ในช่วงที่ไปที่ไหนก็มีแต่ใครใครใส่หน้ากากเข้าหากัน ชวนให้เรานึกถึงหนึ่งศิลปินดาวรุ่งคนหนึ่ง ที่หยิบเอาการ ‘ใส่หน้ากาก’ มาใช้เพื่อ ‘เปิดเผย’ ตัวตนของเขาได้อย่างน่าสนใจ เขาที่ว่าคนนี้คือศิลปินชาวแคนาดา ภายใต้นามแฝงว่า Orville Peck นั่นเอง

เริ่มกันที่อัลบั้มเดบิวต์ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า “เป็นจดหมายรักของผมแด่เพลงคันทรี่คลาสสิค” ตั้งชื่อเก๋ๆ ว่า ‘Pony’ หรือ ม้าขี่ แต่พอฟังตั้งแต่ต้นจนจบจริงๆ ต้องยอมรับว่าแนวเพลงของออร์วิล เพ็คนั้นไปไกลกว่าแค่ ‘คันทรี่’ อยู่มากโข โดยถึงแม้ว่าแต่ละเพลงมีการเล่าเรื่องที่ชัดเจน ถ่ายทอดด้วยลีลาการร้องร้องของออร์วิลที่ทรงเสน่ห์ประหนึ่งเอลวิสหรือจอห์นนี่ แคช กลับชาติมาเกิด แต่ก็มีการใช้ reverb จนฟังดูเรโทร จังหวะจะคร่ำครวญก็ทำให้นึกถึงแพตซี ไคลน์ แต่ก็คลุ้งไปกับเสียงดีดอิเล็กทริคกีตาร์ชวนเหงา ประหนึ่งคาวบอยขี่ม้าหาอาทิตย์อัสดงในชานเมืองเปลี่ยวเดียวดาย เพลงของเขาจึงทั้งลุ่มลึกแต่ก็ฟังง่ายและร่วมสมัย ด้วยการมิกซ์ที่จะออกไปทางแนวอัลเทอร์เนทีฟ หรือซอฟท์ร็อคเสียด้วยซ้ำ 

นอกจากอัตลักษณ์ทางดนตรีที่ซับซ้อนชวนค้นหา ตัวออร์วิลเองก็ไม่เปิดเผยเรื่องราวของตัวเองมากนัก เขาไม่เคยบอกพื้นเพหรืออายุที่แท้จริงของเขา (“เกิดและโตในซีกโลกใต้ อายุแก่กว่า 20 และไม่น่าจะเกิน 40”) แถมเขายังเลือกที่จะใส่หน้ากากทั้งตอนแสดงบนเวทีและตอนที่สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ อยู่เสมอ 

“ผมใส่หน้ากากเพราะผมเป็นดาราคันทรี่ เวสเทิร์น…” ออร์วิลเล่าในบทสัมภาษณ์กับ Apple Music Next ว่า เขาได้แรงบันดาลใจอย่างมากจากซีนเพลงคันทรี ในช่วงยุค 60s-80s ซึ่งนักร้องและดาราแต่ละคน มักจะเลือกนำเสนอคาแรคเตอร์เฉพาะของพวกเขาอย่างสุดโต่ง 

“ไม่ใช่ว่าผมกลับบ้านไปแล้วถอดหน้ากากแล้วเปลี่ยนเป็นอีกคนหนึ่งนะ…นี่คือวิธีการสื่อสารที่จริงใจที่สุดของผมต่างหาก” เขาเล่าถึงดอลลี พาร์ตัน (Dolly Parton) ศิลปินหญิงผู้เป็นขวัญใจในวัยเด็กของเขา โดยดอลลี่จะแต่งองค์ทรงเครื่องแบบจัดเต็มเสมอเมื่อเธอแสดง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเธอกำลังซ่อนตัวตนที่แท้จริง แต่มันคือการนำเสนอแก่นตัวตนนั้นอย่างซื่อสัตย์ 

ออร์วิลจึงใช้วิธีเดียวกันนี้ เพื่อละทิ้งความไม่มั่นใจในตัวเอง หรือความกลัวที่จะพูดถึงความรู้สึกส่วนตัวของเขา “ผมไม่ชอบตัวเองในเวอร์ชั่นของชีวิตที่ผ่านมา การต้องพยายามทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้คนชอบ หรือให้ประสบความสำเร็จในสายอาชีพ จนถึงจุดที่ผมเบื่อกับมันเต็มที และเลือกจะสร้างตัวตนใหม่ ให้ได้ทำสิ่งที่ผมแคร์และอยากทำมันจริงๆ…มันเป็นทางเลือกเดียวของผม” ไม่นานนักภาพลักษณ์ของนักร้องคาวบอยใส่หน้ากากของเขา ก็กลายเป็นที่จดจำของแฟนเพลงอย่างรวดเร็ว มันเป็นตัวแทนของกลุ่มคนอินโทรเวิร์ตที่ยังคงความเท่ห์และเล่นใหญ่ไว้ในที (ออร์วิลบอกว่าเขามักจะตั้งชื่อหน้ากากของเขาทุกชิ้นด้วย!) จนกลายเป็นสไตล์ไอคอน ขนาดที่แฟนๆ แต่งตัวเลียนแบบเขาเป็นคอสตูมฮัลโลวีนเมื่อปีที่แล้วกันหลายร้อยคน ตัวออร์วิลเองก็ได้ลงปก Harper Bazaar, GQ, อีกทั้งยังได้ร่วมงานกับ Kim Jones และ Dior อีกด้วย

หนึ่งสิ่งที่ออร์วิลไม่ปิดบังคือเพศสภาพความเป็นเกย์ของเขา ซึ่งสิ่งนี้นำไปสู่อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือการทำงานกับภาพลักษณ์ของแนวเพลงคันทรี่ ในงานของออร์วิลนั้นเขาใส่ความลื่นไหลลงไปในสุนทรียะของคาวบอยที่ไม่ได้มีแค่ ‘แมนๆ ขี่ม้ากัน’ อีกต่อไป หากเราตั้งใจฟังเนื้อเพลงของซิงเกิ้ลดังของเขา Dead of Night ให้ดี จะสังเกตได้ว่าเขาไม่ใช้สรรพนามที่บ่งบอกถึงเพศของคู่รักของเขาเลย

Stark, hollow town, Carson city lights
Baby let’s get high
Spend a johnny’s cash, hitch another ride
We laugh until we cry
You say “go fast” I say “hold on tight”
In the dead of night, dead of night

See, see the boys as they walk on by
See, see the boys as they walk on by
(As they walk on by)
It’s enough to make a young man

แต่เสียงสูงในท่อนคอรัสนี้ บวกกับกริยาการจ้องมอง ‘หนุ่มๆ ที่เดินผ่านไป’ ก็ปรุงแต่งภาพอิโรติกแบบชายชายในหัวผู้ฟังได้ไม่ยาก ในส่วนของมิวสิควิดีโอที่ทำออกมาประกอบกัน ออร์วิลก็พาเราไปท่องภูมิทัศน์อเมริกาน่าเหมือนในหนังคาวบอยคลาสสิค แต่ในขณะเดียวกันทุกตัวละครนั้นดูผิดที่ผิดทาง มีเด็กหนุ่มเกย์ผิวสีใส่กางเกงรัดรูปสีทอง โสเภณีผู้ปลอบประโลมชายร่างใหญ่ที่เต็มไปด้วยรอยสัก ตัวศิลปินเองที่ใส่หน้ากากและหมวกปีกกว้าง กำลังรูดเสาโดยมีผู้ชมเป็นชายชราใส่แว่นหนึ่งคนถ้วน ฯลฯ ทั้งหมดนี้เหมือนออร์วิลกำลังสลาย (และขยายขอบเขต) ภาพจำของความเป็นคันทรี่ ที่โดยปกติแล้วจะยึดโยงอยู่กับ ‘ศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย’ ให้กว้างออกไป แถมยังกลับไปพูดถึงภาวะความเป็นชายที่เป็นพิษด้วยพร้อมๆ กัน 

ออร์วิลเล่นเพลงนี้ในรายการทีวี Jimmy Kimmel Live ทำให้เขาโด่งดังจนฉุดไม่อยู่ 

เขาปล่อยมิวสิควิดีโอตามมาอีกสองเพลง คือ Hope to Die กับ Queen of the Rodeo ที่ยังคงจังหวะช้าละม้ายเพลงแรก คาดว่าค่ายเพลงคงพยายามจะผลักดันให้เสียง kick drum และ snare เท่ๆ กับท่อนฮุคเสียงสูง กลายเป็นเอกลักษณ์ที่เด่นชัดสำหรับกลุ่มคนฟังหมู่มาก ด้านภาษาภาพก็ยังคงนำเสนอบรรยากาศและประเพณีดั้งเดิมของอเมริกาที่อิหลักอิเหลื่อในบริบทสมัยใหม่ อาทิในเพลง Queen of the Rodeo ก็ไปถ่ายทำกันในสนามแข่งขี่วัวผยศตามชื่อ ส่วนเนื้อเพลงถึงจะเขียนถึงตัวละครที่เป็นผู้หญิงแต่ก็เป็นการตัดพ้อและเวทนา ความว่างเปล่าในชีวิต ท่ามกลางภาพลวงของสังคมชานเมือง

Queen of the rodeo
You’re ridden out with nowhere else to go
You know the tune so the words don’t matter
Beyond this town lies a life much sadder
Babe, I know
Another evening to show

หากใครสนใจแนวอะคูสติก เราขอแนะนำเพลงที่ไม่มีโปรดักชั่นใหญ่โต และเปิดโอกาสให้ออร์วิลส่งต่อความจริงใจของเขากับผู้ฟังได้อย่างนุ่มนวล  อย่าง Nothing Fades Like the Light ที่ตัวเพลงเข้ากับมิวสิควิดีโอซึ่งเป็นภาพขณะที่วงของเขากำลังออนทัวร์ออกไปเล่นคอนเสิร์ต มิตรภาพระหว่างเขากับเพื่อนๆ ในวง วางทิ้งมาดคาวบอยปริศนาลง และดูเป็นหนุ่มขี้เล่นธรรมดาคนหนึ่ง (มีช็อตหนึ่งเป็นคลิปตอนเขากำลังดู Rupaul Drag Race ด้วย!) เพลงนี้ฟังง่ายๆ สบายๆ แต่คงความเหงาตามมู้ดโทนของอัลบั้มไว้ได้ดี ยิ่งท่อนผิวปาก ฟังแล้วขนลุกเหมือนลอยมากับสายลมยามค่ำคืน 

สุดท้าย นอกจากเพลงช้าในอัลบั้มแล้ว เรายังชอบเพลงที่มีจังหวะเร็วอย่าง Turn to Hate ที่หลับตาฟังแล้วอาจจะเผลอคิดว่าเป็นเดโม The Smiths อัลบั้มแรกๆ ได้ แถมเนื้อเพลงก็ชวนมองโลกในแง่หม่นเช่นกัน

Tell me you can’t wait
Don’t leave, don’t cry
You’re just another boy caught in the rye
Don’t say goodbye
Head full of nothing and wondering why

หรือ Buffalo Run อีกเพลงที่ฟังแล้วชวนโยกหัว ขยับเท้าตามจังหวะที่ค่อยๆ เร่งเร็วขึ้น ทำให้รู้ว่าคาวบอยคนนี้ไม่ได้มีแค่บนลากเสียงเอื้อนเอ่ย แต่บทจะเกรี้ยวกราดเขาก็เอาคนฟังอยู่ชะงัด สมแล้วที่อัลบั้มของเขาได้รับการเสนอชื่อในรางวัล Alternative Album of the Year 2020 ของ Juno Awards

“ในคอนเสิร์ตผมมีทั้งกะเทยแต่งหญิง ยืนกระทบไหล่กับคุณปู่วัยเก๋าคอคันทรี่ ยาวไปถึงเหล่าเด็กอินดี้” ออร์วิลเล่าอย่างภูมิใจว่าฐานแฟนของเขานั้นขยายตัวอย่างรวดเร็วและประกอบด้วยคนหลากหลายประเภทผสมกัน ในอนาคตเร็วๆ นี้เขามีแผนที่จะปล่อยอัลบั้มที่สองที่เจ้าตัวบอกว่า “เพลงจะทั้งมีความคันทรี่มากขึ้น และหลากหลายมากขึ้นด้วย” 

แน่นอนว่าศิลปินที่ลุกขึ้นมาสร้างอัตลักษณ์ใหม่อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดในสังคมปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกัน มันชวนให้ตั้งคำถามถึงแรงขับที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้น ถ้าออร์วิลไม่ปิดหน้า เขาอาจจะไม่ปังขนาดนี้รึเปล่า? 

หรือว่าคนฟังจะตัดสินศิลปินที่หน้าตามากกว่าผลงาน? หรือการเปิดเผยตัวตนทุกซอกทุกมุม (อย่างที่ดาราคนไทยมักจะชอบทำกันผ่านโซเซียลมีเดียต่างๆ) อาจไม่ใช่หนทางที่ดีที่สุดให้การส่งเสริมศิลปะของศิลปิน? สำหรับคนทั่วไปก็เช่นกัน เนื่องจากเราอาจจะใส่ ‘หน้ากาก’ ที่มองไม่เห็นเข้าหากันอยู่แล้ว การใส่หน้ากากของจริง จึงอาจเป็นได้ทั้งการปกปิดและเปิดเผยจิตใต้สำนึกบางอย่างในเวลาเดียวกัน?

Tags: ,