นับเป็นเทศกาลหนังสือปลายปีที่หลายคนรอคอย สำหรับ ‘Winter Book Fest’ (เทศกาลหนังสือฤดูหนาว) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 10 – 20 ธันวาคมนี้ ที่มิตรทาวน์ฮอลล์ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ด้วยวัตถุประสงค์ของงานที่อยากจะสร้างพื้นที่ให้นักอ่าน นักเขียน คนทำหนังสือ และสำนักพิมพ์ได้มาพบปะกัน อีกทั้งเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมการให้หนังสือเป็นของขวัญ จากแนวคิด ‘Give Me Book’
แม้จะจัดขึ้นเป็นปีแรกสำหรับเทศกาลหนังสือนี้ แต่จากทีมงานเดิมที่ประสบความสำเร็จมาแล้วจากงาน ABC Book Fest (เทศกาลหนังสือเริ่มต้น) ที่จัดขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จึงไม่น่าแปลกใจที่มีสำนักพิมพ์กว่า 90 แห่งมาร่วมออกบูธ และยังมีการเสวนา การแสดงดนตรี พร้อมนิทรรศการที่น่าสนใจจากต่างประเทศ เสริมบรรยากาศเฉลิมฉลองปลายปีอย่างลงตัว
The Momentum มีโอกาสสนทนากับ ‘จรัญ หอมเทียนทอง’ เจ้าของสำนักพิมพ์แสงดาว และอดีตนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ผู้เป็น ‘โต้โผ’ ของงานนี้พร้อมทีมผู้จัดงาน Winter Book Fest ถึงการสร้างวัฒนธรรมการมอบหนังสือเป็นของขวัญในเทศกาลต่างๆ ไม่ต่างจากกระเช้าของขวัญที่จำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าที่เราต่างคุ้นเคยมานาน รวมถึงมุมมองน่าสนใจต่อธุรกิจวงการหนังสือและสำนักพิมพ์ในยุคนี้
จรัญ หอมเทียนทอง
กระชับพื้นที่คนอ่านและคนทำหนังสือ
จรัญเล่าถึงแนวคิดของงานนี้ว่า เทศกาลหนังสือฤดูหนาวในเดือนธันวาคม เกิดขึ้นด้วยเจตนาอยากให้คนซื้อหนังสือเป็นของขวัญ เพราะคนไทยหมดเงินไปกับการซื้อกระเช้าเยอะมาก แต่ไม่มีวัฒนธรรมการซื้อหนังสือเป็นของขวัญในวาระพิเศษ ยกเว้นเป็นของที่ระลึกในงานศพ ซึ่งหนังสือมันควรเป็นมากกว่านั้น ขณะที่ในต่างประเทศอย่างเวลาคลอดบุตร เขาก็ให้หนังสือหนึ่งเล่มเป็นของขวัญ
“เราเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีวัฒนธรรมหนังสืองานศพ ซึ่งผมก็เคยจัดนิทรรศการหนังสืองานศพมาแล้ว แต่ทำไมไม่เอาหนังสือมาแจกในวาระอื่นๆ บ้าง วัฒนธรรมบ้านเรา คือเวลาไม่สบาย ก็จะให้ฟังบทสวดมนต์หรือธรรมะ แต่ผมบอกเมียเลยว่าถ้าวันหนึ่งหากผมไม่สบาย ขอให้เปิดเพลงแจ๊ซฟังนะ อย่าเปิดบทสวดมนต์ ถ้าผมต้องตาย ก็ขอฟังเพลงที่มันสบายๆ”
จรัญบอกว่าเสน่ห์ของเทศกาลหนังสือ Winter Book Fest คือเต็มไปด้วยสำนักพิมพ์ขนาดเล็กที่มาด้วยใจ และเหล่าคนทำหนังสือที่ผลิตหนังสือมาขายเอง แตกต่างจากงานหนังสือประจำปีเต็มรูปแบบที่เคยเห็น นอกจากกิจกรรมต่างๆ ภายในงานดังที่กล่าวไว้ในตอนต้นแล้ว ยังมีการออกแบบกระดาษห่อของขวัญกับโบว์เป็นพิเศษเพื่อเทศกาลนี้โดยเฉพาะเพื่อตอบโจทย์ ‘หนังสือคือของขวัญ’
“ถ้าเราเปลี่ยนของขวัญเป็นหนังสือ ทำให้หนังสือมีมูลค่าขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง จะได้เลิกซื้อพวกกระเช้าของขวัญที่ขายกันหลายพันบาท ที่พอให้เสร็จ ตระกร้ามูลค่าหลักร้อยก็ต้องทิ้งไปหมด แต่หนังสือเป็นของขวัญที่อยู่ได้นาน ถูกใจคนรับแน่นอน
“เราจัดงานนี้เพื่อกระชับพื้นที่ ขยับความเป็นนักอ่านให้มั่นคงขึ้น คนอ่านได้เจอกับคนเขียน คนทำหนังสือ มีกิจกรรมต่างๆ ซึ่งคนจัดงานก็ต้องทำการบ้านมากขึ้น ถ้าจัดงานหนังสือที่ไม่มีสาระ เอาแต่ขายหนังสือ คนอ่านเขาจะไม่ค่อยอยากมาหรอก”
หนังสือคือจีดีพีทางปัญญา
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อช่วงต้นปีถึงกลางปีที่ผ่านมา (และส่อเค้าว่าจะมีการแพร่ระบาดขึ้นอีกระลอก) เป็นปัจจัยสำคัญทำให้สำนักพิมพ์ต่างๆ ปรับตัวมาจำหน่ายหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น
“ทุกสำนักงานพิมพ์รู้แล้วว่า ไม่ต้องออกงานหนังสือก็ได้ เพราะคนหันมาซื้อหนังสือทางออนไลน์มากขึ้น ลำพังจัดงานที่อิมแพค คนไม่ค่อยไป เพราะเขาขายออนไลน์ได้ แต่การจัดเทศกาลหนังสือของเราที่สามย่านมิตรทาวน์ เราไม่ได้หวังแค่การขาย อย่างที่บอกคือออนไลน์นั้นขายได้อยู่แล้ว แต่เราอยากสร้างบรรยากาศ จัดกิจกรรมให้คนอ่าน สำนักพิมพ์ และคนทำหนังสือมาเจอกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน”
จรัญแสดงทัศนะถึงวงจรของธุรกิจหนังสือยุคนี้ว่า แม้สำนักพิมพ์จะรอดเพราะออนไลน์ แต่ร้านหนังสือกลับย่ำแย่ลง เพราะ ‘โครงสร้างทางธุรกิจ’ นั้นบิดเบี้ยว หลายสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ ‘สวมหมวกหลายใบ’ คือเป็นทั้งสำนักพิมพ์ ผู้จัดจำหน่าย และร้านหนังสือ
“ดังนั้น จึงเป็นธรรมดาที่ร้านหนังสือแห่งนั้นต้องขายหนังสือของสำนักพิมพ์ของเขาก่อน สำนักพิมพ์อื่นๆ จะไม่มีโอกาสเสนอหน้าเลย แต่โครงสร้างธุรกิจแบบนี้ที่เมืองนอกเขาไม่มีนะครับ”
ในฐานะผู้มีประสบการณ์ในวงการหนังสือมายาวนาน เขายังยืนยันถึงคำกล่าวที่ว่า ‘หนังสือตายแล้ว’ นั้น — ไม่เป็นความจริง แม้จะต้องประสบกับการดิสรัปชั่นจากดิจิทัลแพล็ตฟอร์ม หรืออี–บุ๊คก็ตาม
“คนไม่ได้ซื้อหนังสือน้อยลงนะ ผมบอกได้เลยว่าซื้อหนังสือมากขึ้นด้วยซ้ำ สิ่งที่น่าสนใจคือคนสนใจอ่านหนังสืออายุน้อยลง เป็นเยาวชนมากขึ้น ผมมองว่าหนังสือเป็นสินค้าที่มีอนาคต ทุกอย่างพร้อมแล้ว ขาดอย่างดียว ถ้าภาครัฐสนับสนุนสักหน่อย เหมือนที่ช่วย SMEs แต่ที่ช่วยนั้นก็ทำแบบผิดหมด คือช่วยแบบไม่ได้สร้าง productivity แต่ให้เป็นเงินกู้ SMEs เป็นดอกเบี้ยพิเศษ ซึ่งมันก็ทำให้เขาเป็นหนี้ แล้วเงินพวกนี้ไม่เคยให้วงการหนังสือ แม้หนังสือจะไม่ได้ทำให้จีดีพีในประเทศเปลี่ยน แต่หนังสือถือเป็นจีดีพีทางปัญญาอย่างหนึ่ง อย่างน้อยคนในประเทศก็มีความรู้เพิ่มขึ้น”
หนังสือรับใช้ช่วงเวลา
นอกจากวิกฤตโควิด-19 สถานการณ์บ้านเมืองที่คุกรุ่นตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ก็ได้สร้างปรากฏการณ์หนึ่งซึ่งสัมพันธ์กับหนังสือ นั่นคือ หนังสือประวัติศาสตร์การเมืองขายดีเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับนักอ่านรุ่นใหม่ที่ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
“เมื่อก่อนเราบอกว่าคนไม่อ่านหนังสือประวัติศาสตร์ไทย แต่ตอนนี้เด็กรุ่นใหม่หันมาอ่านหนังสือประวัติศาสตร์แล้ว แต่รัฐยังกลัวอีก จะไปกลัวทำไม การอ่านประวัติศาสตร์ที่สนุกที่สุดคือการอ่านระยะใกล้ก่อน จะเป็นช่วง 2475 หรือหลังจากนั้นก็ได้ อย่างช่วง 6 ตุลาคม 2519 หรือ 14 ตุลาคม 2516
“แม้รัฐมักบอกว่าประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นไม่จริงบ้าง แต่ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่ผ่านไปแล้ว จริงหรือไม่จริงมันก็ผ่านไปแล้ว ธรรมชาติของมนุษย์ อะไรที่คุณปิด คนก็อยากเปิด คนก็อยากรู้อยากเห็น มนุษย์มีวิญญาณกบฎอยู่ รัฐต้องเข้าใจตรงนี้”
หนังสืออีกประเภทที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน คือนิยายวาย ซึ่งจรัญบอกว่า บางคนมองว่าเป็นหนังสืออันตราย เป็นหนังสือโป๊และยั่วยุทางเพศ แต่เขากลับมองเป็นเรื่องปกติ
“ระหว่างอ่านหนังสือโป๊กับดูหนังโป๊ ผมว่าอ่านหนังสือโป๊ดีกว่า ได้จินตนาการ เราต้องอย่าไปบังคับเขา หนังสือพวกนี้เป็นหนังสือรับใช้ช่วงเวลา พอเขาโตขึ้นความสนใจก็อาจเปลี่ยนไป แต่มันเป็นบันไดก้าวแรกของการอ่าน เหมือนคนเล่นพระเครื่อง ก็ต้องอ่านหนังสือพระ มันเป็นเรื่องธรรมดา เราต้องให้เขาเป็นคนรักการอ่านก่อน ให้เขาเจอหนังสือที่ ‘ชอบ’ ก่อน แล้วจะเจอหนังสือที่ ‘ใช่’ เอง”
Fact Box
- Winter Book Fest (เทศกาลหนังสือฤดูหนาว) มีขึ้นวันที่ 10 - 20 ธันวาคม 2563 ที่มิตรทาวน์ฮอลล์ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ด้วยแนวคิด ‘Give Me Book’ การมอบหนังสือเป็นของขวัญ โดยมีสำนักงานพิมพ์กว่า 90 สำนักพิมพ์มาออกบูธ และภายในงานยังมีงานเสวนา ดนตรี และนิทรรศการ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/winterbookfest