ไม่ว่าจะส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ หรือเทศกาลไหนๆ สิ่งหนึ่งที่เปรียบเสมือนเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขไปกับนักสังสรรค์-นักดื่ม ก็คงหนีไม่พ้น ‘แอลกอฮอล์’ ซึ่งเหตุผลในการดื่มของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันออกไป บ้างดื่มเพื่อผ่อนคลาย เพิ่มความสนุก เข้าสังคม บ้างดื่มเพื่อหลีกหนีจากความเศร้า บรรเทาจิตใจชั่วขณะ ตลอดจนยกแก้วดื่มด้วยเหตุผลง่ายๆ เพียงเพราะอยากดื่มเท่านั้น

ทว่ายังมีเหตุผลที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือการที่นักดื่มหวังพึ่งฤทธิ์แอลกอฮอล์เพื่อปลดล็อกตัวเอง ให้กล้าเปิดเผยพฤติกรรมและความรู้สึกที่ถูกซ่อนอยู่ภายใน

ตัวอย่างเช่น เพื่อนสนิทคนหนึ่งพร่ำเพ้อคิดถึงใครสักคนให้เราฟัง แต่กลับไม่กล้าบอกอีกฝ่าย แต่เมื่อของเหลวสีอำพันเข้าปากเมื่อไร เพื่อนคนนี้กลับโทรศัพท์หรือทักไปบอกความในใจให้อีกฝ่ายรู้เองเสียอย่างนั้น เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าทางลัดที่จะสลัดความกลัวและทำอย่างที่ใจต้องการได้โดยง่ายที่สุด คือการหันหน้าไปพึ่งฤทธิ์แอลกอฮอล์

ข้อสันนิษฐานของเหตุการณ์ดังกล่าวมีเพียงไม่กี่สาเหตุ เนื่องจากในตอนที่สติยังครบถ้วน เราตระหนักได้ถึงความกลัวและความกังวลต่อผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นหลังเผยความรู้สึกและท่าทีบางอย่างออกไป หรืออาจเป็นไปได้ว่าลึกๆ แล้วเราเองมีความต้องการที่จะเปิดเผยสิ่งนั้นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่หากจะแสดงออกในทันทีก็ยังรวบรวมความกล้าได้ไม่มากพอ

แล้วทำไมคนเราจึงต้องพึ่งแอลกอฮอล์เพื่อปลุกความกล้าในตัวเอง?

อันดับแรก ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า แอลกอฮอล์หรือเอทานอล (Ethanol) เป็นสารกดประสาท สามารถเข้าไปทำลายสมดุลของสารเคมีในสมองได้ ซึ่งจะส่งผลให้สมองทำงานช้าลง โดยปกติแล้วในช่วงที่ร่างกายอยู่ในสภาวะปกติ หรือยังไม่ได้ดื่มแอลกอลฮอล์ ร่างกายของคนเราจะทำงานได้ก็ต่อเมื่อสมองส่งกระแสประสาทไปยังอวัยวะต่างๆ และสั่งให้อวัยวะนั้นๆ ทำงาน ซึ่งกว่าที่กระแสประสาทดังกล่าวจะส่งไปถึงอวัยวะได้ ก็จะต้องถูกส่งผ่านไปยังสารสื่อประสาท (Neurotransmitter) อย่างกลูตาเมต (Glutamate) และกาบา (GABA)

ทั้งกลูตาเมตและกาบาจะทำงานสัมพันธ์กัน โดยกลูตาเมตจะทำหน้าที่ส่งสัญญาณภายในสมองและระบบประสาททั่วร่างกาย ส่วนกาบาเป็นประเภทสารยับยั้ง (Inhibitor) ในระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อคนเราเกิดความเครียด วิตกกังวล และความกลัว สมองจะผลิตกาบาออกมายับยั้งความรู้สึกเหล่านั้น เพื่อช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและรักษาสมดุลในสมอง

เมื่อร่างกายได้รับแอลกอฮอล์และดูดซึมผ่านหลอดเลือด แอลกอฮอล์จะเข้าไปกระตุ้นสมองให้หลั่งโดพามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับความสุข เพิ่มการทำงานของกาบา และชะลอการทำงานของกลูตาเมต ส่งผลให้หลังดื่มรู้สึกผ่อนคลาย วิตกกังวลน้อยลง และมีความมั่นใจมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน สมองจะส่งกระแสประสาทไปยังอวัยวะต่างๆ ได้ช้าลง ร่างกายจึงเสียสมดุล

เมื่อสมองทำงานช้า อาการที่ตามมาจึงมีตั้งแต่ตาพร่ามัว หูแว่ว จมูกและลิ้นรับรสและกลิ่นผิดเพี้ยน ทรงตัวไม่อยู่ ไปจนถึงศูนย์ควบคุมอารมณ์ทำงานไม่ปกติ เมื่อ 2 สิ่งนี้ประกอบกันจึงเกิดเป็นภาพของ ‘คนเมา’ ที่กล้าแสดงพฤติกรรมต่างๆ ออกมาอย่างมั่นใจโดยขาดการยั้งคิด ในขณะเดียวกัน การควบคุมอารมณ์และร่างกายก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะรู้หรือไม่เกี่ยวกับเบื้องหลังการทำงานของแอลกอฮอล์กับร่างกาย แต่เครื่องดื่มประเภทนี้ก็กลายเป็นความสากลที่ถูกหยิบมาใช้เป็นเครื่องมือในการปลุกความกล้าหาญที่หลับอยู่ให้ตื่นขึ้น เพื่อเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนของผลลัพธ์ที่จะตามมาหลังเปิดเผยพฤติกรรมและคำพูดต่างๆ ออกไป

อย่างไรก็ดี แม้ว่าระดับความกล้าหาญจะสูงขึ้น เนื่องจากถูกครอบงำด้วยสารกดประสาทจากแอลกอฮอล์ แต่ใช่ว่าสารดังกล่าวจะไม่มีวันหมดฤทธิ์ เพราะหากต้องหวังพึ่งพาฤทธิ์น้ำเมาทุกครั้งที่ต้องใช้ความกล้า ย่อมส่งผลเสียในระยะยาวที่อาจนำไปสู่อาการ ‘เสพติด’ แอลกอฮอล์ได้เช่นกัน

ดังนั้น แอลกอฮอล์เป็นเพียงแค่ ‘ทางลัด’ ในการสลัดความกลัวทิ้ง เพื่อทำในสิ่งที่ใจต้องการ และให้ผลลัพธ์ระยะสั้นเท่านั้น จะดีกว่าหรือไม่ หากมีวิธีอื่นในการเอาชนะความกลัว และเพิ่มความมั่นใจให้กับตนเองอย่างยั่งยืนโดยไม่ต้องหันไปพึ่งแอลกอฮอล์ เพื่อที่จะได้เผยความในใจต่ออะไรก็ตามในตอนที่สติครบถ้วน

 

ที่มา

https://www.mentalhealth.org.uk/explore-mental-health/a-z-topics/alcohol-and-mental-health

https://www.goodrx.com/health-topic/alcohol/hangxiety-liquid-courage-alcohol-and-mental-health

https://my.clevelandclinic.org/health/articles/22513-neurotransmitters

Tags: , ,