ช่วงชีวิตที่ผ่านมา ทุกคนล้วนต่างเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมาแล้วถ้วนหน้า ตั้งแต่การพรีเซนต์หน้าชั้นเรียน ไปจนถึงการเสนอโปรเจกต์ในที่ประชุมจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ‘คำวิจารณ์’ เป็นหนึ่งในสิ่งที่เราต้องพบเจอในชีวิตประจำวันไม่มากก็น้อย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะในหลายการกระทำมีเพียงคนอื่นเท่านั้นที่มองออกว่า ตัวเราทำผิดพลาดอย่างไร 

ทว่าการแสดงความคิดเห็นที่รุนแรงเกินไป อาจนำไปสู่การสร้างบาดแผล และบั่นทอนความมั่นใจของใครหลายคน ถึงแม้วันนี้ผู้คนต่างมีฟิลเตอร์บางๆ คอยคัดกรองว่า ความคิดเห็นใดควรนำมาปรับใช้ ความคิดเห็นใดฟังดูไม่เข้าท่า ก็ยังมีคนที่เกรงกลัวคำวิจารณ์ ในแบบที่ไม่สามารถรับฟังความคิดเห็นใดได้เลย

คนกลุ่มนี้จะถูกมองว่าเป็น ‘โรคกลัวคำวิจารณ์’ (Allodoxaphobia) ถือเป็นหนึ่งกลุ่มโรคกลัว (Phobia) ที่ผู้ป่วยมักหวาดกลัวและวิตกกังวล เมื่อได้ยินความคิดเห็นของผู้อื่นเกี่ยวกับตนเอง โดยมักหลีกเลี่ยงกิจกรรมทางสังคมที่ทำให้พวกเขาต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือถูกตัดสินจากผู้อื่น เมื่อผู้ป่วยต้องรับฟังความคิดเห็นที่มีต่อตนเอง พวกเขาจะรู้สึกโกรธเป็นอย่างมาก ไม่ว่าคำวิจารณ์ในครั้งนั้นจะเป็นไปในเชิงบวกหรือเชิงลบ และจะมีปฏิกิริยาทางร่างกาย เช่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อไหลออกตามฝ่ามือ ตอบสนองด้วยการพยายามหลีกหนีหรือต่อต้าน ในบางรายอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ซึ่งเป็นอาการพื้นฐานของโรคกลัวโดยทั่วไป ต่างเพียงสิ่งที่กระตุ้นความกลัวของพวกเขาคือ คำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับตนเองเท่านั้น

สาเหตุการเกิดโรคกลัวคำวิจารณ์ เกิดจากการถูกกระตุ้นจากประสบการณ์ที่ไม่ดีในวัยเด็ก คล้ายกับสาเหตุของโรคกลัวอื่นๆ โดยผู้ป่วยอาจมีประสบการณ์ฝังใจในเชิงลบ เกี่ยวกับคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ได้รับมาจากผู้ปกครอง คุณครู หรือกลุ่มสังคมในวัยเด็ก จนนำไปสู่การปิดกั้นทางจิตใจและกลายเป็นบาดแผลที่หากถูกกระตุ้นก็จะรู้สึกเจ็บปวดขึ้นมาเสมอ 

โดยปกติแล้ว คนเราถ้าไม่เพิกเฉยก็จะรู้สึกสะเทือนใจเพียงเล็กน้อย เมื่อได้รับฟังความคิดเห็นต่อตนเอง แต่สำหรับผู้ป่วยโรคกลัวคำวิจารณ์แล้ว พวกเขาจะถูกกระตุ้นจากสมองส่วนอะมิกดาลา (Amygdala) หรือสมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ ความทรงจำ และการตัดสินใจเมื่อถูกคุกคาม ซ้ำไปซ้ำมาจนเกิดเป็นความกดดันและวิตกกังวล 

นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคกลัวคำวิจารณ์ ไม่เพียงแค่ตอบสนองต่อความคิดเห็นที่เกิดขึ้นระหว่างบทสนทนาต่อหน้าเท่านั้น พวกเขาหวาดกลัวข้อความวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับตนบนสื่อสังคมออนไลน์เช่นกัน ในหลายครั้งมันค่อนข้างรุนแรงกว่าการวิจารณ์ต่อหน้า เพราะถ้อยคำที่ไม่ผ่านการปรุงแต่งทางอารมณ์จากคำพูด ยิ่งขับเน้นให้พวกเขารู้สึกวิตกกังวลและหวาดกลัวมากขึ้นไปอีก

โรคกลัวคำวิจารณ์ไม่เพียงแต่สร้างผลเสียให้กับผู้ป่วย ทว่ายังสร้างปฏิสัมพันธ์ในเชิงลบกับคนรอบข้างอีกด้วย วิธีการเดียวที่จะสามารถแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้นคือ การเข้ารับการรักษาและบำบัดจากจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเมื่อได้รับการวินิจฉัยแล้วว่า ผู้ป่วยมีอาการกลัวคำวิจารณ์ แพทย์จะพาเข้าสู่การบำบัดเพื่อรักษา ในแต่ละรายก็จะใช้วิธีที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม 

ส่วนวิธีการรักษา ส่วนใหญ่แพทย์จะใช้การบำบัดผ่านการพูดคุย เพื่อทำความเข้าใจถึงอาการที่เป็นอยู่ร่วมกับครอบครัวของผู้ป่วย สิ่งที่ยากที่สุดในการรักษาคือ การให้ผู้ป่วยเข้ารับการบำบัด เนื่องจากพวกเขามีอาการวิตกกังวลในการรับฟังเป็นทุนเดิม ดังนั้นแพทย์จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากครอบครัวและบุคคลใกล้ชิด ในการเกลี้ยกล่อมให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ซึ่งส่วนใหญ่ต้องใช้เวลานาน กว่าผู้ป่วยจะลดความวิตกกังวลและยอมรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่นได้ 

และหากไม่สามารถรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้อื่น แต่ไม่ถึงกับอยากอาเจียนหรือเวียนหัว อาจเป็นไปได้ว่า อาการที่เกิดขึ้นเป็นเพราะคุณมี ‘อีโก้’ ที่สูงเกินไป และหาเวลาทำความเข้าใจกับตนเองให้มากขึ้น แต่ถ้าคุณมีอาการดังที่กล่าวไปข้างต้นเมื่อได้รับความคิดเห็น คุณอาจต้องรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป เพราะถึงแม้จะฟังดูเจ็บปวด แต่เราหลีกหนีคำวิจารณ์ไม่ได้ ต่อให้เราคิดว่า ตนเองสมบูรณ์แบบที่สุดแล้วก็ตาม

ที่มา

https://www.fearof.net/fear-of-opinions-phobia-allodoxaphobia/

https://marlenecameron.com/is-allodoxaphobia-holding-you-back/

Tags: , , ,