ปฎิเสธไม่ได้ว่าศิลปิน Tom of Finland เป็นผู้มีอิทธิพลอย่างยิ่งยวดในการสร้างภาพอัตลักษณ์ของชาวเกย์ในศตวรรษที่ 20 แฟนตาซีในภาพของเขาจุดแรงบันดาลใจ (และไฟราคะ) ในกับกลุ่มชายรักชายหลังสงครามโลก ด้วยการผสมผสานความเป็นชายแบบสุดโต่ง ทั้งจากอำนาจของเครื่องแบบทหาร ตำรวจ กรรมกรก่อสร้าง ไปจนถึงมัดกล้ามของเรือนร่างที่สวมใส่มัน ภาพของเขาปลดปล่อยความตึงเครียดของกฏเกณฑ์สังคม และกลายมาเป็นอุดมคติเพศวิถีที่สืบยาวมาถึงปัจจุบัน
ตลอดชีวิตของ Tom of Finland เขาสร้างผลงานไว้กว่า 3,500 ภาพและถูกนำไปพิมพ์ซ้ำนับไม่ถ้วน แถมยังถูกนำไปพิมพ์บนแสตมป์ของไปรษณีย์ฟินแลนด์, เรื่องราวการ์ตูนของเขาถูกนำไปเป็นพล็อตของหนังโป๊ ส่วนชีวิตของเขาถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เข้าชิงออสการ์, ชื่อของเขากลายมาเป็นมูลนิธิสนับสนุนศิลปินเกย์ ฯลฯ ในโอกาสครบรอบ 100 ปีจากวันเกิดของทอม ที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ อีกทั้งวาระวัน IDAHOT ในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ เราเลยอยากจะขอพาทุกคนไปรู้จักกับไอคอนระดับตำนานคนนี้ให้มากขึ้นสักหน่อย เพราะเรื่องราวของเขาอาจจะทำให้เรามองเห็นเบื้องหลังภาพลักษณ์ที่คุ้นตาในหมู่ชาวสีรุ้งได้ชัดเจนขึ้น ไม่มากก็น้อย
Tom of Finland มีชื่อจริงว่า Touka Valio Laaksonen เขาเกิดและโตในครอบครัวชนชั้นกลางของประเทศฟินแลนด์ มีคุณพ่อและคุณแม่เป็นคุณครูสอนอยู่ในโรงเรียนประจำเมือง Kaarina บ้านของเขาอยู่ในที่พักติดโรงเรียนนั่นเอง เมื่อโตเป็นวัยรุ่นมีอายุได้ 19 ปี เขาย้ายไปเรียนออกแบบโฆษณา ที่เมืองหลวง Helsinki ในเวลาว่างเขามักจะหมกหมุ่นอยู่กับการวาดรูปอิโรติกของผู้ชาย โดยเฉพาะภาพของเหล่ากรรมกรที่เขาเห็นติดตามาตั้งแต่เด็ก ในช่วงแรกเขาเก็บมันไว้ดูคนเดียว แต่ต่อมาตัดสินใจทำลายมันทิ้งเมื่อประเทศของเขาเข้าร่วมสงคราม และนายลาคโซเนน ถูกเรียกเข้าไปเกณฑ์ทหารกับกองทัพของฟินแลนด์ ซึ่งเข้าร่วมกับฝ่ายนาซี ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1940 เขาถูกส่งไปประจำกองทัพทหารอากาศและได้รับยศถึงร้อยตรี ในช่วงนี้เองที่สายตาของเขาจับจ้องอยู่กับชุดเครื่องแบบแนบเนื้อของสังคมชายล้วน ซึ่งจะกลายมาเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ในงานของเขาต่อมาอย่างน่าสนใจ
“ในรูปวาดของผม ผมไม่ได้แฝงแนวคิดทางการเมืองใดใด…แนวคิดของนาซี ทั้งการเหยียดเพศ และอื่นๆ นั้น เป็นสิ่งน่ารังเกียจสำหรับผม แต่ผมก็วาดพวกเขาอยู่ดี-พวกเขามียูนิฟอร์มที่เซ็กซี่ที่สุด!”
หลังสงคราม ลาคโซเนนส่งรูปวาดของเขาไปในนิตยสารอเมริกัน Physique Pictorial ซึ่งบอกว่าตัวเองเป็น ‘นิตยสารสำหรับชายเพาะกาย’ ตีพิมพ์ภาพหนุ่มๆ หุ่นล่ำวาบหวิวเต็มเล่ม หนังสือถูกซื้อขายกันอย่างลับๆ ใต้โต๊ะและทางไปรษณีย์แต่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในหมู่เกย์ ซึ่งในตอนนั้นยังต้องอยู่กันอย่างหลบๆ ซ่อนๆ เนื่องจากการมีเซ็กซ์แบบรักร่วมเพศ ถือเป็นความผิดทางอาญา ศิลปินของเราเลือกที่จะใช้นามปากกาว่า ‘ทอม’ ที่ใกล้เคียงกับชื่อจริง Touka ของเขา และต่อมาทางบก.จึงเปลี่ยนเป็น Tom of Finland โดยในปี 1957 ทอมได้รับเกียรติถึงขนาดได้วาดปกของนิตยสาร เขาวาดคนตัดฟืน (อาชีพที่สื่อถึงความเป็นชายอย่างสุดโต่งในวัฒนธรรมบ้านเกิดของเขา) สองคนกำลังออกแรงกัน และคนที่สามจ้องมองพวกเขาอยู่ การจับจ้องนี้ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นในงานทอม ซึ่งบ่อยครั้งจะดัดแปลงภาพสถานการณ์ที่ดูธรรมดา-แมนแมนเตะบอลกัน-ให้มีนัยยะหรือกลายเป็นแฟนตาซีทางเพศไปได้
อีกปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในช่วงหลังสงครามคือ การผุดขึ้นของวัฒนธรรมสิงห์นักขี่มอเตอร์ไซค์ หรือเหล่าไบค์เกอร์ ซึ่งเป็นตัวแทนของแรงต่อต้านความพยายามของรัฐ ที่จะสร้างระเบียบและกฏเกณฑ์ให้สังคมกลับไปเป็นเหมือนเดิม ภาพลักษณ์ของเหล่าไบค์เกอร์นั้นไปตรงจริตของกลุ่มเกย์ที่ใฝ่ฝันถึงความเป็นชายที่มีสไตล์ อีกทั้งความเป็นขบถที่ดูความอันตราย ซึ่งทั้งหมดนี้ตรงข้ามกับภาพลักษณ์ที่หน่อมแน้มและออกสาว ที่สื่อกระแสหลักพยายามหยิบยื่นให้อัตลักษณ์ของผู้ชายรักร่วมเพศ
ทอมได้รับแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมนี้ ผสมกับงานของศิลปินที่วาดรูปนู้ดผู้ชายก่อนหน้าเขา อาทิ George Quaintance และ Etienne ทำให้ตัวละครในงานของทอมในช่วงนี้นั้นมีคาแร็คเตอร์การแต่งตัวที่ชัดเจน เป้าตุงขนาดมหึมาของพวกเขาสื่อถึงพลังและความอิสระทางเพศที่ไม่ยอมก้มหัวให้ใคร อย่างไรก็ดี กฏหมายของอเมริกายังไม่อนุญาตให้ตีพิมพ์ภาพเปลือยที่เห็นอวัยวะเพศชายได้ ทำให้งานที่ตีพิมพ์ในนิตรยสารของทอมยังต้องมีการปิดบังและถูกเซนเซอร์ไปบ้าง ส่วนงานแบบที่อล่างฉ่างเลยนั้นเขาจะวาดให้กับผู้ที่ว่าจ้างเป็นรายๆ ไปเท่านั้น จนต่อมากฎหมายการเซนเซอร์ในอเมริกาถูกผ่อนปรนลงช่วง 1960s เจ้าโลกในงานของทอมจึงผงาดและได้รับการเผยแพร่ในวงกว้าง ช่วงนี้เองที่เขาสร้างตัวละครชื่อ ‘Kake’ เป็นตัวแทนของเขา และกลายเป็นตัวเดินเรื่องในผลงานของเขาสืบต่อมา
เสียงตอบรับที่ล้นหลามทำให้ทอมตัดสินใจลาออกจากงานประจำในบริษัท McCann-Erickson ที่ฟินแลนด์ แล้วย้ายมาอยู่อเมริกาเป็นศิลปินเต็มตัวในปี 1973 ชีวิตของเขาเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากการที่ต้องปิดบังและรับแรงกดดันหัวโบราณจากครอบครัวที่ฟินแลนด์บ้านเกิด เขาได้มีเพื่อนในวงการสร้างสรรค์ที่เปิดรับเพศสภาพของเขาเต็มที่ในบ้านใหม่ ศิลปินตัวท็อปอย่าง Andy Warhol และช่างภาพ Robert Mapplethorpe ต่างชื่นชอบงานของเขา นอกจากจะได้จัดแสดงในแกลเลอรี่ชื่อดังของทั้ง LA และ NewYork งานของเขาจุดประกายให้คนอยากแต่งตัว อยากมีร่างกาย อยากแสดงออกและมีเซ็กซ์แบบเดียวกับที่ทอมวาด (ต่อยอดไปเป็น BDSM ที่รุนแรงขึ้นด้วย) อีกทั้งมันถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ของกลุ่ม LGBTQ+ เช่นกัน
แน่นอนว่าไม่ใช่นักวิจารณ์ทุกคนจะเห็นดีเห็นชอบกับงานของทอม แม้ว่าเทคนิคการวาดด้วยดินสอของเขานั้นจะเนี้ยบชนิดหาตัวจับได้ยาก แต่เนื้อหาที่วนเวียนอยู่กับเรื่องเพศทำให้บางคนมองค่างานของเขาต่ำลง บ้างบอกว่าเป็นแค่ภาพประกอบชั้นต่ำ ไม่ใช่ศิลปะชั้นสูง นอกจากนี้ยังมีคนไม่น้อยที่ไม่พอใจกับการทำซ้ำและเชิดชูภาพอำนาจความเป็นชายที่เป็นพิษ (toxic masculinity) ในงานของทอม เช่นการวาดทหารหรือตำรวจเบ่งยศกดขี่ข่มเหงกัน รวมถึงการวาดคนผิวสีถูกทุบตี เป็นต้น อย่างไรก็ดี หากอ่านงานของเขาทั้งหมด จะเห็นว่า รูปวาดของทอมนั้นไม่ได้ส่งเสริมขั้วอำนาจดังกล่าว มิหน่ำซ้ำยัง เขากลับลดความศักดิ์สิทธิ์ตามค่านิยมเดิมของมัน ด้วยการเอามันมาเล่นพิเรนทร์ เปลี่ยนบริบททั้งหมดให้เป็นเรื่องเพศ อย่างคนดำที่ถูกตำรวจจับในหน้าแรก ในฉากต่อมาเขาก็ไปล้วงตำรวจบ้าง ไปไปมามาก็พัลวันกันทั้งโรงพัก และที่สำคัญ ทอมจะวาดมีรอยยิ้มสื่อถึงความสมยอมที่ซุกซนบนใบหน้าของตัวละครของเขาทุกตัวเสมอ ประหนึ่งว่าหน้ากระดาษของเขานั้นเป็นโลกในอุดมคติ ที่ซึ่งทุกความขัดแย้งสามารถทุเลาลงได้ด้วยเซ็กซ์
ไอเดียการสร้างภาพของความเป็นชายในอุดมคติสุดเซ็กซี่ของทอม ถูกส่งต่อกันเป็นทอดๆ จากคลับใต้ดิน สู่วัฒนธรรมป๊อป มันเป็นอิทธิพลให้กับ Freddie Murcury, Village People ในเพลง YMCA ยาวมาถึงแบรนด์แฟชั่นอย่าง John Paul Gaultier และไนท์คลับเกย์ทั่วโลกจากยุโรปถึงเอเชีย เราจะได้ผู้คนที่แต่งตัวแบบตัวการ์ตูนของ Tom of Finland เดินไปเดินมาอย่างขวักไขว่แน่นอน ทุกวันนี้แม้ว่าอัตลักษณ์ของกลุ่มเกย์จะหลากหลายไม่ได้ยึดติดกับเสื้อหนังและมัดกล้ามอีกต่อไป แต่ภาพของทอมก็ยังถูกมองเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันความหลากหลายในสังคมมาถึงทุกวันนี้
โชคดีที่ทอมรอดมาจากวิกฤตโรคเอดส์ในช่วง 80s-90s แต่เขาก็มาเสียชีวิตด้วยโรคถุงลมโป่งโพงในปี 1991 ด้วยอายุ 71 ปี ไม่น่าเชื่อว่าเขาไม่ได้มีชื่อเสียงในประเทศบ้านเกิดของเขาจนเขาตาย หากใครอยากจะรู้เรื่องราวชีวิตสุดโลดโผนของเขาเพิ่มเติมละก็ เราขอแนะนำให้ไปชมสารคดียาวหนึ่งชั่วโมง Tom of Finland: Daddy and the Muscle Academy (1991) และภาพยนตร์เรื่อง Tom of Finland (2017) กำกับโดย Dome Karukoski ก็ดีไม่แพ้กัน
Tags: Queer, Queer Voice, Tom of Finland