หญิงสาวในเสื้อยืดสีเขียว ใส่วิกผมทรงนักเรียนม้าเต่อ ชูป้ายแมวกวักที่มีลายท้องเป็น QR Code ขึ้นมา ชักชวนให้เราเปิดแอปฯ K PLUS เพื่อลองโอนเงิน 8 บาท แลกบัตรสตาร์บั๊กฟรี ขั้นตอนนี้ใช้เวลาเร็วมาก เพราะเพียงยกมือถือให้กรอบสแกนตรงกับโค้ด ไม่ทันถึงเสี้ยววินาที ยอดเงินที่ต้องโอนก็ปรากฏ

นี่คือหนึ่งในตัวอย่าง ‘การสร้างประสบการณ์’ ให้กลมกลืนไปกับคำโฆษณา ในงานแถลงข่าวทิศทางธุรกิจลูกค้าบุคคลและเครือข่ายบริการ และกลยุทธ์ด้านโมบายล์ แบงกิ้ง ธนาคารกสิกรไทย เมื่อวันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561 ณ พารากอนซีนีเพล็กซ์ สยามพารากอน

ที่ต้องทำแบบนี้ เพราะการจะป่าวประกาศกับสื่อมวลชนหรือประชาชนทั่วไปว่าแอปฯ ของพวกเขาสะดวกกี่ครั้งๆ ก็ไม่เท่าให้ลองใช้จริง เพราะเชื่อว่า หลายๆ คนก็ยังผวาไม่กล้าลองใช้ แต่ถ้าเป็นแค่ 8 บาทเอง จะไม่ลองได้ไง

แต่ทำได้แค่จ่ายเงินด้วยแอปฯ หรือ?

ถ้าเราเอาไปเล่าให้ใครๆ ฟัง อาจดูธรรมดาไปแล้ว หลังจากช่วงปีที่ผ่านมานี้ หลายๆ ธนาคารชูเป้าหมายมุ่งสู่โลกดิจิทัลกันอย่างครึกครื้น ทั้งการเปิดตัวมาสค็อตอย่าง ‘ปิ๊บจัง’ แมวกวักของ K PLUS หรือ ‘แม่มณี’ ของ SCB easy หรือการเข้าไปเชื่อมโยงกับร้านค้าต่างๆ ตามตลาดหรือห้างสรรพสินค้า ให้มีป้าย QR code อยู่ตรงเคาน์เตอร์จ่ายเงิน เพื่อทำให้การจ่ายเงินซื้อของเป็นไปได้จริงและเป็นที่นิยมในวงกว้าง

ทุกวันนี้ แค่ทำแอปฯ ให้มีฟังก์ชันโอนเงินได้ ก็คงไม่พอ และเสี่ยงที่จะสูญเสียลูกค้าให้ไปใช้แอปฯ รายอื่น โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีไปไว แบบที่แป๊บๆ ก็มีแอปฯ เวอร์ชันใหม่ให้อัปเดตกันเรื่อยๆ

ปั๋ม-พัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย ปรากฏตัวขึ้นบนเวที ในเสื้อยืดสีเขียว สกรีนกรอบสีดำ เขียนว่า anti social social klub และกางเกงยีน ขึ้นมาเล่นกับพิธีกรสองคนบนเวที เขาหยิบมือถือขึ้นมา พรีเซนต์ตัวเลขสำคัญๆ ว่า ขณะนี้มีผู้ใช้แอปฯ Kplus แล้วถึง 7.5 ล้านคน

“แต่พอเราประกาศแบบนี้ ใครๆ ก็พูดเรื่องนี้กันใหญ่ ถ้างั้น 7.5 เราไม่คุยแล้ว เราพูดถึงตัวเลขอื่นดีกว่า”

เขาเสริมว่า มีการทำรายการผ่านแอปฯ 3 พันล้านรายการต่อปี (เทียบกับการทำรายการที่สาขา ซึ่งปัจจุบันนี้มีเพียง 180 ล้านรายการ) มีปริมาณธุรกรรม 6.3 ล้านล้านบาท และอัตราผู้ใช้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้เข้าใช้งานประจำ

ไลฟ์สไตล์ – ชีวิตในแอปฯ

แต่ในวันนี้เขาไม่ได้มาเพียงแจ้งข้อมูลตัวเลขความสำเร็จของการใช้งานแอปฯ ในปัจจุบัน แต่คือการวาดโครงสร้างวันข้างหน้าว่า นอกจากเป็นแอปฯ ทำธุรกรรมออนไลน์แล้ว K PLUS ได้รับการคาดหวังให้เป็นอะไรอีกบ้าง (และใช่ มันเริ่มแล้วในมือถือคุณ)

ภาพยนตร์โฆษณาที่กำกับโดย เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ชุด Friendshi(t)p ที่ตัวละครหน้าเด๊ดๆ (ตามสไตล์หนัง ‘เต๋อๆ’) ประสบปัญหาในการหาเพื่อนใหม่ และสุดท้ายก็ได้ K PLUS มาเป็นตัวช่วยในการชวนคุยกับเพื่อนๆ เพราะมันเป็น “เรื่องทั่วๆ ไปและใกล้ตัว ที่ใครๆ ก็รู้จัก และทุกคนใช้” ตามที่ตัวละครเพื่อนรักของ ฮุ่ย ได้บอกเธอเอาไว้ในเรื่อง (ทั้งสองสวมใส่ ‘เสื้อลายไฟ’ กับ ‘เสื้อยืดเขียว anti social social klub แบบเดียวกับที่พัชรใส่)

การใช้แอปฯ ‘เพิ่มเพื่อน’ แบบที่ไม่ใช่เฟซบุ๊กนี้ โยงเรื่องไลฟ์สไตล์เข้ามาได้อย่างไม่ขัดเขิน แต่ปัญหาก็คือ จะทำได้จริงหรือเปล่า แอปฯ โอนเงินจะเป็นเรื่องที่ ‘ทุกคนใช้’ ได้อย่างที่อ้างหรือไม่

พัชร กล่าวต่อว่า เป้าหมายในครั้งนี้ คือการปั้นแอปฯ K PLUS ให้กลายเป็น ไลฟ์สไตล์แพลตฟอร์ม คือทำให้คนใช้แอปฯ ในฟังก์ชันอื่นๆ ที่มากกว่าโอนเงิน เพื่อ ‘ตอบโจทย์ทุกด้านของชีวิต’ และไปให้ถึงเป้าหมายผู้ใช้ 10.8 ล้านคนภายในปี 2561

4 ฟังก์ชันใหม่ที่เอาไว้ใช้-จ่าย

ภารกิจนี้ นอกจากจะดึงเอาร้านค้า 800,000 ร้านค้า ให้มารับเงินค่าสินค้าผ่านแอปฯ แล้ว ยังดึงเอา 4 ฟังก์ชันเข้ามาเพิ่มเติม ได้แก่

  1. ฟังก์ชัน Quick Pay ที่กดจ่ายเงินผ่าน QR code ได้โดยไม่ต้องล็อกอินก่อน ปัจจุบันมีลูกค้าใช้จ่ายด้วย QR Code ผ่าน K PLUS จำนวน 1.3 ล้านรายการ มีมูลค่าการทำธุรกรรม 811 ล้านบาท พัชรพูดติดตลกว่า มุกที่เคยบอกเพื่อนว่าเงินสดไม่พอขอยืมก่อน น่าจะใช้ไม่ได้แล้ว
  2. ฟังก์ชัน ขายและเรียกเก็บเงินผ่านโซเชียลมีเดีย (Social Payment) พัชรบอกว่า มีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาคนค้าคนขายที่มักจะสับสนรายการในบัญชีที่มากมาย แต่ฟังก์ชันนี้ทำให้ผู้ขายรับเงินจากลูกค้าผ่านทางโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก เมสเซนเจอร์ อินสตาแกรม ไลน์ และวอตส์แอปได้ เพียงแค่ส่งบิลในรูปแบบ QR code ของร้านค้า (ซึ่งมีรายละเอียดทุกอย่างพร้อม) ให้ลูกค้าสามารถชำระเงินผ่านโมบายแบงกิ้งของทุกธนาคาร โดยไม่ต้องกรอกจำนวนเงินซ้ำซ้อน
  3. ช็อปสินค้าบนแอปฯ ตลาดนัดออนไลน์ เลือกซื้อสินค้าหลากหลายประเภท เช่น ร้านค้าสินค้าเกษตรกรคุณภาพจากโครงการพรวนฝันและกลุ่มเกษตรกรจากจังหวัดต่างๆ รวมถึงสินค้าจากพันธมิตรทางธุรกิจของธนาคาร ทั้งบริการข่าวสารในรูปแบบดิจิทัลและสินค้าอุปโภคบริโภค ในขั้นตอนนี้ พัชรให้เราทดลองซื้อข้าวไอ้ทุยผ่านแอปฯ ราคา 249 บาท ภายใน 5 คลิก และเนื่องจากธนาคารมีข้อมูลที่อยู่เราป้อนอยู่ในระบบ เราจึงแทบไม่ต้องพิมพ์อะไรเพิ่มเลย
  4. บริการสินเชื่อบุคคล พัชรนำเข้าสู่ฟังก์ชันสุดท้ายด้วยการบอกว่า ในกรณีที่อยากช็อปฯ แต่เงินไม่พอ แอปฯ ก็มีสินเชื่อบุคคลให้บริการ แต่ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็จิ้มๆ ขอกู้ยืมได้ แอปฯ จะใช้การวิเคราะห์ข้อมูล (data analysis) ว่าใครบ้างที่มีความต้องการสินเชื่อ มีความสามารถที่จะจ่ายคืนหรือไม่ และควรจะเสนอสินเชื่อให้ใครในช่วงเวลาไหน (ตอนนี้ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาและปรับปรุง) และสุดท้ายก็นำมาสู่การตัดเงินผ่อนจากบัญชีนี้เป็นรายงวด

เมื่อจบการนำเสนอ พัชรหยิบวิกผมขึ้นมาสวม ให้มีผมทรงหน้าม้า คล้ายคลึงกับตัวละครฮุ่ยในเรื่อง

“โห… แกแมสแล้วว่ะ” หญิงสาวหน้าหมวยในเสื้อลายไฟ กางเกงยีนขารุ่ย และรองเท้าแตะ พูดขึ้นในฉากจบของเรื่อง ซึ่งเป็นถนนในต่างจังหวัด

คำว่าแมสในทีนี้อาจเป็นคำแซะสำหรับคนรุ่นใหม่ที่แสวงหาความต่าง

แต่ความ ‘แมส’ ในที่นี้คือความฝันของ K PLUS (และแน่นอน อีกหลายๆ แอปฯ ธนาคาร)

ทั้งการใช้เต๋อ-นวพล มาเป็นตัวกลางในการสื่อสารที่ต่อติดกับคนรุ่นเรา การใช้วลี ‘เพิ่มเพื่อน’ มาผูกโยงกับธรรมชาติของแอปฯ การกระตุ้นให้เกิดประสบการณ์การใช้จริงในอีเวนต์ต่างๆ และความพยายามทำให้ทุกสิ่งที่เกี่ยวกับการเงิน มารวมอยู่ในแอปฯ หนึ่งเดียว อาจจะทำให้การ  “เพื่มเพื่อน ผ่าน K PLUS” ไม่ใช่เรื่องเวอร์ๆ ที่มีอยู่แต่ในหนังสั้น

Tags: , , , ,