยนแปลงของยีนส์ที่ส่งผลต่อระบบประสาทการรับรู้ของลิง ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมธรรมดากลายเป็นพระเจ้าผู้ปกครองโลกใบนี้ เพราะมีความคิด ภาษา พิธีกรรม วัฒนธรรม และสังคม 

ประเด็นดังกล่าวทำให้ผู้เขียนตั้งข้อสงสัยว่า เมื่อ 1.5 ล้านปีก่อน ในขณะที่โฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) กลุ่มแรกถือกำเนิดขึ้นในทวีปแอฟริกา พวกเขาทำอะไรถึงก้าวขึ้นมาเป็นผู้กุมบังเหียนความเป็นไปของดาวเคราะห์ดวงนี้ จากสัตว์ตระกูลไพรเมตที่ไม่สลักสำคัญสู่ความเป็นพระเจ้า

มีทฤษฎีหลายอย่างที่พยายามเชื่อมโยงถึงความชาญฉลาดหรือกลไก ที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่น แต่หนึ่งทฤษฎีที่มีการพูดถึงและคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ในภาพยนตร์ Kingdom of the Planet of the Apes คือทฤษฎีที่ว่า บรรพบุรุษของเราชอบกิน ‘เห็ดเมา’ (Magic Mushroom) ซึ่งผลพวงจากอาการประสาทหลอนขณะกินเห็ดเมา ทำให้สมองค้นพบสิ่งที่เรียกว่า ‘จินตนาการ’ นำไปสู่วิธีการคิดที่สลับซับซ้อนขึ้น มีความศรัทธาในบางสิ่งร่วมกัน ซึ่งพัฒนามาเป็นพฤติกรรมทางสังคม ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม

โดยข้อเสนอนี้ถูกยกขึ้นมาพูดในปี 1992 ผ่านหนังสือที่ชื่อว่า Food of the Gods เขียนโดยนักพฤษศาสตร์ เทเรนซ์ แม็กเคนนา (Terence McKenna) ทฤษฎีนี้เกิดขึ้นขณะที่เขาและน้องชาย เดนนิส แม็กเคนนา (Dennis McKenna) นักเภสัชวิทยา สนทนากัน

ในช่วงแรกพวกเขาคิดว่า ทฤษฎีนี้เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะมันคือการนำจุดเริ่มต้นของการกำเนิดขึ้นของภาษาและวัฒนธรรมทางสังคม ไปผูกไว้กับสารเสพติดที่มาจากเชื้อรา ทว่าเมื่อลองมาศึกษาและทบทวนงานวิจัยประกอบอื่นๆ ทั้งคู่กลับพบว่า ในช่วงเวลาที่สมองของมนุษย์ใหญ่ขึ้นเป็นสามเท่า สอดคล้องกับระยะเวลาที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่และเชื้อราจำพวกเห็ด เกิดขึ้นในระบบนิเวศเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงเห็ดเมาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทและทำให้เกิดอาการเห็นภาพหลอนอย่างเห็ดขี้ควาย (Psilocybin Mushroom) ที่เมื่อกินเข้าไปแล้วร่างกายจะได้รับสารไซโลซิน (Psilocin) ซึ่งออกฤทธิ์ทำให้ประสาทหลอน เคลิบเคลิ้ม หัวใจเต้นเร็ว รูม่านตาขยาย ที่สำคัญมันส่งผลโดยตรงกับเซโรโทนิน (Serotonin) หรือสารสื่อประสาทที่มีหน้าที่ควบคุมระบบการควบคุมอารมณ์และความรู้สึก

ในงานวิจัย Psychedelics, Sociality, and Human Evolution ที่เผยแพร่ในปี 2021 เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างการกินเห็นเมากับวิวัฒนาการของมนุษย์ ระบุว่า ตลอดประวัติศาสตร์การวิวัฒนาการของสัตว์ตระกูลไพรเมต เชื่อมโยงกับการใช้เห็ดที่มีสารออกฤทธิ์ทำให้ประสาทหลอนมาตั้งแต่ยุคไพลโอซีน (Pliocene) โดยนำมาใช้ในทางการรักษาและบำบัดทางจิตใจ กระตุ้นการตอบสนองด้านการรับมือกับปัญหา และเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวทางสังคมให้มีความยืดหยุ่นขึ้น อีกทั้งอาการประสาทหลอนยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ การควบคุมตนเอง รวมถึงพฤติกรรมที่เป็นจุดเริ่มต้นของการมีพิธีกรรม วัฒนธรรม และสถาบันทางสังคม ที่เป็นผลพวงมาจากการใช้เห็ดเมาโดยบังเอิญจากการพบเจอตามระบบนิเวศใกล้เคียง ซึ่งส่งเสริมต่อความเป็นอยู่ทางสังคมที่ยั่งยืน

ในงานวิจัยยังมีข้อเสนอแนะอีกว่า ผลกระทบจากอาการประสาทหลอนสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดให้กับสังคมมนุษย์ยุคแรกให้มี ‘จินตนาการร่วมกัน’ ซึ่งเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่ทำให้กลุ่มสังคมนั้นๆ บรรลุเป้าหมายของกลุ่ม ผ่านการมีความคาดหวัง ความฝัน และการคาดเดาอนาคตร่วมกัน ส่งเสริมความสำเร็จด้านการเอาตัวรอดและคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งนำมาปรับใช้ในการออกล่าสัตว์เป็นกลุ่มผ่านการวางแผน การประดิษฐ์คิดค้นอาวุธเฉพาะตัวในเผ่า รวมถึงการพัฒนาวิธีการทางการเกษตร นอกจากนี้จินตนาการร่วมกันยังพาเรามามีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในเชิงลึก ทั้งการใช้ภาษาในการสื่อสาร วัฒนธรรมทางสังคมและศาสนา รวมถึงพฤติกรรมสันทนาการ เช่น การเล่าเรื่อง การวาดภาพ และการเล่นดนตรี 

ดังนั้น อาจเป็นเพราะเรามีจินตนาการและความศรัทธาร่วมกัน และมีเศษเสี้ยวของความมึนเมาจากเห็ดทิ้งร่องรอยไว้ในดีเอ็นเอ จึงเห็นมนุษย์ต่างยึดโยงกับความเป็นชาติ ศาสนา และอุดมการณ์ แต่ถึงกระนั้นทฤษฎีและงานวิจัยที่กล่าวมาก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์หรือวิจัยเพิ่มเติม เรายังคงต้องค้นหาคำตอบกันต่อไปว่า เพราะเหตุใดเราจึงวิวัฒนาการทางความคิดอย่างก้าวกระโดด 

ที่มา

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8514078/

https://science.howstuffworks.com/life/evolution/stoned-ape-hypothesis.htm

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3662758/

Tags: , , , ,