คุณยังเป็นแบบนั้นไหม จะถอนเงินสดแล้วยังต้องไปที่ตู้ธนาคาร จะจ่ายบิลค่าน้ำค่าไฟก็ยังถือเงินสดไปหน้าเคาท์เตอร์ พร้อมเพย์คืออะไรไม่วางใจ จ่ายเงินผ่านคิวอาร์โค้ดทำอย่างไรไม่รู้จัก หากให้จ่ายเงินผ่านมือถือด้วยเน็ตสาธารณะนอกบ้านก็ไม่กล้า

แต่ในโลกอีกด้านหนึ่ง สังคมไร้เงินสดกำลังก้าวกระโดดไปอย่างรวดเร็ว และดูจะผสานรับกันดีกับเทคโนโลยีแบบ IoT หรือ Internet of things ที่การเชื่อมต่อฝังตัวไปอยู่กับสิ่งต่างๆ ที่เราสัมผัสและใช้งานในชีวิตประจำวัน ที่ช่วยสร้างความสะดวกสบาย ประหยัดเวลา และเชื่อได้ว่าน่าจะปลอดภัยมากกว่า

ด้วยเหตุนี้ เทคโนโลยีด้านการเงินจึงไม่เพียงต้องพัฒนา แต่ยังต้องมาพร้อมกับโจทย์ที่ว่า จะทำอย่างไรจึงจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ใช้งานให้สบายใจกับการจับจ่ายในรูปแบบใหม่

ในเรื่องนี้ The Momentum ได้คุยกับ โดนัลด์ ออง จากมาสเตอร์การ์ด (Mastercard) เขาเล่าว่า มาสเตอร์การ์ดเน้นการทำงานกับพาร์ตเนอร์ที่จะพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้งานแบบ คอนแท็กเลส ซึ่งอาศัยชิปที่อาจฝังตัวอยู่ในการ์ดของบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตที่เราคุ้นเคย หรืออาจฝังในอุปกรณ์ดิจิทัลที่ติดตัวเรา ที่ช่วยทำให้เวลาจะซื้อสินค้าหรือบริการอะไรก็สามารถหยิบของแล้วเดินตัวปลิวๆ หรือมีขั้นตอนให้น้อยที่สุด เป็นความพยายามที่ผู้ค้าต่างๆ พยายามหาคำตอบทางเทคโนโลยีทุกวิถีทางที่จะลดอุปสรรคในการจับจ่าย

แล้วความสะดวกในแบบที่เงินไหลออกเร็วขนาดนี้จะปลอดภัยไหม? หลายคนคงนึกสงสัย แน่นอนว่า องค์กรที่ทำงานด้านเทคโนโลยีการเงินระดับโลกคิดเรื่องนี้เอาไว้อยู่แล้ว ซึ่งค่ายฟินเทคใหญ่ๆ ต่างยึดถือ EMV standard อันเป็นมาตรฐานสากลที่ออกแบบการใช้งานโดยคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูง และใช้งานแล้วใน 80 ประเทศทั่วโลกกับค่ายเทคโนโลยีการเงินใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น ยูโรเพย์ มาสเตอร์การ์ด และวีซ่า

สำหรับประเทศไทย กระแสไร้เงินสดตื่นตัวมาได้สักพักแล้ว ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2018 พบว่า มีคนลงทะเบียนใช้ในระบบพร้อมเพย์ (Promtpay) ทั้งสิ้น 43 ล้านบัญชี มีทรานแซคชันไปแล้วราว 450 ล้านครั้ง คิดเป็นมูลค่า 2.2 พันล้านบาท ในส่วนของการใช้งาน QR Code นั้นก็มีร้านค้าที่หันมาใช้ระบบนี้แล้วสองล้านราย

เราสงสัยว่า แล้วกรณีประเทศไทย ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดช่องทางการจับจ่ายผ่านระบบ ‘พร้อมเพย์’ ที่โอนจ่ายเงินผ่านการกรอกเบอร์โทรศัพท์มือถือหรือบัตรประจำตัวประชาชนนั้น มันจะทำให้คนหันไปเลิกใช้ ‘การ์ด’ หรือเปล่า ในความเห็นของโดนัลด์ ออง เขาบอกว่า ต้องเรียกว่าพร้อมเพย์เป็นตัวเบิกทางสู่โลกของการจับจ่ายแบบไร้เงินสด และทำให้คนไทยสบายใจกับการจ่ายเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

“เรากำลังอยู่ในธุรกิจที่ต้องต่อสู้กับเงินสด และพร้อมเพย์คือตัวขับเคลื่อนที่ดีที่ทำให้คนรู้สึกสบายใจที่จะใช้ช่องทางทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่” โดนัลด์ ออง กล่าว

โดนัลด์ ออง ประมาณการณ์ให้ฟังว่า สัดส่วนการใช้จ่ายในท้องตลาดคร่าวๆ เวลานี้ 20% เป็นการจับจ่ายด้วยช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ อีก 80% จับจ่ายด้วยเงินสด ซึ่งภาคธุรกิจที่กำลังทำเรื่องฟินเทคหรือเทคโนโลยีทางการเงินต่างก็อยู่ในโลกที่มีคู่กรณีเดียวกัน นั่นคือการต่อสู้กับเงินสด โดยมีเป้าหมายที่การปรับเปลี่ยนให้สัดส่วน 20% นี้โตขึ้นเป็น 25-30-35 ให้ได้

ซึ่งสำหรับประเทศไทย ก้าวสำคัญหลังจากพร้อมเพย์ก็คือ การใช้งาน QR Code ที่เริ่มนิยมมากขึ้นตั้งแต่ปี 2018 นั่นเป็นเพราะธนาคารแห่งประเทศไทยรับเอาเทคโนโลยีนี้โดยใช้ EMV Standard สำหรับ QR Code เข้ามาด้วย จึงทำให้รูปแบบการจับจ่ายมีตัวเลือกมากขึ้น ผู้ค้าก็เพียงแค่โชว์ QR Code ก็เพิ่มช่องทางการจับจ่ายให้มากขึ้นได้

อองอธิบายว่า ในแง่ภาพรวมธุรกิจ มาสเตอร์การ์ดจึงไม่ใช่บริษัทที่ทำธุรกิจด้าน Card Payment หรือการจับจ่ายผ่านการ์ด แต่มันคือธุรกิจของการจับจ่ายผ่านช่องทางต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย

นอกจาก Cashless แล้ว ยังต้อง Contactless ด้วย

โดนัลด์เล่าว่า สิงคโปร์เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดมากในการปรับมาใช้ contactless มีทรานแซคชั่นถึง 40% ที่เป็นการใช้จ่ายผ่านระบบ contactless ไม่ว่าจะเป็น contactless card หรือ contactless devices

“มาสเตอร์การ์ดมีโปรเจ็กต์นับร้อยในสมาร์ตซิตี้ทั่วโลก ที่จะผลักดันให้เกิดการใช้งาน contactless เช่นในระบบขนส่งมวลชน ที่จะทำให้ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องมีบัตรของระบบขนส่งมวลชนเพิ่มอีกใบ แต่ใช้บัตรของธนาคารนั่นเอง ซึ่งทำให้ไม่ต้องเข้าคิว ไม่ต้องเติมเงินอีกต่อไป”

เขาเล่าว่าอย่างเช่น เขาไปใช้รถใต้ดินลอนดอน โดยใช้บัตร contactless ของธนาคารในสิงคโปร์และไทยเดินผ่านเครื่องได้สบาย และเมื่อเร็วๆ นี้ สิงคโปร์เองเริ่มให้ใช้บัตรมาสเตอร์การด์ในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าได้

แม้เรื่องนี้ หลายประเทศทั่วโลกจะทำได้นานแล้ว หรือเช่นในไทยก็มีบางธนาคารที่เคยออกบัตรลักษณะนี้มาก่อน ที่ผู้ใช้งานเพียงแค่แตะบัตรธนาคารก็สามารถใช้งานเหมือนสมาร์ตการ์ดรถไฟฟ้า แต่ปัญหาคือเวลานี้ ระบบนิเวศที่จะรองรับยังมีไม่ครบพร้อมเท่าไรนัก กระทั่งฟากธนาคารเองก็ยังไม่ใช่ทุกรายที่ปรับรุ่นของบัตรให้รองรับ contactless ได้ และเครื่องรับบัตรที่ใช้กับ contactless ได้ก็ยังมีจำนวนไม่สม่ำเสมอ ซึ่งมาสเตอร์การ์ดตั้งเป้าไว้ชัดเจนว่า นับจากนี้ สำหรับธนาคารทุกแห่งทั่วโลกที่เป็นสมาชิกของมาสเตอร์การ์ด บัตรใบใหม่ที่จะออกให้ลูกค้านับจากนี้จะต้องเป็นบัตรแบบ contactless เท่านั้น และอุปกรณ์รับเงินของร้านค้าทั้งหมดที่จะออกใหม่ ก็ต้องรองรับระบบ contactless ด้วย โดยหวังว่าใน 3-4 ปีข้างหน้านี้จะสามารถทำได้ตามเป้า ที่การ์ดทุกใบและเครื่องรับทั้งหมดจะรองรับ contactless payment ได้ และเชื่อว่าประเทศไทยก็จะเห็นการการจับจ่ายผ่านคอนแท็กเลสมากขึ้นในเร็วๆ นี้

อีกยุทธศาสตร์ทางธุรกิจตอนนี้ คือการมองหาพาร์ตเนอร์ชิปใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ธนาคาร แต่เป็นสินค้าและบริการที่อยู่ในไลฟ์สไตล์ของคน เช่นที่ผ่านมา มาสเตอร์การ์ดจับมือกับแกร็บและทรูมันนี่ ที่พบว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง

“เราจะเริ่มมองเห็นผู้เล่นกลุ่ม non-bank ที่มาร่วมพัฒนาระบบการจ่ายเงิน แลนด์สเคปตรงนี้จะคึกคักมากขึ้น ซึ่งผลดีจะตกอยู่ที่ผู้บริโภคนั่นเองที่จะมีทางเลือกมากขึ้น” โดนัลด์กล่าวพร้อมเสริมว่า หน้าที่ของมาสเตอร์การ์ดก็คือการดำเนินงานกับคู่ค้าต่างๆ โดยให้ธุรกิจต่างๆ ใช้เทคโนโลยีที่มีมาตรฐานเดียวกัน เพราะนี่คือแพลตฟอร์มระดับโลก

ความปลอดภัยคือสิ่งสำคัญ

อีกงานหนึ่งที่มาสเตอร์การ์ดทำก็คือการ tokenise หรือการสร้าง digital token ของการ์ด ตัวอย่างเช่น เมื่อเราจะจ่ายเงินผ่าน fit-bit สายรัดข้อมูลเช็คสุขภาพของเรา แทนที่ fit-bit จะหยิบเอาเลข 16 หลักของบัตรเครดิตไปใช้ ก็จะมี digital token number แทน ซึ่งจะปลอดภัยกว่ามาก

เหตุผลเบื้องหลังก็คือ ทุกวันนี้ ผู้ค้าเก็บข้อมูลของผู้ใช้ไปมหาศาล ผู้ใช้งานต้องกรอกรายละเอียดบัตรของธนาคารไปเพื่อจ่ายเงินให้แกร็บ ดูหนังเน็ตฟลิกซ์ ซึ่งมาสเตอร์การ์ดชวนพาร์ตเนอร์ต่างๆ มาใช้ระบบ digital token ที่ทำให้ผู้ให้บริการต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมองเห็นรายละเอียดข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน

เขากล่าวว่า ผู้ค้าส่วนใหญ่ก็พึงพอใจเพราะไม่อยากแบกภาระที่ต้องรับผิดชอบข้อมูลของลูกค้าเอาไว้มหาศาล ในด้านของผู้ใช้งานก็รู้สึกปลอดภัยกว่ามาก เพราะทุกวันนี้การจับจ่ายมันสารพัดไปทุกช่องทางโดยที่เราจำไม่ได้หมดด้วยซ้ำว่าได้ใช้การ์ดใบหนึ่งๆ ผูกกับบริการอะไรบ้าง ซึ่งการแปลงตัวเลขเป็นดิจิทัลนี้ ก็จะทำให้การจัดการข้อมูลมีความปลอดภัยมากขึ้น

Tags: , , ,