ทันทีที่น้องของเธอรู้ว่าเธออยู่ที่ร้านหนังสือของผม เขาก็ส่งรูปหนังสือเล่มหนึ่งมาให้พี่สาวเพื่อจะถามว่าที่ร้านผมมีไหม พอผมเห็นรูปหนังสือเล่มนั้น – ความจริงเพื่อความยุติธรรม เหตุการณ์และผลกระทบการสลายการชุมนุม เมษา – พฤษา 53, ผมก็มองหน้าเธออย่างจริงจัง น้องผู้หญิงคนนี้เป็นคนชลบุรีมาเรียนคณะเภสัชศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
“น้องชายอายุเท่าไร ?”
“15 ค่ะ อยู่ ม.3”
“น้องชายชอบงานแบบนี้เหรอ”
“เขาสนใจมากค่ะ…”
คำตอบของเธอมีแววตาบางอย่างที่ผมก็มองออกว่าเธอเองก็สนใจ
ผมขึ้นไปขนหนังสือเล่มดังกล่าวและอีกหลายๆ เล่มในแนวเดียวกัน เช่น อาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์, (ไชยันต์ รัชชกูล, 2017), กำเนิดสยามจากแผนที่ (ธงชัย วินิจจะกูล, 2556), ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย(คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร, 2557), สถานการณ์เกี่ยวกับการกระทำอันเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในราชอาณาจักรไทย(สำนักกฎหมาย อัมสเตอร์ดัม แอนด์ เปรอฟ, มิถุนายน 2554), การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ (สำนักกฎหมาย อัมสเตอร์ดัม แอนด์ เปรอฟ, กันยายน 2553), ขอใฝ่ฝันในฝันอันเหลือเชื่อ (ณัฐพล ใจจริง, 2556), ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง (ธงชัย วินิจจะกูล, 2556), โฉมหน้าราชาชาตินิยม (ธงชัย วินิจจะกูล, 2559) , คนไทย/คนอื่น(ธงชัย วินิจจะกูล, 2560), เมื่อสยามพลิกผัน (ธงชัย วินิจจะกูล, 2562), และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ (ประจักษ์ ก้องกีรติ, มิถุนายน 2548), จากห้องส่วนตัวมาให้เธอดู เมื่อเธอถ่ายรูปหนังสือเหล่านั้นแล้วส่งให้น้องชายดู เขาก็ขอซื้อทันที
แต่ผมบอกว่าหนังสือเหล่านี้ผมขายหมดแล้ว ที่เห็นนี้คือที่ซื้อไว้อ่านส่วนตัว แต่ถ้าน้องชายของเธอจะมาอ่านที่นี่ในช่วงปิดเทอม ผมยินดีที่จะเปิดห้องพักให้นอนฟรีและพูดคุยด้วย แล้วน้องของเธอก็ถามหาหนังสืออีกหลายเล่ม
จากนั้นไม่กี่วัน น้องนักศึกษาเภสัชศาสตร์คนเดิมก็ทักมาทางกล่องข้อความ โดยส่งต่อรูปหนังสือหลายเล่มที่เป็น photo captured มาให้ผม เพื่อให้ผมเช็คดูว่าในร้านมีขายไหม
โฉมหน้าศักดินาไทย (จิตร ภูมิศักดิ์, พิมพ์ครั้งที่เก้า, 2548)
6 ตุลา เราคือผู้บริสุทธิ์ (กลุ่มผดุงธรรม, 2534)
6 ตุลาลืมไม่ได้ จำไม่ลง (ธงชัย วินิจจะกูล, 2558)
ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย (กุลลดา เกษบุญชู มี้ด, 2019)
ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี (ณัฐพล ใจจริง, 2020)
การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี (นิธิ เอียวศรีวงศ์, พิมพ์ครั้งที่ 14, 2562 )
การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ (ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, 2548)
แผนชิงชาติไทย (สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, 2534)
ฟื้นแผ่นดินล้านนา 120 ปีการต่อสู้ของท้องถิ่นในรัฐรวมศูนย์ (ธเนศวร์ เจริญเมือง)
เปิดแผนยึดล้านนา (ผศ.ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว, 2016)
รัฐประหาร 19 กันยา รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, (ฟ้าเดียวกัน, 2550)
และบอกว่าน้องชายเธอต้องการซื้อไปอ่าน ถ้ามี—เธอจะเข้ามาซื้อส่งไปให้เขา
โดยส่วนตัว ผมไม่ค่อยแปลกใจนักกับเหตุการณ์นี้ เพราะผมเห็นปรากฏการณ์แบบนี้มาอย่างน้อยก็สามปีแล้วในฐานะคนทำร้านหนังสือ ร้านของผมทำกิจกรรมกับนักเรียนมัธยมฯ ปลาย (ม.4-6) มาร่วมหกปีแล้ว และผมพบว่าปีหลังๆ มานี้นักเรียนเหล่านี้ซึ่งเป็นเด็กหัวกระทิ — ตอนอยู่ ม.4 เทอมแรกที่เข้ามาทำกิจกรรมที่ร้านก็จะเลือกซื้อหนังสือไม่เป็น (คงเพราะติดระบบแบบ How-To) แต่พอขึ้น ม.5 ก็เริ่มเลือกซื้อหนังสือหนักขึ้น บวกกับที่คุ้นเคยกันแล้ว เราก็จะมีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันมากขึ้น จุดเปลี่ยนที่เห็นได้ชัดจริงๆ ก็เมื่อตอนเกิดปรากฏการณ์ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพรรคอนาคตใหม่ เด็กนักเรียน ม.4 ที่เข้ามาในช่วงนี้จะพูดเรื่องสังคมการเมืองอย่างเปิดเผย และเลือกซื้อหนังสือแนวนี้กันมากขึ้น
เมื่อผมเห็นรายชื่อหนังสือที่เด็กนักเรียนเหล่านี้ซื้อไปจากร้านผม (กระทั่งล่าสุดเด็กม.3 ที่ว่า) มันทำให้ผมนึกถึงข้อมูลตลาดหนังสือในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งถือได้ว่าเป็นช่วงที่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ตื่นตัวทางการเมืองมากที่สุดช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย และ ‘ตลาดหนังสือ’ ฝ่ายก้าวหน้าก็เบ่งบานสุดๆ ในช่วงนั้น เพียงแต่มันขาดหนังสือประเภทที่แสดงถึง ‘ข้อผิดพลาดในอดีต’ ไปอย่างมีนัยยะสำคัญ และก็เหมือนจะไม่มีใครสนใจพูดถึงเรื่องนี้กันนัก
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ได้สำรวจตลาดหนังสือหลังเดือนตุลาคม 2516 แล้วเขียนเป็นบทความชื่อเดียวกันนี้ ตีพิมพ์ในนิตยสาร จัตุรัส ปีที่ 1 ฉบับที่ 15 (21 ตุลาคม 2518) โดยการสำรวจนี้กินเวลาสองปี (2516-2518) ในบทความที่ค่อนข้างยาวเรื่องนี้มีข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจมากซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับวันนี้ เราจะเห็นส่วนที่ขาดหายได้รับการเติมเต็มและความก้าวหน้าทางความคิดที่ก้าวไปไกลอีกระดับของเยาวชนนักเรียนนักศึกษายุคนี้
“…การปฏิวัติตุลาคม 2516 เป็นการปฏิวัติที่มิได้เสนอทางออกให้สังคม ดังนั้น ช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมา (2516-2518) จึงเป็นช่วงเวลาที่เริ่มถามคำถาม ‘เราจะไปไหนกัน’ อย่างจริงจัง ยุค ‘เราจะไปไหนกัน’ คาบเกี่ยวกับยุค ‘ฉันจึงมาหาความหมาย’ ในช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่ตลาดหนังสือเบ่งบานอย่างเต็มที่ หนังสือที่แสดงถึงข้อผิดพลาดในอดีต และโลกพระศรีอาริย์ในอนาคต จึงหลั่งไหลออกสู่บรรณพิภพอย่างไม่ขาดสาย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดิ้นรนแสวงหาของกลุ่มคนรุ่นใหม่ อีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฉวยโอกาสของนายทุนและนักเขียนที่ต้องการทรัพย์ศฤงคาร
“อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า หนังสือประเภทที่แสดงถึงข้อผิดพลาดในอดีตมีออกสู่ตลาดไม่มากนัก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า คนไทยขาดสำนึกทางประวัติศาสตร์ แม้ว่าการศึกษาลัทธิมาร์กซิสม์จะค่อนข้างแพร่หลายในช่วงสองปีที่ผ่านมานี้ (2516-2518) แต่กระนั้นก็ตาม การอาศัยวิธีการทางประวัติศาสตร์ในการวิเคราะห์สังคมไทยยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร หนังสือที่ช่วยชี้ให้เห็นถึงบทเรียนจากประวัติศาสตร์จึงออกสู่ตลาดน้อยมาก อาทิเช่น กบฏ รศ. 130 (ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย 2517) ของเหรียญ ศรีจันทร์ และเนตร พูนวิวัฒน์ ขบวนการนักศึกษาไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน (ชมรมพระจันทร์เสี้ยว 2517) ซึ่งวิทยากร เชียงกูลเป็นบรรณาธิการผู้รวบรวม
“หนังสือประวัติศาสตร์เล่มเดียวที่มีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อคนรุ่นใหม่ก็คือ โฉมหน้าศักดินาไทย ของ สมสมัย ศรีศูทรพรรณ (จิตร ภูมิศักดิ์) ในช่วงเวลาเพียงสองปี มีการตีพิมพ์ถึงสามครั้ง (การตีพิมพ์ครั้งล่าสุดเป็นการตีพิมพ์ครั้งที่สี่ โดยชมรมหนังสือแสงตะวัน 2518) การรื้อฟื้นงานของจิตร ภูมิศักดิ์ ยังผลให้คนรุ่นใหม่เริ่มสนใจศึกษาชีวิตและงานของท่านผู้นี้อย่างจริงจัง จนสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยถึงกับจัดสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ซึ่งต่อมาได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ จิตร ภูมิศักดิ์ นักรบของคนรุ่นใหม่ (กองบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์ 2517) โดยสุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการ และช่วงนี้เองเป็นช่วงที่มีการโจมตีระบบศักดินาอย่างกว้างขวาง”
จากข้อมูลตรงนี้เราจะพบว่าหนังสือ โฉมหน้าศักดินาไทย ของจิตร ภูมิศักดิ์ และ กบฏ รศ. 130 ยังทำหน้าที่เป็นไม้ต่อมาจนถึงมือเยาวชนในวันนี้ เพียงแต่สิ่งที่เติมเต็มเข้ามานั้นก็คือ หนังสือประเภทที่แสดงถึงข้อผิดพลาดในอดีต ที่ทุกวันนี้มีเพิ่มขึ้นมาอย่างมหาศาลและเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ (ดูจากตัวอย่างรายชื่อบางส่วนข้างบน)
ที่สำคัญนักเรียน นักศึกษาเหล่านี้อ่าน และอ่านอย่างจริงจัง และถ้าจะเอาร้านหนังสือของผมเป็นตัวชี้วัด หนังสือเหล่านี้ก็ถือว่าขายดีมาก และเมื่อผมเขียนสเตตัสถึงเด็กนักเรียนที่ซื้อหาหนังสือเหล่านี้ไปอ่าน มันยังสะเทือนไปถึงความใคร่รู้ของนักศึกษาและประชาชนทั่วไปที่มีใจรักและฝักใฝ่ประชาธิปไตยให้ติดต่อเข้ามาขอซื้อเล่มที่ตัวเองยังไม่มี ยังไม่ได้อ่าน
ด้วยเหตุนี้ผมจึงไม่แปลกใจแต่ทึ่ง เวลาเฝ้าติดตามดูสิ่งที่เยาวชนเหล่านี้เคลื่อนไหว ปราศรัยบนเวที นำเสนอความคิดในสื่อต่างๆ หรือ debate กับผู้ใหญ่ และเราก็จะเห็นปรากฏการณ์ว่าเยาวชนเหล่านี้มีแกนนำขึ้นมาเรื่อยๆ มากหน้าหลายตา ไม่ว่าแกนนำคนเก่าจะโดนจับไปอย่างไรก็จะมีคนมาแทนได้เสมอ และเป็นคนที่เราไม่เคยรู้จักชื่อเสียงมาก่อน แต่เนื้อหาในการต่อสู้ของคนที่ก้าวขึ้นมานำก็ยังเต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพด้วยข้อมูลและความรู้
ดังนั้นวาทกรรมของกลุ่มนักเขียน กวี ศิลปินหรือผู้คนฝ่ายอนุรักษนิยมที่เข้าร่วมกับ กปปส. ที่เคยเกลียด นปช.หรือประชาชนเสื้อแดง และกระแนะกระแหนเหยียดหยามว่าเป็นนักประชาธิปไตยจากม็อบ ฟังขี้ปากจากผู้นำมวลชน ไม่ได้รู้จริงจากเรียนจากการอ่านหนังสือ แต่ ‘พวกเขา’ หลงลืมหรือคงไม่รู้ข้อมูลว่าหนังสือดีๆ ประเภทที่แสดงถึงข้อผิดพลาดในอดีต หลายๆ เล่มก็เกิดขึ้นในช่วงการต่อสู้ของคนเสื้อแดงนี้เอง และยังส่งผลถึงการเรียนรู้บทเรียนการชุมนุมแบบเดิมมาเป็นแบบ flash mob ในวันนี้ ที่ทำเอาฝ่ายกุมอำนาจรับมือแทบไม่ทัน — จึงไม่สามารถออกโรงโต้ตอบเด็กนักเรียน นักศึกษาที่ตื่นตัวทางการเมืองในวันนี้ได้ หรือถ้าโต้—ก็อาจถูกสวนกลับไปเจ็บๆ จนเกิดอาการ ‘ไปไม่เป็น’ เพราะความตีบตันข้อมูลและเหตุผลที่จะโต้กลับอย่างมีตรรกะ
กลับกลายเป็น ‘พวกเขา’ เสียมากกว่าที่ไม่อ่านหนังสือและเกาะยึดอยู่แต่ข้อมูลเดิมๆ
Tags: คนขายหนังสือ