“มาคุยกับหนูได้ไงนะคะวันนี้ งงมากเลย” อาจเพราะเธอตกรอบไปแล้ว Amadiva จึงถามเราอย่างนี้ทันทีที่เจอหน้า และเมื่อเราตอบว่าติดตามมาจากละครเวที—“ว้ายจริงเหรอ เขินเลย” ออมตอบเสียงสูงปรี๊ด

แดรกควีนคิ้วโก่งผู้ ‘นั่งเฟียร์ซ’ อยู่ตรงหน้า เคยทำให้เราร้องไห้เป็นบ้าเป็นหลังตอนที่เธอปีนออกไปนอกหน้าต่างระหว่างการแสดงละครเวทีโรงเล็กเรื่อง Me Myself and the mind of Insignificant เมื่อปี 2016 และนั่นทำให้เราจดจำเธอในฐานะนักแสดงละครเลือดใหม่มากฝีมือ ผู้มากับจริตสุดแซบแต่อัดแน่นไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก

Amadiva หรือ ‘ออม’ ปัถวี เทพไกรวัล คือคนทำละครเวทีเจ้าของโชว์ฤทธิ์แรงอย่าง ฤายังจะนกแม้โลกจะสลาย หรือละครรีสเตจเมื่อปลายปีที่ผ่านมาอย่าง ปลาสีรุ้ง โชว์เดี่ยวว่าด้วยชีวิตของเธอเองในบทนางเงือกผู้มีปัญหากับหางปลาแถมยัง ‘นก’ ตลอดกาล ในเกือบทุกการแสดง ออมแต่งหญิงเต็มยศ แต่เราก็ยังประหลาดใจอยู่ดีเมื่อเห็นเธอบนหน้าจอรายการ Drag Race Thailand ในฐานะผู้เข้าแข่งขันที่มักจะถูกพูดถึงความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบโชว์ หรือไม่ก็ความ ‘ไม่เข้าใจ’ ในสิ่งที่เธอต้องการจะสื่อ — แน่นอน เราจะคุยกันเรื่องนี้

Amadiva เพิ่งเรียนจบด้านการละครจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และขลุกอยู่กับศาสตร์นี้อย่างเข้มข้น จนเมื่อลองเข้าสู่โลกของแดรกควีนทั้งในการประกวดและการทำโชว์ในบาร์แสงสลัว ด้วยบทบาทที่เปลี่ยนไปนั้น มีสิ่งหนึ่งที่เธออยากยึดมั่นเอาไว้ในทุกการแสดง นั่นคือการสื่อสารถึงความหลากหลายและเท่าเทียมกันของมนุษย์

ทั้งหมดที่เธอเล่าเป็นอะไรที่ทั้ง personal แล้วก็ political พอกัน แถมยังออกรสไม่น้อยไปกว่าโชว์บนเวทีของเธอ

ออมเห็นเสน่ห์ของการแสดงตั้งแต่ตอนไหน

เราชอบแสดงมาตั้งแต่เด็ก อนุบาลสามเราก็แกะท่าบาซู ท่าจีนี่จ๋ามาเต้นแล้ว แล้วคือที่บ้านเราทำโรงเรียน ทุกคนก็จะแบบ ให้น้องออมอยู่ข้างหน้า ให้น้องออมนำเต้นเพลงนี้ ซึ่งด้วยความที่เราแรดอยู่แล้วเราก็เต้นมันทุกงานเลย พอได้ทำแล้วมีความสุข ไม่ใช่แค่เพลงผู้หญิงนะ เพลงผู้ชาย ดงบังฯ อะไรแบบนี้เราก็คัฟเวอร์มาหมดแล้ว

พอเข้ามหาวิทยาลัย เราก็เลยเลือกเรียนการละคร ซึ่งจริงๆ ก่อนหน้านั้นก็คิดมาตลอดแหละ ว่าเรียนละครแล้วจะไปทำอะไร เรียนศิลปะแล้วจะมีงานทำเหรอ? ทีนี้พอเราไปเรียนแลกเปลี่ยนโครงการ AFS ที่อเมริกาตอน ม.5 เลยได้ลองเล่นละครเวทีที่นั่น พอได้ทำจริงๆ เลยเข้าใจว่ามันมีอะไรอีกเยอะมากในศาสตร์นี้ และนี่คือสิ่งที่เราอยากทำ กลับไทยก็เลยบอกแม่ว่าจะเรียนละครนะ ถ้าไม่มีงานทำก็ค่อยว่ากัน ซึ่งแม่ก็ให้

อะไรที่ทำให้เข้าร่วมแข่งขัน Drag Race Thailand

เขาติดต่อมาค่ะ เป็นการสเกาต์ เราก็ลองดู เพราะมันก็เป็นการแต่งหญิงที่น่าสนใจ คือก่อนหน้านั้นเราแสดงหรือช่วยละครคนอื่นมาตลอด เลยเพิ่งทำละครของตัวเองเป็นเรื่องแรกคือ ‘ปลาสีรุ้ง’ ที่เอาทุกอย่างทั้งชีวิตมารวมในนี้ เขียนบทเอง ทำทุกอย่างเองหมด เนื้อหาก็จะเกี่ยวกับ LGBTQ ล้วนๆ นั่นเป็นเรื่องที่เราอยากเล่า ซึ่งเราก็พบว่าการแต่งหญิงเป็นอีกช่องทางที่เวิร์กในการเล่าเรื่องพวกนี้ ก็เลยอยากลองทำแดรก

เพราะในขณะที่เราเป็นแดรก เราเล่าอะไรได้เยอะขึ้น คนฟังแล้วไม่ได้ทำให้มันเป็นเรื่องซีเรียส ทุกคนพร้อมจะฟังด้วยความสนุกสนาน เช่นถ้าเคยดูโชว์ของพี่ปันปัน (ปันปัน นาคประเสริฐ) พี่ปันจะด่าทุกคนกราดเลย เป็น racist joke สุด แต่ทุกคนขำ เรารู้สึกว่าแดรกมีพลังตรงนี้ที่ทำให้คนรู้ว่าจริงๆ เรื่องพวกนี้มันโอเค ไม่ได้ซีเรียส เพราะถ้าซีเรียสปุ๊บนั่นแปลว่าจริงๆ ทุกคนไม่ได้เท่ากันนี่

อย่างการพูดคำหยาบออกอากาศได้ นี่คือพลังของการแต่งหญิงด้วยไหม

เพราะเป็นออนไลน์คอนเทนต์ด้วยแหละ ไม่ได้เกี่ยวกับการเป็นแดรกขนาดนั้น ทางกันตนาก็คงเห็นแหละว่าบางจริตของพวกเรา ถ้าไม่หยาบมันก็ไม่ได้ แล้วพอมันอิสระกว่ามันก็สนุกขึ้นนะ เราเล่น sex joke ได้ เวลาทำชุดก็ไม่ต้องมานั่งคำนึงว่ามันจะแรงไปมั้ย จะโดนเซ็นเซอร์มั้ย แต่ว่าจริงๆ ในรายการก็มีเซ็นเซอร์อยู่นะ แต่เราก็บอกทีมงานว่า บางอันเนี่ยเราขอทำนะ เราอยากทำ เขาก็ปล่อยให้เราทำ

ซึ่งในความอิสระนี่แหละ ที่ทำให้รายการน่าสนใจ เราได้ปล่อยทุกอย่างออกมาจริงๆ อย่างที่เห็นเราพังเราก็พังจริงๆ (หัวเราะ) คือมันก็มีบทมีสคริปต์ในขั้นการตัดต่อ แต่ในขั้นการแข่งขัน เราไม่เคยคิดว่ามันจะจริงได้ขนาดนี้

ต้องปรับจริตในการแสดงเยอะไหม จากละครเวที ไปสู่การเป็นแดรกควีน

ที่จริงคาแรกเตอร์ของเราตอนแต่งหญิงจะเป็นเหมือนในปลาสีรุ้งเลย คือเราตัดสินใจว่าในทุกการแสดงเราจะใช้คาแรกเตอร์นี้ในการเล่าเรื่อง บนเวทีแดรกก็ยังเล่นเป็นตัวนี้อยู่ แต่ทีนี้พอต้องไปลิปซิงค์ในบาร์ คนเขาพร้อมที่จะไม่ดูเรา ขณะที่ตอนทำละครเวทีคนดูโดนขังอยู่ในห้องมืดๆ แล้วเรามีแสงอยู่คนเดียว ยังไงเขาก็ต้องดู ถึงเขาเบื่อก็อาจจะแอบๆ หลับกันบ้างน่ะนะ  

ตอนแสดงละคร เรามีคำพูด เรามีทุกอย่าง แต่พอเป็นบาร์ที่ทุกคนพร้อมจะเมา พร้อมจะสนุก ความรับรู้ของคนดูเลยเปลี่ยน เราต้องดึงความสนใจเยอะขึ้น ตอนเป็นแดรก โชว์ลิปซิงค์ เราเหลือแค่หน้ากับตัว เราจึงต้องคุมบรรยากาศให้ได้ ทำยังไงก็ได้ให้น่าดูตลอดเวลา ถึงแม้เราจะแต่งตัวเยอะขนาดนี้มันก็ไม่ได้ช่วยไปทั้งหมด ซึ่งนี่มันท้าทายเรามาก

ออมเจอวิธีการหรือยัง ในการดึงความสนใจจากผู้ชมเวลาทำแดรกโชว์

อย่างหนึ่งที่เราค้นพบคือ บางทีถ้าเขาไม่สนใจเรา เราก็ไม่ต้องสนใจเขา เหมือนชีวิตเรานี่แหละค่ะ เราไม่จำเป็นต้องรักษาทุกคนไว้ เรารักษาบางคน โฟกัสแค่บางจุดก็ได้ สุดท้ายในโชว์ การที่เราสื่อสารกับคนแค่บางคนในบาร์ ทางหนึ่งมันก็คือโชว์อยู่ดี และมันก็ทำให้เราไม่คิดมาก เราเคยอยู่บนเวทีแล้วรู้สึกว่าทุกคนต้องดูฉัน ต้องมองฉัน ทำยังไงก็ได้ให้คนสนใจ แต่ตอนนี้เราโตขึ้นด้วยมั้ง รู้สึกว่าการบังคับให้ทุกคนมองเรามันไม่ใช่เป้าหมายของเราแล้ว แต่เราอยากทำยังไงก็ได้ให้อยู่ตรงนี้แล้วเราน่ามอง มันต่างกันนะ

การเข้ามาสู่วงการแดรกควีน ทำให้มุมมองต่อตัวเองเปลี่ยนไปไหม

มันเป็นอีกโลกหนึ่งเลยนะ อย่างตอนทำละครเราทำยังไงก็ได้ให้มันเสร็จ ให้งบฯ ถูกสุด แค่นี้ก็พอ ไม่เป็นไร คนสนใจนักแสดง คนเข้าใจว่าเราโรงเล็ก นี่พร็อพสมมติ แต่กับการทำแดรกมันไม่ใช่ มันไม่มีอะไรที่พอ ทุกรายละเอียดสำคัญหมด ต้องดี ต้องสวย ทุกจุดหัวจรดเท้าต้องผ่านการคิด ต้องเป็นแฟชั่น ซึ่งเอาจริงๆ เราไม่ใช่คนแบบนั้นเลย แต่เราก็พยายาม อย่างวันนี้ผมเราก็เหี้ยอีกแล้ว มันเป็นซิกเนเจอร์เราแหละว่าผมจะเหี้ยทุกงาน ก็โดนด่าอยู่ประจำ ซึ่งในเมื่อเราทำผมไม่เป็น แล้วเราก็ไม่ได้อยากเสียเงินจ้างช่าง เพราะเรางก เราก็ใช้ธรรมชาติของเรามาเป็นคาแรกเตอร์ไปเลยดีกว่า

แต่ถามว่ามุมมองต่อตัวเองเปลี่ยนไปไหม เราว่าเราไม่ได้ใจดีพอที่จะเปลี่ยนตัวเองเพื่อรายการ อย่างตอนแข่งขันในรายการคนก็จะมองว่าเราครีเอทีฟ คิดเยอะ แต่ไม่จริงหรอก เราแค่มาจากอีกสายที่ใช้วิธีคิดอีกแบบ ชุดเรามันเป็นคอนเซปชวล เรา deconstruct มันออกมา อย่างพจมานเราจะให้เหลือแค่ชะลอม ไม่ต้องมีอะไรอย่างอื่นแล้ว จบ แบบนี้เราชอบ อยากให้คนมองแล้วหยิบไปคิดต่อ ว่าทำไมเราถึงให้เหลือแค่นี้สำหรับพจมาน ซึ่งมันอาจจะไม่เวิร์กในรายการ แต่เราก็ยังอยากทำแบบนั้นอยู่ดี

เราเคยอยู่บนเวทีแล้วรู้สึกว่าทุกคนต้องดูฉัน ต้องมองฉัน  แต่ตอนนี้รู้สึกว่าการบังคับให้ทุกคนมองเรามันไม่ใช่เป้าหมายของเราแล้ว

ละครเวทีสอนให้เราเลือก ทุกอย่างที่โผล่ขึ้นมาในการแสดงต้องเกิดประโยชน์ เช่นอันนี้โผล่ขึ้นมาฮาๆ เอาให้คนดูตกใจ มันก็เป็นประโยชน์ของมัน ทุกอย่างต้องผ่านการคิดคำนวณ ว่ามันจะต้องเกิดขึ้น แล้วเกิดขึ้นเพราะอะไร หรือทำไมอันนี้ต้องวางตรงนี้ เราถูกฝึกมาแบบนี้

รู้ไหม ตอนที่ออมปีนออกไปนอกหน้าต่าง ใน Me Myself and the mind of Insignificant เราร้องไห้หนักมาก

เราก็ร้อง ตอนนั้นคือตอนที่เศร้าที่สุด ดิ่งที่สุด แล้วมันคือการเล่นกับสเปซ ที่พีคคือคนดูไม่ได้เห็นเหมือนกันหมดทุกคน บางคนยังต้องนั่งจินตนาการว่าเกิดอะไรขึ้นข้างนอก บางคนเห็นบางส่วนแต่ก็เห็นไม่หมด มันจะโดดไม่โดดวะ เราว่าการทิ้งคนดูให้อยู่ในห้องเปล่าๆ  มันอิมแพ็กต์ การที่ไม่มีคนพูดอะไรแล้วปล่อยให้ความคิดทำงาน มันสร้างอะไรได้เยอะ

อย่างเรื่องนี้ของโอ๊ต (ปฏิพล อัศวมหาพงษ์ ผู้กำกับฯ Me Myself and the mind of Insignificant) เป็นละครที่พูดกันทั้งเรื่อง แล้วตอนที่เราเต้นแล้วปีนออกไป เป็นเวลาเดียวที่คนดูจะได้คิดว่าจริงๆ มันเกิดอะไรขึ้น แล้วต่อให้เราทำอะไรข้างนอกหน้าต่างนั่น มันก็ยังเศร้าอยู่ดี พอเราโยนก้อนหนึ่งออกไปให้คนดูทำงานเอง มันเลยกลายเป็นเรื่องของคนดูด้วย เขาจะจับด้วยประสบการณ์ของตัวเอง

ตอนนี้จบรายการ Drag Race Thailand แล้ว ออมคิดว่าอยากทำอะไรต่อ

ถ้านอกเหนือจากงานที่รายการจะจัดหาให้ เราก็อยากทำ ปลาสีรุ้ง อีกรอบหนึ่ง คือ 20 รอบแรกที่รีสเตจไป มันเต็มไปด้วยคนละคร เพื่อนเรา รุ่นน้องคณะ ยังไม่มีคนทั่วไปมากเท่าที่ควร แล้วนี่มันเป็นโอกาสใหญ่มากที่คนทั่วไปจะเข้ามาเห็นว่ามันมีคนทำละครโรงเล็กๆ อยู่ มีสิ่งนี้อยู่ในบ้านเรานะ และ ปลาสีรุ้ง มันก็คือชีวิตเรา เราอยากให้คนเห็นว่าเราคือใคร

ดูเหมือนว่าละครที่ออมทำส่วนใหญ่จะมีน้ำเสียงทางการเมือง

เราชอบให้มัน political คือเราเซ็ตตัวเองให้เป็น queer theater ก่อน เรื่องแรก ‘ปลาสีรุ้ง’ เราทำเรื่องของตัวตน อัตลักษณ์ การยอมรับความแตกต่างของเพศสภาวะ แต่พอมาเรื่องที่สองอย่าง ฤายังจะนกแม้โลกจะสลาย เราต้องการเล่าเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 ซึ่งตอนนั้นครบรอบ 40 ปีพอดี โดยเราแค่ใช้เพศสภาวะเป็นเครื่องมือในการเล่า เราใช้วิธีพูดถึงเควียร์ในสังคมการเมือง

สำหรับเราแล้ว queer movement ไม่ได้พูดถึงเกย์แค่อย่างเดียว แต่มันยังพูดถึงคน outcast คนนอก คนชายขอบ ที่ควรต้องถูกพูดถึงอีกมากในบ้านเมืองเรา เรายังมีชัยภูมิ ป่าแส ที่เขาหายไปโดยที่โลกไม่ได้ยินดียินร้าย นี่ก็เป็นเควียร์สำหรับเรานะ เพราะเขาก็แตกต่าง สุดท้ายเราแค่ต้องการบอกว่าทุกคนแตกต่างหลากหลาย แล้วทุกคนก็เป็นคนเหมือนกัน

เรื่องถัดไปเราก็อยากทำเรื่องคนอีสานในกรุงเทพฯ ที่เขาไม่เคยฟิตอิน ไม่เคยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับที่นี่ ซึ่งยังอยู่ในช่วงรีเสิร์ชค่ะ แล้วก็ยังคงต้องทำไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะเกิดขึ้นจริง

มีหวังมากน้อยแค่ไหน ว่ามันจะเกิดขึ้นจริง

มันเป็นไปไม่ได้หรอก ถ้าพูดกันจริงๆ ทุกคนรู้อยู่แล้ว ถามว่าเรา racist มั้ย เราก็ racist นะ เราก็เล่นมุกเหยียด คนดำ คนขาว อีเตี้ย อีสูง เราเล่น แต่เราเล่นด้วยความรู้สึกที่ว่าจริงๆ แล้วมันไม่ได้มีอะไรเลยไง เราสนุกกับมันได้สิ คือคนเรา pc (Political Correctness) ได้ แต่อย่าทำให้มันใช้ชีวิตยาก และกลายเป็นเหยียดเขาเข้าไปอีกรอบ กับการไปนั่งสงสารเขา อย่างที่เราบอกแหละ ว่าความไม่เท่าเทียมมันไม่โอเค เพราะเราเป็นตุ๊ดด้วยมั้ง เราผ่านอะไรมาเยอะ

คนเรา pc (Political Correctness) ได้ แต่อย่าทำให้มันใช้ชีวิตยาก และกลายเป็นเหยียดเขาเข้าไปอีกรอบ กับการไปนั่งสงสารเขา

อยากให้ขยายความหน่อยสิว่า ผ่านอะไรมาบ้าง

อันที่จริงครอบครัวเราไม่ได้จงเกลียดจงชังตุ๊ด เราโตมาในครอบครัวที่เต็มไปด้วยตุ๊ด ทอม เลสเบี้ยน จนเป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าแม่เราเป็นครู แม่จะเชื่อมั่นว่าก่อนอายุ 18 เด็กยังเลือกเพศไม่ได้ ซึ่งเราอยู่โรงเรียนก็เป็นตุ๊ดกับเพื่อน ก็จะมีช่วงที่ชอบผู้หญิงว่ะ แต่ไปๆ มาๆ ชอบผู้ชาย ก็สับสนกันไป แต่โดยรวมก็สาวแล้ว อย่างตอนเล่นละครโรงเรียนเรื่องซินเดอเรลล่า เราเล่นบทแม่เลี้ยง พอเล่าให้แม่ฟังแม่ก็ด่าว่า “อุ๊ย เดี๋ยวคนเขาก็ว่าเป็นตุ๊ดหรอก” เราก็ “เออ ก็เป็นตุ๊ดไง” ก็จะมีช่วงแบบนั้นค่ะ นั่งร้องไห้อยู่บ้าน

แต่แม่เราซื่อสัตย์มาก พออายุ 18 ปุ๊บ แต่งหญิงได้เลย ทำอะไรก็ได้ ไม่ได้อยู่ในเคสที่ต้อง come out อะไร แต่งหน้าครั้งแรกคือตอนน้ำท่วม เบื่อ ไม่รู้จะทำอะไรก็เลยแต่งหน้า แม่ก็ถามว่า “ตกลงเป็นใช่มั้ย” เราก็บอกว่า “เป็น ชอบผู้ชาย” แต่หลังๆ แม่ติดฟิกวาย (Y Fiction) แม่ก็จะเริ่มตั้งคำถามต่อว่าเมื่อไหร่จะหาแฟนได้ (หัวเราะ)

หรืออย่างตอนอยู่อเมริกาเราก็เจอแบบ “ํYou faggot go back to China!” แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการไปเรียนแลกเปลี่ยนที่โน่นมันก็สำคัญกับเรามากนะ ก่อนหน้านั้นเราเป็นคนละคนเลย พอไปอยู่ที่โน่นเรามีโฮสต์บราเธอร์ที่เพิ่งเข้าวัยรุ่นก็จะชอบมาคุยกับเราเรื่องการจีบผู้หญิงอะไรแบบนี้ เราก็เลยไปบอกว่า “ไม่ได้แล้วโฮสต์ เราพูดเรื่องนี้ไม่ได้ เราชอบผู้ชาย โอเคนะ” เขาก็ตกใจ ถามเราโน่นนั่นนี่ แล้วก็พาเราไปคอมมิวนิตี้ LGBT หรืองาน gay pride หาผู้ชายให้อีกต่างหาก นั่นแหละ อเมริกาเลยทำให้มุมมองของเราเปลี่ยนไปหลายอย่าง

ก่อนหน้านี้เราก็เป็นเด็กไทยที่คุยเรื่องเกม ดินฟ้าอากาศ แต่อยู่นี่เขาคาดหวังการพูดคุยกันเรื่องประเด็นสังคม คือเป็นเด็กวัยที่พยายามจะโตมากๆ ก็จะคุยกันแต่อะไรแบบนั้น ซึ่งมันก็ไม่ได้ดีมากหรอก แต่มันเป็นคนละเรื่องกับที่นี่เลย แล้วพอเราเริ่มเปลี่ยนได้ เราโอเคกับอเมริกาแล้ว ก็ต้องกลับไทยพอดี ก็เลยช็อกอีกรอบ (หัวเราะ) ยังดีที่เข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ที่คุยได้ทุกเรื่อง สังคมก็ประหลาดๆ ดี เราชอบ

สังคมธรรมศาสตร์ถือเป็นเซฟโซนของออมไหม พอต้องออกมาเจอโลกที่คนอาจจะคิดหรือเชื่อกันอีกแบบ

เราพูดไม่ได้หรอก เพราะจริงๆ ในธรรมศาสตร์ก็มีคนหลายแบบไม่ใช่แค่แบบเรา เพียงแต่ในพื้นที่ที่เราอยู่มันคุยกันตรงๆ ได้ เราอยู่ในที่ที่รอยัลลิสต์กับเสื้อแดงนั่งคุยกัน ทะเลาะกัน แล้วจบในวันที่กินเหล้ากัน

ซึ่งตอนนี้พอมาทำแดรก เราพูดทุกอย่างที่เราคิด แล้วก็พบว่า เชี่ย ทำไม่ได้ว่ะ เราลืมไป มัน culture shock มากเหมือนกัน ซึ่งถามว่าธรรมศาสตร์เป็นเซฟโซนมั้ย ทุกครั้งที่เราเครียด เราจะขับรถไปธรรมศาสตร์รังสิต ไปนั่งร้านเหล้า ไปนั่งคุยกับเพื่อนเรื่องรสนิยมทางดนตรี หรืออะไรที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราเท่ เราฮิปสเตอร์ เราคุยเรื่องออเจ้าไม่ได้ (หัวเราะ) หรืออะไรก็ได้ที่ทำให้รู้สึกว่ามันเป็นที่ของเรา เพราะข้างนอกไม่ใช่ที่ของเรา

มันก็มีช่วงเวลาแบบนี้อยู่ค่ะ แต่ว่าที่สุดแล้วเราดีใจที่เราเป็นคนคนนี้ ทุกวันนี้แม่ก็เกลียดนะที่เราคิดแบบนี้ เราก็ถามแม่ว่า “ทำไมล่ะคะ แบบนี้ชั่วจะตาย ไม่ชั่วเหรอคะ” อะไรอย่างนี้ ซึ่งตอนนี้เราก็รู้สึกว่าเราไม่จำเป็นต้องไปเหมือนคนอื่นหรอก จนกว่ามันจะมีปัญหา นี่มันยังไม่ได้สร้างปัญหาให้เรา แล้วเราก็ไม่ได้ไปก้าวก่ายหรือสร้างปัญหาให้ใคร

การเป็นตุ๊ดในเมืองไทยมีมุมที่น่าเศร้าหรือเปล่า

ไม่เศร้านะ มันมีปัญหาแหละ เราพูดได้ว่าตุ๊ดไทยมีภาพแบบเดียว ตุ๊ดต้องตลก ต้องแรด บลาๆๆ ใช่มันเป็นปัญหา แต่อย่างน้อยเรายังดีใจที่ประเทศเรามีพื้นที่ให้พวกเรามากกว่าที่อื่น เราไม่ใช่ประเทศที่เดินบิดออกไปแล้วจะมีคนยิงเรา ไม่ใช่บ้านเมืองที่มีคนตะโกนด่าทุกวันว่าอีตุ๊ด เรายังมีโอกาสหรือแนวทางที่จะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ยังมีคอมมิวนิตี้ที่รองรับเรา เราโชคดี แต่ถามว่ามีพื้นที่มากพอหรือยังก็ยัง ก็เป็นสิ่งที่ต้องสู้กันต่อไป ทุกคนก็สู้อยู่ เราก็สู้ในแบบของเรา

ทุกครั้งที่เราทำเรื่องเควียร์ เราไม่เคยพูดเรื่องคนอื่นเลยนะ เราพูดเรื่องตัวเอง หรือเรื่องความสัมพันธ์ของเรากับครอบครัว เหมือนที่ทุกคนทำ อย่างคุณพอลลีน (พอลลีน-พินิจ งามพริ้ง) ไม่จำเป็นต้องทำอะไรเลย แค่เขาเล่าเรื่องตัวเอง เท่านั้นก็สร้างมูฟเมนต์ในสังคมได้ใหญ่มากแล้ว

แล้วความเจ็บปวดของการเป็นแดรกล่ะ คืออะไร

นอกจากแต๊บ (การรัดเก็บอวัยวะเพศ) เหรอ? เป็น mentally หรือ physically ดีล่ะ เพราะโดย physically แล้วมันเจ็บปวดนะ แต่งทีก็เยี่ยวไม่ได้ ต้องรัดมัน ใส่กางเกงใน 5 ชั้น ตรงนั้นก็อึดอัด ตรงนี้ก็ร้อน วิกก็ต้องใส่ ต้องนั่งทำผม นั่งทำชุด แล้วต้องใช้เงินทุกอย่างเลย เราอยากให้ทุกคนรู้ว่าแดรกควีนต้องการทิปส์ เพราะการแต่งหญิงทุกครั้งมันแพงประมาณหนึ่ง (หัวเราะ) อ้อ อีกอย่างคือเป็นแดรกควีนจะหาผัวลำบาก เพราะคนไทยจะยังงงๆ อยู่ กับการที่ใครคนหนึ่ง วันหนึ่งแต่งหญิง อีกวันแต่งบอย สลับไปมา เรื่องนี้เราถือว่าเราเจ็บปวด แต่นอกนั้นเราสนุก   

แดรกโชว์ที่สนุกที่สุดที่เคยทำมาคือโชว์ไหน

น่าจะเป็นโชว์ล่าสุดที่เราทำเหมือนเล่นปิงปองโชว์ มันคือเพลง My Vagina is 8 Miles Wide แบบ จงภูมิใจใน vagina ของเราสิ vagina ชั้นมันดีมากเลยนะ มันกว้างมาก เข้ามาเร้ว คือเพลงมันเฟมินิสต์มาก เราชอบ เราก็แต่งตัวเป็นครูไปสอนทุกคน เล่าเรื่อง vagina แล้วก็โชว์สุดฤทธิ์ อย่างที่เราบอกว่าการแต่งแดรกมันช่วยผลักขอบเขตของทุกอย่างออกไปไกลมาก อะไรที่มันดูทุเรศ ควรจะอยู่ในที่ลับ เราทำได้ มันอาจจะไม่ได้เห็นตรงนั้นจริงๆ แต่ถ้าอยู่ที่อื่นมันจะถูกมองว่าสกปรก ซึ่งพอเป็นแดรกโชว์แล้วทุกคนสนุกกับมัน สุดท้ายมันก็คือเรื่องแค่นี้เอง.

Fact Box

  • ละครเวที ปลาสีรุ้ง : My Mermaid Dream แสดงครั้งแรกที่โรงละครพระจันทร์เสี้ยว ในเดือนมีนาคมปี 2016 และนำมาแสดงรอบที่ 2 ที่ร้านลอยชาย ในเดือนพฤศจิกายน 2017 ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีในแง่การสื่อสารเรื่อง LGBTQ
  • นครรัฐ กัมปานี คือกลุ่มละครเล็กๆ ดำเนินการโดยออม ปัถวี เทพไกรวัล ติดตามผลงานได้ที่ https://www.facebook.com/pg/nakornrath/about/?ref=page_internal
  • ในฐานะ Amadiva ออมเข้าแข่งขันรายการ Drag Race Thailand debut season ชนะรันเวย์ 1 ครั้งใน EP2 ด้วยชุดนกฟลามิงโกที่เล่นกับพลาสติกสีชมพูแทนวัสดุที่เดาได้อย่างขนนก และถูกจับตาเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ของเธอตั้งแต่ตอนนั้น
  • ออมยังมีผลงานแสดงนำในภาพยนตร์สั้นเรื่อง 'Upside, down' โดย สุวรรณชาติ สุวรรณเจริญ ที่ฉายครั้งแรกในงาน 'coreหนัง2017' งานฉายภาพยนตร์สารนิพนธ์ ของนักศึกษากลุ่มวิชาภาพยนตร์และภาพถ่าย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Tags: , , , ,