เมื่อสัญญาณของวันคริสต์มาสต์ผ่านพ้น คุณรีบเข้าไปในระบบฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัท จากนั้นกดใช้วันลาพักร้อนที่สะสมมาตลอดทั้งปี เพื่อออกไปเที่ยวพักผ่อนกับเพื่อนและครอบครัวตามที่วางแผนกันไว้ตั้งแต่ต้นเดือน คุณได้ดื่มสังสรรค์ท่ามกลางผู้คนที่คุ้นเคย ได้ออกไปพบเจอป่าเขาและชายทะเล ได้ใช้เวลาคิดสิ่งอื่นนอกจากภาระงานในออฟฟิศ 

คุณรู้สึกเหมือนตัวเองได้กลับมาเป็นมนุษย์อีกครั้ง ทว่าเมื่อพลุฉลองของวันปีใหม่ถูกจุดขึ้น คุณเริ่มมีอาการซึมเศร้าแปลกๆ หงุดหงิดโดยไม่ทราบสาเหตุ และรู้สึกไม่อยากให้วันหยุดจบลง 

สิ่งนี้อาจเป็นสัญญาณของภาวะที่เกิดขึ้นบ่อยในช่วงหยุดยาวเทศกาลอย่าง Post Vacation Blues 

Post Vacation Blues หรือภาวะซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว คือภาวะที่รู้สึกเศร้าเมื่อวันหยุดใกล้จะจบลง เกิดจากเสพติดความสนุกและความสุขในช่วงเวลาที่ได้หยุดพัก มักมีอาการซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ วิตกกังวล และไม่อยากกลับไปใช้ชีวิตตามแบบแผนเดิม ทว่าภาวะซึมเศร้าหลังวันหยุดยาวไม่ใช่โรคทางจิตเวช อาการนี้เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น หรือเพียงแค่ 1-2 สัปดาห์ แล้วความรู้สึกจะกลับมาปกติเหมือนเดิม 

แทนที่การได้หยุดพักผ่อนจะทำให้เรากลับมาทำงานมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ทว่ากลับได้ผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม เมื่อร่างกายรู้สึกเสพติดความรู้สึกสนุกและมีความสุขในวันหยุด ขณะเดียวกันก็รู้สึกหวาดกลัวและวิตกกังวลกับการที่ต้องกลับไปทำงาน ที่มีทั้งความเครียดและความกดดัน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งขึ้นภายในจิตใจ และรู้สึกวิตกกังวลกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต 

อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ ความเหนื่อยล้าจากการเดินทางก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้รู้สึกซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว เนื่องจากบางคนอาจใช้ร่างกายไปกับการขับรถหลายชั่วโมง นอนหลับพักผ่อนในที่ที่ไม่คุ้นเคย หรือทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงเยอะกว่าปกติ เมื่อร่างกายรู้สึกอ่อนล้าสะสม สุดท้ายก็กลายเป็นเหมือนไม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ทำให้ความคาดหวังที่จะฟื้นฟูร่างกายและจิตใจนั้นไม่เป็นไปตามที่คิด 

เอาเข้าจริงแล้วภาวะซึมเศร้าในลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เนื่องจากร่างกายและจิตใจมักเกิดอาการต่อต้านอยู่แล้ว เมื่อกิจวัตรประจำวันเปลี่ยนไปแบบกะทันหัน โดยผลสำรวจนักเดินทางจากประเทศอังกฤษพบว่า ผู้คนกว่า 57% เคยรู้สึกซึมเศร้าหลังการหยุดยาว ซึ่งค่อนข้างรุนแรงในช่วง 2-3 วันแรก แต่ไม่ถึงขั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพและคนรอบข้าง ดังนั้นในช่วงแรกของการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาวจึงสำคัญที่สุด หากต้องการรักษาอาการเหล่านี้ให้ดีขึ้นโดยเร็ว 

ถ้ารู้ตัวว่าช่วง 2-3 วันหลังจากกลับมาจากการไปเที่ยวมักจะมีอาการซึมเศร้า ให้วางแผนวิธีการไปเที่ยวใหม่โดยกำหนดเวลากลับให้เร็วขึ้น 1-2 วัน เพื่อช่วยปรับตัวให้เรารู้สึกคุ้นชินและสามารถเตรียมความพร้อมกับการไปทำงานได้ โดยหากิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชื่นชอบมาทำในช่วงที่มีความรู้สึกซึมเศร้าหรือวิตกกังวล แต่หากไม่มีสิ่งใดเลยที่สามารถทำได้ การทำความสะอาดบ้านและข้าวของเครื่องใช้อาจทำให้เรารู้สึกคุ้นชินกับกิจวัตรเดิมๆ มากขึ้น 

อีกวิธีการหนึ่งที่มักได้ผลคือการกำหนดทริปท่องเที่ยวครั้งต่อไปให้ไวที่สุด เพื่อให้ร่างกายรู้สึกตื่นเต้น ถูกกระตุ้นและมีแรงที่จะใช้ชีวิตต่อ เนื่องจากมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการจะกลับมาพักผ่อนอีกครั้งในไม่นาน ซึ่งระหว่างนี้อาจออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เต็มที่ควบคู่ไปด้วยเพื่อผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น เพราะการออกกำลังกายจะช่วยให้สารเอ็นโดรฟิน (Endorphin) หรือสารเคมีแห่งความสุขถูกกระตุ้นออกมา และช่วยเยียวยาความวิตกกังวลให้ลดลง 

อย่างไรก็ตามจำไว้ว่า ยังมีวันหยุดในครั้งหน้ารอคุณอยู่เสมอ และไม่จำเป็นต้องทุกข์ทรมานกับการกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมๆ เพราะสุดท้ายแล้วเราจะได้กลับไปใช้ชีวิตในแบบที่เราอยากใช้เสมอ หากเราให้โอกาสตัวเองได้พักผ่อน ดังนั้นเมื่อวันหยุดยาวสิ้นสุดลงแล้ว ไม่ได้แปลว่าความสนุกของชีวิตกำลังจะจบลง ยังมีเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้เรายิ้มได้รออยู่อีกมากมาย แค่ต้องมองหามันให้เจอ จากนั้นทำงานเก็บเงินเพื่อรอวันได้ออกมาเที่ยวพักผ่อนกับคนที่คุณรักอีกครั้งอย่างเต็มที่ 

ที่มา: 

https://hbr.org/2024/07/post-vacation-blues-heres-how-to-cope

https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/post-vacation-blues

Tags: , , ,