ปรากฏการณ์ ‘โมโม่ ชาเลนจ์’ (Momo Challenge) ไม่มีอยู่จริง แต่เป็นข่าวลวงที่ทำให้พ่อแม่ทั่วโลกตื่นตระหนก โดยไม่ทันตรวจสอบว่าจริงหรือไม่

ตั้งแต่เดือนกันยายน 2018 มีรายงานข่าวของสำนักข่าวท้องถิ่นในอาร์เจนตินาเผยแพร่ว่า เด็กวัยรุ่นตอนต้นอายุ 12-16 ปี ในอาร์เจนตินาฆ่าตัวตาย หลังจากเล่นเกมไวรัล ที่มีหน้าของผู้หญิงผมดำยาว ตากลมโตผิดปกติ และปากที่ฉีกจนถึงใบหูทางแอปพลิเคชั่นวอทซแอปชื่อโมโม่ ที่ล่อลวงให้วัยรุ่นทำตาม ซึ่งท้ายที่สุดนำไปสู่การฆ่าตัวตาย อย่างไรก็ตาม ตำรวจในอาร์เจนติน่าไม่เคยยืนยันว่าการฆ่าตัวตายของเด็กหญิงคนนี้มาจากการเล่นเกมไวรัล จากนั้นก็มีข่าวแบบเดียวกันในหลายประเทศ ทั้งในเม็กซิโก โคลอมเบีย และอินเดีย ว่าการเสียชีวิตของวัยรุ่นหลายคน เป็นเพราะไวรัลโมโม ชาเลนจ์นี้

ข่าวเงียบหายไปจนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 2019 อยู่ๆ ในประเทศอังกฤษ โมโม่ ชาเลนจ์ก็กลายเป็นข่าวอีกครั้ง และมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับโมโม่หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ว่า เด็กๆ ที่ใช้วอทซแอปได้พบกับแอคเคานท์ที่ชื่อโมโม่ ที่ท้าทายให้เด็กเล่นเกม หรือโมโม่สอดแทรกอยู่ในคลิปวิดีโอการ์ตูนเป็บปา พิค (Peppa Pig) และฟอร์ไนต์ (Fornite) ทางยูทูบ รวมทั้งเรื่องที่ว่ามีแฮกเกอร์ใช้รูปนี้เพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวไป

นอกจากนี้ยังมีผู้ใช้ชื่อว่า Maximoff ที่ทวีตข้อความว่า มีสิ่งที่เรียกว่าโมโม่ ซึ่งแนะนำให้เด็กๆ ฆ่าตัวตาย และเขียนเฟซบุ๊กว่าให้บอกทุกคนเท่าที่ทำได้ มีผู้รีทวีต 22,000 ครั้ง และหน้าของโมโม่กระจายไปทั่วโลกออนไลน์ กระทั่งเมื่อวันพุธ คิม คาร์เดเชียน ซึ่งมีผู้ติดตามทางอินสตาแกรม 129 ล้านคนก็เตือนเรื่องนี้

ขณะที่โรงเรียนและตำรวจเตือนให้ผู้ปกครองระมัดระวังไม่ให้เด็กตกเป็นเหยื่อของโมโม่ชาเลนจ์ รวมทั้งแนะนำวิธีดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กๆ แก่พ่อแม่

แต่ความจริงก็คือ‘โมโม่ ชาเลนจ์’ ไม่ใช่เรื่องจริง หลายองค์กรออกมายืนยันว่ายังไม่เคยมีเหตุการณ์ที่เด็กฆ่าตัวตายเพราะมาจากไวรัลนี้ ยูทูบออกแถลงการณ์ว่าไม่พบหลักฐานที่แสดงว่ามีการโปรโมทกิจกรรมนี้บนยูทูบ นอกจากนี้ยังไม่มีการรายงานว่ามีเด็กคนไหนฆ่าตัวตายเพราะมาจากโมโม่เลย

ส่วนสมาคมสะมาริตันส์ ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่ต้องการปลิดชีวิตตัวเองได้ออกมาปฏิเสธข่าวนี้ โดยบอกว่าไม่มีหลักฐานใดที่พิสูจน์ได้ว่าโมโม่ชาเลนจ์ทำให้มีใครฆ่าตัวตาย รวมทั้งแนะนำให้สื่อระมัดระวังการนำเสนอข่าวเรื่องการฆ่าตัวตาย ศูนย์อินเทอร์เน็ตปลอดภัยสหราชอาณาจักร (The UK Safer Internet Centre) ระบุว่าเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็น ‘ข่าวปลอม’

นักรณรงค์ด้านเด็กกล่าวว่า เรื่องนี้แพร่กระจายไปเร็วเพราะมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยในโลกออนไลน์ของเด็ก การแชร์เนื้อหาที่ไม่ผ่านการพิสูจน์ทางเฟซบุ๊ก รวมทั้งการให้ความเห็นจากเจ้าหน้าที่ของรัฐและโรงเรียนซึ่งมาจากหลักฐานที่น้อยมากๆ

นอกจากนี้ประชาชนยังกระโจนเข้าไปแชร์ข้อความแจ้งเตือนเร็วเกินไปโดยไม่ทันตรวจสอบให้ดี “แม้ว่าจะทำด้วยเจตนาดี แต่ก็ถือเป็นการดูถูกความช่างสงสัยของเด็กๆ” แคท เทรมเลตต์ ผู้จัดการฝ่ายเนื้อหาอันตรายของศูนย์อินเทอร์เน็ตปลอดภัยสหราชอาณาจักรให้ความเห็นกับเดอะการ์เดียน

เว็บไซต์เดอะการ์เดียนทำกราฟแสดงให้เห็นว่าในช่วงเวลาไม่กี่วัน มีการค้นหาเรื่องนี้ทางกูเกิลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อกลายเป็นข่าวใหญ่ระดับชาติ และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาให้ความเห็น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแพร่กระจายข่าวปลอมอย่างรวดเร็วเป็นผลมาจากความกลัวของพ่อแม่เอง ดังนั้นเพื่อไม่ให้สร้างความตื่นกลัวโดยไม่จำเป็น วิทนีย์ ฟิลลิปส์ นักวิชาการด้านสื่อของมหาวิทยาลัย Syracuse บอกว่า ถ้าผู้ใหญ่เห็นข้อความทางโซเชียลมีเดียเตือนภัย แบบที่เห็นในไวรัลโมโม่ สิ่งที่ควรทำก็คือ หายใจเข้าลึกๆ หยุด ก่อนที่จะรีทวีตหรือแชร์ต่อ ถามตัวเองสองอย่าง “รู้ไหมว่าใครจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้” และ “มีข้อมูลอะไรที่ขาดหายไป” ถ้าตอบไม่ได้ว่าใครได้ประโยชน์จากการกระทำของตัวเอง หยุดส่งต่อ

 

หมายเหตุ: ภาพประกอบเป็นคลิปวิดีโอการ์ตูนเป็ปปา พิก ที่มียูทูบเบอร์อ้างว่าโมโม่ชาเลนจ์ไปโผล่ในการ์ตูนเด็ก

 

ที่มา:

Tags: , , ,