ในยุคที่มีสื่อออนไลน์เกิดขึ้นและมีผลมากมายต่อศิลปินในการแสดงผลงาน พื้นที่ออฟไลน์อย่างงานคอนเสิร์ตยังคงจำเป็นหรือไม่ กับการได้ปล่อยของของศิลปิน โดยเฉพาะดนตรีที่คนให้คำนิยามว่านอกกระแส/กระแสรอง หรือดนตรีทดลอง เราเหล่าคนฟังยังจำเป็นต้องถอดหูฟังมาหลับตาฟังที่งานดนตรีกันหรือไม่ เรานักทำเพลงยังจำเป็นต้องออกมาซื้อกีต้าร์ เอฟเฟกต์ ซินท์ธิไซเซอร์ กันที่ตลาดดนตรีหรือไม่ เรายังต้องลองทำความรู้จักดนตรีแบบเห็นหน้ากันหรือเปล่า ในเมื่อโลกนี้มียูทูบ เฟสบุ๊ก และแหล่งเพลงออนไลน์อีกมาก หลังจากได้สนทนากับผู้จัดงาน Post-Loop Music Festival ตลอดหนึ่งชั่วโมงกว่าๆ ปรากฏว่า ใช่ เราต้องออกมาข้างนอก

Post-Loop Music Festival เป็นงานดนตรีออฟไลน์ที่รวบรวมวงดนตรีกว่า 50 วงจาก 5 เวทีการแสดงที่รวมตัวศิลปินสายเพลงบรรเลง โพสต์ร็อก แม็ธร็อก แอมเบียนท์ไลฟ์ลูปปิ้ง อิเล็กทรอนิกส์ และดนตรีทดลองเอาไว้

เรามีนัดกับ ‘ฮอน ณรงค์ฤทธิ์’ จากเพจ ASiA Sound Space และ ‘ทอมมี่ แฮนสัน’ ตัวแทน Live Loop Asia บ่ายแก่ๆ วันศุกร์ที่ Brownstone เสียงดนตรีของฮอนและเพื่อนดังออกมาจากห้องซ้อมที่มีร้านกาแฟและร้านแผ่นเสียงฝังตัวอยู่ ในขณะที่ทอมมี่บอกว่าเขาเพิ่งกลับมาจากการสอนที่โรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่งในกรุงเทพด้วยภาษาไทยที่ฉะฉาน 

นอกเหนือจากการเป็นนักดนตรีวง Hope the flowers ฮอน เปิดร้านกาแฟ, ขายแผ่นเสียง, ทำเพลงประกอบ, ทำงานสายโปรดักชั่นตัดต่อ ในขณะที่ทอมมี่ก็ทำงานศิลปะส่วนตัว, เป็นนักดนตรี มีส่วนทำเพลงกับวงไทยนอกกระแสหลายๆ วง รวมถึงเป็นคุณครูสอนวรรณกรรมในโรงเรียน—ชีวิตศิลปินในยุค 2020 ที่ด้านหนึ่งก็ต้องทำงานหาเงิน และอีกด้านหนึ่งก็เว้นไว้ทำในสิ่งที่รัก อย่างเป็นรูปธรรมที่สุดคืองานดนตรีที่กำลังจะเกิดขึ้นบ่ายวันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม

ระหว่างนั้น บทสนทนาที่ไม่ใช่แค่เรื่องคอนเสิร์ตก็เริ่มขึ้น เราขอให้ฮอนและทอมมี่เปิดเพลงตัวเองไปด้วย

ทั้งสองคนมารู้จักกันได้อย่างไร ขอถามเหมือนวิดีโอแต่งงานเลยนะ

ฮอน : (หัวเราะ) ตอนนั้นผมไปเล่นงานดนตรี Noise Market ตอนนั้นผมก็ยังไม่รู้จักทอมมี่เลย แต่ว่าฟังทอมมี่เล่นคนเดียว แล้วผมรู้สึกว่าคนนี้เขาแปลกๆ ดี มีมุมมองที่น่าสนใจ เพราะส่วนใหญ่ไม่ค่อยเจอคนต่างชาติที่เล่นงานแอมเบียนท์ แล้วก็เริ่มรู้จักกันหลังจากนั้น ได้เจอพูดคุยกันตามงานคอนเสิร์ต แล้วก็มาสนิทกัน ตอนที่ทอมมี่ย้ายมาอยู่ที่ตึก Brownstone นี้

จริงๆ ทอมมี่ มาจากที่ไหนคะ

ทอมมี่ : มาจากอเมริกาครับ เกิดที่แอลเอ ลาสเวกัส เรียนมหาวิทยาลัยจบก็มาที่ไทย จริงๆ เราเคยมาตั้งแต่ปี 2007 ตอนนั้นอายุประมาณ 19 เราชอบที่นี่ แต่ก็ต้องกลับบ้านไปเรียน พอเรียนเสร็จแล้วก็มีโอกาสมาอีก ติดใจ คิดถึงเลยกลับมา แล้วก็อยู่ยาวมา 8 ปี

ย้อนกลับไปตอนเด็กๆ เรามาสู่โลกดนตรีได้ยังไง จำเครื่องดนตรีชิ้นแรกได้ไหม

ฮอน : ผมชอบพี่สอง พาราด็อกซ์ กับพี่เสก โลโซมาก ผมเล่นเบสตามพี่สอง แต่งตัวบ้าๆ บอๆ ในโรงเรียน ตอนเด็กๆ มันอยากเล่นเพราะมันเท่นั่นแหละ มันมีมือเบสน้อยมากแค่สามคนในโรงเรียน ตอนนั้นเราอยากเป็น 1 ในนั้น แล้วก็อยากเป็นที่ 1 เลยพยายามทำเพลง ทำวงประกวด แต่ท้ายที่สุดก็ค้นพบว่าเราต้องการอยู่กับดนตรี เพราะเราชอบความวิเศษของมัน ความอะเมซิ่งของดนตรีแต่ละแนว มันมีประสบการณ์บางอย่างที่ไม่เหมือนกัน ผมก็เลยเปลี่ยนแนวดนตรีมาเรื่อยๆ เลย พอได้เข้ามาจริงๆ ก็ปีละแนว ปีละวง ลองทุกแบบ

ทอมมี่ : จริงๆ เราไม่ได้เจอจากเพลงใคร ตอนเด็กๆ ชอบวาดรูป ชอบศิลปะ ไม่ค่อยได้คอนเน็กต์กับดนตรีเท่าไหร่ แต่มีช่วงที่ได้คอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้ใช้แล้วจากพ่อแม่ เขาเอามาวางไว้ในห้อง แล้วเราก็ใช้อินเทอร์เนตเรียนรู้อะไรหลายอย่าง สุดท้ายก็เห็นว่ามันทำดนตรีนอกจากที่เราได้ยินในวิทยุได้ เราก็เจอความอิสระในดนตรี ยุคนี้ก็จะเป็นยุค Napster (เว็บไซต์ที่ก่อตั้งในปี 1999) ยุคแบบหาเพลงอะไรก็ได้ แล้วก็แชร์ไปเรื่อยๆ แล้วก็เจอเพลงที่เพื่อนในโรงเรียนมันไม่เคยฟัง แล้วก็แชร์กันกับเพื่อนที่เป็นนักดนตรี เราน่าจะติดดนตรีจากการทดลองกับคอมพ์ กับอุปกรณ์เล็กๆ น้อยๆ ตอนนั้นไม่มีตังค์ (หัวเราะ) มันเป็นความอิสระ เป็นศิลปะอีกแบบหนึ่งที่มันไม่ต้องมีอุปกรณ์มากมาย อยู่คนเดียวแล้วครีเอทอาร์ทได้แล้วมันก็แชร์ได้

ทั้งสองคนเข้ามาสู่ดนตรีทางเลือกแบบนี้ตอนไหน เพราะอะไรที่ทำให้อยู่กับมันได้ยาว

ฮอน : ตอนนั้นคือ 10 ปีที่แล้ว มันเป็นช่วงที่เราเริ่มตันกับตัวเองเรื่องการทำเนื้อร้อง อยากลองฟังเพลงที่มันไม่มีเนื้อร้อง มีเพื่อนแนะนำมาเริ่มจากวงไทยอย่าง Forgot your case, Inspirative เรารู้สึกว่ามันมีเสน่ห์มากเลย เรานั่งรถเมล์ แล้วมันก็คิดไปเรื่อยเปื่อย แล้วก็รู้สึกว่าตอนที่ทำดนตรีแล้วเราไม่ต้องพูดถึงอะไรเลย มันก็ดีเหมือนกันนะ มันทำให้คนที่ฟังอยู่ตีความอะไรก็ได้ ฟังเป็นอะไรก็ได้ ผมก็เลยพยายามจะไม่เขียนเนื้อร้องเลย แล้วก็ทำเพลงด้วยการสร้างวิธีคิดตัวเอง อยากพูดถึงอะไร ก็ใช้ชื่อนั้น เป็นตัวตั้ง สมมติเราตั้งว่า Loneliness เพลงนี้มันเหงา ตอนนี้เราเหงา เราก็ทำได้ มันเหมือนกับการใช้พลังงานจากตัวเองล้วนๆ มันเกี่ยวกับว่าเราอยากเล่าเรื่องตัวเองในแบบนี้มากกว่า

ทอมมี่ : คล้ายๆ กัน แต่เรามองแค่เรื่องเสียง มันมีอินสไปเรชั่นหลายอย่างตั้งแต่เริ่มรู้จักดนตรี แต่ตอนนี้มันมาถึงจุดที่เราชอบเสียง แล้วเราก็จะฟังอะไรก็ได้ จริงๆ ก็ฟังวงป๊อปเหมือนกัน แล้วเราก็หาจุด หาเสียงที่เราชอบที่สุด ตอนนี้มันก็ไม่ได้ชัดเจนว่าเราเล่นดนตรีแนวไหน แต่ถ้าพูดถึงวงก็อาจจะมีความแอมเบี้ยนท์ หรือเราเล่นกับวงเรกเก้บ่อย จริงๆ แล้วความชอบของเรกเก้กับแอมเบี้ยนท์มันก็เป็นดนตรีที่มันมีความฮีลลิ่ง การเยียวยา ซึ่งแอมเบี้ยนท์มันก็จะโล่ง เหมือนเราออกจากโลกนี้แล้ว มันมีสเปซเยอะ หรืออาจจะไม่มีสเปซเลย ส่วนเรกเก้มันรวมความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ มันเป็นดนตรีที่ทำให้เราไม่เครียด มีแรงบันดาลใจที่ใช้ดนตรีในการเยียวยาตัวเอง

ในฐานะศิลปิน เพลงที่ตัวเองทำส่วนใหญ่มันกำลังเล่าอะไรอยู่

ฮอน : ถ้าเป็นวงที่เราทำด้วยกัน มันคือความฟรี ไม่มีซีเรียส ไม่ได้มีแนวอะไรเลย แค่ว่าทุกคนฟัง มันฟรีสไตล์ ฟรีซาวน์ อยากจะคิดก็คิด อยากจะโยกก็โยก อยากจะมันส์ก็ได้ ไม่มีจำกัดว่าต้องเป็นอะไร เราก็เลยรู้สึกว่ามันอยู่ได้ทุกที่

ทอมมี่ : มันมีหลายคนฟังแล้วก็ถามว่าอันนี้มันคือดนตรีใช่มั้ยคะ (หัวเราะ) ก็ใช่นะ ไม่เป็นไร เราชอบๆ คือเขาไม่รู้ว่ามันคือดนตรีรึเปล่า แต่เขาก็ชอบ

(ระหว่างนี้มีคนมาซื้อกาแฟ-อเมริกาโน่เย็น) ฮอนก็สัมภาษณ์ไปด้วย ทำกาแฟไปด้วย 

คอมมิวนิตี้นี้ มันเริ่มได้ไง ย้อนกลับไปมันเคยมีสเปซ มันมีไดนามิค มีคอนเสิร์ต เรารู้สึกเองว่ามันหายไป หรือเราอาจจะหลุดออกมา เลยอยากรู้ว่ามันหายไปมั้ยในช่วงหนึ่ง

ฮอน : เราว่าเรามันหายไปเลยนะ มันไม่แปลกหรอก มันมีสื่อใหม่อีกเยอะ แต่รู้แค่ว่ามันเป็นไปตามเวลาของมัน

ทอมมี่ : เราว่ามันเป็น cycle

หรือจริงๆ คนทำและคนฟังโตขึ้นมาแล้ว ไปทำมาหากินกันหมด 

ทอมมี่ : จริงๆ แล้วก็มีอยู่นะ เราอาจจะไม่เห็น แต่มันมีอยู่แล้ว กลุ่มไม่ได้ใหญ่ ไม่ได้ทำเป็นซีนจริงจัง แต่มันเกิดขึ้นในหลายที่ตลอดเวลา แต่ถ้าพูดถึงตวามเป็นคอมมิวนิตี้ มันมีแล้วมันหายไปตลอดเวลา มันเคยมี SOL Space มี About cafe ตอนนี้ก็มี Brownstone

กลับมาที่ Post-Loop อันนี้ครั้งแรกมั้ยที่จัดงาน

ฮอน  : จริงๆ เราก็เคยจัดงานของเรา ทอมมี่ก็จัดของทอมมี่ เราก็เหมือนทำงานด้วยกันมาตลอด อย่างเพจ ASiA Sound Space ของเรา ทอมมี่ก็ช่วย ส่วนงาน Live loop Asia ของทอมมี่ เราก็ช่วย 

แล้วทำไมคราวนี้ถึงเวลาที่ต้องจับมือกันแล้วล่ะ

ทอมมี่ : ก็ไม่แน่ใจ แต่สองงานนี้ก็คล้ายๆ กันอยู่แล้ว เพราะดนตรีของ Live Loop มันก็จะเป็นดนตรีใกล้ๆ โพสต์ร็อก แล้วก็มีหลายวงที่เล่นโพสต์ร็อกที่นักดนตรีเองก็ทำดนตรีคนเดียวเองเหมือนกัน ที่มันเล่นทั้งสองงาน เรารู้สึกว่าทุกอย่างมันไม่ได้แข็งแรงมาก ก็เลยอยากเชิญทุกคนเพื่อสร้างคอมมิวนิตี้ที่หายไป แล้วก็ Live Loop มีอยู่ 11 ประเทศ ของเราน่าจะรอบที่ 5 หรือ 6 แล้ว ล่าสุดคือสองปีที่แล้ว แล้วก็รอไม่ไหวแล้ว (หัวเราะ) ส่วนฮอนก็คิดว่าจะจัดงานเหมือนกัน ก็เลยคิดว่า เอามารวมกันเลย ลองดู

การที่จัดงานมา 5-6 ปี ได้เห็นการพัฒนาหรือว่าการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

ทอมมี่ : ก็เปลี่ยนบ้าง แม้คนเล่นจะคนเดิมเกือบ 50% – อย่างที่คนสั่งกาแฟ เขาก็เล่นตั้งแต่ปีแรก ก็เล่นมาจนถึงปีนี้ ก็จะมีหลายวง ที่เล่นลูปจริงจัง ก็จะมาทุกครั้ง

เอาจริงๆ Loop มันคือดนตรีแบบไหน

ทอมมี่ : ถ้าพูดถึง Live loop ให้ชัดเจน คือ ดนตรีที่ใช้อุปกรณ์เอฟเฟกต์ที่เรียกว่า Looper มันจะอัดเสียงไว้ แต่ก่อนเริ่มจากเทปในช่วงยุค 60s หรือ 70s แล้วมันก็จะอัดทับไปเรื่อยๆ ในยุคนี้ก็จะมีเครื่องดิจิตัล ที่เราลบได้ มิกซ์ ได้ ทำอะไรได้เยอะกว่า เหมือนทำให้คนหนึ่งเล่นคนเดียวได้ทั้งเมโลดี้ ทั้งกลอง ทั้งร้อง ทุกอย่าง สนุกดี เพราะทุกคนเล่นไม่เหมือนกัน มันไม่ได้เรียกว่าแนวดนตรี มันเป็นแค่วิธีการเล่นมากกว่า อย่างบางวงก็จะเป็นวงที่ใช้เทคนิคนี้ในบางเพลง หรือก็มีหลายวงที่ไม่ได้ใช้ แต่ชวนลองทดลองในงานนี้ 

ฮอน : หลายๆ คนก็มีวงดนตรีที่เล่นปกติอยู่แล้ว แล้วเรารู้มาว่าเขาก็เล่นคนเดียว เลยมาลองชวนเล่นที่นี่ เพราะไม่มีที่อื่นให้ลองเลย

ในฐานะคนจัดงาน มีความตั้งใจให้พื้นที่นี้มันเป็นอย่างไร

ฮอน : ผมต้องการให้นักดนตรีกับคนฟังคอนเน็กต์กันเหมือนอย่างเมื่อก่อน ได้รู้จักกัน ได้คุยกัน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้สึกบางอย่าง ทำให้มันมีจุดที่นักดนตรีแนวทดลองต่างๆ มีความเชื่อว่า สิ่งที่เขาเล่น มันมีคนฟัง อย่างน้อยๆ มันทำให้เขารู้สึกว่าเขาอยากทำงานอย่างนั้นให้มันออกไปข้างนอกได้ด้วยจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่นี่

ทอมมี่ : มันไม่ได้อยู่คนเดียว (หัวเราะ) เล่นคนเดียว แต่ไม่ได้อยู่คนเดียว ทุกคนจะมองดนตรีว่าเป็นเพลง เป็นวง แต่การมองดนตรีสำหรับเรา มันเหมือนการได้รักตัวเอง รักษาตัวเอง เช่น จากการใช้กลองตี มัน ตึก ตึก ตึก… แล้วเราก็จะอยู่ตรงนั้น แม้จะเล่นดนตรีไม่เป็น แต่มันทำให้เราอยู่กับมันเรื่อยๆ มาเจอเพื่อนที่เล่นกีต้าร์ การเล่นกีต้าร์กับคนนี้มันก็ไม่ได้เล่นเป็นเพลง แต่ทำไปเรื่อยๆ มันก็กลายเป็นการคุยกัน เป็นกระบวนการบางอย่างร่วมกัน อยากให้คนมาดูงานนี้แล้วเห็นด้านใหม่ของดนตรีที่มันไม่เกี่ยวกับเงิน กับแนว กับชื่อ หรือศิลปะก็ได้ มันคือการคุยกัน การรักษาชีวิตด้วยการใช้เสียง นักดนตรีแค่มารวมกัน ไม่ต้องมีแรงกดดัน หรือคอนเซ็ปต์อะไร เป้าหมายคือมา express ตัวเอง แล้วก็ express ไปด้วยกัน

คำถามตรงประเด็นสุดๆ เอาเงินมาจากไหนกัน

(หัวเราะทั้งคู่)

ทอมมี่ : เงินตัวเองครับ พยายามที่จะไม่ใช้เงิน แต่ก็ต้องใช้อยู่ดี 

ฮอน : ก็มีหลายๆ คนเข้ามาช่วยเหลือสปอนเซอร์อุปกรณ์ดนตรี แต่สุดท้ายก็ยังใช้เงินในการบริหารหลายๆ อย่างอยู่ดี

พอมันไม่ได้มีเงินขนาดนั้น มันก็ต้องต่อสู้ ใช้ใจอย่างหนักหน่วง คุณมีวิธีการยังไงที่ทำงานนี้ให้มันยั่งยืน มีแผนไหมว่าทำอย่างไรให้ไม่เจ็บในอนาคต

ทอมมี่ : เราว่ามันเจ็บอยู่แล้ว คือเราจัดหรือไม่จัดก็เจ็บอยู่แล้ว ทุกวงมันเล่นฟรีบ่อยมาก เกือบ 50% อาจจะได้ตังค์นะ สุดท้ายก็ไม่ได้ คนดูก็น้อย สุดท้ายถ้าเราจะเล่นฟรีอยู่แล้ว ทำไมเราไม่ได้เล่นในสถานที่ที่มันอยากเล่นเราชอบทำ เราชอบเล่นแบบนี้ ซึ่งวิธีการรวมทุกคนที่เป็นเพื่อนกันได้ ก็ไม่ต้องมีเงินก็ได้ สุดท้ายทุกคนที่มาเล่นมันก็ได้อะไรสักอย่าง เราเครียดมากกว่ากับการชวนคนมาเล่น เราอยากให้เขาได้อะไรสักอย่าง อย่างน้อยเราโปรโมทเขาเยอะที่สุดที่เราทำได้ เราเขียนโปรไฟล์แต่ละวงจริงจัง เราฟังเพลงของทุกคนที่เล่น ทุกคนก็คอมเม้นท์ตอบขอบคุณมาก โห มันฟังเราจริง มันรู้ แล้วก็เขียนสวยงาม เสียเวลานิดนึง ไม่ได้เสียเงิน แต่มันได้รีเทิร์นเราต้องซัพพอร์ทเขา 

ฮอน : ด้วยความที่เราเองก็เล่นวงดนตรี ซึ่งวงดนตรีแนวเรามันก็หางานยากอยู่แล้ว เราก็เกรงใจวงมากที่จะเอาวงไปเล่นฟรี เพราะงั้นเราก็มีวิธีเดียวคือการมาเล่นคนเดียว เราท่องโลกด้วยตัวคนเดียวเยอะมาก แล้วเราก็พบว่านักดนตรีที่เราชวนมา ก็ไม่ได้ตังค์เหมือนกัน เพราะงั้นคือบาดเจ็บกันหมด ร้านเหล้าก็ขายเหล้าไปได้ โดยที่เราไม่ได้ตังค์ เราไปเป็นดนตรีประกอบให้ร้านเค้า ทำไมเราไม่เจ็บในรูปแบบที่เราไม่ต้องมีใครมาอยู่ข้างบน ไม่ต้องมามองว่าแบบคุณเล่นแล้วไม่มีลูกค้าเลย ศิลปินที่ไปเล่นข้างนอกแล้วเฟล พอมาเล่นที่นี่ เขาจะได้เห็นว่ามันมีเพื่อน มีคนแบบเราอีกเยอะเลย ผมเชื่อว่าศิลปินที่มาเล่นงานนี้ไม่มีใครอยากเจ็บตัว แม้แต่ตัวเราเอง แต่ทุกคนจะเข้าใจว่ามันก็ต้องมาเจ็บด้วยกันนี่แหละ แต่มันต้องเจ็บด้วยการได้อะไรกลับมา ไม่มีอะไรได้มาแบบสบายๆ อยู่แล้ว ทุกคนเข้าใจในจุดร่วมเดียวกัน โดยที่ไม่ได้ตั้งใจคำถามใดๆ ชวนทุกคน ทุกคนก็มาเลย

มายด์ (ช่างภาพ) ขอร่วมถามด้วย : ยุคสมัยนี้มันทำให้เราอยากสื่อสารความเป็นตัวเองเพิ่มขึ้นไหม แต่ก่อนมันอาจจะ Niche มาก แต่ตอนนี้ Niche is the new จากที่ทำมาหลายปี จากเงียบๆ หายๆ รู้สึกว่าเราต้องมีเสียงมากขึ้นไหม

ฮอน : ก่อนหน้านี้เราไม่ค่อยกล้าที่จะออกตัว เพราะเรารู้ว่าทุกวงการดนตรีมีคนทำมาก่อน เราก็อยากอยู่ในจุดที่ ซัพพอร์ทเขา แต่เราว่าพอมันถึงจุดหนึ่งที่เราเชื่อว่าทุกคนก็เป็น คือคนที่ทำมันไม่ไหวแล้วว่ะ เหนื่อยแล้วว่ะ มันต้องมูฟออนไปอีกรูปแบบหรือพอแล้วดีกว่าว่ะ เพราะงั้นเราเลยรู้สึกว่ามันมีช่วงที่หายไป ช่วงแรกๆ เราก็เป็นแค่ผู้เล่น ไม่ได้เป็นผู้จัด แต่พอสักพัก เรารู้สึกว่าเรามีความเชื่อว่าทุกอย่างมันยังอยู่ได้ ที่ไต้หวัน ญี่ปุ่น อเมริกา มันมีสังคมของเขา ผมยากทำให้มันกว้างขวางที่สุด ผมศึกษาโซเชียลมีเดียใหม่ ผมก็ต้องเขียนเนื้อหา ให้ความรู้ในเพจ มันเลยทำให้ทุกคนเห็นว่า เห้ย ประเทศนี้มันมีแบบนี้นะ มันเลยกลายเป็นว่าคนที่เขาฟังเพลงดนตรีนอกกระแสอยู่แล้ว แล้วเขาได้รู้ลึกลงไปอีก มันก็จะเจอจุดที่เขาเจอประสบการณ์ใหม่ เห้ย เออมันเปิดใจ เริ่มสนับสนุน เริ่มหันมามองบ้าง ผมก็เลยมองว่าตอนนี้ดนตรีที่มันเป็นแนวนี้มันโตขึ้นนะ มีคนฟังนะ

ทอมมี่ : เรื่องของโซเชียลมีเดียเรารู้สึกว่ามันมีทั้งทางดีและไม่ดีนะ สุดท้ายมันก็ต้องอยู่สองทางนี้ ทางหนึ่งมันทำให้เราสามารถออกตัวมีโปรไฟล์แล้วก็บิลด์การทำเพลง ลิงก์กับคนทั้งโลกได้ แล้วก็อาจจะดังก็ได้ แต่มันเป็นการมองตัวเองอีกแบบหนึ่ง มันอาจจะไม่ใช่ตัวเราเองด้วยซ้ำ เป็นแค่คาแรกเตอร์ มันอันตรายสำหรับเราเหมือนกัน ดนตรีก็ไม่มีชีวิต เป็นดนตรีที่มันเท่ แต่มันไม่ได้เกิดจากคน มันแค่เป็นเกมของคอมพิวเตอร์ มันไม่ใช่ดนตรีสำหรับเรา แต่ข้อดีคือได้ซัพพอร์ทตัวเอง ได้เจอคนที่คิดแบบเรา แล้วก็ไปหาคนดูได้ สุดท้ายเราเป็นคนที่เชื่อว่าต้องมีเพื่อน ต้องมีสังคมที่สามัคคี อย่างเราก็คุยกันว่าจัดงานทำไมมันยากขนาดนี้นะ ทำไมมันต้องขายบ้าน มีสปอนเซอร์ แต่เราก็ต้องจัดให้มันเป็นไปได้ อาจจะต้องขาดบูทอาหารบ้าง ที่จอดรถไม่พอบ้าง แต่ก็อยากให้มันดี

ศิลปินหรือคนทำงานครีเอทีฟสำหรับเรายุคนี้เดี๋ยวนี้มันเหนื่อยเนอะ คือนอกจากทำงานตัวเองที่เหนื่อยแล้ว ยังต้องเหนื่อยกับการพรีเซนต์ตัวเองอีก

ทอมมี่ : เหนื่อยมากครับ มันสำคัญกว่าเล่นดนตรีอีก คนไม่ได้สนใจว่าคุณเล่นดีแค่ไหน

ฮอน : เขาสนใจว่าคุณคือใครไง

ทอมมี่ : คนไลก์ คน follow กี่คน

แล้วพวกคุณบาลานซ์มันยังไง

ทอมมี่ : เราว่ามันยาก เราก็ยังเชื่อว่ามันทำคนเดียวไม่ค่อยได้ คนที่ทำได้คือคนที่มีเพื่อน คนที่มีคอนเนคชั่นคนที่ไม่เปลี่ยนเขามาก เราก็ไม่ได้เป็นคนชอบเล่นโซเชียลมีเดีย แต่เราต้องเล่นเพื่อกระจาย เพื่อได้เพื่อน ได้พัฒนาศิลปะของเรา แล้วก็ทดลองไปเรื่อย เราไม่ชอบเฟสบุ๊ก แต่พวกเราก็คุยกันเรื่องอัลกอริทึมกันตลอดเลย เพราะเรากลัวโพสต์เวลาผิด มันเสียเวลาที่เราจะเอาไปเล่นดนตรี เราก็ต้องมานั่งคุยเรื่องนี้แทน แต่เราก็ต้องทำไปเรื่อยๆ เราก็ยังเชื่อว่ามันไม่ต้องคิดไรมาก เราก็ยังอัพรูปปรับฟิลเตอร์แบบที่เราชอบ สุดท้ายคนที่เราชอบ เพราะเราตั้งใจ แค่นี้ก็โอเคแล้ว มีความกดดันบ้าง เราต้องมีชื่อวงว่ะ ชื่อนี้ยากไปเสิร์ชไม่ได้ อ้าว หาชื่อวงที่มันหาง่ายอีก หรือบางทีต้องหาชื่อวงที่เสิร์ชยากๆ เลยเพราะมันเป็นอีกแนวนึง (หัวเราะ) 

แล้วสำหรับคนฟังล่ะ คนฟังที่สนใจหรือที่รู้จักยังไงเขาก็มา แต่พวกคุณรู้สึกคาดหวังกับคนอื่นไหม เช่น คนที่ฟังเพลงทั่วไปแต่เขาอาจจะมีกำแพงบางอย่างกับดนตรีแบบนี้ เพลงที่คนคิดว่าเครียดแน่ๆ ปวดหู ปวดหัว

ฮอน : จริงๆ นั่นคือทาร์เก็ทที่เราต้องการมากๆ เลย

ทอมมี่ : สิ่งที่สำคัญมากๆ เลย คือคนต้องเข้าใจว่า ดนตรีทดลองมันไม่ได้ฟังยากทุกครั้ง มันไม่ได้เจ็บหู บางทีอาจจะสบายกว่าดนตรีทั่วไปด้วยซ้ำ มันแล้วแต่คนเล่น ดนตรีทดลองมันอาจจะอันตรายเพราะคนคิดว่าดนตรีมันฟังยาก แต่งานนี้มันบาลานซ์อยู่ มีหลายแนว มีอคูสติก มีเพลงฟังสบาย มีธรรมชาติ มันไม่ต้องเข้าใจดนตรีประเภทนี้ก็ได้ แค่มาก่อน 

คนทั่วไปส่วนใหญ่มันคิดว่าเพลงนี้มันเท้ เท่ 

ทอมมี่ : เคยเจอคนทำงานในงานตอนไปจัดงานนึง เขาไม่ได้เป็นคนฟังเพลง แต่เขาก็บอกว่า เออ เขาไม่เคยเจอดนตรีแบบนี้เลย ศิลปินเล่นคนเดียวเหรอ เขาไม่ได้อินกับดนตรีแต่อินกับเพอร์ฟอร์มานซ์ เขาได้เห็นดนตรีร็อกที่มันไม่มีเนื้อร้องนะ

ฮอน : เราคาดหวังกับคนอื่นทั่วไปตลอดเลย สิ่งแรกที่เราได้รับมันคือความบริสุทธิ์ของเขา รีแอคแบบ มันมีแบบนี้ด้วยเหรอ มันผ่อนคลายมากเลย เรารู้สึกว่า เราเปิดให้เขาจริงๆ แล้วเขาก็เปิดให้เราจริงๆ เหมือนกัน

ทอมมี่ : เขาอาจจะไม่ได้เจอดนตรีที่ชอบ แต่เขาก็จะได้เห็นความครีเอทีฟอีกแบบหนึ่ง 

มันจะมีคนฟังเพลงกลุ่มหนึ่งแหละที่มีความหวง เพลงแบบนี้เราฟังคนแรกเลยนะ แบบไม่อยากให้แมสเลย พวกคุณคิดยังไงกับสิ่งนี้

ฮอน : เราอยากจะบอกว่าขอให้แมสเหอะ เราอยากแมสอะ (หัวเราะ) เราอยากได้เงิน ท้ายที่สุดเราอยากให้มันเป็นกระแสนิยมอยู่ดีแหละครับ เราไม่อยากพูดว่าเราไม่คาดหวังเงิน เราแค่อยากบอกว่าเราทำงานศิลปะก็จริง แต่เราก็อยากได้เงินจากงานศิลปะของเรา เงินก้อนนี้มันมาจากความสามารถเราและสิ่งที่เราเป็นจริงๆ เราโคตรอยากให้มันแมสเลย ไม่ต้องหวงหรอก ยิ่งขยายได้ยิ่งดี เอาให้คนอื่นฟังได้เลย เต็มที่ อย่างภาพยนตร์บางเรื่องเขาก็มาขอเพลงเรา หนังนิสิต หนังอินดี้ เขาบอกว่าไม่มีงบนะ เราบอกเอาไปเลย เราพูดถึงการกระจายผลงานมากกว่า ให้มันเป็นที่รู้จักและเข้าถึง เงินเดี๋ยวมันตามมาเอ

อะไรที่ทำให้รู้สึกว่าดนตรีแบบนี้มันเข้าถึงยาก 

ทอมมี่ : หนึ่ง คือคนแบบนี้แหละ คนที่บอกว่า ฟังเพลงแบบนี้ได้เหรอ ดนตรีสมัยนี้มันชัดเจนนะ อินดี้หรือเมนสตรีม เราก็ไม่อยากสนใจเรื่องนี้ อยากเจอคนที่มีความสุขกับดนตรี ได้เจออะไรใหม่ๆ อย่างวันอาทิตย์มีดนตรีในคาเฟ่นี้ เราเรียกว่าห้อง Modular มันคือดนตรีใหม่ มันคือเครื่องซินทิไซเซอร์ที่แยกออกมาเป็นชิ้นเล็กๆ หลายๆ อัน มีฟังก์ชั่นที่ต่างกันที่ทำอะไรมากมายกับเสียงก็ได้ มันสามารถทำดนตรีแนวใหม่โดยไม่ต้องใช้คอมพ์ทุกคน เบื่อคอมพ์แล้ว เครื่องนี้มันสามารถสร้างโลกอีกใบได้ งานนี้น่าจะเป็นงานแรกในไทยเลยที่แนะนำสิ่งนี้

ฮอน : มันคือนักวิทยาศาสตร์เลย เพราะขนาดคนเล่นเองก็ยังคาดเดาไม่ได้เลยว่ามันจะออกมาเป็นแบบไหนหรือเสียงเป็นยังไง

คนทำมันก็ไม่คิดว่ามันจะยากเนอะ

ทอมมี่ : เรายกเว้นว่าเครื่องนี้มันยากจริง (หัวเราะ) 

เราคาดหวังไหมว่าปีนี้มันเหมือนเป็นจุดเริ่มต้น สักวันมันอาจจะ settle ถ้าใครสนใจดนตรีแนวนี้ จะต้องนึกถึงเรา

ทอมมี่ : ทำครับ เราคุยกับฮอน เราเป็นเพื่อนบ้านกันมาสองปีแล้ว มีร้านกาแฟ มีแผ่นเสียง เราขยายกันมั้ย เราขายเครื่องซินท์ที่เราสนใจไหม เราอยากทำร้าน มีเวิร์คช็อป คนก็มาประกอบเครื่อง มาเรียนทำกาแฟกันดีมั้ย

ทำให้มันจับต้องง่ายและยั่งยืนขึ้น

ทอมมี่ :  เราก็ไม่อยากคิดว่าปีหน้าจะยังไง เราอยากจัด

ฮอน : เราก็เกรงใจศิลปินเหมือนเดิม เพราะเราไม่ได้อยากขายบัตร งานนี้ฟรี

ทอมมี่ : ตอนจัดครั้งที่แล้ว ตอนงานเสร็จแล้ว ปีนั้นมี 35 วง เราบอก โห มันสุดยอดเลย แต่ปีหน้าขอวงน้อยกว่านี้ได้มั้ย สรุปปีนี้ 50 วงเลย (หัวเราะ) 

ราหวังว่า Post-Loop Music Festival จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แบบไม่เจ็บตัวกันมากนัก ศิลปินใช้ใจก็จริง แต่ก็ต้องใช้เงินสนับสนุนเช่นกั อย่างน้อยงานนี้ก็ได้ทดลองไปด้วยกัน ไม่ใช่แค่สำหรับคนทำเพลง แต่คือสังคมของคนฟังทั้งหน้าเก่า หน้าใหม่ที่พร้อมจะเปิดดนตรีที่ไม่ควรจะแบ่งแยกว่าในหรือนอกกระแส 

สำหรับคนที่สนใจงานดนตรี อยากซื้ออุปกรณ์ดนตรีมือสอง หรือแค่อยากมาลองเดินเล่นให้กำลังใจคนทำเพลง สามารถเข้าชมได้ฟรีได้ที่ Brownstone อ่อนนุช ซอย 25 งานเริ่มตั้งแต่ 13.00-24.00 น. วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคมนี้ กระซิบหน่อยว่าที่นี่ไม่มีที่จอดรถ สามารถลง BTS อ่อนนุช หรือถ้าใครที่จะต้องนำรถมาจริงๆ เราแนะนำให้จอดที่ โลตัส, บิ๊กซีอ่อนนุช หรือ Max Value ซอยอ่อนนุช 14

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจ https://www.facebook.com/events/1022498698125888/