[1]

บาดแผลทางกายทายาเดี๋ยวก็หาย แล้วบาดแผลทางใจต้องทายาชนิดไหนกินยาแขนงใดจึงได้ผล?

น่าเสียดายที่เราไม่เคยถูกสอนเลยว่าต้องปฐมพยาบาลจิตใจตัวเองแบบไหน หรือฮาวทูซ่อมแซมหัวใจส่วนที่สึกหรอเป็นอย่างไร แต่เมื่อร่างกายมีอาการป่วยไข้เราจะรู้ว่าต้องปฐมพยาบาลเบื้องต้นแบบไหน เช่น เมื่อมีบาดแผลที่เข่าเราจะรู้ว่าต้องทำความสะอาดและใส่ยาแผลถึงจะหาย เป็นไข้ต้องกินยาเพื่อไม่ให้อาการทรุดหนัก กระดูกหักต้องเข้าเฝือกเพื่อให้กระดูกไม่ผิดรูป 

แต่หากถามว่าเราควรทำอย่างไรเพื่อบรรเทาความเจ็บป่วยจากการถูกปฏิเสธ รักษาบาดแผลทางจิตใจจากความเหงา อาการปวดหัวใจที่คล้ายกับถูกมีดแทงหลังเลิกรากับคนรัก อาการโศกเศร้าจนแทบหายใจไม่ออกจากความสูญเสีย อาการผิดหวังเล็กน้อย หรือความผิดหวังจากความล้มเหลว เรากลับทำตัวไม่ถูกและไม่รู้ว่าต้องเริ่มบรรเทาความเจ็บปวดนี้จากจุดไหน

ขณะที่แทบทุกบ้านจะมีชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งเต็มไปด้วยยาสามัญพื้นฐาน เช่น แอสไพริน สำลี และผ้าพันแผล แต่เมื่อเกิดบาดแผลทางจิตใจเรากลับไม่รู้ว่าต้องใช้ยาสูตรไหน หรือปิดปากแผลเพื่อยับยั้งการติดเชื้ออย่างไร

หนังสือ Emotional First Aid  ซ่อมแซมส่วนสุขที่สึกหรอ เขียนโดย กาย วินช์ (Guy Winch) แปลโดย ลลิตา ผลผลา เป็นหนังสือที่ไม่ต้องการมาแทนที่จิตแพทย์ เพียงแต่ทำหน้าที่เสมือนตู้ยาสามัญประจำบ้าน เป็นชุดปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้น เพื่อไม่ให้สะเก็ดแผลลุกลามจนเกิดภาวะติดเชื้อในภายหลัง 

ตู้ยาสามัญประจำบ้านฉบับนี้ มีเนื้อหาและการจ่ายยาสำหรับการปฐมพยาบาล รักษาอารมณ์เบื้องต้นไว้ 7 บท ซึ่งแต่ละบทจะมีวิธีจ่ายยาที่ผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง และบรรยายว่าบาดแผลทางจิตใจมันส่งผลกระทบต่อเราในระยะยาวอย่างไรบ้าง เช่น สะเก็ดอารมณ์ของการครุ่นคิด การปฏิเสธ ความเหงามันทำร้ายเราอย่างไร และอาการแบบไหนที่เราควรไปพบจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ

[2]

“เรามักถูกบอกให้ปล่อยวาง อย่าไปเก็บมาคิดมาก แล้วมันจะผ่านไป แต่ความเจ็บปวดทางอารมณ์ต่างๆ มันสร้างความทุกข์โศก เหนื่อยหน่าย ระทมทรมานเหมือนจมน้ำ และทำให้เราหลงทางได้จริงๆ”

เมื่อพูดถึงสุขภาพกาย เราจะรับรู้ถึงขีดจำกัดตัวเองได้เสมอ เช่น เราสามารถบ่งบอกความแตกต่างระหว่างรอยฟกช้ำดำเขียวทั่วไปกับอาการบวมช้ำจากกระดูกหักได้ ในส่วนนี้แตกต่างจากสุขภาพจิตเป็นอย่างมาก เพราะเราไม่สามารถประเมินได้ว่าสุขภาพจิตได้รับบาดเจ็บ ฟกช้ำ ห้อเลือดแค่ไหน และต้องบาดเจ็บเพียงใดถึงต้องไปพบจิตแพทย์

แน่นอนว่าเราสามารถไปขอคำแนะนำจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพจิตในสถานการณ์เหล่านี้ได้ แต่หากบาดแผลทางอารมณ์และจิตใจที่เกิดขึ้นมันเป็นเรื่องราวเล็กๆ ที่พบเจอในชีวิตประจำวันอย่างการถูกปฏิเสธ ซึ่งเป็นบาดแผลทางอารมณ์ที่เจอมากที่สุดในชีวิต เราจะไปพบจิตแพทย์หรือไม่? 

การสอบเข้าโรงเรียน เคยถูกเพื่อนเลิกคบ ถูกเทนัด ถูกหัวหน้าปฏิเสธนับครั้งไม่ถ้วน เหล่านี้ดูเป็นเรื่องปกติสามัญที่ทุกคนต้องพบเจอในชีวิตประจำวัน แต่เคยนึกไหมว่า บาดแผลทางอารมณ์หล่านี้ เมื่อถูกสั่งสม ไม่ได้รับการรักษา เยียวยา หรือบรรเทาอาการเจ็บปวด จากรอยขีดข่วนเล็กๆ อาจกลายเป็นแผลที่ลุกลามติดเชื้อจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตได้

[3]

บาดแผลทางจิตใจจากการถูกปฏิเสธมันทำร้ายเราอย่างไรบ้าง?

บาดแผลทางจิตใจจากการถูกปฏิเสธเล็กๆ น้อยๆ ที่ไร้สาระ หรือจากคนแปลกหน้าก็สามารถสร้างความเจ็บแปลบให้เราได้อย่างร้ายกาจ ซึ่งบาดแผลจากการถูกปฏิเสธจะกลายเป็นสะเก็ดอารมณ์และส่งผลกระทบต่ออาการคิดอ่านของเราได้ ทำให้เกิดความโกรธในจิตใจจนนำไปสู่การกัดกร่อนความเชื่อมั่นและความเคารพในตัวเอง และส่งผลให้ความรู้สึกขั้นพื้นฐานอย่างการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมถูกสั่นคลอน 

บาดแผลทางอารมณ์ที่เราเจอในแต่ละวัน แม้จะมองไม่เห็นอย่างทันทีทันใด แต่แน่นอนว่าเมื่อสั่งสมพอกพูนอยู่ในใจมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ได้รับการรักษาเยียวยา ก็อาจทำให้ลุกลามไปสู่แผลที่ติดเชื้อจนยากที่จะรักษาได้ จนสามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

[4]

“เรื่องตลกร้ายอันน่าเศร้าของความเหงา คือขณะที่เรามักรู้สึกราวกับเป็นมนุษย์ล่องหนในสายตาคนอื่น แต่คนอื่นๆ มักมองเห็นความเหงาของเราได้ชัดเจนอย่างแท้จริง”

ความเหงาเรื้อรังมันทำร้ายเราได้มากกว่าความสุขขั้นพื้นฐานของชีวิตหลายเท่า เพราะมันมีความเกี่ยวพันกับโรคซึมเศร้า ความคิดพฤติกรรมการฆ่าตัวตาย ความเป็นศัตรูและปัญหานอนไม่หลับอีกด้วย

ความเหงาและการสูบบุหรี่มีผลกระทบที่น่าวิตกต่อสุขภาพที่คล้ายคลึงกัน เพราะความเหงาสามารถเปลี่ยนแปลงการทำหน้าที่ของระบบหัวใจและหลอดเลือด อาจนำไปสู่โรคความดันโลหิตสูง ดัชนีมวลกายที่เพิ่มขึ้น คอเลสเตอรอลที่สูงขึ้น และระบบต่อมไร้ท่อเพิ่มฮอร์โมนความเครียด

 มีตัวอย่างงานศึกษาเรื่องสุขภาพของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งพบว่า คนที่เหงาจะตอบสนองต่อวัคซีนไข้หวัดใหญ่น้อยกว่าคนที่ไม่เหงาอย่างมีนัยสำคัญ ความเหงายังเป็นสาเหตุให้ความสามารถทางจิตใจอ่อนแอลง ส่งผลต่อการตัดสินใจ ความคิด อาการนอนไม่หลับ และมีผลเรื้อรังที่ทำให้อายุขัยเฉลี่ยสั้นลง พอๆ กับผลกระทบของการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน

  แต่ความแตกต่างกันระหว่างความเหงากับการสูบบุหรี่ คือความเหงาไม่เคยแสดงระยะฟักตัวของอาการ จนเรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่หรือเร่งด่วนอะไร ในขณะที่บุหรี่มีคำเตือนหน้าซองว่า ‘อย่าสูบเกินวันละ 2 ซอง’ สูบแล้วถุงลมโป่งพอง ควันบุหรี่ทำให้เกิดมะเร็งปอด 

อันที่จริงความเหงาก่ออันตรายทำให้เราเกิดความโดดเดี่ยวในสังคม จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพร้ายแรง และความเหงากลายเป็นอาการทางจิตใจที่ถูกละเลยมากที่สุด ภัยแห่งความเหงาจะส่งผลให้กล้ามเนื้อความสัมพันธ์ของเราอักเสบ ทำให้สานสัมพันธ์กับคนอื่นด้วยความระมัดระวัง ทำให้พลาดโอกาสสร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ 

หากถูกเชิญไปงานเลี้ยง คนเหงาอาจปฏิเสธเพราะจินตนาการเห็นภาพตัวเองยืนเขินๆ คนเดียว ทั้งที่อาจเป็นจินตนาการที่ตรงข้ามกับความเป็นจริง มักมีคำปฏิเสธไม่ร่วมกิจกรรมทางสังคม หรือเมื่อไปงานสังคมคุณมักยืนกอดอก ล้วงเงินในกระเป๋านานเกินเหตุ แสร้งสนใจข้อความทางโทรศัพท์ทั้งที่ไม่มีอยู่จริง

นอกจากนี้การอยู่กับคนอื่นก็ไม่ใช่คำตอบเสมอไป หลายครั้งเราก็เหงามากขึ้นเมื่ออยู่ท่ามกลางผู้คน 

[5]

หลังจากเปิดตู้ยาสามัญประจำบ้านเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดทางจิตใจ เราพบว่าตัวเองติดอยู่ใน ‘บทที่ 4 ความรู้สึกผิด’ และ ‘บทที่ 5 อาการแตกสลายที่เกิดจากการครุ่นคิด’ ซึ่งอาจพัฒนาไปสู่โรคย้ำคิดย้ำทำในอนาคตได้ (จากการประเมินพฤติกรรมส่วนตัวคิดว่ามีโอกาสพัฒนาสูง) ชุดปฐมพยาบาลจิตใจฉบับนี้ช่วยชี้ให้เห็นว่า อาการครุ่นคิดที่เราเป็นอยู่มันมอดไหม้พลังชีวิตเราอย่างไรและในมิติไหนบ้าง จึงนับเป็นการสังเกตอารมณ์และประเมินบาดแผลทางจิตใจของเราครั้งแรก 

ตู้ยาสามัญฉบับนี้ยังบอกวิธีการรักษาและการจ่ายยาที่ใช้ได้จริง แบบไหนที่เหมาะกับเรา เมื่อใดก็ตามที่การจ่ายยาขั้นพื้นฐานไม่สามารถบรรเทาหรือปลดล็อกเราจากสะเก็ดอารมณ์เหล่านี้ได้ เมื่อนั้นคงถึงเวลาแล้วที่เราควรไปพบจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อไม่ให้สภาพจิตใจมันบอบช้ำไปมากกว่านี้… 

Fact Box

  • หนังสือเล่มนี้ถ่ายทอดจากประสบการณ์รักษาคนไข้ของ กาย วินช์ (Guy Winch)  นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาวะทางจิต ประกอบกับงานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ซึ่งศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างจริง และตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ จนนำมาสู่การเรียบเรียงเป็นคู่มือปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้นในหนังสือ Emotional First Aid ซ่อมแซมส่วนสุขที่สึกหรอ
  • สูญเสียแค่ไหน ก็ไม่เสียศูนย์ (How to fix a broken heart) เป็นอีกหนึ่งผลงานหนังสือของ กาย วินช์
Tags: , ,