หลายปีมานี้ ปัญหาผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องที่หลายประเทศกำลังพบเจอและจำเป็นต้องหาวิธีรับมือ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจและยอมรับความแตกต่างในสังคมเพราะยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ยังกังวลว่าผู้ลี้ภัยจะมาพึ่งพิงประเทศของตัวเองมากเกินไป เห็นได้จากกระแสต่อต้านของชาวไทยบางคนในโซเชียลมีเดียที่ถามคำถามเชิงประชดว่า ทำไมไม่ให้ผู้ลี้ภัยไปอยู่ในบ้านของตัวเองเสียเลยล่ะ
องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงได้จัดกิจกรรมชักชวนผู้ลี้ภัยที่อยู่ในประเทศไทยมาใช้ชีวิตร่วมกับเยาวชนไทยเป็นเวลา 3 วันเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลาย เมื่อวันที่ 12-14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เล่าว่า งาน Diversity Workshop ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 นี้ เป็นหนึ่งในความพยายามที่จะช่วยคนทั่วไปทำความเข้าใจเรื่องผู้ลี้ภัยที่มากกว่าการทำคอนเทนต์ หรือทำสื่อ โดยนำคนไทยและผู้ลี้ภัยมาอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่แค่เพื่อทำความเข้าใจและรู้จักกัน แต่อยากให้พวกเขามีส่วนในการช่วยรณรงค์เรื่องผู้ลี้ภัย ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จก้าวแรกในการผลักดันเยาวชนให้เข้าใจผู้ลี้ภัยมากยิ่งขึ้น
วิธีการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการทั้งผู้ลี้ภัยและเยาวชนชาวไทยนั้นจะคัดเลือกจากใบสมัครที่พวกเขาเขียนเรื่องราวบอกเล่าว่าทำไมถึงอยากเข้าร่วมโครงการนี้ โดยคำนึงถึงความหลากหลายทั้งทางเชื้อชาติ เพศ และแนวความคิด ส่วนกิจกรรมในโครงการจะเน้นให้ทุกคนได้ร่วมสนุก เช่น การจัดทริปที่กุฎีจีน ทำกับข้าวแลกเปลี่ยนกัน
ปิยนุชเล่าต่อด้วยแววตาเปื้อนยิ้มว่า “การทำค่ายเล็กๆ นี้ มีผู้เข้าร่วมอย่างน้อย 30 คน พวกเขาเปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ซึ่งช่วยกระจายความคิดเห็นที่ว่า เรื่องนี้ไม่โอเคเลยที่จะมองผ่านและพวกเราอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ที่อยากให้เลิก stereotype ผู้ลี้ภัย อยากให้เห็นถึงความหลากหลายและความสามารถ รวมถึงทักษะที่พวกเขาถูกปิดกั้นจากการต้องลี้ภัย”
นอกจากนี้ ปิยนุช ยังเสริมว่า ความเข้าใจในเรื่องของผู้ลี้ภัยเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องร่วมกันจัดการ Diversity Workshop ครั้งนี้ทำให้เห็นว่าหากมีใครหรือหน่วยงานใดช่วยกันสร้างพื้นที่ที่รวมความหลากหลายเอาไว้ ก็สามารถเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจจากคนที่สนใจมาร่วมงานไปสู่สังคมของตนเองได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ยังคงมีหน้าที่สำคัญในการจัดการปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปัจจุบันที่ประเทศไทยไม่รับรองสถานะของผู้ลี้ภัย ทำให้พวกเขาไม่มีสถานะ ไม่สามารถทำงานได้ โดยอย่างน้อยอยากให้รัฐบาลคุ้มครองชีวิตผู้ลี้ภัยด้วยการไม่ส่งกลับประเทศในขณะที่เขารอไปประเทศที่ 3 อย่างกรณีที่ไทยให้ที่พักพิงแก่เจมมี่ ชายอายุ 19 ปี ผู้ลี้ภัยชาวเอเด ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศเวียดนาม ปัจจุบันเขาได้รับสถานะผู้ลี้ภัยแล้วและกำลังรอไปประเทศที่ 3
เจมมี่เติบโตมาในครอบครัวและหมู่บ้านที่นับถือศาสนาคริสต์ แต่ในโรงเรียนที่เขาอยู่ ไม่มีชนกลุ่มน้อยคนใดมีศาสนา และไม่มีใครในโรงเรียนนับถือศาสนาคริสต์ เพื่อนๆ จึงล้อเลียนการนับถือศาสนาของเขา ซึ่งแรงกดดันนี้มีที่มาจากการกวาดล้างคริสตชนในประเทศเวียดนาม เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐเห็นว่าคนเหล่านี้อาจเป็นภัยต่อรัฐบาลได้ในอนาคต
เจมมี่เล่าให้ฟังต่อว่า มีผู้นำในโบสถ์หลายคนที่เป็นเพื่อนของพ่อเสียชีวิต โดยสงสัยว่าเกิดจากฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ เพียงเพราะพวกเขาไม่ยอมเปลี่ยนศาสนาตามที่รัฐบาลบอก
ตอนอายุ 15 ปี พ่อและแม่ส่งเจมมี่มาที่ประเทศไทย โดยไม่ได้บอกเหตุผลอย่างชัดเจน บอกเพียงว่าอยากให้ลูกอยู่ในพื้นที่ที่ให้โอกาส ทั้งโอกาสในการประกอบอาชีพและโอกาสในการนับถือศาสนา เพราะในประเทศเวียดนามนั้น ถือว่าการนับถือศาสนาคริสต์คือการทำงานให้กับอเมริกา ฝรั่งเศส เพื่อต่อต้านกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเวียดนาม ด้วยความที่สภาพการเมืองเป็นแบบนี้ยิ่งส่งผลให้คนในประเทศเวียดนามไม่มีสิทธิสงสัยและตั้งคำถามต่อรัฐบาล
ตอนนี้เจมมี่ทำงานพาร์ตไทม์เป็นล่ามให้กับองค์กรที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในเมืองไทย และขณะที่ว่างจากการทำงาน เจมมี่ก็จะศึกษาข้อมูลเรื่องสิทธิมนุษยชนและกฎหมายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย เขาย้ำว่า แม้ตัวของเขาจะอยู่ที่ประเทศไทย แต่เขาก็ยังรักบ้านเกิด เพียงแต่เขาไม่สามารถกลับประเทศได้
“ตอนนี้กลับไปไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่ากลับไปจะมีอะไรเกิดขึ้นกับเจมมี่ เราอยากกลับประเทศมาก ไม่อยากไปอยู่ประเทศอื่น แต่ก็ไม่กล้ากลับ เราเป็นผู้ลี้ภัย ก็รอไปเรื่อยๆ อย่างนี้ แล้วก็อธิษฐาน หวังว่าในอนาคตถ้าสถานการณ์ของประเทศมันเปลี่ยนไปแล้ว ก็อยากกลับไปทำงาน อยากเป็นทนายความเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน”
เจมมี่เล่าให้ฟังอีกว่า “สมัยก่อนชนกลุ่มน้อยมีดินแดนของตัวเอง รัฐบาลเวียดนามเคยสัญญาว่าถ้าเราเข้าร่วมกับเวียดนามแล้ว เขาจะให้สิทธิในการครอบครองที่ดินแก่เรา แต่สุดท้ายพวกเราก็ไม่ได้สิทธินั้น เขายึดที่ดิน ประหัตประหารศาสนา เราเชื่อใจเขาง่ายเกินไป”
สุดท้ายนี้ ถ้าจะให้เจมมี่พูดคุยกับรัฐบาลของเวียดนาม เขาก็อยากจะบอกว่า “ หยุดประหัตประหารชุมชนของเรา เพราะว่าเราก็มีเชื้อชาติเวียดนามเหมือนกัน เป็นมนุษย์เหมือนกัน เราควรมีสิทธิที่จะนับถือศาสนา เราอยากให้เขายอมรับว่าชนกลุ่มน้อยก็เป็นเจ้าของที่ดินเช่นกัน”
ไม่เพียงเรื่องราวชีวิตของเจมมี่ที่น่าสนใจ แต่ลองมาฟังเรื่องราวของ โรส พิมพ์ภัทรา รักเดช นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ อาสาสมัครผู้ลี้ภัยจากแอมเนสตี้ ที่เล่าให้ฟังว่า เธอได้เข้าร่วมงาน Diversity Workshop ในครั้งที่ 2 ปี 2018 และกลายเป็นอาสาสมัครผู้ลี้ภัยตั้งแต่ตอนนั้น
เธอสนใจเรื่องผู้ลี้ภัยขณะที่เธออยู่ ม.6 โรสเห็นภาพข่าวผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในเรือ จากนั้นความสงสัยก็ผุดขึ้นว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับเรื่องนี้ เขาได้จัดการเรื่องนี้ไหม และความสงสัยดังกล่าวก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เรียนคณะรัฐศาสตร์ ในตอนนั้นโรสเข้าใจเรื่องราวของผู้ลี้ภัยแค่ในเชิงกฎหมาย ยังไม่ได้เข้าใจความเป็นมนุษย์เท่าไร เมื่อได้มาเป็นอาสาสมัคร ก็ทำให้มองความจริง มองความเป็นชีวิตมากขึ้น จากการพูดคุยกับผู้ลี้ภัย
“โรสคิดว่าเราไม่ควรตัดสินเขาแค่มุมมองทางกฎหมาย และในความเป็นจริง ผู้ลี้ภัยไม่ได้อยากจะจากบ้านมา การที่ตัดสินว่าเขาทำผิดกฎหมาย เราว่ามันไม่แฟร์กับเขา ใครๆ ก็อยากมี second chance ในการมีชีวิตอยู่”
แม้ว่าโรสเพิ่งได้มาทำอาสาสมัครได้ปีกว่าๆ แต่เธอก็นำความรู้นี้มาใช้ขณะที่ฝึกงานอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศ กองการสังคม ฝ่ายการโยกย้ายถิ่นฐาน เธอชี้ว่า การฝึกงานในกระทรวงการต่างประเทศนี้เป็นการเสริมมุมมองกันจากการทำงานของรัฐและอาสาสมัคร ได้รู้เรื่องของอนุสัญญาต่างๆ และการปฏิบัติตัวต่อผู้ลี้ภัยเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
“ยอมรับตรงๆ เลยว่า ก่อนมาเป็นอาสาสมัคร เห็นว่าประเทศไทยไม่ทำอะไรสักอย่างเลย แต่พอมาทำงานก็เห็นว่าเขาทำงานกัน คนที่มาโจมตีในโซเชียลมีเดียเขาก็คงไม่รู้ว่าไทยทำเยอะนะ แต่มันมีหลายขั้นตอน หลายกระบวนการ ซึ่งต้องใช้เวลา การสร้างความเข้าใจเป็นเรื่องสำคัญมากในประเทศเรา”
การทำงานร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนแอมเนสตี้และการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ทำให้เธอเปิดกว้างทางความคิดและรับฟังคนอื่นมากขึ้น มีหลายเรื่องที่เธอไม่เห็นด้วยแต่ก็จะรับฟังไว้ ทำให้โรสได้ข้อคิดหลายอย่างจากผู้ลี้ภัยจริงๆ
“เรามองว่าผู้ลี้ภัยเขาเก่งมาก ข้ามน้ำข้ามทะเลมา ไม่รู้ว่าจะโดนจับตัวเมื่อไร ปัญหาที่เขาเจอมันใหญ่มากๆ เมื่อเทียบกับเรา และนี่ก็เป็นแรงใจหนึ่งให้เราต่อสู้กับปัญหาต่อไป”
Tags: เวียดนาม, ผู้ลี้ภัย, TheMoJu