สักครั้งในชีวิต เราต้องเคยทะเลาะกับทางเท้าในกรุงเทพฯ

บางทีแค่งอนเดี๋ยวเดียวเพราะมีสิ่งกีดขวางทำให้เดินไม่สะดวก เดินไปซื้อลูกชิ้นปิ้งกินก็หาย แต่หลายครั้งก็เป็นความหัวร้อนที่เกิดขึ้นถี่เกินไป เช่น เรามักเจอทางเท้าประสาทๆ ที่มีกับดักน้ำกระฉอกทุกครั้งที่ฝนตก หรืออยู่ดีๆ ก็มีกระเบื้องและเสาหิน กองทรายอะไรมากมายโผล่มากองอยู่เกือบครึ่งหนึ่งของทางเดิน เพื่อก่อสร้างอะไรสักอย่าง ราวกับเวทมนตร์เสกมา เราก็ยืนงงในดงทรายว่าสรุปแล้วจะให้เดินตรงไหน กทม. ขุดเจาะทางเท้าหรือถนนกันตลอดเวลา สุดท้ายเราก็อาจจะต้องลงไปเดินบนถนนอย่างกล้าๆ กลัวๆ รถยนต์ก็คงสบถในใจว่าทำไมไม่เดินบนทางเท้า จริงๆ เราอาจจะเป็นแค่มนุษย์ออฟฟิศ แต่ทางเท้าใน กทม.จะฝึกเราให้เป็นยอดมนุษย์ไปเอง

อ่านจบอาจจะพบว่าเว่อร์ไป อะไรจะหมิ่นหยามกันขนาดนั้น แต่นี่เป็นแค่ในส่วนหนึ่งของปัญหาเรื่องทางเท้ามีอยู่จริง ภาษีเราไปไม่ถึงการซื้อกระเบื้องที่มีคุณภาพ และคนที่เดินประจำก็อาจจะชินกับมันเสียแล้ว ทำได้แต่บ่นกระปอดกระแปดและไม่รู้ว่าจะแทงเรื่องไปที่ไหน ต่อรองกับใครได้

เหมือนประเด็นหนึ่งในงาน ‘Walking is Talking: The Science and Philosophy of Walking’ เมื่อการเดินคือบทสนทนาระหว่างเรากับเมือง เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ปัญหาสำคัญก็คือ เราขาดแคลนหน่วยงานที่รับร้องเรียนเรื่องราวเหล่านี้ไว้แก้ไข ในพื้นที่หนึ่งๆ พอเจอปัญหาแล้วก็ไม่รู้ว่าจะติดต่อใครได้ ตัวเลือกที่ดูตรงที่สุดก็คือผู้ว่าฯ ไปเลย

ซึ่งผู้ว่าฯ ก็ ‘ว่า’ เรื่องอื่นๆ อยู่มากมาย สุดท้ายแล้วก็กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ส่งผลกระทบให้คนออกมาเดินน้อยลง กระทบถึงวัฒนธรรมในการใช้ชีวิตและความเป็นเมืองที่น่าอยู่ เพราะไม่สามารถตอบสนองเรื่องการเดินทางรูปแบบพื้นฐานในชีวิตได้ ผังเมืองที่เอื้อต่อการใช้รถยนต์มากกว่าคนเดินเท้าทำให้เราท้อถอย พอคนเดินน้อยลง บางพื้นที่ก็รกร้างและไร้ศักยภาพที่จะทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อต่อยอดไปในสเกลที่คนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและชุบให้พื้นที่สนุกสนานได้

แต่เรายังไม่ต้องไปไกลถึงจุดนั้น แค่การเดินจากออฟฟิศไปบีทีเอส รอข้ามถนนที่ทุกคนอยู่ในชั่วโมงเร่งรีบตลอดเวลา นั่นก็เหงื่อแตกแล้ว หนทางที่ทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่ ‘เย่ น่าเดินจังเลย’ ได้ ก็เป็นงานที่เดินได้ยากเช่นเดียวกัน

คนออกมาเดินน้อยลง กระทบถึงวัฒนธรรมในการใช้ชีวิตและความเป็นเมืองที่น่าอยู่ เพราะไม่สามารถตอบสนองเรื่องการเดินทางรูปแบบพื้นฐานในชีวิตได้

“การเดินเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นเรื่องที่ดูเหมือนง่าย แต่ไม่เคยได้รับการศึกษาอย่างเป็นระบบจากหน่วยงานใดเลยทั้งในแง่วิทยาศาสตร์หรือปรัชญา” ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center: UddC) และหัวหน้าโครงการ GoodWalk เมืองเดินได้เดินดี กล่าวไว้ในงานเสวนา ‘Walking is Talking’

จริงๆ แล้ว หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ มีศักยภาพที่จะได้รับการพัฒนาเพื่อเป็นเส้นทางการเดินที่มีประสิทธิภาพได้ เช่น อารีย์ รัตนโกสินทร์ และสีลม-สาธร เป็นย่านนำร่องซึ่งทาง UddC กำลังวางแนวทางการออกแบบ แผนที่ซึ่งจะทำให้มันใช้ได้จริง และผลสำรวจจาก UddC ก็ออกมาแล้วว่า คนกรุงเทพฯ พอใจกับระยะการเดินเฉลี่ยที่มากที่สุดประมาณ 797.6 เมตร

ในบางพื้นที่อย่างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีโรงพยาบาล สถานศึกษา ที่จับจ่ายใช้สอย สวนสาธารณะ และสถาบันต่างๆ กระจายตัวอยู่ในระยะที่เดินถึงได้ใน 800 เมตร แต่อาจจะไม่ได้น่าเดินนัก ที่คนเดินเพราะจำเป็นต้องใช้งาน ไม่ได้รื่นรมย์กับสุนทรียภาพในด้านอื่นๆ เสียเท่าไหร่

จากการสำรวจแบบสอบถามกลุ่มตัวอย่าง 1,111 คน UddC พบว่าปัญหาการเดินเท้าในกรุงเทพฯ แบ่งออกได้หลักๆ 5 ปัจจัยด้วยกัน ได้แก่ มีสิ่งกีดขวาง เดินไม่สะดวก (44.5%) ไม่มีร่มเงาในการบังแดดและฝน (44.2%) ทางเดินมืด แสงสว่างไม่เพียงพอ (44%) ทางเท้าสกปรก มีขยะมูลฝอย (40.1%) และทางเท้าเป็นหลุมเป็นบ่อ ไม่ราบเรียบ (39.3%) ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นอุปสรรคที่บีบให้เราเลือกเดินทางในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่การเดิน

ในกรุงเทพฯ พื้นที่ทั้งถนนหรือทางเท้าสาธารณะไม่ค่อยได้รับการออกแบบอย่างสร้างสรรค์เพื่อกิจกรรมปกิณกะอย่างที่สุด อย่างการเมาธ์มอย

ใช่ไหม หลายคนก็ขับเคลื่อนชีวิตให้มีสีสันได้เพราะสิ่งนี้

“ที่ปารีส ชาวเมืองชอบจับกลุ่มวิจารณ์เรื่องสไตล์แฟชันของคนอื่นกันที่ร้านกาแฟ” ภาคภูมิ มะหะสิทธิ์ ผู้ประกอบการสังคมด้านสิ่งแวดล้อมผู้เคยใช้ชีวิตอยู่ในปารีสเมาธ์มาอีกที และได้รับการยืนยันจาก วิกเตอร์ ฮาซาน นักศึกษาปริญญาโทสาขาการวางผังเมือง ชาวปารีเซียง แถมเสริมว่า เออ-เราทำกันเป็นหมู่คณะนะยู อีกต่างหาก

ภาคภูมิเล่าต่อว่าคนปารีสมีแนวโน้มที่จะมองรองเท้าของฝ่ายตรงข้ามเพื่อเช็กแฟชันก่อน ดังนั้นจุดเล็กๆ เหล่านี้จึงส่งผลให้อุตสาหกรรมรองเท้าเบ่งบาน เพราะคนที่นั่นเดินกันเป็นว่าเล่น แถมแต่งตัวชิคๆ ออกมาเดินในรันเวย์บาทวิถีกันหลากหลาย พอคนแต่งตัวจัด ดีไซเนอร์จัดให้ อุตสาหกรรมแฟชันก็จัดตาม ปารีสเป็นเมืองแห่งแฟชันอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ปัจจัยของการเดินก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมให้เมืองเก๋ได้ เพราะคนอยากแต่งตัวออกมามีปฏิสัมพันธ์กัน

ปัจจัยของการเดินก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมให้เมืองเก๋ได้ เพราะคนอยากแต่งตัวออกมามีปฏิสัมพันธ์กัน

ร้านตัดเสื้ออินดี้ที่อยู่ตามเมืองต่างๆ ก็มีที่ทางทำกิน เพราะชาวเมืองเดินได้เรื่อยๆ และจับจ่ายใช้สอยในร้านอิสระเหล่านั้น ความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดจากคนกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังจึงเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เกิดการกระจายรายได้มากขึ้น

ง่ายๆ อย่างในกรุงเทพฯ สตรีทฟู้ดเป็นกิจกรรมการกินที่สนุกและสะดวกสบายสำหรับคนในและนอกพื้นที่ อาจจะมีปัญหาเรื่องความสะอาดและการใช้พื้นที่สาธารณะอย่างไม่ค่อยจะถูกต้องนัก แต่ทางแก้ที่มีประสิทธิภาพไม่น่าจะใช่การรื้อถอนฟันเฟืองนี้ออกไปจากปากท้องของทั้งแรงงานและชนชั้นกลาง หรือใครก็ตามที่ยังจับจ่ายใช้สอยอยู่

มันสั่นสะเทือนทั้งระบบเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เพราะร้านค้าริมทางเป็นแหล่งที่คนทั่วไปมีกำลังซื้อ เราไม่สามารถเข้าร้านอาหารเพื่อจ่ายมื้อละ 200-300 บาทต่อวันได้เมื่อเทียบกับรายได้ที่มี พ่อค้าแม่ค้าจะขาดอาชีพที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องเพราะนี่คืออาชีพหลักของหลายคน ตลาดใหญ่ๆ ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วยเพราะไม่มีใครมาซื้อวัตถุดิบ

วิกเตอร์ นักศึกษาปริญญาโทที่ศึกษาเรื่องหาบเร่แผงลอยในซอยอารีย์วิเคราะห์ว่า สตรีทฟู้ดเป็นฟังก์ชันเสริมของเมือง ที่ทำให้ผู้คนเข้ามาใช้งานพื้นที่ตรงนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความสัมพันธ์ระหว่างสังคมและพื้นที่ ดังนั้นมันจึงกลายเป็นผลิตภัณฑ์ทางสังคมไป ช่วยให้พื้นที่มีการเคลื่อนไหวของคนอยู่ตลอดเวลา

ถนนหรือทางเดินเท้าจึงช่วยสนับสนุนวัฒนธรรมการเดินไปจนถึงการใช้ชีวิตของคนเมืองได้อย่างชัดเจน การมีคนเดินวนไปวนมาจะช่วยให้อัตราการก่ออาชญากรรมน้อยลง เพราะพื้นที่ไม่ได้ถูกปล่อยให้เปลี่ยวร้าง

ในงานเสวนา ผศ.ดร.นิรมลกล่าวถึงนักคิดและผู้มีอิทธิพลต่อการพัฒนาเมืองอย่าง เจน จาคอบส์ (Jane Jacobs) บรรณาธิการสื่อสิ่งพิมพ์ด้านสถาปัตยกรรมชาวอเมริกันไว้ว่า เธอตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นเมืองว่า เมืองแบบไหนที่จะโอบอุ้มให้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข เจน จาคอบส์ไม่ใช่สถาปนิก แต่มองเห็นว่าเมืองที่มีผู้คนเดินไปเดินมาบนถนน และมีปฏิสัมพันธ์บางอย่างต่อกัน สามารถเป็นพลังที่จะหล่อเลี้ยงให้เมืองมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้ และกลายเป็นเมืองที่จอแจอย่างสวยงาม

เมืองที่มีผู้คนเดินไปเดินมาบนถนน สามารถเป็นพลังที่จะหล่อเลี้ยงให้เมืองมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้

ดังนั้น ย่านที่ดีจึงต้องมี ‘ถนนที่ดี’ เพราะถ้าถนนมีความหลากหลายทางกิจกรรมและการใช้สอย มีคนเดินสัญจรอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้เมืองมีความน่าสนใจตามไปด้วย เมืองไม่ควรมีตึกอาคารที่ใหญ่จนเกินไป แต่ควรเต็มไปด้วยความหลากหลาย

หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ เช่น ในย่านเมืองเก่า อย่างเยาวราช เจริญกรุง หรือตลาดน้อย ก็เริ่มมีองค์กรที่ทำแคมเปญสนับสนุนให้คนออกมาเดิน โดยมีแผนที่ท่องเที่ยวและเส้นทางการสัญจร รวมถึงสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ให้คนทั่วไปลองก้าวออกมาเดินดู อาจจะทำไม่ได้ในทุกพื้นที่และยากเสียหน่อยในการลองครั้งแรกๆ แต่เมื่อมีก้าวแรกก็จะมีก้าวที่ร้อยตามมาเอง

นาธาน เลชัวส์ นักศึกษาปริญญาตรี วิศวกรรมเมืองแห่งปารีส วิทยากรอีกท่านในงานเสวนาครั้งนี้พูดไว้ว่า

“หน่วยงานภาครัฐ  รัฐบาล และประชาชนมีพลังและสามารถออกแบบวิถีการใช้ชีวิตในเมืองของตัวเองได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเดิน หรือนักปั่น หรือใครก็ตาม คุณมีพลังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่คุณต้องเชื่อก่อนว่า คุณคือตัวละครหลักซึ่งคิดเสมอว่าจะสามารถสร้างเมืองในแบบของตัวเองและพัฒนามันให้กลายเป็นเมืองที่ดีได้”

แหล่งข้อมูล : งานเสวนา Walking is Talking, http://www.uddc.net/en

FACT BOX:

  • ออนอเร เดอ บาลซัก (Honoré de Balzac) นักเขียนบทละครชาวฝรั่งเศสมีแนวคิดว่า ‘การเดิน’ สามารถอธิบายเรื่องชนชั้นในยุคหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในฝรั่งเศสที่มีคนเดินทางเข้าเมืองเพื่อมาทำงานได้ เพราะแต่ละชนชั้นจะมีท่าทางการเดินและบุคลิกที่แตกต่างกัน ดังนั้น การเดินจึงเล่าเรื่องความหลากหลายของฐานะทางสังคม การแสดงออกถึงตัวตนของแต่ละบุคคล ทางภาษากายต่างๆ ได้ และท่าทางการเดินที่เป็นเอกลักษณ์ของมนุษย์เหล่านี้จะสร้างสีสันให้เกิดขึ้นกับเมือง
  • UddC มีโปรเจ็กต์ ‘เมืองเดินได้-เมืองเดินดี’ เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพการเข้าถึงสาธารณูปการในชีวิตโดยการเดินของพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สำรวจปัญหาเชิงกายภาพที่เป็นอุปสรรคในการเดินในพื้นที่ยุทธศาสตร์ และเสนอแนวทางออกแบบพื้นที่นำร่องเพื่อพัฒนาเมืองเดินดี
Tags: , , , , , ,