หากเฟซบุ๊กเป็นประเทศ ประชากรของเหล่า ‘เฟซบุ๊กเกี้ยน’ จะมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 2 เท่าของประชากรในประเทศจีน แต่ในแง่เศรษฐกิจ เฟซบุ๊กอาจเทียบได้กับประเทศอย่างโครเอเชีย หรือคอสตาริกา ด้วยจำนวนประชากรที่เยอะ ขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ แล้วทำไมเฟซบุ๊กถึงไม่ควรจะออกสกุลเงินของตัวเองล่ะครับ?
แม้จะมีข่าวลือสะพัดมาสักพัก แต่ล่าสุดเฟซบุ๊กได้เปิดตัวสกุลเงินดิจิทัล Libra มาจากชื่อหน่วยวัดโรมันโบราณพร้อมกับธีมที่เน้นเรื่องการเข้าถึงบริการทางการเงินของคนทั่วโลก ที่จะเป็นประตูสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตในมิติต่างๆ ต่อไป
ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สกุลเงินดิจิทัลถูกมองในแง่ลบมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเป็นสินทรัพย์เพื่อการเก็งกำไร เป็นช่องทางในการฟอกเงินหรือสนับสนุนการก่อการร้าย บางคนถึงขั้นโจมตีว่าไม่ต่างจากแชร์ลูกโซ่ สกุลเงินน้องใหม่อย่าง Libra เรียนรู้จากข้อสังเกตดังกล่าว และพยายามปิดทุกช่องว่างเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยรุ่นพี่สกุลเงินดิจิทัลอย่างบิตคอยน์
แล้ว Libra จะมีโอกาสเป็นสกุลเงินแห่งอนาคตหรือไม่ ลองทำความรู้จักก่อนตัดสินใจนะครับ
ปัญหา (1) – สกุลเงินดิจิทัลไม่มีองค์กรกำกับดูแลกลาง ตัวอย่างเช่นบิตคอยน์ ที่เวลาเจอปัญหาก็ไม่รู้จะหันไปหาใคร
พื้นฐานของบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลังบ้านของสารพัดสกุลเงินดิจิทัลนั้นคือการกระจายบัญชีธุรกรรม (Distributed Ledger) ซึ่งมีข้อดีคือระบบดังกล่าวจะเป็นของทุกคน แต่ก็เช่นเดียวกับการทำงานกลุ่มสมัยมหาวิทยาลัยนั่นแหละครับ เมื่อระบบเป็นของทุกคนจึงไม่มีใครจำเป็นต้องรับผิดชอบอะไร ทุกคนต้องรับผิดชอบตัวเอง
ปัญหาที่เราได้ยินอยู่เนืองๆ คือเหล่าผู้ใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ลืมชื่อบัญชีและรหัสผ่าน ถูกหลอก ถูกโกง ก็ได้แต่ทำน้ำตาตกเพราะไม่มีองค์กรไหนที่เข้ามารับผิดชอบ อีกทั้งองค์กรกำกับดูแลหรือรัฐบาลก็ยังไม่สบายใจ เพราะในกรณีที่เกิดปัญหาข้างต้น หรือได้กลิ่นการฟอกเงินก็ไม่รู้จะยกหูโทรศัพท์ไปหาใครเพื่อให้ระงับหรือตรวจสอบบัญชี
แต่ Libra แตกต่างออกไป เพราะตั้งแต่เปิดตัวเฟซบุ๊กก็ได้ให้รายชื่อผู้ร่วมลงทุนแบบยาวเหยียด 28 องค์กรในฐานะผู้ร่วมทุนที่ลงขันขั้นต่ำคนละ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังเปิดรับสมัครโดยตั้งเป้าให้ถึง 100 ราย โดยผู้ร่วมลงทุนทุกคนจะมี 1 เสียงเท่ากันในการโหวตตัดสินใจของ Libra Association องค์การกลางไม่แสวงหากำไรซึ่งตั้งอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยหน้าที่หลักของ Libra Association คือการกำกับดูแลสกุลเงินดิจิทัล รักษาเสถียรภาพค่าเงิน รวมทั้งสินทรัพย์ค้ำประกัน
รายชื่อผู้ร่วมก่อตั้ง Libra สกุลเงินดิจิทัลน้องใหม่ที่ชูประเด็นการเข้าถึงบริการทางการเงินของสาธารณชน ภาพจาก facebook
ตัวอย่างสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งที่น่าสนใจเช่น กลุ่มจัดการธุรกรรมอย่าง Paypal, Mastercard และ Visa กลุ่มแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Ebay, Spotify และ Uber กลุ่มธุรกิจบล็อกเชน และบริษัทร่วมทุน แต่สำหรับผู้เขียน กลุ่มที่น่าสนใจที่สุดคือกลุ่มองค์กรไม่แสวงหากำไร อย่าง Kiva ที่เน้นการจัดหาเงินให้วิสาหกิจขนาดเล็กในประเทศกำลังพัฒนา Mercy Corps ที่เน้นแก้ปัญหาในพื้นที่ที่ไร้เสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมถึงพื้นที่ภัยพิบัติ สุดท้ายคือกลุ่มโทรคมนาคมอย่าง Vodafone ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการสร้าง M-Pesa ระบบโอนเงินสำหรับผู้มีรายได้น้อยในแถบทวีปแอฟริกา ซึ่งนับว่า Libra จะช่วยตอบโจทย์พันธกิจขององค์กรเหล่านี้ได้อย่างตรงจุด
ในส่วนของการจัดการบัญชี เฟซบุ๊กได้ตั้งบริษัทย่อย Calibra ในฐานะแอปฯ กระเป๋าสตางค์ ซึ่งจะเป็นหน้าด่านในการแก้ปัญหาสารพัดของลูกค้า ไม่ว่าจะโดนโกง โดนแฮก หรือลืมรหัสผ่าน
ทั้งสองโครงสร้าง Libra Association และ Calibra จึงเปรียบเสมือนองค์การกลางที่กำกับดูแลเงินตราและการทำธุรกรรมซึ่งสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ ไม่มี หรืออาจไม่ได้ครบถ้วนกระบวนความเท่ากับ Libra
ปัญหา (2) – ราคาของสกุลเงินดิจิทัลมักมีความผันผวนสูงและไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน ราคาที่ซื้อขายในตลาดจึงขึ้นอยู่กับ ‘ความเชื่อ’ ของมวลชนทั้งสิ้น
‘เงิน’ คือภาพแทนของความเชื่อมั่น สกุลเงินทั่วไปสามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ใช้และผู้รับได้เนื่องจากมีสินทรัพย์ค้ำประกัน เช่น เงินสำรองเงินตราต่างประเทศที่มีเสถียรภาพ หรือสินแร่มีค่า เช่น ทอง ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารกลางในแต่ละประเทศ
สกุลเงินดิจิทัล เช่น บิตคอยน์ จะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันทำให้มีความผันผวนสูง กลายเป็นสินทรัพย์ที่เน้นการซื้อเพื่อเก็งกำไรเป็นหลัก แต่ไม่ใช่นำมาใช้ในฐานะเงินตราในชีวิตประจำวัน ยิ่งการเก็บออมเงินในรูปบิตคอยน์ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะความผันผวนที่สูงในระดับที่ไร้เสถียรภาพทำให้น้อยคนที่จะกล้าเสี่ยงออมเงินในสกุลเงินดิจิทัล เมื่อไม่มีการนำมาใช้จ่าย หรือการออมเงิน จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่สกุลเงินดิจิทัลจะมาทดแทนเงินสกุลหลัก
แผนภาพแสดงราคาและความผันผวนของบิตคอยน์ระหว่างปี 2011 – 2019 ความผันผวนที่ค่อนข้างสูงทำให้บิตคอยน์กลายเป็นสินทรัพย์เพื่อการเก็งกำไรมากกว่าการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ภาพจาก buybitcoinworldwide.com
Libra แก้ปัญหาดังกล่าวโดยรวบรวมผู้ร่วมทุนซึ่งเป็นนักลงทุนสถาบันเพื่อสร้างฐานสินทรัพย์ค้ำประกัน โดยใช้หลักคิดคล้ายกับธนาคารกลางคือลงทุนใน ‘ตะกร้า’ สินทรัพย์ความผันผวนต่ำ เช่น เงินฝากในสถาบันการเงิน ตราสารหนี้ระยะสั้นโดยรัฐบาล และสกุลเงินหลักต่างๆ ที่มีความผันผวนต่ำ เพื่อสร้าง ‘สกุลเงินที่มีเสถียรภาพ (Stable Coin)’
นอกจากนี้ การออกเงิน Libra เพิ่มเติม 1 หน่วยจะต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่มเติมเสมอ เช่น หากผมนำเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐไปแลกเป็นเงินดิจิทัล 3 Libra เงินดอลลาร์สหรัฐนั้นจะเข้าไปยัง ‘เงินสำรองทางการของ Libra (Libra Reserve)’ เป็นการตัดปัญหาการสร้างเงินเพิ่มมาแบบลอยๆ เช่นกลไกของสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ
ส่วน 1 Libra จะมีมูลค่าเท่าไรนั้น ทาง Libra Association ยังไม่ได้กำหนด
ปัญหา (3) – สกุลเงินดิจิทัลยังเผชิญกับปัญหาอื่นๆ เช่น การทำธุรกรรมที่ถึงแม้จะราคาถูก แต่ก็ยังช้ามากๆ รวมถึงการยืนยันตัวตนของผู้เปิดบัญชี ที่หากไม่มีกระบวนการที่เหมาะสม ก็อาจนำไปสู่การใช้ในธุรกิจมืดได้
สำหรับเหล่าผู้ใช้สกุลเงินดิจิทัลเป็นสรณะคงจะคุ้นชินกับความช้าจนน่ารำคาญของระบบ เพราะศักยภาพในการประมวลผลธุรกรรมของสกุลเงินดิจิทัลนั้นช้าจนขึ้นชื่อ เช่น บิตคอยน์อยู่ที่ 7 ธุรกรรมต่อวินาที ส่วนอีเธอเรียมอยู่ที่ 15 ธุรกรรมต่อวินาที ในขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Visa สามารถประมวลผลได้ราว 1,700 ธุรกรรมต่อวินาที ทำให้เวลาเรารูดบัตรเครดิตหรือเดบิต ไม่ต้องยืนเก้ๆ กังๆ รอระบบตอบกลับเหมือนในอดีต
สำหรับ Libra สมาพันธ์ได้ให้คำมั่นว่าความสามารถในการประมวลผลธุรกรรมจะเริ่มต้นที่ 1,000 ธุรกรรมต่อวินาที ซึ่งนับว่าช้ากว่า Visa เล็กน้อย แต่ก็คงไล่ทันไม่นานหากตลาดใหญ่ขึ้น โดยมีการเก็บค่าธรรมเนียมธุรกรรมในระดับค่อนข้างต่ำ (แต่ก็ยังไม่บอกว่าเท่าไร)
ในแง่การยืนยันตัวตนลูกค้า หน้าที่ดังกล่าวของสกุลเงิน Libra ก็จะตกอยู่กับแอปฯ กระเป๋าสตางค์ เช่น Calibra โดยผู้สมัครสมาชิกจะต้องผ่านกระบวนการต้านการฉ้อโกงโดยยืนยันตัวตน คล้ายกับเวลาที่เราเปิดบัญชีธนาคารที่จะต้องมีแบบฟอร์มที่ภาษาในวงการเรียกว่า ‘ทำความรู้จักลูกค้า’ หรือ Know Your Customer (KYC) ซึ่งตอนนี้ หากใครต้องการมีกระเป๋าสตางค์ใน Calibra จะต้องใช้บัตรหรือเอกสารที่ภาครัฐออกให้ รวมถึงข้อมูลยืนยันตัวตนต่างๆ
ภาพตัวอย่างจากแอปพลิเคชันกระเป๋าสตางค์ Calibra ที่ตอนสมัครจะต้องมีการกรอกข้อมูลเพื่อยืนยันตัวตน รวมทั้งการใช้บัตรหรือเอกสารที่ภาครัฐออกให้ เพื่อป้องกันการฉ้อโกงและการใช้ Libra เพื่อทำธุรกรรมผิดกฎหมาย ภาพจาก mashable.com
แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นนะครับ เพราะในอนาคต Libra Association มีแผนให้คู่ค้ารายอื่นๆ ดำเนินกระบวนการยืนยันตัวตนลูกค้า โดยอาจมอบแรงจูงใจในรูปสกุลเงินดิจิทัลสำหรับคู่ค้าที่สามารถพาผู้บริโภครายใหม่ๆ เข้าสู่ระบบนิเวศที่ใช้เงินสกุล Libra ซึ่งนับว่ารัดกุมกว่าสกุลเงินดิจิทัลแบบดั้งเดิมค่อนข้างมาก
โอกาสและอุปสรรคของ Libra สกุลเงินที่อาจจะเปลี่ยนโลก
ผู้เชี่ยวชาญมองว่าตลาดหลักที่ Libra จะไปทำลายโมเดลธุรกิจแบบดั้งเดิมคือการโอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีค่าธรรมเนียมเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 7 กระบวนการยุ่งยาก และใช้เวลาค่อนข้างนาน โดยเมื่อปีที่ผ่านมา ตลาดโอนเงินระหว่างประเทศมีมูลค่าสูงถึง 5.29 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การใช้จ่ายระหว่างประเทศผ่านระบบ Visa หรือ Mastercard ยังนับว่าเป็นรายได้หลักของบริษัทเหล่านั้นอีกด้วย
ในแง่แพลตฟอร์มอย่าง Uber, Spotify หรือ eBay การใช้สกุลเงินดิจิทัลก็ช่วยเพิ่มการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีบัญชีธนาคารหรือบัตรเครดิตทำให้ไม่สามารถใช้บริการได้ กำแพงดังกล่าวจะพังทลายลงทันทีหาก Libra สามารถดำเนินการได้จริง
แต่จุดแข็งที่สุดของ Libra คือการรวมเข้ากับแพลตฟอร์มที่คนนับพันล้านคนทั่วโลกเข้าถึงและคุ้นเคย นั่นคือ Facebook, Messenger และ WhatsApp การเข้ามาของ Libra จึงเป็นเพียงส่วนต่อขยายของแอปฯ ในชีวิตประจำวันโดยเพิ่มฟังก์ชันอำนวยความสะดวกในแง่การเงิน
แน่นอนว่าโครงการใหญ่ยักษ์ขนาดนี้ย่อมมีอุปสรรคโดยเฉพาะจากภาครัฐ การออกสกุลเงินใหม่แน่นอนว่าย่อมต้องถูกตรวจสอบเข้มข้น ตั้งแต่ตีความว่า Libra Association นับว่าเป็นสถาบันการเงินหรือไม่ และต้องอยู่ภายใต้กฎหมายใด แม้แต่สกุลเงิน Libra ก็ต้องผ่านการตีความจากคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐฯ ว่าถือเป็นสกุลเงิน หรือตราสารทางการเงินที่ต้องมีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด สุดท้ายคือกระบวนการยืนยันตัวตนในการเปิดบัญชี และการทำความรู้จักลูกค้ารัดกุมเพียงพอที่จะไม่ให้สกุลเงินดิจิทัลเกิดใหม่กลายเป็นเครื่องมือเคลื่อนย้ายเงินผิดกฎหมายหรือเปล่า
กระบวนการเหล่านี้อาจต้องใช้เวลาหลายปีเลยทีเดียว
ที่สำคัญ ชื่อเสียงเฟซบุ๊กเองก็นับว่าไม่ได้ดีนัก หลังจากมีข่าวข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้รั่วครั้งแล้วครั้งเล่า แต่คราวนี้เฟซบุ๊กก็รู้ดีถึงจุดอ่อนของตัวเอง และแยกบริษัทกระเป๋าสตางค์อย่าง Calibra ออกไปอย่างเด็ดขาด และนั่งยันนอนยันว่า Libra นั้นจะถูกกำกับดูแลโดย Libra Association ซึ่งเฟซบุ๊กเป็นเพียงหนึ่งเสียงโหวตในนั้น และทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้ ดังนั้นจะไม่มีการส่งข้อมูลส่วนตัวจากเฟซบุ๊กไปยัง Calibra หรือนำข้อมูลการใช้จ่ายจาก Calibra มาใช้ทำโฆษณาในเฟซบุ๊ก ‘หากไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ใช้’
สกุลเงิน Libra นับว่าเป็นความหวังของวงการสกุลเงินดิจิทัล หากสามารถฝ่าฟันอุปสรรคขวากหนามที่ระบุข้างต้น และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนผู้ใช้ จากข้อมูลที่มีอยู่เบื้องต้น เรามองว่าครั้งนี้ทีม Libra ถือว่าทำการบ้านมาดี และพยายามสร้างสรรค์กลไกใหม่ๆ ที่ไปไกลกว่าสกุลเงินดิจิทัลแบบดั้งเดิม และมีความเป็นไปได้สูงว่าอาจจะกลายเป็นเงินสกุลใหม่ ที่ถูกนำมาใช้ในฐานะ ‘เงินในชีวิตประจำวัน’ จริงๆ
เอกสารประกอบการเขียน
Facebook announces Libra cryptocurrency: All you need to know
Facebook wants to create a worldwide digital currency
Tags: สกุลเงินดิจิทัล, บล็อกเชน, Libra, Calibra, เฟซบุ๊ก, บิตคอยน์, สกุลเงิน