When Philo Met Sophia (11)
Are you happy?: มีความสุขไหม?
1
ลุดวิก วิตต์เกินชไตน์ (Ludwig Wittgenstein) ในวัยหนุ่มเคยเห็นพ้องกับฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี (Fyodor Dostoyevsky) ว่า คนที่มีความสุขถือได้ว่าบรรลุจุดหมายของการดำรงอยู่ แต่สำหรับวิตต์เกินชไตน์ในช่วงบั้นปลาย เขามองเห็น ‘ความสุข’ เป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้สำหรับมนุษย์ (หรืออย่างน้อยๆ ก็สำหรับตัวเขาเอง) ในสมุดที่เรียกว่า Koder Diaries[1] ลงวันที่เดือนกุมภาพันธ์ 1937 เขาบันทึก ‘สภาวะไร้สุข’ ไว้ว่า
“มนุษย์นั้นใช้ชีวิตธรรมดาสามัญภายใต้แสงสว่างที่ให้ความกระจ่าง ซึ่งเขาไม่เคยรับรู้จนกระทั่งมันอันตรธานไป และเมื่อนั้นชีวิตของมนุษย์ก็จะสูญเสียคุณค่า ความหมาย รวมถึงสิ่งต่างๆ ที่เราต้องการจะพูดออกมา คนเราจะตระหนักได้ในทันทีว่าการดำรงอยู่ที่ว่า หรือดังเช่นที่เราชอบพูดกัน โดยตัวของมันเองแล้วไม่มีอะไรนอกจากความว่างเปล่าและสิ้นไร้ความหวัง เหมือนแสงสว่างนั้นถูกริบคืนไปจากสรรพสิ่ง (ทุกอย่างตายลง… เราต่างก็ตายทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่)”[2]
ถึงคำกล่าวนี้จะแสดงความมืดมนไร้หนทางในใจเพียงใด แต่ก็ยังเน้นย้ำถึงสิ่งที่เขาได้พูดไว้ใน Tractatus Logico-Philosophicus (1921) เอาไว้ว่า “โลกของคนเป็นสุขนั้นแตกต่างจากคนไร้สุข”[3] หรือแม้ช่วงปี 1936-37 ที่ผู้ศึกษาประวัติชีวิตของวิตต์เกินชไตน์เชื่อว่าเป็นช่วงเวลาที่เขา ‘ไร้สุข’ ถึงขีดสุด แต่ถึงกระนั้นก็เป็นห้วงปีที่เขาริเริ่มผลงานชิ้นสำคัญที่ชื่อว่า Philosophical Investigations (1953)
ดังนั้น คำถามถามว่า “มีความสุขหรือเปล่า?” จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตอบ ยิ่งเมื่อเราพิจารณาผ่านประวัติศาสตร์สังคม-ความคิดก็จะพบว่า ‘ความสุข’ มีบทนิยามแตกต่างกันไปตามแต่ละยุคสมัย โดยยังไม่นับรวมถึงกรอบคิดและมุมมองของแต่ละปัจเจกบุคคล
อย่างการที่หลายคนเชื่อว่า คนโง่นั้นมีความสุขมากกว่าคนฉลาดและการไม่รู้อะไรคือหนทางของการมีความสุข กลับเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามสำหรับนักปรัชญาอย่างอริสโตเติล (Aristotle) ผู้มองว่า ‘ความสุขที่แท้จริง’ มาพร้อมกับความรู้ และความถึงพร้อมมากมายที่ไม่สามารถตัดสินได้ในทันที
2
สำหรับอริสโตเติลแล้ว ‘ความสุข’ หรือการมีชีวิตที่ดี (Eudaimonia) ไม่ใช่ความปรารถนาในสิ่งใดๆ ไม่ใช่การวิ่งไล่ตามหาอะไรมาบรรลุความปรารถนานั้น หากความสุข หรือการมีชีวิตที่ดีเท่านั้นที่จะทำให้เราบรรลุทุกความปรารถนา ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องไม่ใช่เรื่องที่ชั่วร้าย หรือเป็นอันตรายต่อชีวิตคนอื่น เช่น ความสุขที่เรากระทำให้คนที่เราไม่ชอบต้องเจ็บปวดทุกข์ทรมานแสนสาหัสก็ย่อมจะไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง
กล่าวในอีกทาง ความสุขของอริสโตเติลเป็นการประเมินชีวิตในภาพกว้าง ซึ่งอาจกินระยะเวลายาวนานเท่าๆ กับอายุขัยของเรา ด้วยเพราะความสุขนี้เป็นผลรวมที่ประกอบขึ้นจากหลายสิ่งหลายอย่าง ตั้งแต่การมีความรู้ มีฐานะทางเศรษฐกิจ สุขภาพจิต สุขภาพกาย มิตรภาพ ความรัก ตลอดจนวิถีปฏิบัติ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนแต่เป็นปัจจัยที่กำหนดความสุข และด้วยกรอบคิดที่อริสโตเติลเชื่อว่ามนุษย์เราแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ตรงที่เราสามารถใช้เหตุผลได้
ฉะนั้น ‘คุณธรรม’ หรือ ‘ความเป็นเลิศ’ ที่ชาวกรีกโบราณเรียกว่า Arete จึงมีความสำคัญ เพราะทำให้เราสามารถใช้เหตุผลได้ดี และ ‘ถูกต้อง’ ไม่ใช่เพื่อเข้าข้างตัวเอง พูดให้ง่าย ‘ความสุข’ ในกรอบคิดแบบอริสโตเติลจึงวางอยู่บนหลักการแห่งเหตุผล และการฝึกฝนปฏิบัติจนสามารถจะใช้เหตุผลได้อย่างยอดเยี่ยม
‘ความสุข’ ที่ผูกโยงกับ ‘ความรู้’ เป็นสิ่งที่มีอยู่ในวิธีคิดแบบกรีก-โรมัน นับจากสำนักสโตอิก (Stoic) จนถึงสำนักเอพิคูเรียน (Epicurean) ที่มีเอพิคูรัส (Epicurus) เป็นผู้ให้กำเนิด ปิแยร์ ฮาโดต์ (Pierre Hadot) นักปรัชญาและนักเทววิทยาชาวฝรั่งเศสเห็นว่า แนวคิดที่ปราชญ์ชาวกรีกและโรมันมีความเห็นไปในทางเดียวกันก็คือ ‘การมีชีวิตอยู่คือความป่วยไข้’ และ ‘ปรัชญา’ ประกอบขึ้นจากฟิสิกส์ (Physics) วิชาความรู้ที่ต้องเข้าใจทั้งธรรมชาติของทุกสรรพสิ่ง จริยศาสตร์ (Ethics) การฝึกฝนปฏิบัติร่างกายให้สอดคล้องกับความจริงทั้งหลาย และสุดท้ายตรรกะ (Logic) คือการคิดและพูดผ่านเหตุผลที่ถูกต้องซึ่งอยู่ในจิตหรือความนึกคิดของเรา
ทั้งหมดก็คือ ‘กระบวนการรักษา’ และเยียวยาความป่วยไข้ ซึ่งผู้ที่ทำหน้าแพทย์ ณ ที่นี้ไม่ใช่ใครอื่น แต่คือ ‘ตัวเรา’ หรือผู้ฝึกฝนเรียนรู้ปรัชญา
‘ความสุข’ สำหรับสำนักเอพิคูเรียนที่ได้ชื่อว่าเป็นสำนักสุขนิยม (Hedonism) มีรากความคิดที่สามารถย้อนกลับไปยังนักปรัชญายุคก่อนโสเครติสอย่างเดโมไครตัส (Democritus) หรือลิวซิปปัส (Leucippus) ผู้เป็นอาจารย์ของเดโมไครตัสที่อธิบายว่า “พื้นฐานแรกสุดของจักรวาลประกอบขึ้นจากปรมาณูและช่องว่าง สิ่งใดอื่นนอกจากนั้นต่างมีก็เพียงในความคิดเท่านั้น”[4]
ความรู้ทางฟิสิกส์ข้อนี้เองทำให้ผู้ศึกษาปรัชญาของเอพิคูเรียนหลุดพ้นจากความกลัวในเทพเจ้า อำนาจลึกลับที่มองไม่เห็น ด้วยเพราะรู้แล้วว่า ทุกสิ่งที่เกิด และดำรงอยู่ต่างประกอบขึ้นจากช่องว่างและอณูเล็กๆ ระดับอนุภาค หาใช่อำนาจดลใจหรือสร้างสรรค์ขึ้นของทวยเทพ
การแสวงหาความรู้และการค้นพบในแง่นี้ จึงนับเป็น ‘ความสุข’ และ ‘ความพึงใจ’ ในตัวเอง จาก ‘ความเข้าใจ’ และจากความผ่อนคลายจากความวิตกในเรื่องที่ไม่รู้ เหมือนเช่นครั้งหนึ่งที่เดโมไครตัสกล่าวเอาไว้ว่า การทุ่มเทเวลาให้กับความรู้ของจักรวาลทำให้เขาหมดสิ้นความกังวลในเรื่องต่างๆ ทั้งยังขจัดความหวาดกลัวจาก ‘ความไม่รู้’ ออกไปจากจิตใจได้[5]
‘ความทุกข์’ สำหรับสำนักเอพิคูเรียนเกือบทั้งหมดมาจาก ‘ความไม่รู้’ เช่น ความกลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัว (เทพเจ้าที่ไม่มีอยู่ ความตายที่เป็นสิ่งแน่นอนสำหรับทุกชีวิต) โดยเฉพาะ ‘ความปรารถนา’ ที่มีอยู่ในตัวเรา นั่นทำให้การจำแนกแยกแยะ ‘ความปรารถนาจำเป็น’ ออกจาก ‘ความปรารถนาที่ไม่จำเป็น’ ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับสำนักเอพิคูเรียน
‘ความปรารถนาจำเป็น’ สำหรับเอพิคูเรียนก็คือ ความต้องการในปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ที่ทำให้เราสามารถดำรงอยู่ได้ โดยไม่หิว ไม่กระหาย ไม่เจ็บป่วย หรือไม่ตาย เพราะเมื่อเราขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งนี้ไป ร่างกายและจิตใจเราก็จะทุกข์ทนทรมาน ในขณะที่ ‘ความปรารถนาที่ไม่จำเป็น’ เมื่อไม่มีหรือขาดไป เราก็ยังสามารถจะดำรงชีวิตต่อไปได้โดยไม่รู้สึกเจ็บปวด
ความเข้าใจที่ว่า ปรัชญาของเอพิคูรัสส่งเสริมให้คนกินดื่มและปรนเปรอความสุขแก่ตนโดยไม่จำกัด (เพราะชีวิตนั้นจำกัด) จึงเรียกได้ว่าเป็นไปในทางตรงข้ามกับคำสอนของเอพิคูรัสอย่างชนิดหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว เพราะการเข้าถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘ความสุข’ สำหรับสำนักเอพิคูเรียนค่อนข้างสอดคล้องต้องตรงกับสำนักสโตอิก ที่เชื่อในการควบคุมและจำกัดความปรารถนา ที่ในด้านหนึ่งผ่านการฝึกฝนร่างกายและวิถีชีวิต ในอีกด้านผ่านการใช้ความคิดและเหตุผลเพื่อแยกแยะความปรารถนานั้นว่าเป็นชนิดจำเป็นหรือไม่จำเป็น ซึ่งทั้งหมดนำมาอยู่บนแนวคิดเรื่อง ‘การประมาณตน’ หรือเป็นดังถ้อยคำโด่งดังที่เชื่อกันว่าเดโมไครตัสเป็นผู้กล่าว “การประมาณตนเองนั้นเพิ่มจำนวนและขนาดของความพึงพอใจ”[6]
3
บุคคลหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้รื้อฟื้นแนวคิดแบบเอพิคูเรียนกลับมาสู่โลกปรัชญาสมัยใหม่ก็คือ ปิแยร์ กาแซงดี (Pierre Gassendi) พระนักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้มีชีวิตในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 ในงานเขียนที่ว่าด้วย ‘ความสุข’ กาแซงดีพยายามชี้ให้เห็นว่า มีความสุขที่แตกต่างกันอยู่ระหว่าง ‘นักปรัชญา’ กับ ‘นักบวช’ ผู้เผยแพร่คำสอนทางศาสนาที่ว่าความสุขถูกกำหนดโดยพระเจ้า (เราจะได้รับมันมาก็เมื่อเชื่อในพระองค์ ปฏิบัติตามคำสั่งสอน ฯลฯ) ในขณะที่ความสุขที่กาแซงดีหรือนักปรัชญาพยายามศึกษาทำความเข้าใจเป็น ‘ธรรมชาติ’ ที่อยู่แล้วในตัวเราแต่ละคน
กาแซงดีนิยามความสุขว่า ‘ความพึงใจสูงสุด’ ที่มนุษย์ปรารถนา และความเป็น ‘ที่สุด’ นี้เอง ความสุขจึงถือเป็นความดีสูงสุดด้วยเช่นกัน เพราะเป็นเป้าหมายที่อยู่เหนือกว่าทุกเป้าหมายของทุกชีวิต ซึ่งทำให้เราสามารถกล่าวได้ว่า ความสุขสูงสุดสามารถยุติความปรารถนาทั้งปวง สำหรับกาแซงดี สิ่งที่แยก ‘ผู้มีปัญญา’ ออกจาก ‘คนธรรมดา’ คือวิธีการรับมือกับความทุกข์ ความผิดหวัง และความเจ็บปวด
ในขณะที่คนธรรมดาสามัญอาจปล่อยตัวและใจให้ความทุกข์ ความผิดหวัง ความเจ็บปวดครอบงำ ผู้มีปัญญาจะพิจารณาว่าเรื่องเลวร้ายที่เกิดกับตนเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น จึงควรที่จะอดทนและยอมรับมันในฐานะสิ่งจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หรือหากกล่าวในทำนองของ ซิเซโร (Cicero) ปราชญ์และนักปกครองชาวโรมันแล้วก็คือ
“ฉันกำลังถูกไฟเผาผลาญ นี่คือเรื่องจริง ฉันกำลังทรมาน ฉันอาจร้องโอดครวญในบางครั้ง และปล่อยน้ำตาให้ไหลในบางที แต่ฉันไม่ยอมจำนน ฉันจะไม่ยอมแพ้และปล่อยตัวเองให้จมดิ่งลงไปในความสิ้นหวังที่ขลาดเขลา ซึ่งจะทำให้สภาพการณ์ที่เป็นไปนั้นน่าเศร้ายิ่งไปกว่าเดิม”[7]
กาแซงดีจำแนกสาเหตุและคำอธิบายเกี่ยวกับ ‘ความสุขสูงสุด’ ของปราชญ์ในยุคก่อนไว้ด้วยกัน 3 กลุ่มกว้างๆ ได้แก่
กลุ่มแรก เชื่อว่าความสุขสูงสุดขึ้นอยู่ความคิดและจิตใจ ความรู้ ความเข้าใจ ความมีอิสระ ความจริงใจ จนไปถึงคุณธรรมความดีถือเป็นบ่อเกิดของ ‘ความสุขสูงสุด’ เช่น อแน็กซากอรัส (Anaxagoras) ที่เห็นว่าการครุ่นคิดถึงเรื่องต่างๆ อย่างมีอิสระนำไปสู่ความรู้ที่น่าพึงใจ หรือในมุมมองของนักปรัชญาสโตอิกบางคนก็เห็นว่า ถ้าความสุข/ ความดีงามสูงสุดเกิดกับจิตใจแล้วไซร้ ร่างกายจะทุกข์ทรมาน หรือป่วยไข้ก็ไม่ใช่ปัญหา ความสุขสูงสุดของกลุ่มแรกผูกพันกับความรู้หรือการได้รู้ความจริงในสรรพสิ่ง
กลุ่มถัดมา เชื่อว่าความสุขสูงสุดขึ้นตรงกับร่างกาย เมื่อร่างกายเราแข็งแรง มีสุขภาพที่ดี ไม่หิว ไม่กระหาย ไม่ร้อน หรือเหน็บหนาวจนเกินไป เราก็สามารถจะมีความสุขได้ สำนักปรัชญาที่ให้ความสำคัญกับร่างกาย ได้แก่ สำนักเอพิคูเรียน และสำนักซีเรนาอิกส์ (Cyrenaics) ของอริสทิปปัส (Aristippus) นักปรัชญาผู้มีชีวิตร่วมยุคร่วมสมัยเดียวกันกับโสเครติส ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นลัทธิสุขนิยมดั้งเดิม ที่สอนให้เราแสวงหาและไขว่คว้าความสุขทุกรูปแบบที่เข้ามาในชีวิต โดยเฉพาะความสุขทางกาย
และกลุ่มสุดท้าย ที่เห็นว่าความสุขสูงสุดเกิดมาจากการมีโชคลาภ ชื่อเสียง เงินทอง และปัจจัยต่างๆ ที่ถึงพร้อม แน่นอนว่านี่เป็นแนวคิดที่มีอยู่ในหมู่ชนคนทั่วไปที่ว่า ถ้าเราร่ำรวยมั่งคั่งแล้วเราก็จะมีความสุขสูงสุดได้เอง ซึ่งแนวคิดดังกล่าวยังคงตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน
เป็นที่ทราบกันว่า กาแซงดีให้ความสำคัญกับปรัชญาของสำนักเอพิคูเรียนมากกว่าสำนักอื่นๆ ดังนั้น เขาจึงอุทิศพื้นที่ 1 ใน 3 ของชิ้นงาน เพื่อการอธิบายเปรียบเทียบจนถึงแก้ไขความเข้าใจผิดให้แก่สำนักเอพิคูเรียน ที่เป็นที่ชิงชังของสำนักปรัชญาอื่นๆ โดยเฉพาะในเรื่องที่ว่า สำนักเอพิคูเรียนสอนให้คนหมกหมุ่นกับการแสวงหาความสุข ซึ่งกาแซงดีชี้ให้เห็นว่า ไม่มีหลักคำสอนใดของเอพิคูรัสที่บอกให้เรากินดื่มอย่างไม่ลืมหูลืมตา
หากจะมีที่ใกล้เคียงก็คือการที่สำนักเอพิคูเรียนเน้นย้ำเรื่องของการใช้ชีวิตให้เหมือนว่า ‘วันนี้คือวันสุดท้าย’ และเราไม่ควรวิตกกังวลกับวันพรุ่งนี้มากเกินไป สิ่งสำคัญสูงสุดก็คือ ชั่วขณะที่เรียกว่า ‘ปัจจุบัน’ และเอพิคูรัสก็ยังเน้นย้ำเรื่องของการรู้จักประมาณตน เป็นหลักคิดที่รับทอดมาจากเดโมไครตัส ซึ่งให้ความสำคัญกับการจำแนก ‘ความปรารถนาจำเป็น’ ออกจาก ‘ความปรารถนาที่ไม่จำเป็น’ ซึ่งไม่มีวันจะเติมเต็มได้
สิ่งที่แตกต่างจากความเข้าใจของคนทั่วไป หรือแม้แต่นักปรัชญาจำนวนไม่น้อยที่มองเห็นสำนักเอพิคูเรียนด้วยความเหยียดหยาม นั่นก็คือเอพิคูรัสให้ความสำคัญกับการขบคิดเรื่อง ‘ความตาย’ ที่เขาเห็นต่างไปจากอริสโตเติลว่า มันไม่ใช่ ‘สิ่งเลวร้าย’ หาก ‘ความตาย’ คือจุดจบของทุกชีวิต การยอมรับว่าความตายเป็นสิ่งแน่นอน ในอีกทางคือการสร้างความคุ้นเคย และขจัดความหวาดกลัวความตายออกไป ความเข้าใจของสำนักเอพิคูเรียนในเรื่องนี้ส่งผลให้การมีชีวิตอยู่ในทุกวันของเรา อาจหมายถึงวันสุดท้าย เพราะความตายสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเวลานาที
และสุดท้ายข้อเสนอที่ทำให้สำนักเอพิคูเรียนถือว่าสอดคล้องกับสำนักคิดกรีก-โรมันโบราณอื่นๆ ก็คือการที่เอพิคูรัสเชื่อว่า ‘ปรัชญา’ คือความจำเป็น เพราะอาจหมายถึง ‘หนทางเดียว’ ในกระบวนการบำบัดรักษาอาการป่วยไข้ที่เรียกว่า ‘ชีวิต’
[1] สมุดที่วิทท์เกินชไตน์ใช้เขียนระหว่างปี 1930-32 และ 1936-37 เป็นทั้งสมุดต้นฉบับและบันทึกเรื่องราวส่วนตัว
[2] Citron, Gabriel (2018). ‘The Problem of Life’: Later Wittgenstein on the Difficulty of Honest Happiness. In Mikel Burley (ed.), Wittgenstein, Religion, and Ethics: New Perspectives from Philosophy and Theology. London, UK: pp. 33-47.
[3] “The world of the happy man is a different one from that of the unhappy man.”
[4] The first principles of the universe are atoms and empty space; everything else is merely thought to exist. (Diogenes Laërtius, Democritus, Vol. IX, 44)
[5] ด้วยเพราะข้อเขียนต่างๆ ของเดโมไครตัสถูกทำลาย หรือหายสาบสูญไปเกือบหมดสิ้น แนวคิดทางด้านจริยศาสตร์ของเขาจึงถูกมองว่า ถูกสร้างขึ้นใหม่โดยนักเขียนในชั้นหลัง และความพยายามจะเชื่อมโยงแนวคิดทางฟิสิกส์ของเขาเข้ากับหลักจริยศาสตร์ยังเป็นปัญหา หรือไม่สามารถกระทำได้ ดู C. C. W. Taylor (1967). Pleasure, Knowledge and Sensation in Democritus. Phronesis, 12(1), 6–27.
[6] “Moderation multiplies pleasures, and increases pleasure.” ดู Tr. Kathleen Freeman, Ancilla to the Pre-Socratic Philosophers: A Complete Translation of the Fragments in Diels, Fragmente der Vorsokratiker, Harvard University Press, 1948
[7] ‘I burn, it is true, and I suffer, I sigh sometimes and let my tears flow, but I do not succumb. I am not vanquished and I do not let myself enter into a cowardly despair that would render my condition even more miserable.’
Tags: happy, ความสุข, philosophy, ปรัชญา, When Philo met Sophia, อริสโตเติล, เอพิคูรัส, ลุดวิก วิทท์เกินชไตน์, ความรัก