“ขุนหลวงนารายณ์ท่านโปรดคนฉลาด ฉลาดด้วยรู้รอบด้วยท่านยิ่งโปรด นายก็องสตังซ์เขารู้รอบเรื่องการค้า เรื่องเดินเรือเขาก็รู้ การช่างเรื่องอาวุธยุทธภัณฑ์เขาก็รู้ ท่านโปรดฟังเรื่องของกษัตริย์เมืองต่างๆ นายคนนี้ก็เล่าถวาย จริงบ้างไม่จริงบ้าง ใครจะไปรู้…จริงมั้ย ท่านโปรดเขาให้เข้าเฝ้าใกล้ชิด ทูลแนะนำเรื่องอะไรท่านก็ทรงเชื่อไปเสียหมด พวกขุนนางชั้นผู้ใหญ่…แน่นอนก็มี…เหล่บ้าง…ลุงพูดถูกไหมเจ้า”

—ออกญาโหราธิบดีกล่าวกับเกศสุรางค์ในร่างแม่หญิงการะเกด จากบทโทรทัศน์ บุพเพสันนิวาส โดย ศัลยา

 

คงไม่ต้องสงสัยกันแล้วว่า สรรพนาม ‘ออเจ้า’ มาจากไหน และคำนาม ‘เว็จ’ แปลว่าอะไร หรือหากยังไม่ถูกชี้แจงก็คงจะถามคนใกล้ตัวเอาได้ เพราะละครหลังข่าวเรื่อง บุพเพสันนิวาส ที่มาของศัพท์โบราณสองคำนี้กำลังเป็นที่พูดถึงกันทั้งประเทศ จนมีมีมแม่หญิงการะเกดออกมาให้แชร์กันสนุกมือ และมีผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ยุคพระนารายณ์ (ค.ศ. 1656-1688) ออกมาแบ่งปันเกร็ดประวัติศาสตร์กันอย่างครึกครื้น

แต่ถึงละครย้อนยุค/ข้ามภพ/โรแมนติก/คอเมดี้เรื่องนี้จะมีฉากหลังอิงประวัติศาสตร์ มีบุคคลสำคัญในอดีตหลายตัว และมีการแทรกเกร็ดความรู้ให้ผู้ชม ก็ยังปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่ทำให้ผู้ชมติดละครเรื่องนี้คือความน่ารัก ตลก กุ๊กกิ๊ก ระหว่าง การะเกด (เบลล่า—ราณี แคมเปน) และพี่หมื่น (โป๊ป—ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ) และสิ่งที่คนดู ‘พูดถึง’ มากที่สุดก็คือซิกซ์แพ็กแน่นๆ และหุ่นแซ่บๆ ของหมื่นเรือง (ปั้นจั่น—ปรมะ อิ่มอโนทัย) ​ซึ่งไม่แปลกและไม่ใช่เรื่องผิดแม้แต่น้อย

ฟังก์ชันหลักของละครหลังข่าวไทย (รวมทั้งบทประพันธ์และบทโทรทัศน์ ซึ่งมีความเป็นเรื่องแต่งอย่างสมบูรณ์) ยังคงเป็นความสนุกสนานและความบันเทิงที่ช่วยคลายความทุกข์ร้อนที่เราเจอมาตลอดทั้งวัน แต่ในขณะเดียวกันมันก็ทำหน้าที่อื่นไปด้วย โดยเฉพาะ บุพเพสันนิวาส ที่ถึงจะไม่ได้แสดงออกอย่างชัดเจนเหมือนละครย้อนยุคเรื่องอื่นๆ แต่ก็ยังมี ‘คราบ’ ของอุดมการณ์ชาตินิยมและการชื่นชมความสงบสุขของอยุธยาแทรกเข้ามาอยู่เป็นระยะ จนผู้ชมเกิดอารมณ์โหยหาอดีต อยากย้อนกลับไปเป็นแบบอยุธยาที่ละครนำเสนอ นั่นคือเวอร์ชันที่ฝรั่งนั้นเป็น ‘คนเก่ง’ แต่ไม่ใช่ ‘คนดี’ ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่ บุพเพสันนิวาส จะแทนค่าคำว่าฝรั่งด้วยตัวละคร คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือ เมอร์ซิเออร์ก็องสตังซ์ (หลุยส์ สก๊อตต์) ที่หวังจะมากอบโกยผลประโยชน์ เถลิงอำนาจ และทำตัวเป็นปรปักษ์กับขุนนางไทยที่เป็นคนดี รักสงบ มีความจงรักภักดีต่อขุนหลวงนารายณ์

ผู้ชมเกิดอารมณ์โหยหาอดีต อยากย้อนกลับไปเป็นแบบอยุธยาที่ละครนำเสนอ นั่นคือเวอร์ชันที่ฝรั่งนั้นเป็น ‘คนเก่ง’ แต่ไม่ใช่ ‘คนดี’

แต่เมื่อลองดูการตีความของนักประวัติศาสตร์หลายคนทั้งไทยและเทศก็พบว่า ต่อให้มีข้อมูลมากมายหลากหลายแค่ไหน เราก็อาจไม่สามารถบอกได้ว่าใครดีหรือเลว เพราะความคิดของผู้เขียนในฐานะผู้ศึกษาประวัติศาสตร์สังคม เป้าประสงค์ของการศึกษาประวัติศาสตร์ไม่ใช่การตัดสินคนด้วยศีลธรรมซึ่งเป็นเรื่องอัตวิสัย หากแต่คือการใช้ข้อมูลเชิงบูรณาการ นั่นคือใช้ปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง มาประกอบขึ้นเป็น ‘ภาพของสังคม’ และนี่คือภาพของสังคมการเมืองอยุธยาในยุคสมัยพระนารายณ์แบบที่ผู้เขียนเห็น ส่วนผู้อ่านจะมองอย่างไรก็ถือเป็นอิสระของผู้อ่านโดยสมบูรณ์

ตะวันตก: ตัวร้ายหรือแค่เข้ามาค้าขาย?

ในช่วงศตวรรษที่ 14-17 เป็นยุคที่ต่างชาตินั้นเข้ามาค้าขายในดินแดนอยุธยากันอย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็นชาวจีน ญี่ปุ่น แขกมัวร์ เปอร์เซีย อาหรับ หรืออินเดีย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ได้ประโยชน์จะมีเพียงพ่อค้าและขุนนาง สิ่งที่ผู้อ่านน่าจะทราบกันดีคือพระมหากษัตริย์เองก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่ได้รับประโยชน์อย่างสูงจากการค้าขายกับต่างแดน ความสัมพันธ์ทางการค้าที่แนบแน่นนั้นทำให้ราชสำนักดำรงอยู่ได้อย่างแข็งแกร่ง นั่นคือทำให้กษัตริย์มีทั้งอำนาจในทางการเมืองและความมั่งคั่งทางการคลัง

อย่างที่นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน เดวิด ไวแอตต์ กล่าวไว้ว่า “ยิ่งกษัตริย์มีความมั่งคั่งจากการค้ามากเท่าไหร่ เขายิ่งสามารถเอาชนะและควบรวมศัตรูทั้งภายในและภายนอกได้ง่ายขึ้นเท่านั้น รวมทั้งสามารถใช้ดินแดนเหล่านั้นเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการค้าขายให้กับราชสำนักต่อไปได้อีก”

แต่จุดเริ่มต้นของการค้ากับประเทศตะวันตกนั้นไม่ใช่การเดินเรือเข้ามาของฟากตะวันตกโดยตรง แต่เริ่มจากความสัมพันธ์กับจีนในฐานะที่อยู่ใต้ระบบบรรณาการ นั่นคืออยุธยาต้องส่งบรรณาการไปยังจีน แต่ในทางกลับกันก็ได้รับการสนับสนุนทางการเมืองและผลประโยชน์ทางการค้า และเช่นเดียวกับแขกมัวร์ ชาวจีนที่เดินเรือมายังไทยจำนวนมากได้ตัดสินใจพำนักอาศัยบนแผ่นดินอยุธยาในฐานะประชาชนและข้าราชการ (โดยหนึ่งในข้าราชการชาวจีนที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ ‘กรมท่าซ้าย’ ผู้ดูแลการค้าขายในเขตทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก ซึ่งหมายถึงจีนตอนใต้ นางาซากิ เกาะริคคิว และเวียดนาม) ประเทศตะวันตกที่เข้ามาทีหลังจึงเข้ามาเพราะอยากควบคุมการค้าในเส้นทางจีน-ญี่ปุ่นนั่นเอง

ความสัมพันธ์ทางการค้าที่แนบแน่นทำให้ราชสำนักดำรงอยู่ได้อย่างแข็งแกร่ง นั่นคือทำให้กษัตริย์มีทั้งอำนาจในทางการเมืองและความมั่งคั่งทางการคลัง

ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าจุดประสงค์ที่ชัดเจนยิ่งของการเข้ามาในอยุธยาของประเทศตะวันตกคือ ผลประโยชน์ทางพาณิชย์นาวี และประเทศเหล่านี้ก็ได้ใช้วิธีการทางการทูตเพื่อทำให้การตกลงทำธุรกิจเป็นไปได้อย่างง่ายดาย ยกตัวอย่างเช่นโปรตุเกสที่เข้ามาในอยุธยาเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1511 และใช้อำนาจในฐานะผู้ปกครองแคว้นมะละกาซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของอยุธยา เพื่อบังคับกษัตริย์รามาธิบดีที่ 2 ให้เซ็นสัญญายอมให้โปรตุเกสค้าขายได้อย่างเสรีในมะละกา (ความสำคัญของกรณีนี้คือโปรตุเกสจะสามารถควบคุมหรือมีอิทธิพลเหนือการค้าในเส้นทางอินเดีย—เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้) ตามมาด้วยการตัดสินใจพำนักในอยุธยาเป็นการถาวรในไม่กี่ปีหลังจากนั้น เหมือนอย่างแขกมัวร์และชาวจีน

หลังจากนั้นในปี 1603 หรือในยุคกษัตริย์เอกาทศรถ ชาวดัตช์ก็ตามมาด้วยหวังจะลดอิทธิพลของโปรตุเกสลงด้วยการก้าวก่ายเส้นทางการค้าของโปรตุเกส จนได้ขึ้นมามีบทบาทแทนโปรตุเกสในยุคของพระเจ้าปราสาททอง แต่ก็ต้องเสียอำนาจนั้นให้กับฝรั่งเศสในอีกหลายทศวรรษให้หลัง หลังจากฝรั่งเศสเริ่มติดต่อกับอยุธยาเป็นครั้งแรกในปี 1680 และคงความนิยมในราชสำนักจนปลายรัชสมัยของพระนารายณ์ในปี 1688 แต่ในขณะที่ประเทศอื่นที่เน้นหนักไปที่การค้าขาย ฝรั่งเศสกลับไม่ได้เดินทางมาด้วยเหตุผลเดียวกัน แถมยังมีความสัมพันธ์ทางการทูตและการเมืองกับอยุธยาอย่างแน่นแฟ้น ซึ่งจะเห็นได้ชัดในลำดับต่อไป

อยุธยา: รักสงบหรือแก่งแย่งชิงดี?

ความขัดแย้งและการแย่งชิงอำนาจในราชสำนักเป็นคาแร็กเตอร์ที่เด่นชัดที่สุดของราชวงศ์ปราสาททองตอนปลาย การรัฐประหาร การก่อกบฎ และการประหารชีวิตเป็นสิ่งที่พบเห็นได้โดยทั่วไปในรัชสมัยของกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์อย่างพระนารายณ์ ผู้ซึ่งใช้กลยุทธ์ของพระเจ้าปราสาททองในการรับมือกับขั้วอำนาจทางการเมืองต่างๆ ทั้งเชื้อพระวงศ์จากเมืองอื่นที่อยากเข้าใกล้การปกครองส่วนกลาง (ซึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการรวมศูนย์อำนาจในช่วงต้นของศตวรรษที่ 17) ขุนนางระดับสูงที่มีไพร่ในมือ และข้าราชการที่ดูแลกิจการระดับรองๆ เช่น พราหมณ์ หัตถกรรม และการเดินเรือ แต่กลุ่มบุคคลที่ที่ราชสำนักไม่ไว้ใจมากที่สุดคือเหล่าเชื้อพระวงศ์ที่บางคนเป็นขุนนางชั้นสูง ซึ่งในที่นี่จะขอเรียกสั้นๆ ว่า ‘อีลีท’ (elite)

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้วิเคราะห์ไว้ว่า กลยุทธ์ ‘ทางตรง’ ของพระเจ้าปราสาททองที่ว่าไปนั้น ประกอบด้วยการปล่อยให้มีตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งว่างอยู่เป็นเวลานาน เพื่อไม่ให้กลุ่มอีลีทส่งไม้ต่อให้กับพวกของตัวเองได้ สั่งยึดมรดกและที่ดินของกลุ่มอีลีทถึงหนึ่งในสามส่วนมาเก็บไว้ในพระคลังหลวง และประหารอีลีทจำนวนมาก ซึ่งทำให้ลูกหลานของอีลีทเหล่านั้นกลายเป็นสามัญชนไปโดยปริยาย สะท้อนลักษณะ ‘absolutist’ ของกษัตริย์อยุธยาตามคำนิยามของ ฟาน ฟลีต พ่อค้าบริษัทดัตช์อีสต์อินเดีย หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม วัน วลิต ได้ดี

ส่วนกลยุทธ์ ‘ทางอ้อม’ นั้นคือการมอบตำแหน่งรองๆ ให้กับชาวต่างชาติ ก่อนจะย้ายพวกเขาขึ้นมารับตำแหน่งสูงๆ ของเหล่าอีลีทที่อาจจะกำลังเลื่อยบัลลังก์ของพระองค์ คนที่รู้จักกันดีก็คือ ‘ออกญาเสนาภิมุข’ หรือ ยามาดะ นากามาสะ ผู้ซึ่งภายหลังสนับสนุนพระไชยเชษฐาธิราชให้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าทรงธรรมเมื่อปี 1628 และพระนารายณ์ก็ใช้กลยุทธ์นี้เช่นกัน ด้วยการมอบตำแหน่งรองๆ ให้ชาวกรีกนาม คอนสแตนติน ฟอลคอน ก่อนจะเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นเรื่อยๆ จนเขาได้กลายเป็น ‘เจ้าพระยาวิไชเยนทร์’ ในที่สุด

มาถึงจุดนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ขุนนางต่างชาตินั้นมีอิทธิพลกับการเมืองภายในของอยุธยาอย่างมาก แต่ก็ไม่ใช่แค่ขุนนางคนใดคนหนึ่งที่มีสิทธิขาดในการตัดสินใจของกษัตริย์ โดยเฉพาะพระนารายณ์ที่คงไม่ได้ ‘หูเบา’ อย่างที่พูดกันในละคร เพราะพระองค์ยังมี ‘เครื่องมือ’ อื่นๆ อีกนอกเหนือจากที่กล่าวไป เครื่องมือที่ว่านั้นคือความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักกับฝรั่งเศส ชาติตะวันตกที่มีจุดประสงค์ในการเข้ามายังอยุธยาต่างจากโปรตุเกสหรือดัตช์ นั่นคือไม่ได้เข้ามาเพื่อการค้าหรือการควบคุมเส้นทางการค้า แต่มาเพื่อส่งคณะมิชชันนารีไปยังอินโดจีนและแคว้นตงกิง ก่อนที่จะมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับสยามในกาลถัดมา

ขุนนางต่างชาตินั้นมีอิทธิพลกับการเมืองภายในของอยุธยาอย่างมาก แต่ก็ไม่ใช่แค่ขุนนางคนใดคนหนึ่งที่มีสิทธิขาดในการตัดสินใจของกษัตริย์

ที่ว่าพระนารายณ์มองฝรั่งเศสเป็น ‘เครื่องมือ’ ก็เพราะพระองค์เห็นว่าราชสำนักสามารถใช้ประโยชน์จากการมีอยู่ของฝรั่งเศสในอยุธยาได้ (ไม่ว่าฝรั่งเศสจะต้องการอะไรจากความสัมพันธ์นี้ก็ตาม แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันในระดับหนึ่งว่าเป็นความสัมพันธ์แบบวิน-วิน) ทั้งเพื่อเพิ่มความสามารถทางการทหารให้กับราชสำนัก เช่น สร้างป้อมปราการแปดเหลี่ยมที่มีที่เก็บอาวุธยุทโธปกรณ์อยู่ภายใน โดย เดอ ลา มาร์ วิศวกรชาวฝรั่งเศส และเพื่อคานอำนาจทางการเมือง โดยใช้ความสนิทสนมชิดเชื้อกับฝรั่งเศสที่เห็นได้ชัดผ่านการส่งคณะทูตไปยังฝรั่งเศสถึงหลายครั้งหลายครา มาคัดง้างกับเครือข่ายของพระเพทราชา อันประกอบด้วยองค์กรสงฆ์ที่มีปัญหาคาราคาซังกับปีกของพระนารายณ์มานาน และพ่อค้ามุสลิมที่เสียผลประโยชน์

แต่สุดท้ายพระเพทราชาก็ได้ ‘ใช้’ การมีอยู่ของกองทัพฝรั่งเศสในลพบุรีและบางกอกเป็นข้ออ้างในการปฏิวัติยึดราชบัลลังก์จากพระนารายณ์จนสำเร็จในปี 1688 (ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่มีผู้พูดถึงและเขียนถึงไว้เป็นจำนวนมาก สามารถไปตามหาอ่านกันได้) จนอาจพูดได้ว่า หากฝรั่งเศสเป็นเครื่องมือของพระนารายณ์ฉันใด ฝรั่งเศสก็เป็นเครื่องมือของพระเพทราชาด้วยเฉกเช่นกัน

ฉะนั้นแล้ว การที่เกศสุรางค์เชื่อว่าอยุธยาสงบสุข ไม่มีการคอรัปชั่น และมีฝรั่งเป็นส่วนเกิน จึงแสดงให้เราเห็นว่าผู้ชมบางส่วนไม่พอใจในปัจจุบันอันแสนจะวุ่นวาย เต็มไปด้วยการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และไร้ซึ่งความปรองดอง จนเกิดความโหยหาอดีต (ซึ่งเป็นอดีตที่ตัวเองไม่เคยมองเห็นด้วยตา แต่เป็นอดีตที่ถูกประกอบสร้างขึ้นโดยผู้อื่น) อยากย้อนกลับไปเป็นแบบอยุธยาในฉบับที่ละครนำเสนอ และเชื่อว่าเป็นแล้ว สงบแล้ว เพียงแค่ได้ตบแต่งตัวเองด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ที่แสดงให้เห็นถึง ‘ความเป็นไทย’ แบบที่ตัวเองเข้าใจเท่านั้น

 

 

หมายเหตุ* ผู้เขียนใช้ปีคริสตศักราชเพื่อให้ง่ายต่อการเทียบเคียงกับเอกสารทางประวัติศาสตร์ของต่างชาติและเหตุการณ์โลกอื่นๆ

อ้างอิง

  • บางส่วนเรียบเรียงจากบทความของผู้เขียนในชื่อ An Overview of the Siamese-French Relationship and King Narai Court’s Perception of the French, 1681-1688.
  • Eoseewongse, Nithi. การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์. 8th ed. Bangkok: Matichon Books, 2014.
  • Kitiarsa, Pattana. “An Ambiguous Intimacy: Farang as Siamese Occidentalism.” In The Ambiguous Allure of the West, edited by Rachel V. Harrison and Peter A. Jackson, 57-74. Hong Kong: Hong Kong University Press, 2010.
  • Lourido, Rui D’Ávila. “European Trade Between Macao and Siam, from Its Beginnings to 1663.” Journal of The Siam Society 84, Part 2 (1996): 75-101.
  • Pitpoomwithi, Pridi. จากบางเจ้าพระยาสู่ปารีส. Bangkok: Matichon Books, 2008.
  • Ruangsilp, Bhawan. Dutch East India Company Merchants at the Court of Ayutthaya: Dutch Perceptions of the Thai Kingdom c. 1604-1765. Leiden: Koninklijke Brill NV, 2007.
Tags: , , , ,