‘เมื่อคุณเปิดใจรักใครสักคน หัวใจของคุณได้แตกสลายไปแล้ว’ 

‘เวลาที่คุณเสียใจ มันราวกับว่าโลกทั้งใบแตกสลายเลย’

บทกวีช้ำรักหลายศตวรรษ รวมถึงบทเพลงอกหักเกือบทั้งหมด ล้วนพรรณนาถึงความเจ็บปวดจากการไม่สมหวังในความรัก ว่าสามารถทำให้หัวใจเราบาดเจ็บ แตกสลาย หรือแม้กระทั่งทำให้ตายได้

ท่อนหนึ่งในเพลง Love the Way You Lie ของเอ็มมิเน็ม (Eminem) แรปเปอร์ชาวอเมริกัน ฟีเจอร์ริ่งกับนักร้องสาวชื่อดัง ริฮานนา (Rihanna) ที่พูดถึงความเจ็บปวดจากความรักและความสัมพันธ์ที่เป็นพิษว่า

“And right now, there’s a steel knife in my windpipe. I can’t breathe, but I still fight while I can fight”

(และตอนนี้เหมือนมีมีดปักลงที่หลอดลมของฉัน หายใจไม่ออก แต่ฉันยังคงสู้ในขณะที่ยังสู้ได้)

แม้ดูเหมือนเนื้อเพลงพยายามอธิบายและเปรียบเทียบความเจ็บปวดทางจิตใจ ให้เห็นภาพในเชิงกายภาพ ทว่าสิ่งที่น่าคิดตาม ในความเป็นจริงแล้ว เวลาที่เราอกหักหรือเสียใจ ความรู้สึกเจ็บปวดในขณะนั้นมันเหมือนกับถูกมีดเสียบหลอดลมจริงไหม แล้วเราสามารถตายจากความรู้สึกเสียใจได้หรือไม่ 

Broken Heart Syndrome หรือ ‘ภาวะหัวใจสลาย’ เกิดจากการบีบตัวของหัวใจลดลงอย่างเฉียบพลัน เนื่องจากความเครียดเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน ทำให้ฮอร์โมนแคทีโคลามีน (Catecholamine) หลั่งออกมาในปริมาณมาก ส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด

ฮอร์โมนแคทีโคลามีน (Catecholamine) เป็นกลุ่มฮอร์โมนที่ประกอบไปด้วยโดพามีน (Dopamine) อะดรีนาลีน (Adrenaline) และนอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) โดยปกติแล้วฮอร์โมนกลุ่มนี้จะปล่อยเข้ากระแสเลือดเมื่อร่างกายหรือจิตใจตกอยู่ในภาวะเครียด 

เมื่อประสบเหตุการณ์เลวร้าย ตึงเครียด หรือเสียใจอย่างกะทันหัน เช่น อกหัก ผิดหวังอย่างรุนแรง คนในครอบครัวเสียชีวิต แม้กระทั่งถูกเซอร์ไพรส์ ฮอร์โมนแคทีโคลามีนจะหลั่งออกมาในปริมาณมาก ทำให้ฮอร์โมนส่วนเกินตกค้างในหลอดเลือดแดง ส่งผลให้เลือดที่ไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจลดลงชั่วคราว 

ผู้ที่ตกอยู่ในภาวะหัวใจสลาย จะมีอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง หายใจถี่ หอบเหนื่อย เหงื่อออก และวิงเวียนศีรษะ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจกินระยะเวลานานหลายนาทีหรือหลายชั่วโมง

จากการศึกษาพบว่าผู้ที่เสี่ยงเกิดภาวะหัวใจสลาย มีแนวโน้มเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉลี่ยอายุ 50 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยภาวะหัวใจสลายไม่จำเป็นต้องมีประวัติเสี่ยงเป็นโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจหรือหลอดเลือดอุดตันมาก่อน

ปัจจุบันแนวทางการรักษาหากพบว่าอาการไม่รุนแรง แพทย์จะจ่ายยาควบคุมการเต้นและการบีบตัวของหัวใจ ในกรณีที่อาการรุนแรงหรือมีภาวะหัวใจล้มเหลว อาจต้องใส่ท่อและเครื่องช่วยหายใจ และต้องรักษาภาวะเครียดซึ่งเป็นสาเหตุในการกระตุ้นร่วมด้วย

ถึงแม้ภาวะหัวใจสลายมีโอกาสเสียชีวิตเพียง 1% และมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ 2-5% แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลในการเพิกเฉยต่ออาการดังกล่าว เพราะภาวะหัวใจสลายอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย อาทิ ความดันเลือดต่ำ ปอดบวมน้ำ อาการช็อก หรือหัวใจวายเนื่องจากหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตได้

ความทุกข์ทางใจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางกาย การดูแลสุขภาพจิตใจให้แข็งแรงจึงเป็นสิ่งสำคัญ รักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง หาเวลาให้กับตัวเอง พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และที่สำคัญจดจำไว้ว่าเลือดทุกหยดที่สูบฉีด เซลล์ทุกเซลล์ที่ทำงาน หัวใจที่ไม่เคยขี้เกียจจะหยุดเต้น พยายามทำให้คุณมีชีวิตอยู่ ดังนั้นจงรักตัวเองให้มาก เพราะหัวใจที่รักได้ ใช่ว่าแตกสลายไม่เป็น 

 

ที่มา

https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/broken-heart-syndrome

https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/broken-heart-syndrome/symptoms-causes/syc-20354617

https://wattanapat.co.th/broken-heart-syndrome

Tags: , , , , ,