ในยุคที่เครื่องจักรมีอำนาจในการประมวลผลเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ความฉลาดและทรงประสิทธิภาพของมันทำให้หลายคนเริ่มหวั่นไหวและอยากตะโกนออกมาดังๆ ว่า ช่วยด้วย! เครื่องจักรกำลังจะมาแย่งงานมนุษย์
เชื่อไหมครับว่าความหวั่นไหวเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร ย้อนกลับไปในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักร กลุ่มคนงานทอผ้าในอังกฤษจับมือตั้งเครือข่ายเพื่อ ‘ทำลายล้าง’ เครื่องจักรทอผ้าที่จะมาแย่งงานพวกเขา กลุ่มดังกล่าวมีชื่อว่าลัดไดท์ (Luddites) ผู้ต่อต้านเครื่องจักรที่แก้ปัญหาด้วยกำลังปะทะ
กว่าศตวรรษที่ผ่านมา เป็นที่ทราบกันดีว่าความเชื่อของชาวลัดไดท์นั้นผิดเนื่องจากเทคโนโลยีได้ประสานพลังกับแรงงานสร้างผลลัพธ์เป็นผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและทำให้เหล่าแรงงานได้รับประโยชน์จากค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นระหว่างคริสตศตวรรษที่ 19 ถึง 20 แถมยังเปิดพื้นที่ใหม่ให้กับภาคบริการซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ภาพดังกล่าวคือชัยชนะที่ใสสะอาดของเหล่าผู้เชื่อในเทคโนโลยีที่ดูแคลนกลุ่มลัดไดท์ว่าไม่ยอมรับและปรับตัวกับสิ่งใหม่ แต่ในปัจจุบัน คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีล้ำสมัยทำให้หลายคนกลับมาครุ่นคิดอีกครั้งว่ามนุษย์จะมีที่ยืนหรือไม่ในโลกอนาคตซึ่งหุ่นยนต์ดูจะทำงานทดแทนมนุษย์ได้มากขึ้นและดีขึ้นทุกที
แน่นอนว่าการทำนายอนาคตย่อมมีเสียงแตก โดยกลุ่มที่มองโลกในแง่ร้ายต่างก็บอกให้เราเฝ้าระวังการเป็นใหญ่ของปัญญาประดิษฐ์และควรเตรียมรับมือโดยการแจกรายได้ครองชีพขั้นต่ำ (Universal Basic Income) ให้กับทุกคนในสังคม ส่วนกลุ่มที่มองโลกในแง่ดีก็มองว่าแนวโน้มเทคโนโลยีจะพัฒนาไปในทิศทางเดิม โดยเพิ่มผลิตภาพเศรษฐกิจพร้อมทั้งเปิดโอกาสทางธุรกิจในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่คนในยุคปัจจุบันคงจินตนาการไม่ถึง
แต่ก่อนจะปักใจเข้าข้างฝ่ายใด ผู้เขียนขอชวนมารู้จักธรรมชาติของปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติเพื่อให้เราทราบได้ว่างานกลุ่มใดอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะถูกทดแทนโดยเครื่องจักร และงานกลุ่มใดยังไม่ต้องกังวลมากนัก
ศักยภาพและข้อจำกัดของเครื่องจักร
แมคคินซีย์ บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกได้แบ่งประเภทกิจกรรมการทำงานของมนุษย์ตามความเสี่ยงที่เครื่องจักรจะสามารถมาทำแทนได้อย่างน่าสนใจ โดยกิจกรรมที่มีความเสี่ยงมากที่สุดคืองานทางกายภาพที่สามารถคาดเดาได้ เช่น ในภาคการผลิต การตัด เก็บ ใส่บรรจุภัณฑ์ หรือการปรุงอาหารและการเสิร์ฟในภาคบริการ กระบวนการเหล่านี้ต่างเป็นงานซ้ำๆ ที่เครื่องจักรสามารถทดแทนได้ และหลายกิจกรรมก็ถูกเครื่องจักรทดแทนไปแล้ว
กิจกรรมที่มีความเสี่ยงรองลงมาคือการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อ จ่ายเงินเดือน คำนวณวัตถุดิบที่จำเป็นต้องใช้ การทำใบวางบิล กระทั่งการพิจารณาปล่อยสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อย กิจกรรมเหล่านี้เป็นงาน ‘หลังบ้าน’ ซึ่งกำลังถูกทดแทนด้วยเครื่องจักรมากขึ้นเรื่อยๆ ตามความสามารถในการประมวลผลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หลายกิจกรรมที่ใช้แรงงานและดูเหมือนจะสามารถทดแทนด้วยเครื่องจักรได้ง่ายก็อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด เนื่องจากกิจกรรมเหล่านั้นจัดเป็นกลุ่ม ‘คาดเดาได้ยาก’ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องจักรในภาคการเกษตร การควบคุมเครนก่อสร้าง การเก็บขยะในที่สาธารณะ การทำความสะอาดห้องในโรงแรม หรือกระทั่งการพับผ้า งานที่มนุษย์ทำได้แบบไม่ยากเย็นอะไรแต่ด้วยภาวะแวดล้อมที่ยากจะคาดเดาทำให้งานเหล่านี้อาจเกินกำลังของเครื่องจักร
ส่วนงานที่ยากที่สุดในการทดแทนโดยเครื่องจักรคืองานบริหารและพัฒนาบุคลากร ซึ่งจำเป็นต้องใช้ทักษะและการตัดสินใจแบบไม่ตายตัวซึ่งหุ่นยนต์ยังทำไม่ได้ นอกจากนี้ งานเกี่ยวกับการขายและให้คำแนะนำก็ยังจำเป็นต้องใช้บุคคลเป็นผู้ดำเนินการตราบใดที่เครื่องจักรยังไม่สามารถเข้าใจคำถามของมนุษย์และตอบโต้บทสนทนาได้อย่างลื่นไหลจนผู้บริโภคมั่นใจในสินค้าและบริการ
ประเด็นสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจคือความคุ้มทุนในการใช้เครื่องจักร งานหลายประเภท เช่น การประกอบอาหารหรือการเสิร์ฟสามารถนำเครื่องจักรมาใช้ได้อย่างเต็มรูปแบบ แต่มีบริษัทเพียงไม่กี่แห่งที่เลือกใช้เครื่องจักรเนื่องจากการจ้างพนักงานยังมีต้นทุนที่ต่ำกว่า ในขณะที่การประมวลผลข้อมูลทางการเงินและการทำบัญชีอาจมีแรงจูงใจในการพัฒนาระบบอัตโนมัติมากกว่าเนื่องจากค่าจ้างในอุตสาหกรรมดังกล่าวสูงกว่านั่นเอง
ผู้เขียนขอเตือนไว้ก่อนว่านี่คือฉากทัศน์เทคโนโลยีเท่าที่มีในปัจจุบันนะครับ ในอนาคตเราอาจมีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้เครื่องจักรสามารถประมวลผลและทำงานดียิ่งขึ้นในสภาวะแวดล้อมที่คาดเดาได้ยาก หากมนุษย์สามารถพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้สามารถประมวลผลภาษาธรรมชาติ (natural language processing) ได้ทัดเทียมกับมนุษย์ปุถุชนเมื่อใด งานในภาคบริการที่จำเป็นต้องอาศัยปฏิสัมพันธ์แบบมนุษย์กับมนุษย์ก็อาจถูกรุกรานเช่นกัน แต่นั่นก็เป็นเรื่องในอนาคตที่ไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และจะเกิดขึ้นเมื่อใด
ต้องกังวลแค่ไหนหากเครื่องจักรจะมาแย่งงานมนุษย์
แอนดี ฮัลเดน (Andy Haldane) นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารแห่งอังกฤษพยากรณ์ว่างาน 15 ล้านตำแหน่งในสหราชอาณาจักรกำลังเผชิญการคุกคามจากเครื่องจักร จิม ยอง คิม (Jim Yong Kim) ประธานธนาคารโลกระบุว่าสัดส่วนของตำแหน่งงานร้อยละ 69 ในอินเดีย และร้อยละ 77 ในจีนกำลังถูกคุกคามโดยระบบอัตโนมัติ การศึกษาเมื่อปี 2013 โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดทำนายว่าตำแหน่งงานร้อยละ 47 ในสหรัฐอเมริกาอาจถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติในอีกสองทศวรรษข้างหน้า นี่เป็นเพียงหยิบมือหนึ่งของสารพัด ‘คำทำนาย’ ว่าเครื่องจักรจะมาแย่งงานในปัจจุบันของมนุษย์
สถานการณ์ดังกล่าวเป็นปัญหาหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองครับ
สำหรับมุมมองโลกในแง่ดี เราไม่สามารถระบุอย่างตรงไปตรงมาว่าระบบอัตโนมัติที่จะมาทดแทนตำแหน่งงานร้อยละ 47 สามารถตีความได้ว่าจะมีการว่างงานในระบบเศรษฐกิจร้อยละ 47 เพราะในอดีตคราวปฏิวัติอุตสาหกรรม แม้เครื่องจักรจะมาทดแทนแรงงานจำนวนมาก อุตสาหกรรมใหม่ๆ ก็ถือกำเนิดขึ้นเช่นกัน อีกทั้งสภาพการทำงานของแรงงานไม่ว่าจะเป็นชั่วโมงการทำงานหรือความปลอดภัยก็ยังดีขึ้นอีกด้วย เทคโนโลยียุคใหม่ก็อาจมาช่วยให้เราทำงานน้อยลง ในขณะที่ผลิตภาพเท่าเดิมก็ได้
มุมมองดังกล่าวไม่ได้ปฏิเสธว่าในอนาคตอันไกล คอมพิวเตอร์จะมีทักษะและความสามารถแซงหน้ามนุษย์ แต่พวกเขายังเชื่อว่ามนุษย์ต่างหากที่จะให้ค่าปฏิสัมพันธ์ การบริการ หรืองานสร้างสรรค์ที่ทำจากมนุษย์ด้วยกันเองมากกว่าผลผลิตจากเครื่องจักร หากจะเทียบก็คงคล้ายกับการให้ค่างานผลิตแบบจำนวนมาก (Mass Production) จากเครื่องจักรต่ำกว่างานผลิตทำมือโดยมนุษย์ด้วยกันเอง
ส่วนเหล่าผู้มองโลกในแง่ร้ายก็หยิบจับสถิติที่ว่าสัดส่วนผลผลิตของเศรษฐกิจโดยเครื่องจักรนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับสัดส่วนการว่างงานของชายในวัยทำงานก็เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ค่อยๆ กัดกินงานที่แรกเริ่มเดิมทีสงวนไว้สำหรับมนุษย์ รวมทั้งเทรนด์ความต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้นแบบสองขั้ว คือฝั่งแรงงานทักษะสูงเพื่อมานั่งตำแหน่งบริหารหรือผู้เชี่ยวชาญไปเลย และฝั่งแรงงานทักษะต่ำสำหรับงานบริการที่แทบไม่ต้องใช้วุฒิการศึกษา ส่วนแรงงานทักษะกลางๆ กลับถูกมองข้าม
หากแนวโน้มยังเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ เราอาจเข้าสู่โลกไร้งานที่มีคนเพียงหยิบมือหนึ่งเท่านั้นที่ควบคุมการผลิตสินค้าและบริการให้กับคนส่วนใหญ่ ภาวะดังกล่าวคงไม่มีปัญหาอะไรหากทรัพยากรถูกแบ่งสรรปันส่วนอย่างเท่าเทียม แต่จะกลายเป็นสถานการณ์ที่แหลมคมทันทีหากผู้กุมอำนาจการผลิตและกองทัพเครื่องจักรเลือกเก็บผลผลิตส่วนใหญ่ไว้กับตนเอง เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น หลายคนจึงเสนอนโยบายรายได้ครองชีพขั้นต่ำ (Universal Basic Income) เพื่อการันตีว่าขุมทรัพย์จะไม่ถูกเก็บไว้ในมือของคนเพียงบางกลุ่ม
*** ผู้เขียนขอกาดอกจันตัวโตไว้ในย่อหน้านี้นะครับว่าทั้งหมดเป็นการพยากรณ์ล้วนๆ ซึ่งนักวิจัยหลายคนก็มองว่าไม่มีทางจะถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ สิ่งสำคัญสำหรับเหล่าผู้ที่รู้สึกว่าสุ่มเสี่ยงจะถูกเครื่องจักรแย่งงานคือการทำสิ่งที่เราทำได้ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มพูนทักษะใหม่ๆ และพร้อมที่จะปรับตัวกับลักษณะงานใหม่เมื่องานเดิมถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ
สิ่งสำคัญสำหรับเหล่าผู้ที่รู้สึกว่าสุ่มเสี่ยงจะถูกเครื่องจักรแย่งงานคือการทำสิ่งที่เราทำได้ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มพูนทักษะใหม่ๆ และพร้อมที่จะปรับตัวกับลักษณะงานใหม่เมื่องานเดิมถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ
เอกสารประกอบการเขียน
Where machines could replace humans—and where they can’t (yet)
Will robots bring about the end of work?
Yes, the robots will steal our jobs. And that’s fine.
Will A Robot Take My Manufacturing Job? Yes, No, And Maybe
Why Robots Will Not Take Over Human Jobs
Tags: หุ่นยนต์, เครื่องจักร, การทำงาน