สัปดาห์นี้ งานหนังสือได้เวียนมาบรรจบอีกครั้ง สำหรับผู้รักหนังสือแล้วนับเป็นโอกาสเลือกหาหนังสือน่าสนใจใหม่ๆ กลับไปอ่านและมหกรรมสูญทรัพย์ครั้งใหญ่

พอเป็นเรื่องหนังสือแล้ว คนส่วนใหญ่ก็มักมีรสนิยมต่างกันไป คล้ายๆ กับที่ต่างคนก็ต่างฟังเพลงกันคนละแนว บางคนก็ชอบหนังสือแนวสืบสวน บางคนก็เป็นคอหนังสือการ์ตูน หรือบางคนก็เป็นนิยมหนังสือความรู้วิชาการ

สัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่าชื่อประเภทหนังสือต่างๆ ที่เราจะพบเจอได้ที่งานหนังสือ มีที่มาที่ไปอย่างไร

นวนิยาย

คำที่ใช้เรียก นวนิยาย ในภาษาอังกฤษคือคำว่า novel ส่วนใหญ่ใช้เรียกเรื่องแต่งที่มีความยาวพอสมควร มีขนาดเป็นหนังสือ คำนี้แต่งขึ้นในศตวรรษที่ 17 จากคำว่า novella คำอิตาเลียนในยุคเรเนสซองส์ ซึ่งมีความหมายตามตัวว่า เรื่องที่แต่งขึ้นใหม่ ใช้เรียกเรื่องแต่งที่ยาวกว่าเรื่องสั้น แต่ไม่ยาวเท่านวนิยาย (ราชบัณฑิตบัญญัติไว้ว่า นวนิยายขนาดสั้น)

ทั้ง novel และ novella มาจากคำว่า novus ในภาษาละติน ที่แปลว่า ใหม่ แบบที่พบเจอในคำว่า innovation หรือ renovation และเป็นญาติห่างๆ กับ นว- ที่ภาษาไทยยืมมาจากภาษาบาลีสันสกฤต เช่นที่พบในคำว่า นวัตกรรม

นอกจากจะใช้เรียกนวนิยายแล้ว คำว่า novel ยังใช้เป็นคุณศัพท์ได้ด้วย หมายถึง แปลกใหม่ ไม่เคยมีมาก่อน เช่น a novel concept ก็จะหมายถึง แนวคิดแปลกใหม่ เพิ่งจะมีขึ้น

หนังสือชีวประวัติ

ภาษาอังกฤษเรียกหนังสือชีวประวัติว่า biography มาจาก bio- ที่หมายถึง ชีวิต เช่นที่เจอใน biology (ชีววิทยา) หรือ biopsy (การตัดชิ้นเนื้อเพื่อวินิจฉัย) รวมกับ -graphy หมายถึง การเขียนหรือบันทึก จึงได้ความหมายรวมว่า งานที่บันทึกประวัติชีวิตคน

เดิมทีเคยเป็นคำที่ใช้เรียกประเภทงานวรรณกรรมที่เล่าเรื่องราวชีวิตตัวละคร แต่ภายหลังนำมาใช้เรียกชีวประวัติคนที่มีตัวตนจริงๆ ปกติแล้วใช้กับหนังสือที่คนอื่นเขียนถึงคนอีกคน เช่น Steve Jobs ที่เขียนโดย Walter Isaacson

แต่ถ้าใครรู้สึกว่าชีวิตตัวเองน่าสนใจและอยากเล่าเรื่องตัวเอง และกลัวคนอื่นเล่าเรื่องชีวิตของตนแล้วบิดเบือนไปจากความจริงหรือผิดไปจากที่อยากให้ชาวโลกเข้าใจ เลยตัดสินใจชิงเขียนประวัติชีวิตด้วยตัวเอง แบบนี้ก็จะเรียกว่า autobiography หรือที่ภาษาไทยเรียก หนังสืออัตชีวประวัติ มาจากการเอาคำว่า biography มาเติม auto- ที่แปลว่า ตนเอง เช่นที่เจอใน automatic (อัตโนมัติ) หรือ automobile (รถยนต์ ยานพาหนะที่เคลื่อนที่ได้เองด้วยเครื่องยนต์ ไม่ต้องอาศัยสัตว์ลาก) เข้าไปนั่นเอง

ส่วนถ้าผู้เขียนเลือกหยิบบางแง่มุมหรือชีวิตบางช่วงมาเล่า ผูกรวมกันแบบมีธีม ไม่ได้เน้นเล่าตั้งแต่เกิดจนถึงชั่วขณะที่เขียนหนังสืออยู่ แบบนี้ก็อาจจะเรียกว่า บันทึกความทรงจำ หรือ memoir เป็นญาติกับคำว่า memory ที่แปลว่า ความทรงจำ แต่รับผ่านมาทางฝรั่งเศสเลยได้หน้าตาแบบปารีเซียงมา

นิตยสารและวารสาร

คำที่ใช้เรียกนิตยสารในภาษาอังกฤษก็คือ magazine คำนี้ผ่านหลายมือมากทั้งฝรั่งเศสและอิตาเลียนกว่าจะมาถึงภาษาอังกฤษ แต่หากสืบสาวกลับไปจริงๆ จะพบว่ามาจากคำภาษาอาหรับ makhazin หมายถึง คลังสินค้า แต่เดิมในภาษาอังกฤษเคยใช้ magazine ในความหมายนี้ แต่ภายหลังความหมายพัฒนาไปหมายถึงคลังอาวุธของทหาร ก่อนจะนำมาใช้หมายถึงหนังสือที่ชี้แจงรายการยุทโธปกรณ์ในคลัง ไปๆ มาๆ คำนี้ก็ถูกนำไปเรียกสิ่งตีพิมพ์ที่ออกเป็นระยะๆ ก่อนจะกลายมาเป็นนิตยสารอย่างในปัจจุบัน

ทั้งนี้ magazine ยังหมายถึง ซองกระสุนปืน ได้ด้วย (อย่างในสำนวน ยิงหมดแม็ก ที่หลายคนใช้) นั่นก็เพราะซองกระสุนนี้เป็นคลังหรือที่บรรจุกระสุนปืนไว้รอใช้งานนั่นเอง

ส่วนสิ่งที่พิมพ์ที่ออกตามกำหนดเวลา แต่เป็นเรื่องวิชาการก็จะเรียกว่า วารสาร ในภาษาอังกฤษเรียกว่า journal คำนี้มาจากคำภาษาละติน diurnalis แปลว่า ประจำวัน (เป็นที่มาของคำว่า diurnal ในภาษาอังกฤษปัจจุบันที่ใช้อธิบายสัตว์ที่ออกหากินตอนกลางวัน ตรงข้ามกับ nocturnal ที่หมายถึง ออกหากินหรือใช้ชีวิตช่วงกลางคืน)

เดิมที journal หมายถึง หนังสือบันทึกประจำวัน ทั้งหนังสือที่ใช้บันทึกการเดินทางแต่ละวัน บัญชีรายรับรายจ่ายแต่ละวัน และสมุดบันทึกแบบไดอารี่ ภายหลังพัฒนามาหมายถึงหนังสือพิมพ์รายวันและถูกนำมาใช้เรียกสิ่งตีพิมพ์แบบวารสารในปัจจุบันในที่สุด

คำว่า journal นี้ยังเป็นญาติกับคำว่า journey (เดิมทีหมายถึง ระยะเวลาหนึ่งวันหรือการเดินทางในหนึ่งวัน) และคำว่า jour ที่แปลว่า วัน ที่ปรากฏในคำว่า bonjour อันเป็นคำทักทายในภาษาฝรั่งเศสด้วย เพราะล้วนมาจากคำว่า dies ในภาษาละตินที่แปลว่า วัน

พจนานุกรม

ในภาษาอังกฤษ พจนานุกรม เรียกว่า dictionary มาจาก dictionarium ในภาษาละติน หมายถึง หนังสือรวบรวมคำศัพท์ ซึ่งสืบสาวกลับไปได้ถึงกริยา dicere ในภาษาละตินที่แปลว่า พูด เป็นญาติกับคำที่มี dict อยู่ในคำทั้งหลาย เช่น diction (การสรรคำ) contradict (ขัดแย้ง) และ malediction (คำสาปแช่ง)

หากไม่ใช้คำว่า dictionary ก็อาจใช้คำว่า lexicon มาจากคำว่า lexis ในภาษากรีกที่แปลว่า คำ และเป็นที่มาของคำว่า lexicography หมายถึง ศัพทานุกรมศาสตร์ หรือศาสตร์ที่ว่าด้วยการทำพจนานุกรมนั่นเอง

ส่วนหนังสืออ้างอิงหน้าตาคล้ายพจนานุกรมที่รวบรวมคำตามความหมายเรียกว่า thesaurus หรือ อรรถาภิธาน แม้คำนี้ลงท้ายด้วย -saurus แต่ไม่ได้เกี่ยวกับไดโนเสาร์แต่อย่างใด (-saurus ในชื่อไดโนเสาร์มาจาก sauros ในภาษากรีก หมายถึง กิ้งก่า) เพราะ thesaurus มาจากคำว่า thesauros ในภาษากรีก แปลว่า คลัง ที่เก็บของ ต่อมานักทำพจนานุกรมนำมาใช้เรียกพจนานุกรม ซึ่งเป็นเสมือนคลังคำศัพท์ นั่นเอง

คำว่า thesauros ในภาษากรีกนี้ ยังเป็นที่มาของคำว่า treasure ที่แปลว่า ขุมทรัพย์ ทรัพย์สมบัติ ในภาษาอังกฤษด้วย ทำให้คำว่า thesaurus และ treasure เป็นคำที่เป็นญาติกัน แต่คำว่า treasure วิวัฒนาการไปไกลกว่าจนมีความหมายเชิงนามธรรม หมายถึง สิ่งที่ล้ำค่า เช่น He’s a national treasure. หรือ เขาเป็นบุคคลที่เป็นสมบัติของชาติ อีกทั้งยังกลายร่างไปเป็นกริยา หมายถึง หวงแหน รักษาไว้ เช่น I’ll always treasure this moment. ก็จะหมายถึง จะจดจำวินาทีนี้ไว้ตลอดไป มองกลับมาทีไรก็ยังรู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่ดี

สารานุกรม

สารานุกรมในภาษาไทยตรงกับว่า encyclopedia ในภาษาอังกฤษ คำนี้มาจาก encyclopaedia  ที่ภาษาละตินยืมมาจากคำว่า enkyklios paideia หมายถึง การศึกษาครบถ้วนบริบูรณ์ เฉาะออกมาด้านในจะเจอ en- (ใน) และ kyklos (วงจร กลายมาเป็นคำว่า cycle ในภาษาอังกฤษที่หมายถึง วัฏจักร) ได้ความหมายรวมว่า ครอบคลุมทุกอย่าง ไม่มีอะไรตกหล่น ส่วน paideia แปลว่า การศึกษา การเลี้ยงเด็ก มาจาก paidos ที่แปลว่า เด็ก เป็นญาติกับคำว่า pediatrician (กุมารแพทย์) pedophile (ผู้เป็นโรคใคร่เด็ก) และ pedagogy (การสอน)

ต่อมาในยุคกลาง คำว่า encyclopaedia หมายถึง การเรียนศิลปศาสตร์เจ็ดแขนง หากดูรูปในยุคนั้นจะเห็นว่าแบ่งออกเป็นเจ็ดวง ประกอบด้วยสามแขนงพื้นฐาน เรียก trivium (มาจาก tri- หมายถึง สาม และ via แปลว่า หนทาง ถนน แบบที่ใช้เป็นบุพบทใน via email) แยกย่อยเป็น ไวยากรณ์ ตรรกศาสตร์ และวาทศาสตร์ และสี่แขนงที่เป็นขั้นสูงขึ้นไป เรียก quadrivium (มาจาก quad- หมายถึง สี่ รวมกับ via) อันประกอบด้วย เลขคณิต เรขาคณิต ดนตรี และดาราศาสตร์ หากได้เรียนทั้งเจ็ดแขนงก็จะถือว่ามีความรู้ครบถ้วนสมบูรณ์

เวลาผ่านไป มีคนนำคำนี้ไปใช้เรียกหนังสือที่เขียนรวบรวมความรู้เหล่านี้ จนท้ายที่สุด encyclopedia ก็กลายมาเป็นหนังสือที่รวบรวมความรู้พื้นฐานเรื่องต่างๆ ไว้ดังเช่นสารานุกรมในปัจจุบันนั่นเอง

ต่อมาเมื่ออินเทอร์เน็ตเฟื่องฟู คำว่า encyclopedia ยังเป็นที่มาปรากฏในชื่อสารานุกรมออนไลน์ Wikipedia ด้วย ชื่อนี้ตั้งขึ้นโดย Larry Sanger หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Wikipedia เป็นคำผสม (portmanteau) ระหว่าง wiki ที่แปลว่า เร็ว ในภาษาฮาวาย และ encyclopedia ที่หมายถึง สารานุกรม ใช้หมายถึง สารานุกรมที่คนเข้าถึงและค้นหาข้อมูลได้อย่างรวดเร็วทันใจ

 

 

บรรณานุกรม

  • http://www.etymonline.com/
  • https://en.wikipedia.org/wiki/Wikipedia
  • American Heritage Dictionary of the English Language
  • Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
  • Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.
  • Edelstein, Stewart. Dubious Doublets: A Delightful Compendium of Unlikely Word Pairs of Common Origin, from Aardvark/Porcelain to Zodiac/Whiskey. John Wiley & Sons: New Jersey, 2003.
  • Forsyth, Mark. The Etymologicon: A Circular Stroll Through the Hidden Connections of the English Language. Icon Books: London, 2011.
  • Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.
  • Longman Dictionary of Contemporary English
  • Oxford Advanced Learners’ Dictionary
  • Shorter Oxford English Dictionary
  • Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.
Tags: , , ,