“เพราะสิ่งที่ดูเหมือนไม่สมบูรณ์แบบไม่ได้หมายว่ามันจะต้องไม่สมบูรณ์แบบ” คือแนวคิดที่มาของชื่อ Ugly Delicious สารคดีอาหารทาง Netflix ที่มี เดวิด ชาง (David Chang) ผู้เป็นทั้งเชฟมิชลินสตาร์ เชฟรางวัล James Beard และเจ้าของอาณาจักร Momofuku ควบตำแหน่งทั้งคนเดินเรื่องหลักและเอ็กเซ็กคูทีฟโปรดิวเซอร์
เดิมทีคำนี้เป็นแฮชแท็กที่ชางมักจะใช้บ่อยๆ ในอินสตาแกรมของเขา เวลาโพสต์รูปอาหารที่ห่างไกลจากตำแหน่งขวัญใจช่างภาพ แต่อร่อยจนทำให้อยากกินอีกบ่อยๆ
เมื่อมาเป็นรายการ ทั้งแปดตอนของ Ugly Delicious ก็ทำหน้าที่ประกาศถึงจุดยืนที่บอกว่า อาหารดีๆ ไม่จำเป็นต้องดูดีเสมอไป ผ่านเทคนิคการเล่าเรื่องที่มีทั้งสไตล์การถ่ายทำแบบ Cinéma Vérité, แอนิเมชัน, ฟุตเทจเก่า, ภาพประกอบแบบลายเส้น, สคริปต์แบบซิตคอม ไปจนถึงการเซ็ตฉากให้เป็นเหมือนการดีเบตระหว่างสองขั้วความคิดที่แตกต่าง เมื่อบวกกับมุมกล้องและสไตล์ภาพที่ไม่ได้เอาใจสาย Food Porn แล้ว องค์ประกอบทั้งหมดนี้ทำให้ Ugly Delicious เป็นรายการที่ฉีกไปจากสารคดีอาหารโดยทั่วไป และทั้งที่รู้ว่าธีมหลักของแต่ละตอนคือเรื่องอะไร ไม่ว่าจะเป็นธีมพิซซ่า ทาโก้ ไก่ทอด หรือข้าวผัด แต่คนดูจะไม่สามารถคาดเดาได้ว่า เทคนิคในการเล่าเรื่องของตอนนั้นจะเป็นแบบไหน
ที่มากไปกว่านั้นคือ คนดูอย่างเราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าแง่มุมใดเกี่ยวกับอาหารชนิดนั้นๆ ที่จะถูกหยิบมานำเสนอ และในหลายตอน สารคดีเรื่องนี้ก็ยังพาเราไปไกลกว่าเรื่องอาหาร แต่เดินทางไปสำรวจประเด็นทางสังคมแบบลงลึกอีกด้วย อย่างเช่นเรื่องการแบ่งแยกทางเชื้อชาติและสถานะของการเป็นผู้อพยพ เหมือนกับที่ มอร์แกน เนวิลล์ (Morgan Neville) ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์อีกคนเคยอธิบายถึงวิธีการเล่าเรื่องของรายการนี้ไว้ว่า “เพราะอาหารทุกอย่างมีเรื่องเล่า”
นอกจากชางและเนวิลล์แล้ว ทีมงานเบื้องหลังอีกคนที่ต้องพูดถึงก็คือ ปีเตอร์ มีฮาน (Peter Meehan) นักเขียนเรื่องอาหาร ที่เป็นทั้งเอ็กเซ็กคูทีฟโปรดิวเซอร์และคนที่ร่วมเล่าเรื่องผ่านหน้าจอในหลายตอน ชางและมีฮานรู้จักกันตั้งแต่ฝ่ายหลังยังเป็นนักวิจารณ์อาหารประจำ The New York Times ก่อนที่ในปี 2011 ทั้งคู่จะจับมือกันทำ Lucky Peach นิตยสารอาหารที่สื่อเมืองนอกหลายเจ้ายกให้เป็นนิตยสารที่ ‘โคตรเท่’ และเป็นที่จับตามองในแวดวงสื่ออเมริกาตั้งแต่ฉบับแรกที่วางจำหน่าย เพราะเตะตาตั้งแต่ปกที่ว่าด้วยธีมราเมน แต่แทนที่จะได้เห็นราเมนชามใหญ่หน้าตาน่ากิน กลับเป็นรูปไก่ดิบทั้งตัว โชว์บั้นท้ายสีซีด ก่อนที่จะโดนจับลงหม้อเพื่อทำน้ำซุป
เนื้อหาในฉบับนั้นก็เป็นการเล่าเรื่องราเมนที่ไม่ได้อยู่แค่ที่ญี่ปุ่นหรืออเมริกา แต่ยังพาไปไกลถึงสเปน ส่วนคอนทริบิวเตอร์ที่มาร่วมสร้างรสชาติในฉบับ ก็มีทั้งนักเขียน เชฟ ช่างภาพ และนักวิทยาศาสตร์อาหาร ที่เขียนหนังสือได้น่าสนใจไม่แพ้นักเขียน ประเด็นที่เล่นในเรื่องก็ยังขยายไปถึงเรื่องหนัง ผงชูรสและ Molecular Gastronomy ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในยุคนั้น โดยมีราเมนเป็นประเด็นใหญ่ที่ครอบเรื่องราวทั้งหมดไว้
ด้านวิธีการเล่าเรื่องเองก็หลากหลายกันตั้งแต่ฉบับแรก แต่ที่เป็นไฮไลท์อย่างหนึ่งคือ การเล่าเรื่องแบบบันทึกบทสนทนา ที่ให้อารมณ์ของการแลกเปลี่ยนมากกว่าการสัมภาษณ์ โดยในฉบับนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นกันระหว่างตัวชางเองและแอนโธนี บอร์เดน (Anthony Bourdain) เชฟดัง เจ้าของรายการ Parts Unknown ซึ่งกลายมาเป็นคอนทริบิวเตอร์ขาประจำอีกคนหนึ่งของ Lucky Peach ในฉบับต่อๆ มา
การเล่าเรื่องผ่านบทสนทนานี้เองที่เป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของ Ugly Delicious เพราะมากกว่าครึ่งหนึ่งของแอร์ไทม์คือบทสนทนาซึ่งดูเหมือนมีความ Random แต่ก็เป็นความ Random ที่ยึดโยงไว้ด้วยเรื่องอาหาร ทำให้สารคดีเรื่องนี้เป็นรายการอาหารที่ต้องตั้งใจ ‘ฟัง’ พอๆ กับ หรืออาจจะมากกว่าตั้งใจ ‘ดู’ เช่นเดียวกับที่ Lucky Peach เองก็เป็นนิตยสารอาหารที่ต้องตั้งใจ ‘อ่าน’ มากกว่าจะพลิกดูแค่ภาพถ่ายชวนน้ำลายไหล
การเล่นกับธีมหลักในแต่ละตอน ทั้งในแง่ประเด็นและวิธีการเล่าเรื่องที่สร้างความแปลกใหม่ให้กับ Ugly Delicious ในทางหนึ่งก็คือวิธีคิดและสร้างงานแบบเดียวกับที่ชางและมีฮานเคยทำมาแล้วใน Lucky Peach แม้แต่การเลือกธีมที่สามารถเป็นได้ทั้งประเภทอาหารแบบเฉพาะเจาะจง อย่างเช่นธีมทาโก้ในตอนที่ 2 ของรายการและธีมเฝอในนิตยสารฉบับที่ 19 หรือธีมที่เล่นกับคอนเซปต์มากกว่าแบบธีมเรื่อง Homecooking ในตอนที่ 3 และธีมชานเมืองของฉบับที่ 23
แขกรับเชิญที่เห็นใน Ugly Delicious บางคนก็เป็นคอนทริบิวเตอร์ที่เห็นชื่อบ่อยๆ ใน Lucky Peach โดยเฉพาะ วอลเตอร์ กรีน (Walter Green) เจ้าของคอลัมน์ Taste Test ซึ่งมีความตรงไปตรงมาปนกวนตีนเป็นเอกลักษณ์ในการเทสต์อาหาร และฟูเชีย ดันล็อป (Fuchsia Dunlop) นักเขียนชาวอังกฤษที่เชี่ยวชาญในเรื่องอาหารจีน ซึ่งคนดูจะได้เห็นหน้าเธอในตอนข้าวผัดที่ชางเดินทางไปตามหาเรื่องเล่าถึงเมืองจีน
แม้แต่ตอนไก่ทอด ซึ่งเป็นตอนที่ 7 ก็เป็นเหมือนกับซับเซ็ตของ The Chicken Issue ฉบับที่ 22 ของ Lucky Peach ที่ว่ากันด้วยเรื่องของไก่ ตั้งแต่ปกหน้ายันปกหลัง และมีสกู๊ปความยาว 20 หน้าเป็นเรื่องไก่ทอดทั่วโลก แต่ใน Ugly Delicious ได้เพิ่มประเด็นที่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์และความสำคัญของเมนูนี้ที่มีต่อเรื่องเชื้อชาติเข้ามาเป็นธีมหลักในการเล่าเรื่อง
เมื่อเบื้องหลังของรายการคือวิธีคิดแบบเดียวกับการทำนิตยสาร ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงส่งผลมาถึงวิธีการเสพงานของคนดูด้วย เพราะในขณะที่หลายรายการทาง Netflix ผ่านการคิดมาแล้วว่าเหมาะสำหรับดูต่อกันได้อย่างเพลินๆ แต่ Ugly Delicious กลับเหมาะที่จะเสพแยกเป็นตอนๆ มากกว่า ด้วยหัวข้อและโทนในการเล่าเรื่องที่ไม่ต่อเนื่องกัน ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ใกล้เคียงกับการละเลียดอ่านนิตยสารแต่ละฉบับ มากกว่าอ่านเรื่องรวมเล่ม
น่าเสียดายที่ Lucky Peach ปิดตัวไปเมื่อปีที่ผ่านมา ดังนั้น สำหรับแฟนประจำของหัวนี้แล้ว Ugly Delicious น่าจะเป็นรายการที่ช่วยแก้คิดถึงนิตยสารโปรดได้บ้าง
แต่สำหรับใครที่เพิ่งรู้จักกับชางและดูสารคดีเรื่องนี้แล้วติดใจ แนะนำให้ลองหาฉบับเก่าๆ ของ Lucky Peach มาอ่านดูแล้วจะรู้ว่า ถึงจะอร่อยก็จริง แต่ Ugly Delicious ก็ยังถือเป็นแค่ออเดิร์ฟเมื่อเทียบกับปริมาณอาหารและระดับความอร่อยที่จะได้จากการอ่าน
Fact Box
เดวิด ชาง เป็นเชฟอเมริกัน เชื้อสายเกาหลี ด้วยวัย 40 ปี เขาเป็นเจ้าของร้านอาหารมากกว่า 20 ร้านภายในเครือ Momofuku ที่มีสาขาทั้งในอเมริกาและต่างประเทศ
ตอนที่อายุเพียง 29 ปี ชางได้เข้าชิงรางวัล James Beard สาขา Rising Star Chef of the Year ในปี 2006 และคว้ารางวัลสาขานี้มาได้ในปีถัดมา เขากลายเป็นขาประจำของเวทีนี้ในอีกหลายปีถัดมา ซึ่งรวมถึงการได้รางวัลในสาขา Outstanding Chef เมื่อปี 2014 ด้วย นอกจากนี้ ชื่อของเขายังเป็นชื่อที่คุ้นเคยในมิชลินไกด์ เพราะร้าน Ko ในนิวยอร์กของเขา ได้รับมิชลินสตาร์ติดต่อกันหลายปี
ในปี 2011 ชางกับนักเขียนสายอาหารอีกสองคนคือ ปีเตอร์ มีฮาน และ คริส หยิง เปิดตัว Lucky Peach นิตยสารอาหารรายสามเดือนที่มีธีมแตกต่างกันไปในแต่ละฉบับ ก่อนที่จะออกฉบับที่ 24 ซึ่งเป็นฉบับสุดท้ายเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยมีเหตุผลมาจากความไม่ลงรอยกันทางความคิดในทีมผู้ก่อตั้ง
ข้อเขียนของ เฮเลน รอสเนอร์ (Helen Rosner) ใน The New Yorker ตั้งข้อสังเกตว่า มีความเป็นไปได้ที่จริงๆ แล้วเดิมที Ugly Delicious อาจเริ่มต้นจากการเป็น Lucky Peach เวอร์ชั่นทีวีมาก่อน แต่ด้วยการปิดตัวลงของนิตยสารในช่วงที่สารคดีเรื่องนี้อยู่ในขั้นโพสต์โปรดักชั่น จึงทำให้มีการรีแบรนด์รายการออกมาเป็นชื่อและเวอร์ชั่นอย่างที่เราได้ดูกัน