ถ้าพูดถึงจีนกับการใช้จ่าย ภาพคิวอาร์โค้ดคงผุดมาเร็วกว่าบัตรเครดิต ไม่ว่าจะเป็นระบบใช้จ่ายของอาลีเพย์ (Alipay) หรือวีแชต (Wechat) ที่แทรกซึมเข้าไปในวิถีชีวิตประชาชนชาวจีนทุกระดับ ขนาดว่าซื้อลูกชิ้นข้างทางก็ยังจ่ายได้
แล้วอย่างนี้ ทำไมวีซ่าจึงเลือกมาจัดงาน VISA Security Summit 2019 ระหว่างวันที่ 19-20 มิถุนายน 2019 ที่เซี่ยงไฮ้ ท่ามกลางสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน วีซ่าต้องมีเหตุผลที่ตัดสินใจมาเยือนอย่างแน่นอน
บุคลากรระดับสูงของวีซ่ามักปรากฏกายเปิดเวทีด้วยการพูดภาษาจีนหลายประโยคเพื่อสร้างความประทับใจ ฟังคำถามผู้สื่อข่าวจีนแล้วตอบได้โดยไม่ต้องใช้ล่าม อีกทั้งตัวเลขผู้เข้าร่วมงานส่วนใหญ่ก็มาจากจีน คือ 337 คนจากผู้เข้าร่วมทั้งหมด 758 คน รองลงมาคือกลุ่มประเทศเอเชียตะวันเฉียงใต้
คำถามคาใจคือวีซ่าจะเข้าจีนมาสู้กับคิวอาร์โค้ดได้อย่างไร วีซ่าตอบนิ่งๆ ว่า อันที่จริงยุคนี้คู่แข่งของพวกเขาคือเงินสด และบริการของวีซ่าไม่ใช่แค่บัตร (มานานแล้ว) แต่เน้นย้ำตลอดงานว่า บทบาทของตนเองคือ ‘เครือข่ายความปลอดภัย’ ของการใช้จ่ายในยุคดิจิทัลที่แม้โจรไฮเทคจะมีพัฒนาการไปถึงไหน วีซ่าก็จะวิ่งหนีให้ไกลกว่าเสมอ
บุกถิ่นจีน ประเทศ QR code
คริส คลาร์ก (Chris Clark) ประธานกรรมการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เล่าภาพรวมวีซ่าในเอเชียแปซิฟิกว่า ปัจจุบัน วีซ่าทำงานกับสถาบันการเงิน 900 แห่ง และมีที่ตั้งร้านค้าถึง 17 ล้านแห่งที่รับชำระผ่านเครือข่ายวีซ่า ปีที่แล้ววีซ่าได้ทำยอดออกบัตรเฉพาะในภูมิภาคนี้เกิน 1,021 ล้านใบแล้ว
แม้ตัวเลขการใช้จ่ายผ่านเครือข่ายวีซ่าในเอเชียแปซิฟิกคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 23% ของธุรกิจวีซ่าทั่วโลก แต่การใช้จ่ายแบบไร้เงินสดในภูมิภาคนี้ ก็ยังคิดเป็นเพียงสัดส่วน 45% หมายความว่ายังมีโอกาสให้เติบโตไปทดแทนเงินได้อยู่อีก 55% ซึ่งช่องว่างที่เหลือนี้ วีซ่าดูตื่นเต้นที่จะมีส่วนร่วมเติมเต็ม
เกล็นน์ แมไกวร์ (Glenn Maguire) นักเศรษฐศาสตร์แห่งวีซ่าประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกชี้ให้เห็นความน่าสนใจของจีน ในฐานะศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกแห่งใหม่ในทศวรรษอันใกล้นี้ จากเดิมที่ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก แรกเริ่มก่อตัวและมีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณแม่น้ำคงคา เคลื่อนที่ไปทางยุโรป ตามด้วยสหรัฐอเมริกา และกำลังตีโค้งวนกลับมาที่จีน เตรียมขึ้นแท่นเศรษฐกิจใหญ่อันดับหนึ่งของโลกแทนที่สหรัฐฯ ในปี 2030
การใช้จ่ายแบบไร้เงินสดในภูมิภาคนี้ ก็ยังคิดเป็นเพียงสัดส่วน 45% หมายความว่ายังมีโอกาสให้เติบโตไปทดแทนเงินได้อยู่อีก 55%
คลาร์กยังชี้จุดแข็งของจีนในโลกยุคดิจิทัลตรงที่รัฐบาลจีนบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนอย่างเข้มงวดกว่าที่ไหนในโลก มีกฎเกณฑ์เคร่งครัดยิ่งกว่ากฎหมาย GDPR ของยุโรป เรียกว่าเป็นผู้นำของเอเชีย เพราะวางกรอบทั้งการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล การนำข้อมูลฯ ไปใช้ และการแชร์ข้อมูลฯ รวมทั้งเอาจริงในการแบนแอปฯ ต่างๆ ที่ละเมิดกฎหมายดังกล่าว
เพราะข้อมูลส่วนบุคคลเป็นเรื่องอ่อนไหวต่อการโจรกรรม ยิ่งจีนก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ข้อมูลส่วนบุคคลที่รั่วไหลอาจกลายเป็นปัญหาไฟลามทุ่ง บรรยากาศใช้จ่ายที่กำลังคึกคักก็อาจกร่อยได้
“หากคุณเดินออกไปโดยไร้มือถือ แล้วต้องซื้อของขึ้นมา คุณอาจจะต้องลำบากหน่อย เพราะการใช้เงินสดที่นี่ยากมาก เรียกได้ว่าสิ่งต่างๆ ในจีนขยับไปอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น เราเลือกจัดงานซัมมิตนี้ที่เซี่ยงไฮ้ เพราะนี่คืออนาคตที่ส่วนอื่นโลกอาจเป็นได้ มีอะไรหลายอย่างให้พวกเราได้เรียนรู้ อยากให้พวกคุณลองใช้เวลาที่อยู่ที่นี่สำรวจจากการใช้ชีวิตของคนจีนดู” คลาร์กกล่าว
เขาเร้าความสนใจด้วยการบอกว่า ประเทศจีนในฐานะต้นกำเนิดของการใช้ธนบัตรแห่งแรกในโลก กลับจะกลายเป็นประเทศแรกที่ไร้เงินสด ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้ สิ่งที่รัฐบาลจีนทำได้ดีน่าชื่นชม คือการไม่ทิ้งประชาชนในชนบทไว้เบื้องหลัง แต่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเงินและทำให้พวกเขาเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินนี้ได้อย่างถ้วนทั่ว
เพียงพริบตา ทำไมจีนถึงเปลี่ยนไปมาก
เชอร์ลีย์ หยู (Shirley Yu) ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคจีน มาเก๊า ฮ่องกง และไต้หวัน พูดถึงปรากฏการณ์ ‘Digital China’ นี้ ด้วยการเกริ่นนำว่า “ในจีน ชีวิตเป็นเรื่องง่าย กำกับด้วยดอกจันตัวใหญ่ *ถ้ามีบัญชีธนาคาร พูดภาษาจีนไ้ด้ และใช้สมาร์ตโฟน!”
หยูกล่าวว่าถ้าเพียงวัดกันจากเวลาที่ใช้ คนจีนก็ใช้งานสมาร์ตโฟนพอๆ กับคนทั่วโลก แต่ที่น่าสนใจคือผู้บริโภคสัดส่วนมากถึง 3 ใน 4 ซื้อสินค้าผ่านสมาร์ตโฟนในเดือนที่ผ่านมา
ทำไมจีนเติบโตได้เร็วขนาดนี้ หลายคนอาจถาม และหยูตอบด้วยสามเหตุผล ได้แก่ จังหวะเวลาที่เหมาะเจาะ วัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้เติบโต และสิ่งแวดล้อมที่เกื้อหนุน การผสานกันของทั้งสามปัจจัยนำไปสู่การพัฒนาสังคมไร้เงินสดที่โตเร็ว
ประการแรก จังหวะเวลาที่เหมาะเจาะ เกิดจากเดิมทีจีนมีฐานการใช้อินเทอร์เน็ตที่ต่ำแล้วก็สูงขึ้นมากในระยะหลัง มีมือถือและการเข้าถึงข้อมูลอยู่ในราคาที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ ประกอบกับประเทศมีจีดีพีเพิ่มขึ้น การใช้จ่ายก็เลยเติบโตตาม
ประการที่สองคือวัฒนธรรมชาวจีนที่ไม่กลัวที่จะเสี่ยง กล้าลองอะไรใหม่ๆ แต่ก็เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งจากเบื้องบนเคร่งครัด อีกทั้งมีค่านิยม “ฝันใหญ่และทำงานให้หนัก”
ประการสุดท้ายคือสภาพแวดล้อมของจีนที่เปิดโอกาสให้สตาร์ตอัปเติบโตขึ้นมาสร้างนวัตกรรม เพราะรัฐบาลจีนใช้วิถีทางที่ค่อนข้าง “เสรีนิยม” ต่อสตาร์ตอัปเหล่านี้ กล่าวคือ ควบคุมแบบ wait and see ใจเย็นเพื่อรอดูว่าสตาร์ตอัปเหล่านี้จะสร้างสรรค์อะไรออกมาได้บ้าง แล้วค่อยออกกฎมาควบคุมผลงานเหล่านี้ให้อยู่ในลู่ทางภายหลัง
“ในจีน ชีวิตเป็นเรื่องง่าย กำกับด้วยดอกจันตัวใหญ่ *ถ้ามีบัญชีธนาคาร พูดภาษาจีนไ้ด้ และใช้สมาร์ตโฟน!”
ข้อสำคัญอีกอย่าง คือจีนมีระบบเชื่อมโยงเบอร์โทรศัพท์มือถือเข้ากับเลขประจำตัวประชาชนและเลขบัญชีธนาคาร ข้อมูลเหล่านี้ นอกจากจะช่วยทำให้สตาร์ตอัปนำไปวิเคราะห์ต่อได้ ยังช่วยให้รัฐบาลสามารถสอดส่องการกระทำฉ้อฉลต่างๆ ได้ด้วย
หยูกล่าวว่า แม้ตอนนี้คนจีนจะใช้จ่ายผ่านคิวอาร์โค้ด แต่นั่นก็เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการจ่าย เพราะในอนาคต เมื่อสิ่งของต่างๆ สามารถเชื่อมโยงสื่อสารกัน (IoT) ทุกอย่างก็สามารถเป็นจุดรับชำระเงินได้หมด ไม่ว่าจะเป็นคน สถานที่ หรือสิ่งของ แต่การเชื่อมโยงอันน่าทึ่งนี้ ก็มาพร้อมกับภัยคุกคาม โดยเฉพาะการหาจุดอ่อนที่สุด (weakest link) ในสายโซ่เพื่อหาช่องเข้ามาโจรกรรม ที่อาจทำให้ระบบการรักษาความปลอดภัยที่เหลืออยู่ แม้จะแน่นหนาแค่ไหนก็ไร้ความหมาย และวีซ่ามุ่งค้นคว้าจะอุดรอยรั่วเหล่านี้
เพย์เมนต์ก้าวล้ำ คนโกงก็เก่งขึ้น
คลาร์กกล่าวว่า วิวัฒนาการของการใช้จ่ายตีคู่มากับความซับซ้อนที่ผู้ร้ายใช้โจรกรรม เริ่มจากการใช้บัตรพิมพ์ชื่อ บัตรแถบแม่เหล็ก และสู่บัตรติดชิป EMV ที่จะสร้างรหัสขึ้นมาเฉพาะในการใช้งานแค่ละครั้ง สู่ระบบโทเคนไนเซชันที่ทำให้ผู้ให้บริการไม่จดจำรหัสบัตรเครดิตลูกค้า 16 หลักไว้ในฐานข้อมูล (เพราะเสี่ยงต่อการทำรั่ว) แต่จำเป็นตัวเลขอื่นๆ แทน ซึ่งโจรไม่สามารถนำไปใช้ต่อได้
ยุคต่อไปจะเป็นยุคของ Quantum computing, AI, IoT และไบโอเมตริกส์ที่จะมาเปลี่ยนประสบการณ์ในการใช้จ่าย สิ่งเหล่านี้ทั้งทำให้การใช้จ่ายไหลลื่นและนำไปสู่ดาต้าที่เพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อยๆ
เช่นเดียวกับพัฒนาการทางการใช้จ่าย การโกงก็ยกระดับจากการขโมยอัตลักษณ์ สร้างบัตรปลอม ขโมยบัตร ไปสู่ขั้นแอดวานซ์อย่างการเจาะระบบจนข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมหาศาลรั่ว คุ้มค่าต่อความพยายามของโจร เมื่อข้อมูลถูกทำให้เป็นดิจิทัล การใช้วิศวกรรมไซเบอร์ขโมยข้อมูลจึงทำได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าเดิม
วิวัฒนาการของการใช้จ่ายตีคู่มากับความซับซ้อนที่ผู้ร้ายใช้โจรกรรม เริ่มจากการใช้บัตรพิมพ์ชื่อ บัตรแถบแม่เหล็ก และสู่บัตรติดชิป EMV ที่จะสร้างรหัสขึ้นมาเฉพาะในการใช้งานแค่ละครั้ง สู่ระบบโทเคนไนเซชันที่ทำให้ผู้ให้บริการไม่จดจำรหัสบัตรเครดิตลูกค้า 16 หลักไว้ในฐานข้อมูล (เพราะเสี่ยงต่อการทำรั่ว) แต่จำเป็นตัวเลขอื่นๆ แทน ซึ่งโจรไม่สามารถนำไปใช้ต่อได้
ดาต้าจึงเป็นทั้งความหวังอันสดใส และเป็นทั้งปัญหาน่าห่วง
คลาร์กบอกว่าที่วีซ่าต้องเร่งรุดก้าวนำด้านความปลอดภัยทางการเงิน ก็เพราะหากบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ปล่อยให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น ลูกค้าก็สูญเสียความเชื่อมั่นและไม่ยอมใช้จ่าย ทำให้เสียโอกาส ระดับรัฐก็เริ่มออกกฎหมายคุมข้อมูลส่วนบุคคลอย่างจริงจังขึ้นเรื่อยๆ
ตัวเลขที่น่าสนใจ 4 ตัวในปี 2018 ได้แก่
- ผู้คนราว 3,353,172,708 หละหลวมในการอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล อาจโดนนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ทั้งรู้และไม่รู้ตัว
- หนึ่งในรหัสยอดนิยมที่สุดในโลกคือ 123456 และยังรวมไปถึงตัวเลขซ้ำๆ ตัวเลขวันเกิด ฯลฯ
- คาดว่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจเฉพาะในเอเชียแปซิกเท่ากับ 1.75 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ซึ่งเท่ากับ 7% ของจีดีพีของเอเชีย
ในโลกที่เชื่อมโยงกันแบบนี้ อาชญากรรมไซเบอร์ไม่เลือกว่าจะข้อมูลทางการเงินหรือข้อมูลส่วนตัว เศษส่วนข้อมูลเหล่านี้ที่เราทิ้งไว้ในโลกออนไลน์ต่างถูกนำมาประกอบเพื่อทำร้ายเราได้หมด
ข้อมูล – ผู้คน – โครงสร้าง องค์ประกอบสำคัญสามอย่างในอีโคซิสเท็มของการจ่ายเงินเหล่านี้ คือช่องให้อาชญากรเข้ามาแทรกแซงได้ ผู้คนเป็นสิ่งที่ท้าทายที่สุด โดยเฉพาะพนักงานขององค์กรทางการเงินที่อาจนำไปสู่หายนะ เรียกได้ว่าความเปราะบางของมนุษย์นั้นน่าห่วงกว่าความเปราะบางทางเทคนิคเสียอีก
แต่แน่นอนว่า คลาร์กพูดทั้งหมดนี้ให้เราระวัง แต่ไม่ใช่สิ้นหวังจนไม่กล้าใช้จ่าย เขาแสดงกราฟแท่งให้ดูว่า แม้รูปแบบการโกงจะซับซ้อนขึ้น แต่สัดส่วนการโกงต่อการใช้จ่ายนั่นต่ำลงเรื่อยๆ อย่างมีนัยยะสำคัญ และตั้งเป้าว่าหลังปี 2025 จะตัวเลขนี้จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ กลยุทธ์เพื่อความปลอดภัยได้แก่ การให้ความรู้และเครื่องมือกับผู้บริโภค การลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อป้องกันและควบคุมข้อมูล และร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยทางการเงิน
โจ คันนิงแฮม (Joe Cunningham) เจ้าหน้าที่ด้านความเสี่ยงประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ในโลกที่พาสเวิร์ดและข้อมูลส่วนบุคคลถูกนำมาก่ออาชญากรรมไซเบอร์นั้น “ดาต้าเป็นที่มาของปัญหา แต่ก็เป็นทางแก้เช่นกัน เอไอไม่ได้น่าสนใจขนาดนั้น ถ้าไม่มีดาต้ามากพอที่จะทำให้มันได้เรียนรู้”
การเรียนรู้ของเอไอที่ว่านี้ นำไปสู่การให้คะแนนความเสี่ยงกับการใช้จ่ายต่างๆ โดยดูจากข้อมูลแวดล้อม เช่น ช่องทางอุปกรณ์ที่ใช้ ประวัติการทำธุรกรรม บริบทของผู้ค้า วิเคราะห์ตัวชี้ความเสี่ยง 500 แบบในเวลาเสี้ยววินาที เมื่อได้คะแนนความเสี่ยงมาแล้ว องค์กรผู้ออกบัตร เช่น ธนาคาร สามารถตัดสินใจได้ว่าจะอนุมัติการจ่ายครั้งนั้นหรือไม่ หรือต้องมีการยืนยันตัวตนเพิ่มเติม
ยิ่งมีข้อมูลเท่าไหร่ ก็ยิ่งคำนวณได้แม่นยำมากขึ้น แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อร่วมกันสร้างระบบมาตรฐานและการแชร์ข้อมูลระหว่างสถาบันการเงินและผู้ค้าต่างๆ โดยเฉลี่ยวีซ่าวิเคราะห์ข้อมูลเฉลี่ยมากถึง 6 พันล้านข้อมูลต่อวัน รวมแล้วมีการประมวลผลธุรกรรม 127 พันล้านรายการผ่านเครือข่าย VisaNet เมื่อปีที่แล้ว และคาดว่าป้องกันการความเสียหายทางเศรษฐกิจไปได้ถึง 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (หมายเหตุ: ข้อมูลจากวีซ่า)
เทรนด์ในอนาคตอันใกล้ อีคอมเมิร์สที่เติบโตจะร้องเรียกหาระบบการจ่ายเงินดิจิทัลที่ปลอดภัยมากขึ้น การโกงแบบซึ่งหน้าจะลดลง และจะมีการนำไบโอเมตริกส์มาใช้ประกอบข้อมูลอื่นๆ เมื่อถึงวันนั้น พาสเวิร์ดอาจกลายเป็นสิ่งไม่จำเป็นอีกต่อไป
“แต่อย่าหวังพึ่งวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงแบบเดียว” คือหัวใจสำคัญของความปลอดภัย
VISA ไม่ใช่บัตร แต่เป็นเครือข่าย
วีซ่าจะทำอย่างไร เมื่อจีนเริ่มใช้บัตรเดบิตและเครดิตน้อยลง และเน้นไปทางการใช้จ่ายผ่านมือถือมากกว่า คริส คลาร์กตอบว่า กลยุทธ์วีซ่าคือปรับตามสภาพแวดล้อมของตลาดนั้นๆ และอาจขยับมาเปน mobile-first มากขึ้นตามผู้บริโภคจีน อย่างไรก็ตาม จุดแข็งของวีซ่า คือเครือข่ายแบบเปิด (open network) ที่สามารถใช้จ่ายได้ทั่วโลก
วอลเล็ตที่คักคึกในตลาดต่างๆ ทั่วโลกยังมีจุดอ่อน เช่นข้อจำกัดด้านจุดประสงค์ในการใช้และพื้นที่ที่สามารถใช้ได้ กระทั่งอาลิเพย์หรือวีแชตก็ยังจำกัดการใช้ภายในท้องถิ่นหรือบุคคลเฉพาะสัญชาติ และอาจประสบปัญหาในการขยายตลาดไปสู่ระดับนานาชาติ จะขยายได้ก็ต่อเมื่อร่วมมือกัน
วีซ่าเองได้พยายามหารือกับวอลเล็ตเจ้าต่างๆ เพื่อให้เห็นข้อดีของการเข้าร่วมเครือข่ายแบบเปิดของวีซ่า ที่ทำให้ไปไกลกว่าพรมแดนประเทศ รวมถึงทุ่มเทเวลาเพื่อคุยกับหน่วยงานรัฐประเทศต่างๆ ในภูมิภาค เพื่อก้าวสู่สังคมไร้เงินสด
เช่น สิงคโปร์ตั้งเป้าเป็นประเทศไร้เช็คภายใน 2020 มาเลเซียตั้งเป้าจำนวนการจ่ายเงินแบบอีเพย์เมนต์ 200 รายการต่อคนภายในปี 2020 จากเดิมที่อยู่ที่ 44 รายการต่อคนในปี 2016 ในอินโดนีเซีย รัฐบาลเน้นไปที่อีคอมเมิร์ส ตั้งเป้าการใช้จ่าย 130 พันล้านดอลลาร์ในอีคอมเมิร์สภายใน 2020 ฟิลิปปินส์ขยับจากการใช้จ่ายเงินสดไปสู่อิเล็กทรอนิกส์ทีละน้อย รัฐบาลเวียดนามพยายามลดการใช้เงินสดในห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตให้เหลือเพียง 10% ภายใน 2020
“เรายังทำงานใกล้ชิดกับผู้ออกกฎหมายในไทย ในการนำเสนอมาตรฐาน National QR code ที่สามารถทำให้คิวอาร์โค้ดสามารถใช้แชร์ข้อมูลในประเทศอื่นๆ ได้”
ทั้งหมดนี้วีซ่าต้องการเน้นย้ำอีกครั้งว่า พวกเขาไม่ใช่เพียงบัตรพลาสติก แต่คือผู้ให้บริการเครือข่ายที่ใส่ใจความปลอดภัย มาคู่กันกับการใช้จ่ายที่สะดวกไร้พรมแดน
Tags: Visa, QR Code, วีซ่า, ธุรกรรม, คิวอาร์โค้ด, การเงิน