ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยลีลล์ (University of Lille) ประเทศฝรั่งเศส นำเทคโนโลยีแว่นเสมือนจริง (Virtual Reality: VR) สวมใส่อุปกรณ์แว่นตาและชุดหูฟังที่สร้างภาพเมืองเสมือนจริงให้กับผู้เข้าร่วมอาสาสมัคร โดยเมืองดังกล่าวได้เพิ่มรายละเอียดของสีสันตามตึกและมุมเมืองต่างๆ พร้อมเพิ่มความเขียวขจีด้วยสวนสาธารณะ เพื่อทดสอบว่าอาสาสมัครมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อภูมิทัศน์เมืองที่เปลี่ยนแปลงไป
ผลปรากฏว่า ขณะที่อยู่ในโลกเสมือนจริง ผู้เข้าร่วมการทดสอบทุกคนเดินช้าลงกว่าอัตราการเดินของคนปกติในโลกแห่งความเป็นจริง และมักเงยหน้ามองหาสิ่งที่มีสีสันสวยงามมากกว่าการก้มหน้ามองพื้น อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นเมื่อเห็นต้นไม้นานาชนิดที่มีสีเขียว ยิ่งผู้เข้าร่วมการทดลองเดินอยู่ในเมืองเสมือนจริงมากเท่าไร อัตราการหายใจและคลื่นสมองก็มีความเสถียรมากขึ้น กระตุ้นให้สมองมีการทำงานที่ดียิ่งขึ้น
อีวอน เดเลวอย เทอเรลล์ (Yvonne Delevoye-Turrell) ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยากล่าวว่า การใช้เทคโนโลยี VR เป็นข้อบ่งชี้ว่า การปรับแต่งเมืองเล็กๆ น้อยๆ ด้วยสีสันและต้นไม้จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมการทดสอบมีความสุขและรู้สึกสงบมากขึ้น ขณะที่หลายคนมักเกิดความคิดดีๆ หรือคลายความทุกข์จากสิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจระหว่างเดินชมเมือง ซึ่งอาจกล่าวอย่างสรุปได้ว่า คลื่นสมองดังกล่าวส่งผลต่ออารมณ์และพฤติกรรมเชิงบวกมากกว่าลบ
นอกจากนี้ ผลการทดลองยังชวนให้เกิดการคาดคะเนว่า หากเด็กที่เกิดและเติบโตมาในเมืองที่มีบรรยากาศส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์เช่นนี้ อารมณ์และพฤติกรรมเชิงบวกจะถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ยิ่งเมืองพัฒนาด้วยความคิดสร้างสรรค์ ทักษะทางความคิดของคนในรุ่นถัดไปก็อาจยิ่งพัฒนาขึ้น
อย่างไรก็ดี สเตเฟน เลแมน (Steffen Lehmann) ศาสตราจารย์ด้านสถาปัตยกรรมที่มหาวิทยาลัยแห่งเนอวาดา (University of Nevada) ในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า การจำลองเมืองที่มีสีสันและสวนสาธารณะมากมายด้วย VR อาจไม่สามารถสร้างผลลัพทธ์ที่ดีได้ หากเมืองดังกล่าวยังเต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตที่ดีพอ เช่น เศรษฐกิจ การเมือง และความสงบสุข
ดังนั้น การสรุปผลลัพธ์อย่างชัดเจนอาจยังต้องใช้เวลาที่เพิ่มขึ้นในการวิจัย โดยศาสตราจารย์เทอเรลล์ กล่าวถึงการวิจัยในอนาคตว่า เธอวางแผนที่จะคำนวณการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของเมืองให้มากยิ่งขึ้น เช่น อุณหภูมิ กลิ่น และเสียง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย และทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนมากขึ้น
ที่มา
https://www.unlv.edu/news/experts/in-the-news
Tags: VirtualReality, Environment, Urban, FutureCity