ชื่อของ สยาม ธีรวุฒิ ปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 หลังจาก ‘เพียงดิน รักไทย’ ผู้ลี้ภัยคนหนึ่งแพร่กระจายข่าวผ่านช่องทางยูทูบว่า ‘สยาม’ และ ‘ชูชีพ ชีวะสุทธิ์’  หรือ ‘ลุงสนามหลวง’ นักจัดรายการวิทยุใต้ดินชื่อดัง พร้อมผู้ติดตามอีกคนหนึ่ง ถูกจับกุมตัวที่เวียดนาม และถูกส่งตัวกลับไทยแล้วในวันที่ 8 พ.ค.

ความหวาดกลัวว่าผู้ลี้ภัยไทยอาจสูญหายเกิดขึ้น เพราะเคยมีกรณีสูญหายและเสียชีวิตเกิดขึ้นแล้วจริงๆ รายงานข่าวระบุว่า มีผู้ลี้ภัยอย่างน้อย 2 รายที่สูญหายในช่วงปี 2559-2560 และอย่างน้อย 2 รายที่ถูกฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยมและพบศพในแม่น้ำโขง ส่วนอีก 1 รายคือ สุรชัย แซ่ด่าน ยังไม่พบตัวจนปัจจุบัน  (อ่านที่นี่)

กัญญา ธีรวุฒิ แม่ของสยาม ตระเวนยื่นหนังสือตามหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอให้ตรวจสอบเรื่องนี้ ทั้งตำรวจและทหารต่างปฏิเสธการควบคุมตัว แต่ครอบครัวยังคงกังวลใจ เนื่องจากข่าวต้นทางระบุวันเวลาที่ชัดแจ้ง และยังปรากฏภาพพาสปอร์ตปลอมที่มีภาพบุคคลทั้งสามคนอย่างถูกต้อง

“แม่แค่อยากรู้ว่าเขาปลอดภัยไหม และอยู่ที่ไหน” กัญญากล่าว

“รัฐบาลไทยควรเปิดเผยสถานที่ (ควบคุมตัว) ของชูชีพและเพื่อนอีก 2 คน และอนุญาตให้สมาชิกครอบครัวและทนายความเข้าพบพวกเขา” แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของ Human Rights Watch กล่าว

สยามเป็นเพียงคนหนุ่มที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง  และต้องออกจากประเทศตอนอายุ 29 ปี ภายหลังการรัฐประหาร 2557 เพราะมีการรื้อฟื้นทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 เหตุแห่งคดีคือ ละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า ละครย้อนยุคออกแนวตลกโปกฮาซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนบางกลุ่ม และทำให้พวกเขาแจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 112 ไว้ในปี 2556 ท้ายที่สุดผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำละครอย่างภรณ์ทิพย์ มั่นคง และปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม วัย 25 ปีถูกจับกุมตัวและต้องติดคุกอยู่ 2 ปีเต็ม

หนุ่มแว่นเด็กเนิร์ด นักศึกษา นักกิจกรรม

สยามเป็นคนกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ทำงานที่บ้านในกิจการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ขณะเดียวกันก็ลงเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แว่นตาหนาเตอะที่เขาใส่ บุคลิกสุภาพ การพูดด้วยเสียงเรียบๆ โทนเดียว คือจุดเด่นของเขา

เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อดีตสมาชิกกลุ่มกิจกรรม “ประกายไฟ” ซึ่งเคยพบปะพูดคุยกับสยามในช่วงที่ทำกิจกรรมร่วมกันเล่าถึงสยามว่า เขาเป็นคนสุภาพและมีความรู้มาก โดยเฉพาะเรื่องเขมรที่สนใจจนเข้าขั้นหมกมุ่น สยามเจอสมาชิกกลุ่มประกายไฟในสมัยที่ยังเรียนรามคำแหงเมื่อหลายปีก่อน ด้วยความที่เขาไม่ค่อยมีเพื่อนที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องความรู้ของเขาได้มากนัก จึงอยากเข้าร่วมกลุ่มและร่วมทำกิจกรรมต่างๆ

กลุ่มประกายไฟก่อตั้งราวปี 2551 ประกอบด้วยคนหนุ่มสาวที่กระตือรือร้น พวกเขาเคยเจอกันก่อนหน้านั้นในช่วงทำกิจกรรมนักศึกษา และเคลื่อนไหวประเด็นการต่อต้านมหาวิทยาลัยนอกระบบ การต่อต้านสงครามอิรัก ฯลฯ จากนั้นหลังการรัฐประหารปี 2549 หนุ่มสาวเหล่านี้ร่วมต่อต้านการรัฐประหาร แม้หลายคนจะเคยชุมนุมร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขับไล่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร แต่เมื่อปรากฏข้อเรียกร้องมาตรา 7 นายกพระราชทาน พวกเขาก็เลิกเดินร่วมทาง

เก่งกิจเล่าว่า กิจกรรมของประกายไฟนอกเหนือจากต่อต้านรัฐประหาร ส่วนใหญ่แล้วเป็นการทำกิจกรรมกับแรงงาน หนุ่มสาวเหล่านี้ทำกลุ่มศึกษากับแรงงานตามโรงงานเพื่อให้พวกเขาเข้าใจสิทธิของตนเองและเจรจาต่อรองสิทธิต่างๆ กับนายจ้าง รวมถึงผลักดันระบบรัฐสวัสดิการในทางการเมือง ในช่วงที่คนงานโรงงานไทรอัมพ์กำลังจะถูกเลิกจ้าง 1,900 คน กลุ่มประกายไฟก็มีบทบาทสำคัญในการร่วมต่อสู้จนเกิดการชุมนุมประท้วงยาวนานที่กระทรวงแรงงาน

ศรีไพร นนทรีย์ แรงงานนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิแรงงานมาตั้งแต่อายุ 18 ปีเมื่อครั้งเป็นคนงานในโรงงานเย็บผ้า และร่วมผลักดันระบบสวัสดิการต่างๆ โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงบทบาทของสยามว่า

สยามเป็นนักศึกษาคนหนึ่งที่เคยช่วยเราทำงานกลุ่มศึกษาให้กับคนงาน และเวทีแลกเปลี่ยนกรรมกรนักศึกษา สยามเป็นคนน่ารักช่วยเหลือทุกงาน เดินทางไปทุกที่ที่มีกิจกรรมของคนงาน ไม่ว่าจะไกลหรือยากลำบากขนาดไหน แม้แต่งานศพของคนงานที่สยามไม่เคยรู้จักสยามก็ไป ล่าสุดก็งานศพของพี่ตุลาแถวๆ อ้อมน้อย อยู่ๆ เรามาจากกันเพราะน้องต้องลี้ภัยแต่ก็ยังหวังว่าวันหนึ่งเราจะได้พบกันอีก เมื่อวานเห็นข่าวว่าน้องโดนจับและถูกส่งตัวมาไทย แต่ทางการไทยปฏิเสธการรับรู้ใดๆ สิ่งที่เกิดขึ้นมันทำให้เรานอนไม่หลับ และคิดว่าไม่สามารถที่จะนิ่งเฉยรอๆๆ แบบไม่รู้ว่าจะได้ยินข่าวว่าสยามปลอดภัยเมื่อไหร่ เลยจะขอบอกกันไว้ตรงนี้เลยว่าพี่จะไม่ยอมให้น้องชายที่พี่รักหายไปเฉยๆ หรอกนะ ไม่มีวันยอม”

ระหว่างเส้นทางการทำกิจกรรมร่วมกับประกายไฟ สมาชิกบางส่วนที่เชี่ยวชาญด้านการละครได้แยกตัวออกไปเน้นงานศิลปวัฒนธรรม เนื่องจากเห็นว่าละครเป็นเครื่องมือที่คนชั้นล่างสามารถใช้เผยแพร่แนวคิดต่างๆ ได้ เก่งกิจเล่าว่า สยามและเพื่อนกลุ่มนี้จึงเริ่มเดินสายจัดเวิร์กช้อปการทำละครง่ายๆ ให้กับสหภาพแรงงานต่างๆ

จากนักกิจกรรม สู่นักแสดงจำเป็น และกลายเป็นผู้ลี้ภัย

สำหรับการก้าวสู่การแสดงละครเวทีครั้งแรกของสยามนั้น เป็นไปเพราะโดนบังคับ

“พอดีนักแสดงขาด เลยไปบังคับให้เขามาเล่น และเราคิดว่าละครจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้เขาในการแสดงออกและปฏิสัมพันธ์กับคนมากขึ้น แล้วเขาก็ทำได้ดี” เพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มละครเล่า

“เขาไม่มีความคิดรุนแรงเลยในตอนนั้น เป็นคนประนีประนอมสูง เป็นมิตร จริงใจและขี้กลัว ตอนที่มีคนโดนจับเพราะเรื่องละคร เพื่อนห่วงเขามากที่สุด เพราะเขาไม่พร้อมเลยกับการติดคุก เขาไม่พร้อมจะเผชิญกับความเลวร้ายขนาดนั้น เรากลัวเขาโดนซ้อม กลัวเขาตายในคุก” เพื่อนเล่า

สำหรับข่าวคราวของสยามในครั้งนี้ เก่งกิจให้ความเห็นว่าเขารู้สึกเศร้ามาก

“รู้สึกเศร้าในหลายเรื่อง ไม่ใช่สยามคนเดียว คนที่เรารู้จักหลายคนที่ต้องหลบหนี ติดคุก คนหลากหลายรุ่นที่เผชิญชะตากรรมไม่ต่างกัน ถ้ามองจากเคสของสยาม เขาไม่ได้เป็นคนที่มีความคิดรุนแรงตอนที่เราเจอเขา เขาเป็นเพียงคนที่มีความสนใจในประเด็นทางสังคม ต้องการหาความรู้ ต้องการถกเถียง อยากให้สังคมดีขึ้น แต่สถานการณ์ของเผด็จการได้เบียดขับคนจำนวนมากให้ต้องออกไป เขาไม่ได้เกิดมาเป็นภัยกับสังคม แต่บรรยากาศทำให้เขาเป็นภัย เขาไม่ได้อยากออกนอกประเทศ แต่เขาอยู่ไม่ได้เพราะต้องเผชิญกับกฎหมายที่อยุติธรรม ความเจ็บปวด ความยากลำบากที่เขาเจอทำให้เขาวิจารณ์ระบบมากขึ้น อย่างน้อยก็มากกว่าพวกเรา”

“เราควรตั้งคำถามมากกว่าว่า เงื่อนไขทางสังคมอะไรที่ทำให้คนจำนวนมากที่มีศักยภาพต้องอยู่ในคุกบ้าง ต้องออกนอกประเทศบ้าง มันเป็นการทำลายการอยู่ร่วมกันอย่างสิ้นเชิง” เก่งกิจกล่าว

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนามนั้น เมื่อต้นปี 2562 ก็มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวเวียดนาม ชื่อ เจือง ซุย เญิ๊ต (Truong Duy Nhat) สื่อมวลชนอิสระ ผู้จัดรายการของสำนักข่าวเรดิโอ ฟรี เอเชีย (Radio Free Asia) ที่เดินทางมายื่นคำขอที่ลี้ภัยกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees – UNHCR) ที่กรุงเทพฯ แต่กลับถูกกลุ่มชายนิรนามจับตัวไป และต่อมาก็มีรายงานว่า เขาถูกส่งตัวกลับไปเวียดนาม โดยถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำที่ฮานอย

กรณีของสยาม ยังไม่มีใครทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเขาในเวลานี้ ครอบครัวของสยามยังคงจะติดตามหาตัวเขาต่อไป ด้วยความหวังว่า สยามและคนอื่นๆ จะยังปลอดภัย และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติ

 

หมายเหตุ: บทความโดย กรกช เพียงใจ

Tags: , , ,