ณ ร้านอาหารสุดหรูแห่งหนึ่ง นาย A และภรรยากำลังออกเดตอันสุดโรแมนติก
ระหว่างที่กำลังรับประทานอาหารจากเชฟเทเบิลดัง แม่ของนาย A โทรมาหาลูกชาย
“แม่เหงามากๆ มาอยู่เป็นเพื่อนแม่หน่อย” เสียงโทรศัพท์จากปลายสายระบุ
“ผมไม่ว่างครับแม่ ผมทานข้าวกับภรรยาอยู่” นาย A ตอบกลับไป
“แต่แม่คิดถึงใจจะขาดรู้ไหม แม่เลี้ยงมาตั้งแต่เด็กจนโต ทุ่มเททุกอย่างให้กับลูก ไม่มีใครจะรักลูกเท่ากับแม่รักลูก ลูกไม่รักแม่แล้วเหรอ”
เมื่อได้ยินดังนั้น นาย A จึงตัดสินใจทิ้งภรรยาไว้ที่ร้านอาหารคนเดียวและขับรถไปหาแม่ทันที
นี่เป็นเหตุการณ์ที่จิตแพทย์ เคนเน็ธ อดัมส์ (Dr. Kenneth Adams) เคยได้ยินมาจากคนไข้หลายท่าน จนตั้งคำถามกับตัวเองว่า จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อความรักและความผูกพันของพ่อแม่ มันมากเกินไปจนกลายเป็นสิ่งที่ร้ายแรงต่อลูก เขาสังเกตว่า พ่อแม่บางคนอาจรู้สึกโศกเศร้าเมื่อลูกไม่อยู่ด้วย ไม่ยอมรับที่ลูกมีแฟน หรือตามติดลูกไปทุกหนแห่ง (แม้ว่าลูกโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว) แท้จริงแล้ว พฤติกรรมแบบนี้ไม่ใช้ความสัมพันธ์ที่ดีหรือแม้แต่ปกติ มันคือภาวะ ‘Emotional Incest’ หรือพ่อแม่รักลูกแบบล้ำเส้นต่างหาก
คำว่า Emotional Incest มีต้นกำเนิดจากอดัมส์ หลังจากการทำวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว แม้คำว่า ‘Incest’ จะหมายถึงการร่วมประเวณีในครอบครัว แต่ Emotional Incest หมายถึงการไม่มีขอบเขตทางอารมณ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก โดยที่พ่อหรือแม่ใช้ลูกเพื่อเติมเต็มความต้องการทางอารมณ์ของตัวเองจนมองลูกเป็นคนรัก ซึ่งเป็นการล่วงละเมิด (Abuse) แบบหนึ่ง พ่อหรือแม่ที่มี Emotional Incest กับลูกจะพึ่งพาลูกเพื่อความสุขของตัวเองจนคลั่ง และคาดหวังว่าลูกต้องให้ความสำคัญกับเขามากที่สุด เพราะฉะนั้น เขามักกดดันและบีบบังคับลูกให้อยู่ดูแล ให้กำลังใจ และใช้เวลากับตน โดยการใช้กลยุทธ์การชักจูงทางอารมณ์ (Emotional Manipulation)
ตัวอย่างหนึ่งของ Emotional Incest ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ‘Mommy’s Boy’ (ลูกชายของแม่) และ ‘Boy Mom’ (คุณแม่ที่มีลูกชาย) ซึ่งพูดถึงคู่คุณแม่-ลูกชาย ที่สนิทกันจนเกินไป แม้ Emotional Incest สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกชาย เพราะแม่เลี้ยงเดี่ยวมีความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงทางอารมณ์ จึงคลั่งลูกชายและมองเขาเป็นเหมือนสามีที่ต้องรักใคร่และดูแลเธอตลอดไป
คุณแม่ที่เรียกตัวเองว่า Boy Mom ทั้งหลายมักจะหึงหวงลูกชายอย่างยิ่งและกีดกันไม่ให้ลูกมีเพื่อนสนิทหรือแฟน เพราะเกรงกลัวว่าคนอื่นอาจ ‘แย่ง’ ลูกชายไป เช่นคุณแม่ Boy Mom คนหนึ่งที่โพสต์ลงโซเชียลว่า “ฉันเป็น Boy Mom ผู้ชอบจ้องมองลูกชายและรู้สึกดีใจที่สุดว่า ผู้ชายหล่อเหลาผู้นี้เป็นของฉันคนเดียว แม้วันหนึ่งเขาอาจตกหลุมรักกับผู้หญิงคนอื่น เขาจะไม่มีวันรักยัยคนนั้นมากเท่าที่เขารักแม่” ซึ่งบุคคลที่มีภาวะ Emotional Incest อาจใช้วิธีขู่และใส่ร้ายแฟนลูก ไม่ยอมให้ลูกใช้เวลากับแฟน หรือแม้แต่ห้ามไม่ให้มีแฟนทั้งสิ้น เพราะต้องการเป็นหนึ่งเดียวในใจลูกไปตลอด
นอกจากนี้ พ่อหรือแม่อาจแสดง Emotional Incest ในรูปแบบอื่น เช่น ปรึกษาลูกเรื่องความรักและเพศสัมพันธ์ คาดหวังว่าลูกจะแสดงความรักให้ (ด้วยการโอบกอด หอม จูงมือ พาไปเดต) หรือต้องการให้ลูกอยู่กับเขาตลอดเวลา และมักใช้กลยุทธ์ Guilt Tripping หรือการทำให้ลูกรู้สึกผิดจนต้องยอมทำตาม ยกตัวอย่างเช่น โพสต์ประกาศว่า “เหงามากๆ” เมื่อลูกไปเที่ยวกับเพื่อน หรือตีหน้าเศร้า ร้องไห้ และโวยวายว่า “ลูกไม่รักแลัว” “ลูกเป็นเด็กไม่ดี เป็นเด็กอกตัญญู ทั้งๆ ที่พ่อ/ แม่รักลูกมากขนาดนี้” ทุกครั้งที่ลูกทำสิ่งที่พ่อหรือแม่ไม่ชอบใจ
เมื่อปล่อยให้ความรักของพ่อแม่เลยเถิดกลายเป็นความคลั่งมาเป็นเวลานาน อาจมีผลกระทบอันร้ายแรงต่อลูก อดัมส์ได้พบว่า ลูกของพ่อแม่ที่มี Emotional Incest อาจมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ กับคนในครอบครัวโดยรู้สึกเกรงกลัว ไม่ไว้วางใจพ่อแม่ และไม่กล้าที่จะมีตัวตนหรือใช้ชีวิตด้วยตัวเอง นอกเหนือจากนี้ ลูกอาจมีปัญหาในชีวิตรักของตัวเอง บางคนอาจถูกพ่อแม่ห้ามไม่ให้มีแฟนไปตลอดจนโตเป็นผู้ใหญ่ บางคนอาจรู้สึกผิดเกินไปที่จะมีแฟน และบางคนอาจไม่สามารถมีความผูกพันกับแฟนได้ เพราะยังรู้สึกผูกพันกับพ่อหรือแม่มากกว่า
ท้ายที่สุด ลูกที่โตมากับ Emotional Incest จะถูกพึ่งพา บีบบังคับ และ Guilt Trip จนต้องรู้สึก อึดอัด หายใจไม่ออก และเกรงใจพ่อหรือแม่จนต้องทำตามคำสั่งทุกอย่าง จนไม่มีโอกาสใช้ชีวิตอย่างมีอิสระ เปรียบเสมือนเด็กที่ต้องเชื่อฟังพ่อแม่ตลอดไป
หรือจริงๆ แล้ว เราอาจจะต้องประเมินความหมายของ ‘ลูกที่ดี’ ‘ลูกรักของพ่อแม่’ และ ‘ลูกกตัญญู’ ใหม่?
ถึงที่สุดแล้ว ความรักที่ข้ามเส้นขนาดนี้อาจไม่ใช่ความรักที่แท้จริง แต่เป็นความเห็นแก่ตัวและเป็นการยืนยันความเป็นเจ้าของของลูก Emotional Incest จะค่อยๆ กัดกร่อนความสุขของลูกจนเขาเติบโตเป็นคนที่ไม่มีตัวตน ไม่มีชีวิตของตัวเอง ไม่มีอิสระ และไม่มีความกล้าพอที่จะขัดความต้องการของพ่อหรือแม่ และอาจตัดสินใจ โกหก ปิดบัง หรือตัดขาดจากครอบครัว
ทั้งๆ ที่การมีความรักไม่ผิด การมีชีวิตของตัวเองก็ไม่ผิด แต่แท้จริงแล้ว ‘ลูกรักของพ่อแม่’ อาจเป็นเพียงลูกที่ถูกบงการทางความคิดหรืออารมณ์แบบที่ลูกก็ไม่รู้ตัว ความผูกพันอันหนาแน่นในครอบครัว อาจเป็นเพียงลูกที่ถูกพ่อแม่ผูกมัดและรั้งไว้ด้วยคำว่า ‘ลูกที่ดี’ เท่านั้น