ไม่ว่าเราจะมองเห็นตนเองเป็นอย่างไรเมื่อนึกถึงความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต หากบนโลกใบนี้ที่ผู้คนบ้างเหมือนและต่างกันทั้งในเรื่องความเป็นอยู่ ภาระรับผิดชอบ สายสัมพันธ์ และอีกสารพันรายละเอียด ในฐานะมนุษย์แล้ว—เราต่างมีจุดร่วมอย่างหนึ่งก็คือ ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ
ระหว่างการก้าวเดินตามรายทางชีวิต ในสังคมที่ฉายเพียงภาพความเป็นมนุษย์อันถูกจัดแต่งจนสมมาตร ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย เข้ารูปเข้ารอยตามระบบ ทว่าตามจริง เรามีการดำเนินชีวิต มีประสบการณ์หลากหลายกับโลกใบนี้อย่างเฉพาะตัว โดยธรรมชาติแล้วทุกคนยังสามารถผิดพลาด ล้มเหลว หวั่นไหว สั่นสะเทือนกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ตามที่รู้สึกว่าสลักสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นจากภายนอกหรือภายใน
แน่นอนที่สุดว่า ไม่ง่ายสำหรับการยอมรับและเปิดเผยเรื่องราวอันไม่พึงปรารถนาของชีวิต บางคนจึงเก็บซ่อนมันไว้ในความรู้สึกลึกๆ ปกปิดอย่างมิดชิด คล้ายบาดแผลอันน่ารังเกียจ บางครั้งก็รู้สึกผิดกับเรื่องราวที่ไม่อาจแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง จึงได้แต่กล่าวโทษคนอื่นและตัวเองซ้ำไปซ้ำมาไม่เลิกรา
แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อวันคืนผ่านเลย…ท้ายที่สุดความไม่ราบรื่นสละสลวยเหล่านี้เปรียบเหมือนสิ่งล้ำค่า ทำให้ชีวิตมีเอกลักษณ์และงดงาม ยิ่งเมื่อมองความเป็นไปทั้งหมดของชีวิตผ่าน ‘วะบิ ซะบิ’ (wabi-sabi มาจากภาษาญี่ปุ่นว่า 侘寂) ยิ่งชัดเจนขึ้นว่า “เพราะไม่สมบูรณ์แบบ เราจึงเป็นมนุษย์” ทำให้การชื่นชมยินดีกับตัวเองตามความเป็นจริง ไม่ใช่เรื่องยากเย็น
หลายคนอาจคุ้นเคย ‘วะบิ ซะบิ’ ปรัชญาโบราณของญี่ปุ่นที่อยู่เคียงบ่าเคียงไหล่กับปรัชญาอื่นๆ อย่าง ‘อิคิไก’ และ ‘คินสิงิ’ มาบ้างแล้ว เหล่านี้เคยผ่านการแปลโดย ‘อ๋อง’ วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ — นักเขียนและนักแปลผู้ที่กำลังค้นหาความสุขและความหมายของชีวิตในวัยเลือกเกษียณก่อนเวลา
วะบิ ซะบิ: แด่ความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต เขียนโดย เบท เคมป์ตัน (Beth Kempton) เป็นหนังสือเล่มแรกของ Be(ing) สำนักพิมพ์ในเครือของบริษัท Biblio ที่พูดถึงปรัชญาโบราณของญี่ปุ่นได้อย่างเรียบง่ายและน่าสนใจ
ผู้สนใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่าง ‘เบท’ – เธอเป็นแม่บ้านลูกสอง ที่มีอาชีพล่าม นักข่าว และผู้ก่อตั้งบริษัทรับให้คำปรึกษากับคนที่อยากทำในสิ่งที่ตัวเองรัก เบทชวนเราค้นหานิยามสิ่งที่อนิยามนี้ผ่านคำอธิบายของชาวญี่ปุ่น หนังสือเก่าจากห้องสมุด พจนานุกรมที่ผ่านวิธีการแปลความหลายแบบ รวมถึงสถานที่ต่างๆ ทั้งโรงน้ำชา บาร์แจ๊ซ พิพิธภัณฑ์ วัด น้ำพุร้อน ตลอดจนบรรยากาศที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามฤดูกาล
“วะบิ ซะบิ คือการตอบสนองของปัญญาญาณต่อความงาม ที่สะท้อนให้เห็นธรรมชาติที่แท้จริงของชีวิต
“วะบิ ซะบิ คือการยอมรับและชื่นชมต่อธรรมชาติของสรรพสิ่งที่ล้วนไม่เที่ยง ไม่สมบูรณ์ ไม่เสร็จสิ้น
“วะบิ ซะบิ คือการรับรู้ถึงคุณค่าของความเรียบง่าย ความเนิบช้า และการดำเนินชีวิตไปตามธรรมชาติ”*
(*ส่วนหนึ่งจากหนังสือ หน้า 33)
หนังสือเล่มนี้ทำให้เรารับรู้ถึงที่มาและคุณลักษณะของ ‘วะบิ ซะบิ’ ได้ชัดเจนขึ้น และคำคำนี้มีความหมายที่ลึกซึ้ง ไม่ว่าแยกหรือรวมกัน
เบทยังแบ่งปัน ‘วะบิ ซะบิ’ ผ่านสิ่งที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างเธอและสามี ลูกๆ เพื่อนร่วมงาน รวมถึงผู้คนที่พบเจอ เสมือนสะท้อนสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวตนของทุกคนเพื่อบอกให้เราปล่อยวางความสมบูรณ์แบบและยอมรับตัวเองอย่างที่เป็น กลับมาพึงพอใจกับสิ่งที่มีอยู่เพื่อความรู้สึกผ่อนคลายและมีความสุขกับชีวิตยิ่งขึ้น
อาจเริ่มต้นตั้งแต่การดูแลพื้นที่ที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและความรู้สึกนึกคิดของเราในแต่ละวัน เช่น ‘บ้าน’ ขอให้บ้านเป็นสถานที่ที่ให้อยู่อาศัย ให้รัก และให้จัดไปเรื่อยๆ ไม่จำเป็นต้องสวยหรูเหมือนคนอื่น หรือการรักษาและทะนุถนอม ‘ความสัมพันธ์’ ตรงหน้าด้วยใจจริง
เนื้อหาในเล่มยังขยายมุมมองของเราอย่างค่อยเป็นค่อยไป หัวใจเปิดกว้างขึ้น…เมื่อประสบกับหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่ได้ดั่งใจ เบทยกตัวอย่างจากทัศนะของชาวญี่ปุ่นต่อความล้มเหลว ที่ความจริงแล้ว —
“1 เราไม่จำเป็นต้องชอบความล้มเหลว เพื่อจะเรียนรู้จากมัน แต่ความล้มเหลวนั้นทำให้เราอดทนมากขึ้น และช่วยให้เราเติบโตไปในทิศทางอื่น เมื่อเราเลิกพยายามจะสมบูรณ์แบบ เราอาจจะไม่มอง ‘ความล้มเหลว’ ว่าเป็น ‘ความล้มเหลว’ อีกเลย
“2 ความรู้สึกล้มเหลวนั้นไม่ได้คงอยู่ตลอดไป ไม่มีอะไรเที่ยงแท้ แปลว่าในแต่ละวันๆ เรามีโอกาสเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ
“3 สรรพสิ่งเปลี่ยนแปลง บางทีนี่อาจเป็นจังหวะให้เราได้หยุด พลิกมุม หรือหาหนทางอื่นแทน”**
(**ส่วนหนึ่งจากหนังสือหน้า 229-230)
ระหว่างบรรทัดของเนื้อหา นอกจากให้เราได้เรียนรู้ที่จะมองอีกด้านของชีวิตแล้ว ยังมีวิธีการและการตั้งคำถามต่างๆ ทั้งในเรื่องของครอบครัว เงินทอง อาชีพการงาน การฝึกฝนความเพียร การปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ ฯลฯ เพื่อเราจะได้ทบทวนสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราอาจเคยมองข้ามไปในการใช้ชีวิต และชวนให้เรากลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะได้ดียิ่งขึ้น ให้เราได้กล่าวขอบคุณ ‘ตัวตน’ ของตัวเองเช่นที่เป็นอยู่ และ ‘เฉลิมฉลอง’ ให้กับ ‘ความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต’
Fact Box
- วะบิ ซะบิ: แด่ความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต Beth Kempton เขียน / วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ แปล สำนักพิมพ์ Be(ing)