เมื่อบัตรแมงมุมซึ่งเคยเป็นความหวังของผู้โดยสารขนส่งมวลชนว่าจะใช้บัตรใบเดียวแตะผ่านรถไฟ-รถเมล์ ได้แบบที่ต่างประเทศเขามีกัน กลายเป็นโครงการอันเงียบเหงา ซึ่งปัจจุบันใช้งานได้เพียงระบบราง MRT สายสีน้ำเงินและสีม่วงเท่านั้น (ไม่ต่างอะไรจากบัตร MRT เดิมที่เราถือกันมานาน) เราก็เริ่มหมดความสนใจไปอย่างง่ายดาย มองอย่างขำๆ ว่านี่ก็เป็นอีกเรื่องน่าผิดหวังแต่ไม่ผิดความคาดหมาย เรากำลังอยู่กับโครงสร้างผู้ให้บริการขนส่งมวลชนอันซับซ้อนของกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้ซับซ้อนตรงเส้นทาง แต่ซับซ้อนตรงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือหน่วยงานรับผิดชอบซ้อนทับกันไปมา
แต่ระหว่างที่เราหมดหวัง วีซ่ากลับออกมาประกาศว่าพวกเขายังเดินหน้าพูดคุยกับภาครัฐไทยเพื่อให้ผลักดันแนวคิดนี้อยู่ โดยนำผลิตภัณฑ์บัตรคอนแทกต์เลส (Contactless Card- บัตรของธนาคารต่างๆ ที่มีสัญลักษณ์สามขีดโค้งๆ ใช้แตะที่เครื่องเพื่อจ่ายเงิน) ของวีซ่ามาเป็นตัวชูโรงว่า นอกจากจะใช้ได้ทุกระบบขนส่งแล้ว ยังใช้จ่ายกับเรื่องอื่นๆ ได้แบบไม่สะดุดในหลายประเทศ เรียกว่าเป็น Open-loop payment ที่จะมาแทนที่ Close-loop paymet หรือบัตรโดยสารที่ใช้ในวงจำกัด อย่างบัตรโดยสารขนส่งของบางเจ้า
วีซ่าโน้มน้าวว่า ในยุคที่ระบบขนส่งมวลชนทั่วโลกมีเครือข่ายซับซ้อนขึ้น การใช้บัตรแบบเติมเงินสร้างความยุ่งยากและสับสนสำหรับผู้เดินทาง ความไร้ประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นกลายเป็นเหตุให้ผู้คนมายืนแออัดกันอยู่ในสถานี วีซ่าคอนแทกต์เลสเป็นบัตรมาตรฐานที่จะช่วยลดความวุ่นวาย ทำให้การดำเนินงานในสถานีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนในการบริหาร ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะทำให้ค่าโดยสารถูกลง
นอกจากจะมีประโยชน์กับทั้งผู้ใช้รถโดยสารประจำแล้ว ยังเป็นทางออกสำหรับนักเดินทางต่างชาติที่ไม่คุ้นเคยกับการซื้อตั๋ว (ลองนึกถึงภาพสถานีบีทีเอสหมอชิต วันเสาร์-อาทิตย์ก็ได้) ที่ถือบัตรวีซ่ามาจากบ้านตัวเองก็ใช้กับรถโดยสารที่ไหนก็ได้
โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของ VISA Transit Program ที่เดินหน้าไปแล้วในหลายๆ ประเทศ ปัจจุบันเปิดให้ใช้งานจริงแล้ว 20 เมืองใน 12 ประเทศ เช่น ลอนดอน ซิดนีย์ นิวยอร์ก และสิงคโปร์ และยังมีอีก 150 โครงการที่กำลังเดินหน้าอยู่
เมื่อ The Momentum ได้เข้าร่วมงาน VISA Security 2019 ที่เซี่ยงไฮ้ เมื่อเดือนมิถุนายน เราได้พูดคุยกับ ร็อบ วอลส์ (Rob Walls) ประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์และโซลูชันดิจิทัล วีซ่า เอเชียแปซิฟิก เพื่อฟังความคืบหน้าว่า คนกรุงเทพฯ มีความหวังแค่ไหนที่จะใช้บัตรใบเดียวแตะผ่านได้ทุกขนส่งมวลชนอย่างภาพที่เราฝัน
วอลส์ เล่าที่มาที่ไปว่า “เราทำงานเรื่องขนส่งมวลชนมาสัก 10 ปีแล้ว โครงการที่มีชื่อเสียงที่สุดคือการคมนาคมลอนดอน ซึ่งกลายเป็นตัวอย่างมาตรฐานของการทำงานร่วมกันระหว่างเอกชนและภาครัฐ สิ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้โดยสารในโมเดลการทำงานแบบนี้ก็คือ ในการเดินทางแต่ละครั้ง ผู้โดยสารแต่ละคนสับเปลี่ยนไปใช้วิธีการเดินทางหลายรูปแบบ พวกเขาใช้รถไฟฟ้า แล้วก็ขึ้นรถเมล์ หรือลงรถไฟใต้ดิน ฯลฯ ผลที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้คือ พวกเขาสามารถใช้วิธีแตะเข้าแตะออกผ่านประตูได้เลยในทุกระบบ และไม่ว่าจะเป็นคนลอนดอน หรือพวกเราที่ไปลอนดอน ก็จะได้รับประสบการณ์แบบเดียวกัน
“โมเดลนี้ได้รับการศึกษาโดยภาครัฐในหลายประเทศ ตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นจนถึงปลายทาง คำถามก็คือจะลงมือทำได้อย่างไร เพราะมันเป็นโครงการขนาดใหญ่มากๆ ใช่ไหมครับ โครงการขนส่งมวลชนจำนวนมากใช้วิธีเติมเงินในบัตรหรือบัตรโดยสารพลาสติกแบบใช้จำกัดเฉพาะบริการ (close-loop plastic ticket) แต่การคมนาคมลอนดอนประเมินว่าพวกเขาสามารถลดต้นทุนในการจัดการไป 30% ในแต่ละปี เมื่อเปลี่ยนจากระบบปิดมาสู่ระบบเปิด (open-loop) เนื่องจากในระบบปิด พวกเขาต้องจัดการกับระบบการขายบัตร ระบบบัญชีเงินคงเหลือในบัตร ต้องดูแลเครื่องออกบัตร การทำงานประสานกันระหว่างเครื่องอ่านบัตรและบัตร ต้องรับมือกับลูกค้าที่มีปัญหาในการใช้งานบัตร สิ่งที่พวกเขาทำก็คือโอนย้ายหน้าที่ทั้งหมดมาที่ธนาคารหรือบริษัทผู้ออกบัตรวีซ่าแทน แล้วทำให้กระบวนการทั้งหมดง่ายดายขึ้น
“เราใช้โมเดลของวีซ่ากับการคมนาคมลอนดอน ก่อให้เกิดโปรเจ็กต์ตามมาอีกเป็นร้อยทั่วโลก ล่าสุดเราเปิดตัวไปที่สิงคโปร์ ก่อนหน้านั้นเปิดตัวที่ซิดนีย์และนิวยอร์ก เกิดเป็น 20 โครงการที่ใช้งานได้แล้วในปัจจุบัน พูดได้เลยว่า นี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในแวดวงขนส่งมวลชน
“และแน่นอน ผมเชื่อว่าประสบการณ์ของผู้ใช้นั้นมีมากกว่าการเดินทางไปทำงาน คุณไม่ต้องพกบัตรหลายใบในกระเป๋า ไม่ต้องพกเงินสดเอาไว้มากนัก และไม่ต้องเดินไปเติมเงินที่ตู้ บัตรใบเดียวนี้สามารถใช้ซื้อกาแฟแล้วก็เดินมาแตะเข้ารถไฟได้ในตอนเช้า มันทำให้ผู้บริโภคสะดวกขึ้น และก็ช่วยปรับพฤติกรรมพวกเขา เพื่อช่วยขจัดเงินสดออกไปจากระบบ”
อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้วีซ่าประสบความสำเร็จในการเปิดตัวโครงการนี้ในประเทศอื่นๆ
เมื่อมองบัตรคอนแทกต์เลสในฐานะการทำธุรกรรมแบบหนึ่ง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่ผู้บริโภคจำนวนมากต้องคุ้นเคยกับการใช้งานบัตร เหมือนกับว่าคุณเพิ่งเปิดทางเลือกใหม่ขึ้นมาให้พวกเขาเท่านั้น ก็ต้องให้ข้อมูลผู้บริโภคเพียงพอในช่วงเริ่มต้น
ยกตัวอย่างออสเตรเลียซึ่งมีการใช้จ่ายส่วนใหญ่ผ่านบัตรคอนแทกต์เลส เมื่อผู้บริโภคใช้งานบัตรนี้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว พอเราเริ่มโยกย้ายมาใช้กับระบบขนส่งมวลชนบ้าง มันก็เป็นเรื่องธรรมชาติสุดๆ สำหรับพวกเขา ยิ่งทุกวันนี้คนใช้โทรศัพท์จ่ายเงินมากขึ้น ทั้งแอลเปิลเพย์ ซัมซุงเพย์ กูเกิลเพย์ ในระบบขนส่ง การมาใช้บัตรจ่ายเงินบ้างก็ยิ่งไม่เป็นเรื่องแปลก
ในลอนดอน จริงๆ แล้ว บัตรคอนแทกต์เลสไม่ใช่ผู้เล่นใหม่ที่แทรกเข้ามา แต่ก่อนหน้านั้น คนในลอนดอนใช้บัตรออยส์เตอร์การ์ดในระบบขนส่งมวลชนอยู่แล้ส เมื่อวีซ่าทำให้สามารถใช้ระบบขนส่งมวลชนผ่านระบบคอนแทกต์เลสได้ เท่านั้นล่ะ คนก็แค่เก็บบัตรออยส์เตอร์ไป แล้วใช้แค่วีซ่าใบเดียวจบ
เช่นเดียวกับสิงคโปร์ ตอนที่เราเปิดตัวเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน เรายังคงต้องให้ความรู้กับผู้ใช้ ซึ่งก่อนหน้านี้ พวกเขายังคุ้นเคยกับการเติมเงินในบัตร
เมื่อเราต้องการขยายการใช้งานบัตรคอนแทกต์เลส เราต้องทำให้พวกเขาใช้บัตรซื้ออย่างอื่นได้ด้วย ซูเปอร์มาร์เกตเป็นผู้ค้ารายสำคัญที่เราต้องชวนให้มาร่วมด้วย เพราะทุกคนต้องไปซื้อของที่นั่น ขนส่งมวลชนก็เป็นอีกด้านที่สำคัญ คนจำนวนมากต้องใช้ขนส่งมวลชนทุกวัน แล้วเมื่อการแตะเพื่อจ่ายกลายเป็นความคุ้นเคยใหม่ ตลาดก็จะพลิกโฉมไป
อย่างไรก็ดี ระบบขนส่งมวลชนบางรูปแบบ อย่างการเช่าจักรยาน อาจเหมาะกับการใช้คิวอาร์โค้ดก็ได้ สิ่งที่วีซ่าตั้งใจก็คือการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนที่ของผู้คนได้อย่างปลอดภัย
การใช้บัตรคอนแทกต์เลสสะดวก แต่ปลอดภัยแค่ไหน
วีซ่ามีระบบเอไอที่จะตรวจสอบการโจรกรรมหรือตรวจดูธุรกรรมที่ผิดปกติ ระบบชิป EMV ที่ได้มาตรฐานจะป้องกันการขโมยข้อมูล หากคุณใช้บัตรนี้แตะเพื่อผ่านประตูหนึ่งครั้ง การทำธุรกรรมแต่ละครั้งจะมีรหัสคริปโตแกรมเฉพาะขึ้นมา โจรอาจจะขโมยข้อมูลคริปโตแกรมครั้งนั้นได้ แต่เขาไม่สามารถนำมันไปใช้จ่ายอะไรได้อีก เพราะธุรกรรมแต่ละครั้งใช้รหัสเฉพาะของตัวเอง โจรจะรู้สึกว่ายุ่งยากเกินไปที่จะขโมยข้อมูลบัตรวีซ่าโดยตรง เมื่อเทียบแล้ว อาชญากรรมระหว่างถือบัตรนั้นเสี่ยงน้อยกว่าการขโมยข้อมูลตัวเลขบัตรในเว็บฯ (card-not-present environment)
วีซ่ามีโครงการ VISA Transit ในไทยใช่หรือไม่
ในไทย วีซ่าเคยทำงานร่วมกับภาครัฐเกี่ยวกับโครงการ QR payment และเรายังเชื่อว่าการทำงานเรื่องนี้จะช่วยเปิดโอกาสไปสู่ระบบการจ่ายเงินรูปแบบอื่นๆ คอนแทกต์เลสเป็นอีกรูปแบบที่จะสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภคและง่ายกับผู้ประกอบการด้วย
ตอนนี้ในอยู่ช่วงที่วีซ่ากำลังเอาระบบคอนแทกต์เลสเข้าสู่ตลาดในประเทศไทย แล้วพอถึงจุดหนึ่งในอนาคต เราก็อาจได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยต่อไป
นั่นหมายความว่าคุณเริ่มพูดคุยเรื่องนี้แล้ว
ใช่ครับ เราเริ่มพูดคุยมาสักพักแล้ว เนื่องจากโครงสร้างภาครัฐค่อนข้างกว้าง มีผู้ค้าหลายเจ้า มีผู้มีส่วนร่วมมากมายในอีโคซิสเตมนี้ กระบวนการติดตั้งก็คงไม่ง่าย ลองคิดถึงภาพรวมแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่ภาพประตูทางเข้า สถานี ประตูรถเมล์ ฯลฯ มีอะไรหลายอย่างที่ต้องวางแผนเพื่อทั้งระบบสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นโครงการนี้อาจใช้เวลา 1-2 ปีไปเลย นับตั้งแต่เริ่มพูดคุยจนถึงวันที่ภาครัฐจะเริ่มตกลงปลงใจกับโครงการนี้ แล้วจากนั้นถึงจะได้เริ่มต้นทำงานเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้
ตอนนี้เรามี VISA Ready Program ซึ่งเป็นโครงการที่จะช่วยทำงานอำนวยความสะดวกให้ภาครัฐ บูรณาการระบบ รวบรวมรายชื่อผู้ผลิตเครื่องมือและซอฟต์แวร์ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จำเป็นในการรองรับบัตรแบบคอนแทกต์เลส อย่างระบบประตูที่จะต้องเปิดในเวลาอันรวดเร็วให้สอดคล้องกับการใช้งาน พร้อมกับกระบวนการยืนยันความถูกต้อง รับประกันว่าผู้ให้บริการต้องได้รับเงิน และสิ่งที่เราต้องป้องกันไม่ให้เกิดเลยก็คือ ผู้โดยสารแตะเข้าไปแต่ดันออกไม่ได้
เพราะฉะนั้น นี่จึงเป็นโครงการที่ประกอบไปด้วยหลายขั้นตอน เราเริ่มจากก้าวสั้นๆ อย่างการเข้าไปให้คำปรึกษา แสดงให้ดูว่าทำงานอย่างไร ดีอย่างไร มีอะไรที่ต้องพิจารณาบ้าง สิ่งที่โครงการนี้ทำคือรวบรวมรายชื่อผู้ประกอบการที่พร้อมใช้บริการบัตร VISA เพื่อให้รัฐนำไปพิจารณาต่อไป
ตอนนี้ทางฝ่ายผู้ออกบัตรนั้นพร้อมแล้ว ขั้นต่อไปคือการดึงลูกค้าเข้ามาใช้บัตร ซึ่งเป็นบทบาทของทางฝ่ายผู้ประกอบการขนส่ง วิธีใช้งานบัตรกับขนส่งมวลชนก็เป็นแบบเดียวกับที่ใช้ในร้านค้าต่างๆ ตอนนี้วีซ่าใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการให้ข้อมูลกับฝ่ายขนส่งมวลชนและภาครัฐ และแนะนำว่ามีความเสี่ยงอยู่ที่ไหนบ้าง ความท้าทายในการบริหารจัดการคืออะไร หรือต้องทำอะไรต่อไป
นอกจากนี้ เรามีโครงการนำร่องเพื่อทดสอบเทคโนโลยีให้มั่นใจก่อนว่าระบบสื่อสารของรถเมล์นั่นจะใช้ได้แบบเรียลไทม์ ในบางแห่งโครงการนำร่องอาจใช้เวลานานถึง 12 เดือน ตอนนี้โครงการนำร่องดังกล่าวเพิ่งใช้เวลาไปแค่ 4 เดือน เราได้เรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่าตลาดแต่ละที่ก็ต่างกันไป อย่างอินเดียก็ต้องเขียนกฎของผลิตภัณฑ์ใหม่บางส่วน เพื่อรองรับบัตรคอนแทกต์เลสเวอร์ชันที่ต่างออกไปเล็กน้อยเฉพาะในประเทศนั้น
ตอนนี้วีซ่าเน้นพูดคุยกับภาครัฐมากกว่าผู้ให้บริการขนส่งหรือเปล่า
ผมคิดว่าฝั่งผู้ให้บริการ ไม่ว่าบัตรใบนั้นจะมียี่ห้อใด พวกเขาคงไม่มีข้อได้เปรียบอะไรที่จะต้องให้ผู้โดยสารถือบัตรนั้น สิ่งที่สำคัญคือ คุณสามารถใช้บัตรใบเดียวนี้ในการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ และบัตรวีซ่าก็พิสูจน์แล้วว่าทำงานได้ดีกับระบบขนส่งมวลชนในประเทศอื่นๆ ส่วนในประเทศไทย ตอนนี้เรายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นพูดคุยเท่านั้น
ในมุมผู้ประกอบการ จากประสบการณ์ของเราในลอนดอน การลดต้นทุนส่วนนี้ไปได้ถึง 30% ก็ถือว่าเยอะมากเลยนะครับ ผมไม่คิดว่าจะมีประโยชน์อะไรจากการรักษาระบบบัตรแบบเดิมไว้
ในไทย มันอาจไม่ง่ายนักที่จะโน้มน้าวผู้ให้บริการอย่างบีทีเอสที่มีแรบบิทการ์ดมาใช้ระบบคอนแทกต์เลส
ในประเทศต่างๆ บางประเทศอาจจะมีภาครัฐคอยควบคุมอยู่ตรงกลาง หรือบางประเทศอาจมีผู้ให้บริการหลายเจ้า แต่พวกเขาก็ได้เห็นแล้วว่าไม่มีเหตุผลเลยที่จะยังยึดติดกับการใช้บัตรแบบจำกัดบริการ (close-loop) ที่ใช้ได้ในวงแคบ แต่การหันมาใช้ระบบบัตรแบบเปิดจะทำให้การจ่ายเงินไหลลื่นกว่า
สิ่งที่สำคัญในเรื่องนี้ ก็ขึ้นอยู่กับความเป็นผู้นำของภาครัฐที่จะทำให้เรื่องนี้บรรลุเป้าหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะให้ได้ ถ้าประชาชนสามารถใช้งานบัตรในการเดินทางไปทำงานอย่างง่ายดาย ก็เหมือนภาครัฐได้ขจัดอุปสรรคระหว่างเดินทางให้พวกเขา ส่วนวีซ่าทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาอย่างแข็งขันตลอดกระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้ แต่เราไม่ได้ลงไปเกี่ยวข้องกับการติดตั้งฮาร์ดแวร์โดยตรง
ถ้าอย่างนั้น ผู้ที่มีหน้าที่ตัดสินใจเรื่องนี้คือภาครัฐใช่ไหม
ผมคิดว่าอย่างนั้นนะ (หัวเราะ) เราได้พูดคุยกับผู้ให้บริการขนส่งมาหลายเจ้า ทำหน้าที่เพียงอธิบายแนวคิดของโครงการ สังเกตการณ์เพื่อจะพัฒนาวิธีลดต้นทุนต่างๆ แล้วโอนย้ายภาระดูแลบัตรนี้ไปให้ธนาคาร
เราหวังว่าภาครัฐจะผลักดันแนวคิดนี้ต่อไป หากพวกเขาคิดว่าเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย กล่าวคือเราก็ทำงานพูดคุยทั้งสองด้าน ทั้งด้านผลตอบแทนทางธุรกิจและในมุมของภาครัฐด้วย ผมคิดว่าแบบนี้น่าจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า และนี่ก็เป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับไทย ทั้งความพร้อมของตลาดในการออกบัตรและการใช้งานบัตรคอนแทกต์เลส และภาครัฐที่มีนโยบายขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
สำหรับภาคเอกชน สิ่งที่เราทำได้ก็คืออธิบายให้เขาเข้าใจโครงการ จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของพวกเขาที่จะคิดคำนวณกันภายในหน่วยงานต่อไป ว่าจะสามารถลดต้นทุนอะไรไปบ้าง ออกมาเป็นผลลัพธ์ที่พวกเขาตัดสินใจได้เองจากข้อมูลขององค์กร
Tags: Visa, บัตรแมงมุม, ระบบขนส่งมวลชน, EMV, วีซ่า, บัตรคอนแท็กเลส, contactless card