Sentou Hakai Gakuen Dangerosu อาจจะเป็นมังหงะที่ชื่อไม่ได้เป็นที่คุ้นหูผู้อ่านโดยทั่วไปนัก กระนั้นมังหงะแนวสำหรับวัยรุ่นผู้ใหญ่ (Seinen) เรื่องนี้ก็มีกลุ่มแฟนๆ ที่ติดตามอยู่ไม่น้อย ด้วยพล็อตเนื้อเรื่องที่แสนจะจัดจ้านสุดขั้วครับ มังหงะเรื่องนี้ก็เล่าเรื่องของผู้มีพลังพิเศษที่ถูกเรียกว่า ‘มาจิน’ (Majin) และมาจินเหล่านี้ก็อยู่ร่วมกับคนในสังคมโดยทั่วไป แต่จะมีอยู่โรงเรียนหนึ่งซึ่งมีอัตราส่วนของนักเรียนที่เป็นมาจินมากกว่าโรงเรียนอื่นเป็นพิเศษ จนถูกเรียกว่าเป็นโรงเรียนของมาจินก็คงไม่ผิดนัก

โรงเรียนนี้มีชื่อว่า Private Kibousai Gakuen ที่ต้องติดป้ายว่า “เป็นพื้นที่อันตราย” (Dangerous /Dangerosu) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชื่อเรื่องนั่นเอง พื้นที่ของโรงเรียนที่แสนจะอันตรายนี้เองกลายเป็นพื้นที่กึ่งๆ จะไร้กฎเกณฑ์เพราะกฎหมายตามอำนาจรัฐเข้าไปควบคุมไม่ไหวครับ ก็ทำให้โรงเรียนนี้ดูจะปกครองกันด้วยตัวเอง ซึ่งคนที่แข็งแกร่งกว่าก็พยายามจะเข้าควบคุม โดยมีกลุ่มอำนาจหลัก 2 กลุ่ม คือกลุ่มคณะกรรมการนักเรียน (Student Council) กับกลุ่มลูกพี่ใหญ่ (Banchou Group) ที่ปะทะและพยายามยึดพื้นที่การปกครองในโรงเรียนกันมาโดยตลอด และโรงเรียนนี้เองที่เป็นฉากหลักแทบทั้งหมดของเรื่องด้วย

ภาพปกเล่ม 1 คนตรงกลางสีเหลืองคืออาหยุ โทโมซึริ (นางเอก) คนตรงกลางตัวเล็กๆ ตรงหน้าอกคือโอโตเมะ เรียวเซอิน (พระเอก)

อ่านมาจนถึงตรงนี้ หลายคนก็อาจจะสงสัยนะครับว่า “ไอ้พล็อตแบบนี้มันก็ครือๆ เดิมนี่หว่า มันมีอะไรจัดจ้านเป็นพิเศษยังไง?” ใช่ครับ ตัวโครงเรื่องหลักไม่ได้มีอะไรพิเศษมากมายนัก อย่างการมีคนที่มีพลังพิเศษ โรงเรียนของคนเหล่านี้ ไปจนถึงการแบ่งพรรคแบ่งพวกตีกันเองในกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย ญี่ปุ่นมีมังหงะแนวนี้มากมายเลย แต่จุดที่เป็นพิเศษของเรื่องนี้คือพลังพิเศษของตัวนางเอกครับ ที่เรียกได้ว่ากลายเป็นแก่นของเรื่อง รวมไปถึงพลังพิเศษของพระเอกด้วย เราลองมาทำความรู้จักกับพลังพิเศษของตัวละครทั้งสองตัวนี้กันสักนิดก่อนนะครับ

นางเอกของเรื่องอย่างอาหยุ โทโมซึริ (Ayu Tomozuri) เดิมทีเป็นคนธรรมดาทั่วไป ไม่ได้มีพลังพิเศษอะไรครับ แต่อยู่มาวันหนึ่งเธอโดนล่อลวงไปและกำลังจะโดนกลุ่มผู้ชายข่มขืน ภายใต้ความกลัว ความกดดัน และความสงสัยว่าทำไมต้องเป็นเธอที่โดนกระทำชำเราและตายไป แทนที่จะเป็นพวกเวรเหล่านั้น ด้วยสารพัดของอารมณ์และความกดดัน ทำให้พลังพิเศษของเธอตื่นขึ้นมา และทำให้กลุ่มชายที่กำลังจะข่มขืนเธอนั้นตายไปหมด และเธอก็รอดชีวิตมาได้ พลังพิเศษของเธอนั้นถูกให้ชื่อว่า ‘ไซตามะ’ (Saitama) หรืออีกชื่อก็คือ ‘Disaster Ball’ โดย Ball นี้ก็ไม่ได้แปลว่า ‘ลูกบอล’ แบบการปล่อยบอลพลังอะไรแต่อย่างใด Ball คำนี้เป็นคำแสลงที่แปลว่า ‘ไข่หำ’ นั่นเองครับ ฉะนั้นชื่อของพลังเธอนี้จะขอแปลว่า ‘ไข่หำพินาศ’ ก็คงจะไม่ผิด เพราะพลังพิเศษของเธอก็คือ การเพิ่มปริมาณของอสุจิในไข่หำจนล้นทะลักและระเบิดแตกตายไปเลยนั่นเอง พลังระเบิดไข่หำนี้จึงเป็นพลังพิเศษที่ทรงพลังระดับสูงสุดพลังหนึ่งในเรื่อง เพราะหากเธอเอาจริงเข้าแล้ว เธอสามารถจัดการกับมนุษย์เพศชายแทบทุกคนในโลกได้เลยทีเดียว

เมื่อเธอกลายร่างมาเป็นมาจินแล้ว อาหยุก็เลยย้ายเข้ามาที่โรงเรียนที่รวมๆ เหล่ามาจินจำนวนมากไว้ที่ว่า และเธอก็ถูกดึงเข้าไปอยู่กับฝ่ายคณะกรรมการนักเรียน เพราะเขาต้องการพลังของเธอไว้ต่อกรกับฝั่งลูกพี่ใหญ่ ที่โดยมากแล้วสมาชิกเป็นเพศชาย แถมตัวลูกพี่ใหญ่เอง (ซึ่งก็เป็นผู้ชาย) ก็เป็นหนึ่งในมาจินที่แข็งแกร่งที่สุดในโรงเรียน (และอาจจะในโลกด้วย) ฉะนั้นเมื่อพลังของอาหยุเข้าไปอยู่ในมือของฝ่ายคณะกรรมการนักเรียนแล้ว ฝั่งลูกพี่ใหญ่เองก็ไม่สามารถจะนิ่งเฉยได้ พวกเขาก็ต้องหาทางแก้เกม ซึ่งนั่นก็มาถึงตัวพระเอกของเรื่องครับ

พระเอกเขาชื่อว่า โอโตเมะ เรียวเซอิน (Otome Ryouseiin) ซึ่งเดิมทีแสร้งทำตัวเป็นคนธรรมดา แต่จริงๆ แล้วเขามีพลังพิเศษในการเปลี่ยนสลับเพศได้ ซึ่งถ้าเป็นในสถานการณ์ทั่วๆ ไป ก็คงจะไม่ได้วิเศษวิโสอะไรนัก หากเทียบกับพลังพิเศษของตัวละครอื่นๆ ในเรื่อง อย่างไรก็ตาม เมื่ออาหยุเข้าไปอยู่ฝั่งคณะกรรมการนักเรียนแล้ว ความสามารถของโอโตเมะนั้นก็กลายเป็นสำคัญยิ่งขึ้นมา เพราะเป็นพลังเดียวที่จะทำให้พลังพิเศษของอาหยุกลายเป็นไร้ประโยชน์ไปได้ และฝั่งลูกพี่ใหญ่เองก็จึงพยายามชักชวนโอโตเมะเข้ามาอยู่ฝ่ายของตน เพื่อที่จะได้เปลี่ยนพลพรรคของตนให้ “ไม่ต้องมีไข่หำ” อีกต่อไป และจะได้สามารถสู้กับฝั่งคณะกรรมการนักเรียนได้อย่างสูสีคู่คี่อีกครั้งในศึกสุดท้ายที่เรียกว่า ‘อามาเกนดอน’

สองก๊กหลักของมาจินในเรื่อง ซ้ายคือฝั่งลูกพี่ใหญ่หรือ Banchou (ลูกพี่ใหญ่เวอร์ชั่นกลายเป็นหญิงแล้ว) กับขวาฝั่งคณะกรรมการนักเรียน

จริงๆ แล้ว นอกจากการต่อสู้ภายในระหว่าง 2 ก๊ก ที่ว่าแล้ว ยังมีภัยอันตรายร่วมจากภายนอกด้วย โดยเป็นกลุ่มคนพิเศษที่ทรงพลังมากๆ แบบชนิดที่แค่คนเดียวอาจจะแกร่งพอจะล้มมาจินทั่วไปได้เป็นสิบเป็นร้อยคน กลุ่มนี้ถูกเรียกว่านักเรียนแลกเปลี่ยน หรือ Transfer student ครับ มันทำให้ภาพของโครงเรื่องหลักๆ มีความคล้ายซีรี่ส์ดังอย่าง Game of Thrones แหละครับที่มีทั้งการตีกันภายในชิงบัลลังก์เอง และพร้อมๆ กันไป ก็ต้องเตรียมเผชิญหน้ากับ The Night King และฝูงซอมบี้น้ำแข็งไปด้วยน่ะนะครับ ฉะนั้นเรื่องราวมันก็มีความเมามันส์และซับซ้อนในฝักฝ่าย รวมถึงการวางแผนกันไม่น้อยทีเดียวครับ แต่ในวันนี้ ผมอยากจะขอเน้นไปที่เรื่องของภาพสะท้อนที่มาจากพลังพิเศษของตัวเอกทั้งสอง ซึ่งเป็นแก่นในการเดินเรื่องมังหงะนี้ครับ

 หลังจากได้อ่านเรื่อง Sentou Hakai Gakuen Dangerosu นี้ครั้งแรก 2 อย่างที่แวบเข้ามาในหัวผมเลยนั้น คือ (1) ภาพยนตร์เรื่อง Teeth ที่แปลไทยได้เก๋มากๆ ว่า ‘กลีบเขมือบ’ อันเป็นเรื่องของหญิงสาวผู้ซึ่งครอบครองจิ๋มมีเขี้ยว ที่จะกัดน้องชายให้ขาดเสียทุกรายไป จำได้ว่าตอนที่ดูนี่ดูแล้วหวาดเสียวแปล๊บๆ มากเลย และ (2) อีกอย่างก็คือแนวคิดของสายสตรีนิยมแบบหนึ่งที่เรียกกันโดยหลวมๆ ว่า ‘สตรีนิยมสุดขั้ว’ หรือ Radical Feminism น่ะครับ

แนวคิดสาย Radical Feminism นี้เกิดขึ้นราวๆ ยุค สตรีนิยมคลื่นที่ 2 (Second-wave Feminism) ครับ คือสิ่งที่เรียกว่าสตรีนิยม หรือ Feminism นี้เนี่ยมันไม่ได้โผล่มาก็เป็นแบบนี้เลยนะครับ มันมีการพัฒนาการมาหลายยุค ตั้งแต่คลื่นลูกที่หนึ่ง จนปัจจุบันที่โดยมากถือกันว่าอยู่ในช่วงคลื่นลูกที่ 4 ครับ ทีนี้ความแตกต่างสำคัญอันเป็นจุดเริ่มต้นของสำนักคิด Radical Feminism ที่ทำให้ตัวมันเองแตกต่าง หรือออกห่างจากสตรีนิยมกระแสหลักทั่วๆ ไป หรือที่เรามักจะเรียกกันว่า Liberal Feminism นั้นก็คือ ตัวข้อเรียกร้องของฝ่าย Radical Feminism ที่ถูกดันไปสุดทางมากขึ้นครับ

โดยทั่วไปแล้ว ข้อเรียกร้องหลักของกลุ่มสตรีนิยมทั่วไป โดยเฉพาะในช่วงคลื่นที่ 1 และ 2 นั้นก็คือ “การยุติหรือยกเลิกสิทธิพิเศษหรืออภิสิทธิ์ต่างๆ ของเพศชายทิ้งไปเสีย” และเปิดโอกาสให้เพศหญิง (รวมไปถึงเพศสถานะอื่นๆ) ได้สามารถมีโอกาส มีสิทธิต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมที่เสมอภาคเท่าเทียมกันด้วย และผมคิดว่าความเข้าใจส่วนใหญ่ที่คนในสังคมมีต่อสำนักคิดสายสตรีนิยมก็น่าจะเป็นประมาณนี้ครับ

แต่ Radical Feminist นั้นบอกว่า ข้อเรียกร้องเพียงเท่านั้นมันไม่เพียงพอหรอก แต่เราควรจะเรียกร้องให้เกิดการ “รื้อสร้างระเบียบของสังคมใหม่ทั้งหมด ทั้งยวงเลยต่างหาก!” เพราะ Radical Feminist นั้นมองว่าสังคมที่เป็นอยู่นี้มันอยู่ในระเบียบของโครงสร้างแบบชายเป็นใหญ่ หรือปิตาธิปไตย (Patriarchy) อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ฉะนั้นหากเราไม่ทำลายมันทิ้งทั้งหมดก่อน แล้วรื้อสร้างสังคมขึ้นมาใหม่จากศูนย์แล้วล่ะก็ มันย่อมไม่สามารถแก้ไขอะไรได้จริงๆ หรอก (แต่ปัญหาหลักอย่างหนึ่งก็คือ ข้อเสนอของพวกนี้เอง ก็ดูจะทำจริงๆ ไม่ใคร่ได้แต่แรกนักด้วย)

ในงานชิ้นสำคัญของชูลามิธ ไฟร์สโตน (Shulamith Firestone) หนึ่งใน Radical Feminist ตัวแม่ ที่ชื่อว่า The Dialectic of Sex: The Case for Feminist Revolution (1970) ได้เสนอข้อความหนึ่งซึ่งจะบอกว่าเป็นเสมือนการวางจุดหมายปลายทางให้กับสำนักคิดนี้เลยก็ว่าได้ โดยไฟร์สโตนบอกว่า

“[T]he end goal of feminist revolution must be, unlike that of the first feminist movement, not just the elimination of male privilege but of the sex distinction itself: genital differences between human beings would no longer matter culturally.” (p.11)

หรือพอจะแปลได้ว่า “เป้าหมายปลายทางของการปฏิวัติสตรีนิยมนั้นต้องไม่เหมือนกับเมื่อครั้งความเคลื่อนไหวของกระแสสตรีนิยมคลื่นลูกที่ 1 ที่เพียงแค่มุ่งหมายจะทำลายอภิสิทธิ์ของเพศชาย แต่ต้องมองไปที่การทำลายการแยกเพศโดยตัวมันเองเลย หรือนั่นก็คือความแตกต่างของอวัยวะเพศนั้นต้องหมดความหมายไปในทางวัฒนธรรม”

และแน่นอนครับ ว่าข้อเสนอนี้ขอไฟร์สโตนมันเข้าเค้ากับสิ่งที่มังหงะเรื่องนี้นำเสนอไว้เลยทีเดียว นั่นก็คือการพยายามทำลายความสำคัญของเครื่องเพศหรืออวัยวะเพศนั่นเอง

ในข้อนี้หากว่ากันในเชิงวิชาการแล้ว มันก็คือการทำลายระเบียบที่เรียกว่า Phallocentrism หรือการมีลึงค์เป็นศูนย์กลาง พูดอย่างย่นย่อ ไอ้การมีจู๋เป็นศูนย์กลางของจักรวาลนี้ มันคือ การรวบยอดเอาสองแนวคิดมาผนึกรวมกัน ได้แก่ ระบบโครงสร้างของสังคมที่มีชายเป็นใหญ่หรือชายเป็นศูนย์กลางของอำนาจ และอีกส่วนก็คือการตัดสินหรือมอบความชอบธรรม (Justify) ความเป็นชายผ่านการ “มีจู๋” นั่นเอง ซึ่งหลายๆ ครั้งก็มักจะตีคู่มากับข้อถกเถียงทางชีววิทยาต่างๆ นานาด้วย

พลังไซตามะ หรือระเบิดไข่หำของอาหยุเอง สำหรับผมแล้วจึงเป็นภาพสะท้อนแนวคิดที่ตรงไปตรงมามากๆ ของวิถีทางแบบ Radical Feminism ที่ต้องการจะทำลายระเบียบความคิดของการมีลึงก์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งต้นตอของจุดกำเนิดพลังพิเศษนี้ของอาหยุเองก็ดูจะสะท้อนจุดนี้อย่างตรงไปตรงมาทีเดียว กับการโดนกลุ่มผู้ชาย ที่ใช้อำนาจที่เหนือกว่า รุมข่มขี่ กดทับ บังคับขืนใจ จนทำให้พลังพิเศษของเธอตื่นตัวและเธอพร้อมจะกลับมาลุกขึ้นสู้ได้

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าตัวมังหงะจงใจสะท้อนภาพไปด้วย ว่านักสตรีนิยมจำนวนมากเอง ต่อให้รู้ถึงความจำเป็นหรือมีความสามารถที่จะต้องผลักดันข้อเสนอที่สุดทางนี้ แต่ก็ไม่ได้กล้าจะแสดงออกอย่างเต็มที่นัก เหมือนกับตัวของอาหยุที่แม้จะถือครองพลังอำนาจดังกล่าว แต่ก็กลัวๆ กล้าๆ ที่จะใช้พลัง

พลังไซตามะหรือระเบิดไข่หำของอาหยุตื่นขึ้นครั้งแรก (อ่านจากขวามาซ้าย, บนลงล่าง)

ไม่เพียงเท่านั้น พลังของตัวพระเอกอย่างโอโตเมะเองก็เป็นการสะท้อนกลายๆ ถึงการรื้อสร้าง การทำลายถอนรากถอนโคนของตัวระบบโครงสร้างเดิม ที่ทำให้ความเป็นเพศหมดความสำคัญลง เพราะกลุ่มลูกพี่ใหญ่หรือ Bunchou Group ที่ถูกเปลี่ยนให้มีร่างกายทางชีวภาพเป็นหญิงแทนนั้น ก็ยังคงมีจิตใจและจิตใต้สำนึกเป็นแบบเดิมอยู่ ซึ่งมันก็สะท้อนคุณค่าแบบสำนัก Radical Feminism อีกนั่นเองว่าร่างกายมันไม่ได้สำคัญ หรือ Body does not matter. แต่มันอยู่ที่ตัวตนความคิด (The Mind) ต่างหากว่าเราเลือกที่จะเป็นอะไร ยังไง ฉะนั้นทางเดียวที่แก้ไขการโต้กลับอย่างสุดขั้วอย่างการระเบิดไข่หำได้นั้น จึงเป็นการ “ปรับทัศนคติต่อความเข้าใจเรื่อง Sex, Body, and Mind” เสียใหม่นั่นเอง

อย่างไรก็ตามตัวผมเองคิดว่าไอ้วิธีคิดแบบ Radical Feminism เอง ที่มุ่งจะทำลาย Phallocentrism หรือลึงก์เป็นศูนย์กลาง ด้วยการบอกว่า “เราต้องยุติความสำคัญของเครื่องเพศลง” นั้น มันก็มีปัญหาในตัวมันเองเชิงตรรกะอยู่บ้างครับ คือ การที่เราบอกว่าเราจะทำให้ A หมดความสำคัญลง เราจึงต้องกำจัด A ทิ้งไป โดยตัวมันเองจึงหมายความว่าคนที่พูดนั้นก็กำลังให้ความสำคัญกับ A อยู่เองด้วย

จริงๆ แล้วข้อเสนอลักษณะเดียวกันนี้ ก็เคยเสนอผ่านการพูดถึงเรื่องอื่นมาแล้ว โดยนักปรัชญาชื่อดังชาวอิตาลีชื่อจอร์จีโอ อแกมเบน (Giorgio Agamben) ครับ ว่ากันย่อๆ ก็คือ เวลาที่เราเข้ามาสู่อำนาจอะไรอย่างหนึ่งแล้ว การที่เราพยายามจะออกไปจากมันนั้น เราไม่มีทางจะออกไปจริงๆ ได้หรอก เพราะการที่เราจะออกไปจากมันเราก็จำเป็นจะต้องอ้างอิงตัวเองถึงมันด้วยอยู่ดี อแกมเบนเรียกสภาพดังกล่าวว่า In and out of politics at the same time หรือการทั้ง “อยู่ข้างในและข้างนอกของอำนาจการเมืองนั้นในเวลาเดียวกัน”

การพยายามจะทะลวงออกจากกรอบคิดของ Phallocentrism ของ Radical Feminist เอง ก็ทำให้พวกนี้ต้องกลับมาอ้างอิงกับสิ่งที่ตนเองต้องการจะสลัดทิ้งไปเสียจนได้ ว่าอีกแบบก็คือ อำนาจที่มีพลังในทางการเมืองและโครงสร้างที่มีอำนาจในทางการครอบงำนั้น เมื่อได้เข้ามาแล้ว มันดูท่าจะออกไปจากมันโดยแท้จริงไม่ได้น่ะครับ และถ้ามัน “ออกไปอย่างแท้จริงไม่ได้” การจะทำลายโครงสร้างใหม่หมดทั้งยวงเลยแบบที่สำนักคิดนี้เสนอไว้ ก็อาจจะเป็นปัญหาอยู่ ซึ่งมังหงะเรื่องนี้ก็ดูจะสะท้อนเรื่องนี้ไว้ไม่น้อย จากการที่พลังพิเศษของอาหยุเป็นอะไรที่ใหม่มากๆ มีพลังที่ถึงขนาดสั่นคลอนหรือกระทั่งเปลี่ยนระเบียบโลกได้ แต่ตัวเธอเองก็อยู่กับค่ายคณะกรรมการนักเรียน ที่เป็นตัวแทนของระบบความคิดและโครงสร้างแบบเดิมๆ ที่หนีไปไหนก็ดูจะหนีไม่พ้นสักทีนั่นเอง

ขอให้สนุกกับมังหงะนะครับ

Tags: , , , ,