แรกอ่านชื่อเรื่อง อย่าเพิ่งคิดว่านี่เป็นนวนิยายแนวเมจิคัลเรียลลิสม์
วิธีเดินทางกับแซลมอน เป็นหนังสือรวมความเรียงของ อุมแบร์โต เอโค (Umberto Eco) นักเขียนชาวอิตาเลียน ที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร นำมาแปลจากภาษาอิตาเลียนเป็นภาษาไทยโดย นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ สำนักพิมพ์อ่านอิตาลี
อุมแบร์โต เอโค เป็นนักเขียนที่เขียนงานวิชาการในสาขาปรัชญา สัญศาสตร์ ฯลฯ หลายชิ้น และวรรณกรรมชิ้นเอกที่แปลเป็นไทยคือ สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ (Il nome della rosa) หนังสือหนาราว 700 กว่าหน้า ซึ่งสำนักพิมพ์ไลต์เฮาส์พับลิชชิงเคยนำมาจัดพิมพ์เมื่อปี 2553 และเป็นหนังสือที่คนรักวรรณกรรมมักซื้อติดชั้นไว้
หากใครเคยอ่านหรือเคยได้ยินชื่อนวนิยายดังกล่าว ก็คงพอรู้ว่างานของเอโคนั้นเป็นงานที่ดูจริงจังแต่อ่านได้หลายระดับ ตั้งแต่ระดับอ่านเป็นนวนิยายรหัสคดี ไขปริศนาทั่วไป จนถึงนวนิยายที่เป็นเรื่องสืบสวนสอบสวนอิงประวัติศาสตร์ที่ผสมผสานสัญศาสตร์ พระคัมภีร์ไบเบิล และทฤษฎีทางวรรณกรรมเข้าด้วยกัน
ความหนาและความหนักแน่นของเรื่อง อาจทำให้ใครหลายคนผ่อนเวลาที่จะอ่านเริ่มนวนิยายเล่มเขื่องนั้นไปก่อน แม้จะบรรจุไว้ในรายชื่อหนังสือที่ต้องอ่านก่อนตายก็ตาม
แต่ อุมแบร์โต เอโค ก็เป็นนักเขียนที่มีอารมณ์ขันและชอบ ‘ความสนุก’
ในงานเสวนา ‘How to Read Umberto Eco’ ที่ร้านหนังสือก็องดิด ภาณุ ตรัยเวช ได้เสนอความเห็นในฐานะนักเขียนที่ติดตามผลงานของเอโคมาเกือบทุกเล่มว่า
“จริงๆ แล้วเอโคเป็นคนมีอารมณ์ขัน หนึ่งในนักเขียนที่เอโคชอบมากๆ คือ เอียน เฟลมมิง และ อกาธา คริสตี เราอาจจะรู้สึกกลัวงานเขา แต่เขาเองเป็นคนที่ชอบอ่านนิยายนักสืบ ถ้าเทียบกับนักเขียนคนอื่นที่ผมชอบ เช่น มิลาน คุนเดรา ซึ่งอาจจะมีความโพสต์โมเดิร์น เล่นกับขนบวรรณกรรม แต่เอโคเป็นคนที่น่าจะชอบดูอะไรดาดๆ แบบฮอลลีวูด และสะท้อนออกมาในงานเขียนของเขาที่ไม่ปฏิเสธความสนุก แต่ก็เป็นงานที่อวลด้วยเนื้อหาอันหนักแน่น อย่าง สมัญญาฯ ที่เราเห็นว่าน่ากลัว แต่มันเป็นหนังสือที่ตลกในแบบของมัน”
ส่วนหนังสือ วิธีเดินทางกับแซลมอน นั้น นอกจากจะบางกว่ามากแล้ว เอโคยังปล่อยพลังความสนุก (ในแบบของเขา) ออกมาเต็มที่ เล่าเรื่องสามัญในชีวิตประจำวันด้วยการบรรยายเกินจริง หรือเสียดสี ล้อเลียนพฤติกรรมที่น่าเหยียดหยาม ให้ออกมาเป็นเรื่องขำ
หน้าปกเล่มนี้ยังใช้ภาพวาดการ์ตูนน่ารักบนพื้นหลังสีหวานละมุน ชักชวนคนอ่านที่ไม่ใช่สายแข็งให้ลองเปิดใจกับเอโค
ณขวัญ ศรีอรุโณทัย ผู้ออกแบบ กล่าวว่า “ผิดคาด เพราะตอนเล่ม สมัญญาฯ คิดว่าเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ เครียดๆ เลยไม่ได้สนใจ แต่พออ่านเล่มนี้ เขามีอารมณ์ขัน สนุกดี ก็เลยออกแบบปกออกมาให้เฟรนด์ลี ผมรู้สึกว่างานเขียนประเภทบทความมันจะเปลือยความคิดของผู้เขียนได้ดีกว่างานวรรณกรรม” เขายังเสริมอีกว่าบทความแต่ละบทซึ่งมีเนื้อหาสั้นๆ และมีความเป็น ‘การ์ตูนคอมมิก’ จึงดลใจให้เลือกใช้ภาพวาดการ์ตูนแทนตัวเอโคบนปก
‘วิธีเดินทางกับแซลมอน’ เป็นชื่อเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งที่เล่าเรื่องราวของเอโค หลังจากซื้อแซลมอนมาระหว่างการเดินทาง และจำเป็นต้องถนอมรักษาไว้ในที่เย็น โรงแรมหรูซึ่งดูเหมือนจะเป็นที่พึ่งที่ไว้ใจได้ กลับลงเอยเป็นต้นเหตุที่ทำให้แซลมอนเสีย ด้วยเหตุผลอันแสนตลกแบบน่าเอามือแปะหน้าผากแรงๆ
และยังตามมาด้วย ‘วิธี’ ทำสิ่งต่างๆ ในชีวิต ที่อ่านแค่ชื่อแล้วรู้เลยว่าจะต้องมีความกวนและเย้ยหยัน เช่น วิธีไม่รู้เวลา วิธีปฏิบัติตัวกับคนคุ้นหน้า วิธีพูดถึงสัตว์ วิธีใช้คนขับแท็กซี่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้แม้จะดูเกินจริง แต่ก็อาจเป็นไปได้ แสดงให้เห็น “ความแอบเสิร์ดของชีวิตสมัยใหม่” ซึ่งบางทีเราเองก็เจอและงง จนต้องกลับมาทบทวนตรรกะตัวเองอีกครั้ง
ตัวอย่างมุกเสียดสีของเอโค เช่นในเรื่อง ‘วิธีไม่คุยเรื่องฟุตบอล’
ผมไม่ชอบแฟนฟุตบอลเพราะพวกเขามีลักษณะนิสัยแปลกๆ กล่าวคือ พวกเขาไม่เข้าใจว่าทำไมเราถึงไม่เป็นแฟนฟุตบอล และดึงดันจะคุยกับเราเหมือนเราเป็น ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง … ผมเป่าขลุ่ยรีคอร์เดอร์ … ทีนี้สมมติว่าผมอยู่บนรถไฟ และถามคุณผู้ชายที่นั่งตรงข้ามกับผมเพื่อชวนคุยว่า “คุณได้ฟังซีดีล่าสุดของฟรานซ์ เบริกเกินไหมครับ” / “หือ อะไรนะครับ” / “ผมหมายถึงเพลง ปาวาเน ลาคริเม น่ะ ผมว่าช่วงแรกมันอืดไปหน่อย”
หรืออย่างในเรื่อง ‘วิธีพักร้อนอย่างชาญฉลาด’ ซึ่งล้อเลียนวิธีการเขียนแนะนำหนังสือที่คอลัมนิสต์ต่างๆ ชอบเขียนกันในหน้าหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร
สำหรับคนหนุ่มที่จะลองเดินทางด้วยตั๋วรถไฟชั้นสองใบเดียวเที่ยวได้ทั่วยุโรป และต้องอ่านตรงทางเดินซึ่งคนแน่นขนัด … อาจพกหนังสือของรามูซีโออย่างน้อยสามเล่ม … อ่านโดยถือเล่มหนึ่งด้วยสองมือ อีกเล่มหนีบไว้ใต้แขน เล่มที่สามหนีบไว้ที่ต้นขา การอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเดินทางระหว่างเดินทางเป็นประสบการณ์ที่เข้มข้นและน่าเร้าใจ
(หมายเหตุ: เครื่องหมาย “…” เป็นการละข้อความที่คัดมา)
อารมณ์ขันของเอโคจะมีลักษณะประมาณนี้ กล่าวคือ เล่าเรื่องไปเรื่อยๆ เรียบนิ่งแต่คอยหาจังหวะหยอดถ้อยคำเสียดสี หากอ่านแล้วอินก็คงตบเข่าฉาดเพราะถูกใจ หรือถ้าไม่ชอบก็คงเหม็นเบื่อมุกปัญญาชนไปเลย
สันติสุข กาญจนประกร บรรณาธิการหนังสือ กล่าวว่า “เล่มนี้มีความเป็นมนุษย์ค่อนข้างเยอะ คือคนเราเห็นอะไรขวางหูขวางตาก็จะบ่นออกมา เล่มนี้ก็เหมือนกัน แต่เป็นการบ่นแบบมีมุมมองเฉียบคม ตลกขบขัน หรือไม่ก็ไร้สาระไปเลย เราทุกคนมีสิทธิบ่นในสิ่งที่อึดอัดคับข้องใจ โดยที่ไม่ต้องถูกไล่ให้ออกไปไหน พูดในภาษาสมัยใหม่ เล่มนี้เขาก็ถือเป็นนักแซะ แต่เป็นนักแซะที่มีกระดูกสันหลังที่แข็งแรง เป็นคนที่อ่านหนังสือเยอะ รู้เยอะ เมื่อมองกลับมาที่สื่อในยุคนี้ สำนักข่าวต่างๆ ที่ไม่ใช่ข่าวรายวัน แต่เป็นข่าวที่ต้องใช้มุมมอง หากได้อ่านหนังสือเล่มนี้ก็น่าจะช่วยได้ ต้องมีมุมมองที่เฉียบคมจึงจะยืนระยะได้”
“มีส่วนที่น่าทึ่งก็คือ บางเรื่องเขากล้าพูด เช่นเรื่องเด็กๆ เห็นหมีอยู่ในบ่อแล้วโดนหมีแทะจนตาย เขาเขียนว่า มันเกิดอย่างนี้ขึ้นเพราะเรานำหมีมาสร้างเป็นการ์ตูนแล้วทำให้มันน่ารักมากเกินไป ซึ่งถ้าเรานำข่าวนี้มาเขียนบทความในลักษณะนี้ ก็คงโดนยำแน่เลย” ณขวัญกล่าวเสริม
แต่เอโคอาจไม่ได้ตลกสำหรับทุกคน เพราะฉะนั้น แม้เราจะตั้งความหวังว่าเขาจะเป็นเพื่อนสายฮาที่แจกมุกในทุกวงสนทนา แต่ก็อาจมีบางคนที่ไม่ขำ และเรียกมันว่ามุก ‘เอิ่ม’ สุ่มเสี่ยงระหว่างมุกปัญญาชนอันหลักแหลม น่าตบมือให้แรงๆ กับมุกของเด็กเนิร์ดที่เข้าใจเองอยู่คนเดียว
อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าการเอนหลังอ่าน วิธีเดินทางกับแซลมอน จะเป็นการใช้วันหยุดอย่างชาญฉลาดที่น่าลองเปิดใจ
Tags: อ่านอิตาลี, How to Travel with a Salmon, Umberto Eco