หากพูดถึง ‘ปณิธานปีใหม่’ เชื่อว่าหลายคนคงตั้งเป้าถึงการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น เรื่องสุขภาพ การออกกำลังกาย การอยากนอนให้เป็นเวลา หรืออะไรที่ไม่ยุ่งยากอย่างการดื่มน้ำเปล่าเพิ่มขึ้น 

แต่ในเมื่อวิถีชีวิตแบบ ‘กินเค็มถูกใจ ไตถูกตัด’ หรือ ‘นอนเช้าไม่กลัว กลัวไม่เช้า’ ที่หยอกล้อเป็นคำพูดเชิงติดตลกว่า ไม่ดีต่อสุขภาพ ในความเป็นจริงก็ยังเป็นพฤติกรรมที่รู้สึกสบายใจ และมีความสุขอยู่ตลอด

น่าสนใจไม่น้อยว่าอะไรที่ขับเคลื่อนให้เรายังจมอยู่กับพฤติกรรมทำร้ายสุขภาพ ถึงแม้จะรู้ว่ามันแย่แค่ไหน แต่ก็ไม่เคยจะเลิกเสพติดได้เสียที

เพราะอะไรที่ไม่ดีมักจะทำให้เรามีความสุข

บ่อยครั้งที่ผู้คนโหยหาความสุขและความสะดวกสบายในระยะสั้น มากกว่าที่จะคำนึงถึงผลลัพธ์ระยะยาว นอนดึก สูบบุหรี่ กินบุฟเฟต์ จะเห็นว่า หลายครั้งเราเลือกให้รางวัลตัวเองโดยการทำสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพทั้งสิ้น เพราะสมองของเราเชื่อมโยงกับการให้รางวัลด้วยการหลั่งสารโดปามีน (Dopamine) ออกมา 

เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะกิจวัตรที่ไม่ดีทั้งหลายอาจมีวัตถุประสงค์เบื้องหลัง คือความสบายใจ หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่อง ‘Revenge Bedtime Procrastination’ หรือพฤติกรรมการนอนดึกเพื่อชดเชยเวลาที่ไม่มีความสุขในตอนกลางวัน แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าการนอนดึกเป็นสิ่งไม่ดี แต่อาจเป็นเวลาเดียวที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่า ตนได้ใช้ชีวิตของตัวเองในการทำสิ่งที่ชอบจริงๆ 

หรือศัพท์ทางจิตวิทยาอย่างคำว่า ‘Emotional Eating’ ใช้อธิบายถึงสถานการณ์ที่ผู้คนเลือกจะรับประทานอาหารเพิ่มขึ้น เมื่อเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ส่วนใหญ่มักเป็นอารมณ์เชิงลบ ราวกับว่าเราใช้การกินและการนอนที่ไม่ดีทำให้สุขภาพจิตของตัวเองดีขึ้น

สภาพแวดล้อมไม่เอื้อ

เคยไหมไม่กล้าที่จะบอกใครว่าลดความอ้วนอยู่ เพราะกลัวคำพูดที่อาจกระทบจิตใจ หรือบางทีก็ไม่อยากให้คนอื่นรับรู้ แม้จะมีความมุ่งมั่นเพื่อสุขภาพที่ดีจริงๆ แต่การอยู่ท่ามกลางผู้คนที่ไม่สนับสนุนทางเลือกของเรา อาจทำให้การบรรลุเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นไปได้ยากขึ้น แน่นอนว่าสิ่งนี้คงแก้ได้ หากไม่ยอมแพ้ต่อแรงกดดันจากสังคมรอบข้าง และมุ่งมั่นในสิ่งที่เลือกมากพอ แต่ไหนจะเพื่อนชวนไปกินหม่าล่า ไหนจะชานมไข่มุกที่คนในออฟฟิศสั่งมา สำหรับหลายคนแล้ว การเอ่ยคำปฏิเสธในวงสังคมก็อาจไม่ใช่เรื่องง่ายขนาดนั้นเสียด้วย

ขณะเดียวกัน การมีคนรอบข้างเป็นสายรักสุขภาพสามารถกระตุ้นให้เราเป็นแบบนั้นตามได้ ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London: UCL) ในสหราชอาณาจักร เผยว่า หากต้องการเปลี่ยนนิสัยที่ไม่ดี เราจะมีแนวโน้มประสบความสำเร็จมากขึ้น ถ้าคนรักเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับเราด้วย มีงานวิจัยที่บอกว่า ราว 50% จากผู้หญิงที่สูบบุหรี่จะประสบความสำเร็จในการเลิกบุหรี่ หากคนรักของพวกเธอเลิกบุหรี่ในเวลาเดียวกัน

อาจเพราะ ‘Self-Sabotage’

ดีชั่วรู้หมดแต่อดไม่ได้ รู้ว่าเสี่ยงแต่ยังทำ นิสัยไม่ดีหลายอย่างที่เราทำเป็นกิจวัตรอาจเกิดจากสิ่งที่เรียกว่า ‘Self-Sabotage’ หรือการบั่นทอนเป้าหมายและชีวิตตัวเอง ด้วยการทำสิ่งไม่ดีโดยมองข้ามความเป็นเหตุเป็นผลไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ชีวิต การอยู่ในความสัมพันธ์แย่ๆ หรือการตั้งเป้าหมายแต่ทำไม่สำเร็จ รวมถึงเรื่องสุขภาพด้วย

Self-Sabotage มักใช้เป็นกลไกในการรับมือกับสถานการณ์ที่ตึงเครียด หรือประเด็นในใจบางอย่าง หลายคนอาจมีพฤติกรรมเช่นนี้ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว และมาจากหลากหลายเหตุผล เช่น การเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ หรือผลกระทบจากสถานการณ์บางอย่างที่เคยเผชิญ ซึ่ง Self-Sabotage อาจปรากฏในรูปแบบของความคิดที่ดูธรรมดา เช่น คนที่กินอาหารเพื่อสุขภาพมาทั้งสัปดาห์ แล้วให้รางวัลตัวเองด้วยการกินบุฟเฟต์ปิ้งย่างแบบจุใจ ตบท้ายด้วยไอศครีมหลายถ้วยแม้จะไม่ได้อยากกินขนาดนั้นก็ตาม 

นอกจากนี้ แน่นอนว่ายังมีเหตุผลอื่นๆ มากมาย ที่หยุดยั้งเราจากการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ ไม่เช่นนั้นก็คงไม่ได้เป็นเป้าหมายที่ทุกคนอยากไปให้ถึง แต่ไม่ว่าจะเหตุผลอะไร สุดท้ายแล้วสุขภาพก็อาจเป็นสิ่งเดียวที่สำคัญกับชีวิตมนุษย์ที่สุด เพราะจะเป็นพื้นฐานให้เราสามารถใช้ชีวิต และได้ทำสิ่งต่างๆ ที่ตัวเองรักอย่างเต็มที่ การใช้ชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดีจึงเป็นสิ่งที่คุ้มกับการพยายามต่อไป แม้จะผ่านความล้มเหลวมาหลายครั้งก็ตาม

อ้างอิง

https://www.medicalnewstoday.com/articles/318837 

https://www.verywellmind.com/why-people-self-sabotage-and-how-to-stop-it-5207635 

https://www.medicalnewstoday.com/articles/318837#Positive-effects-of-a-partner-on-health 

https://www.facebook.com/PsychologyChula/photos/a.897311197049961/1804664519647953/?type=3



Tags: , , , , , ,