กลัว

โกรธ

เศร้า

ดีใจ

มีความสุข 

หนังสือเล่มนี้ถูกเราหยิบขึ้นมาอ่านในช่วงที่ชีวิตมีความอ่อนไหวด้านอารมณ์ถึงขีดสุด จนที่สรุปกับตัวเองว่า ตั้งแต่ลืมตาและใช้ชีวิตในโลกแห่งนี้มา 20 กว่าปี เส้นเวลาตอนนี้เป็นช่วงที่หนักหนาสาหัสมากที่สุด และเปราะบางอย่างที่ไม่เคยเปราะบางมาก่อน

หลากหลายอารมณ์หลายหลายความคิดผุดขึ้นมาในหัวเราตลอด จนเรื่องที่เป็นเพียงความคิด เป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่เมื่อถูกคิดซ้ำๆ ถูกพูดถึงซ้ำๆ มันเลยกลายเป็นเรื่องจริงที่อยู่ในหัวเราไปเรียบร้อย

หนังสือ Emotional Agility เท่าทันอารมณ์ก็เข้าใจตัวเองของ ซูซาน เดวิด (Susan David) แปลโดย วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม โดยหนังสือเล่มนี้พูดถึง ‘ความคล่องแคล่วทางอารมณ์’ ที่เมื่อเรามีความคล่องแคล่วทางอารมณ์แล้ว ไม่ว่าจะเจอปัญหาหรือการต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ในชีวิต สิ่งนี้แหละที่จะกลายเป็น ‘เครื่องมือ’ ช่วยให้เราก้าวผ่านอารมณ์ต่างๆ และค้นพบคำตอบที่แท้จริงของตัวเอง

1

รู้อะไรไม่เท่ารู้อย่างนี้

เราเชื่อว่าในช่วงชีวิตของแต่ละคนมักต้องเคยเจอกับเหตุการณ์ที่ตองตัดสินใจระหว่างสิ่งหนึ่ง และอีกสิ่งหนึ่ง และการตัดสินใจนี้อาจเปลี่ยนหรือส่งผลกระทบต่อเราได้ จนมักมีความคิดประมาณว่า ‘รู้อะไรไม่เท่ารู้อย่างนี้’, ‘เสียดายทำไมตอนนั้นถึงไม่เลือกเส้นทางนี้’ ฯลฯ

หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า ความคิดเหล่านี้มีอารมณ์หรือชุดความคิดตรงไหนบ้างที่คอยฉุดรั้งการก้าวไปข้างหน้าของตัวเราอยู่ ความรู้สึกกลัว ลังเล ไม่แน่ใจ แท้จริงแล้วมันกำลังส่งสัญญาณเตือนอะไรสักอย่าง หรือมันเป็นเพียงความกลัวอะไรสักอย่างจนปิดกั้นความเปลี่ยนแปลงนี้ไว้

2

กับดักหรือสัญญาณเตือน

เราไม่ต้องคอยกดอารมณ์ด้านลบ และต้องอยู่กับความคิดเชิงบวกเท่านั้น แต่เรากำลังจะเรียนรู้และศึกษากับอารมณ์ หรือความคิดด้านลบที่พลุ่งพล่านอยู่ในหัวเราต่างหาก

ว่ากันว่าสัญชาติญาณการเอาตัวรอด เรื่องความคิดของมนุษย์ เป็นสิ่งที่ทุกคนมีติดตัว เวลาเกิดเหตุการณ์อันตรายที่เราไม่รู้ล่วงหน้า ร่างกายมักจะดำเนินไปโดยอัตโนมัติ เช่น เวลาเผลอไปจับของร้อน มือจะถูกดึงกลับโดยอัตโนมัติ แต่หลายครั้งความรู้สึกเหล่านี้ก็สามารถกลายเป็นกับดักทำให้เราติดกับได้อีกเช่นกัน

“ตามปกติแล้วคนส่วนใหญ่มักจะพูดราว 16,000 คำ แต่ความคิดที่อยู่ในหัวเรากลับสามารถผลิตคำออกมาได้เพิ่มอีกหลายพันคำ นี่คือเสียงแห่งจิตสำนึกเงียบแต่มันกลับกลายเป็นตัวที่พูดพล่ามมากที่สุด ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย มันแอบถล่มเราด้วยข้อสังเกต คำวิจารณ์ต่างๆ และการคิดวิเคราะห์แบบไม่หยุดหย่อน  เสียงที่พล่ามไม่หยุดนี้ อาจารย์สอนวรรณคดีเรียกมันว่า ผู้บรรยายที่ไม่อาจเชื่อถือได้” หน้า 42

เพราะในความคิดในตัวตนของเราอาจมีอคติที่หลงเหลือตามมาได้ ที่อาจทำให้คิดเข้าข้างตัวเองหรือหลอกตัวเองได้อีกเช่นกัน ที่แย่ไปกว่านั้น เสียงที่อยู่ในหัวนี้ไม่มีท่าทางที่จะหยุดพูดเสียด้วย จนบ่อยครั้งเราเผลอรับความคิดที่อยู่หัวให้กลายเป็นเรื่องจริง แต่แท้จริงแล้วมันคือสิ่งที่ผสมซ้อนกันระหว่างการประเมินและการตัดสินใจที่ถูกทำให้เข้มข้นด้วยอารมณ์ของเราเอง

3

ในที่นี้ใครใหญ่ ตัวผู้คิดหรือตัวความคิด

สิ่งที่เราชอบและนำมาปรับใช้กับชีวิตจริงจากหนังสือเล่มนี้คือ การเขียนบันทึกอารมณ์ เราใช้กฎการเขียนของเพนน์เบเกอร์ ที่จะจับเวลาการเขียนบันทึกครั้งละ 20 นาที เมื่อเริ่มจับเวลาแล้วก็ให้เราเริ่มเขียนสิ่งที่เรารู้สึกอยู่ อาจจะเป็นความรู้สึก วันนี้ ทั้งอาทิตย์ ทั้งเดือน หรือทั้งปีก็ได้ ให้เราเขียนสิ่งที่คิด สิ่งที่รู้สึกออกมาโดยเขียนให้ตัวเองอ่าน อาจจะเขียนเสร็จแล้วปาทิ้งถังขยะเลยก็ได้ หากใครไม่ถนัดการเขียนก็สามารถใช้วิธีการพิมพ์หรือบันทึกเสียงแทน

การเขียนบันทึกที่ใช้เวลากว่า 20 นาทีในทุกวันของเราเป็นเหมือนการสรุปอารมณ์ สรุปสิ่งที่เจอ สิ่งที่รู้สึกในแต่ละวัน เหมือนกับมานั่งพูดคุยกับตัวเองอีกครั้ง และหาคำตอบว่า อารมณ์ โมโห โกรธ เศร้า หงุดหงิด หรือกลัว มีที่มาสาเหตุจากอะไร และมาร่วมหาทางออกในการอยู่กับอารมณ์เหล่านี้โดยที่ไม่ใช่การกดอารมณ์ของตัวเองไว้ หรือระเบิดออกไปแบบที่ไม่ได้พูดคุยกับตัวเองก่อน

เหมือนที่หนังสือเล่มนี้พูดไว้ เราควรมาตั้งคำถามกันแล้วว่า ในที่แห่งนี้ ในตัวตนของเรา ใครกันแน่ที่เป็นพี่ใหญ่ คือตัวเรา หรือตัวความคิด

Fact Box

  • ซูซาน เดวิด เป็นนักจิตวิทยาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เธอได้ขึ้นทำเนียบนักคิดด้านการจัดการชั้นนำของ Thinkers50 และเป็นวิทยากรเป็นที่ปรึกษาให้แก่ World Economic Forum, EY, United Nations, Google, Microsoft, NASDAQ ฯลฯ
  • Emotional Agility เท่าทันอารมณ์ก็เข้าใจตัวเอง, ผู้เขียน ซูซาน เดวิด, ผู้แปล วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม, สำนักพิมพ์ Be(ing), จำนวน 400 หน้า, ราคา 329 บาท

 

Tags: , , ,