นารูโตะ หรือในชื่อแปลไทย (โดยสำนักพิมพ์เนชั่น) ว่า ‘นินจาคาถาโอ้โฮเฮะ’ เป็นอีกหนึ่งในมังงะระดับตำนานของนิตยสารโชเน็นจัมป์ (Shonen Jump) ช่วงยุคทอง (อาจจะครั้งสุดท้าย) คือ ช่วงทศวรรษ 1990s-2000s ที่มีมังงะระดับตำนานเกิดขึ้นมากมาย (นารูโตะเริ่มตีพิมพ์ในปี 1999 และจบในปี 2014) เรื่องนารูโตะนี้โดยส่วนตัวแล้วผมอาจจะถือให้เป็นมังงะที่มีช่วงเปิดเรื่องสนุกที่สุดเรื่องหนึ่ง (น่าจะติดท็อปเท็นส่วนตัวแน่ๆ) แม้ว่าตอนท้ายๆ อาจจะออกน้ำ ออกทะเล ออกภูเขาหนักไปบ้าง ประสามังงะดังๆ ที่หลายๆ ครั้งถูก ‘ยืดไม่ให้จบ’ นานจนเกินพอดี

ที่อย่างนี้ก็เพราะว่า ผมจะพยายามจำกัดการเขียนเนื้อหาบทความนี้อยู่ถึงแค่ช่วงกลางๆ เรื่องคือ ถึงช่วงสู้กับกลุ่มแสงอุษา (Akatsuki) นะครับ ไม่ได้พูดไปถึงตอนท้ายของเรื่อง ส่วนท่านที่อาจจะยังไม่รู้ว่าแสงอุษาคืออะไรนั้น ผมก็ขออนุญาตแนะนำให้รู้จักเรื่องนารูโตะแต่พอสังเขปครับ

นารูโตะ เป็นมังงะเรื่องดังที่แต่งโดยมาซาชิ คิชิโมโตะ (Masashi Kishimoto) ในนิตยสารมังงะรายสัปดาห์เจ้ายักษ์ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นอย่างโชเน็นจั๊มป์ครับ และกระแสก็ดีตั้งแต่ตอนแรกๆ เลย และขึ้นทำเนียบหนึ่งในมังงะในตำนานไปโดยปริยาย โดยนารูโตะเป็นมังงะมียอดขายสูงสุดเป็นอันดับสามครับ เป็นรองเพียง One Piece และ Dragon Ball เท่านั้น (ยอดขายโดยประมาณอยู่ที่ 235 ล้านเล่มทั่วโลก) และก็อย่างที่ชื่อไทยแปลไว้ว่า ‘นินจาคาถา โอ้โหเฮะ’ นั่นแหละครับ เรื่องนี้เกียวกับนินจา

อย่างไรก็ตาม นารูโตะไม่ใช่หมู่บ้านที่พูดถึงหมู่บ้านนินจาลับ หรือหน่วยสืบและลอบสังหารลับภายใต้การสั่งการของไดเมียว (เจ้าเมือง) อะไรตามที่มังงะเกี่ยวกับนินจาหรือมังงะอิงประวัติศาสตร์มักจะเป็นกัน แต่หมู่บ้านนินจาในเรื่องนารูโตะนั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมในจักรวาลของมังงะเรื่องนี้เลย มีการจัดการอย่างเป็นระบบ มีตัวองค์กรที่ได้รับการสถาปนาขึ้นมาและจัดการอย่างชัดเจน มีระบบการตรวจสอบทำงาน รวมถึงระบบเศรษฐกิจภายในเมือง แบบเดียวกับเมืองใหญ่ๆ ในโลกเลยครับ แค่ประชากรจำนวนมากเป็นนินจา ซึ่งก็จะแบ่งชั้นตามความสามารถต่างๆ ไป โดยเฉพาะความสามารถในการต่อสู้หรือการทหาร และความทุ่มเทเพื่อหมู่บ้านนินจาของตน ดังนี้ นักเรียนนินจา, นินจาทั่วไป (Graduated Ninja), เกะนิน (นินจาระดับล่าง), จูนิน (นินจาระดับกลาง/ทั่วไป), โจนิน (นินจาระดับสูง), อันบุ (หน่วยลอบสังหารพิเศษ),และคาเงะ (หัวหน้าหมู่บ้านนินจา) 

เราจะเห็นได้ว่าวิธีการแบ่ง ‘ชั้น’ ของหมู่บ้านนินจาตามระบบบริหารจัดการของเรื่องนารูโตะนั้นมีลักษณะที่ Militaristic หรืออิงกับการทหารมาก คล้ายกับการแบ่งยศทางการทหาร ที่สืบเนื่องมาแต่โบราณ อย่างพลเดินเท้า นายกอง นายร้อย นายพล หรือในสมัยใหม่ที่แบ่งลำดับชั้นตั้งแต่ทหารเกณฑ์ ไปยันนายพล ซึ่งหากจะพูดกันอย่างเคร่งครัดที่สุดแล้ว กรณีของเรื่องนารูโตะนี้ ต้องนับว่ามีการอิงกับการทหารมากกว่าการทหารในโลกจริงเสียอีก เพราะการให้ยศของการทหารในโลกจริงนั้น อย่างในยุคโบราณ ในหลายกรณีก็มีตำแหน่งที่สืบทอดทางสายเลือด หรือในกรณีร่วมสมัย หลายครั้งยศก็มาตามวัยด้วย ไม่ใช่เฉพาะแต่ความสามารถ แม้ในเรื่องจะไม่ได้มีการระบุปริมาณนินจาในแต่ละแคว้น (หมู่บ้านนินจาตั้งอยู่ในแคว้นของตน) ไว้อย่างชัดเจน แต่จากการดำเนินเรื่องแล้ว ผมคิดว่าปริมาณในแต่ละแคว้นน่าจะระดับกองทหารหรือกองทัพของแต่ละประเทศได้เลยกระมังครับ หากเทียบกลับมาสู่สเกลของโลกของเรา

สามตัวละครหลักของเรื่อง: (ซ้ายไปขวา) ฮารุโนะ ซากุระ, อุซึมากิ นารูโตะ, อุจิวะ ซาสึเกะ

เนื้อเรื่องเริ่มต้นก็เริ่มจากพระเอกของเรา คือ อุซึมากิ นารูโตะนี่แหละครับ ที่เป็นเด็กเรียนไม่เก่งในโรงเรียนนินจา ของหมู่บ้านนินจาโคโนฮะงาคุเระ หรือหมู่บ้านแห่งไฟ (เพราะฉะนั้นหัวหน้าหมู่บ้านจึงมีตำแหน่งว่า ‘โฮคาเงะ’ ที่แปลว่า ‘เงาแห่งไฟ’ ครับ) จะเรียกว่าเป็นกลุ่มเด็กไม่ค่อยเอาอ่าวนัก เรียนคาถาอะไรก็ใช้ไม่ค่อยได้อย่างเพื่อน และมักจะมีพฤติกรรมค่อนข้างเกเรเกตุงบ้าง ทะเลาะกับเพื่อนร่วมรุ่นหรือครูในโรงเรียนนินจาบ้าง เป็นประจำ โดยมีเพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งที่นารูโตะแอบปิ๊งมานานแล้ว ชื่อฮารุโนะ ซากุระ และอีกคนที่นารูโตะมองว่าเป็นคู่แข่งของเค้า ชื่ออุจิวะ ซาสึเกะ เพราะตานี่ทั้งหน้าตาดีและเรียนเก่ง อย่างไรก็ตามในตอนแรกนารูโตะเรียนอย่างไรก็ไม่จบสักที (หากเรียนไม่จบก็จะไม่ได้เป็นนินจาเต็มตัว – เห็นมั้ยครับ ระบบการจัดการบริหารทรัพยากรบุคคลของหมู่บ้านนินจานั้น มีระเบียบที่ชัดเจนและมีความเป็นองค์กรสูงมาก) เพราะใช้คาถาอะไรก็ไม่ได้อย่างที่บอกไป ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะในตัวของนารูโตะนั้น มีผนึกของสัตว์ปีศาจอยู่ ที่เรียกกันว่า ‘สัตว์หางทั้ง 9’ (คือไล่ตั้งแต่ 1 หาง – 9 หาง) ในตัวของนารูโตะนั้นคือปิศาจจิ้งจอก 9 หาง ซึ่งปีศาจเหล่านี้หากว่ากันชัดๆ แล้วก็คือกลุ่มก้อนของพลังงานที่เรียกว่าจักระ (ซึ่งจำเป็นในการใช้คาถานินจาด้วย) ขนาดมหึมา ครับ ฉะนั้นเมื่อผนึกปีศาจหางไว้ในตัวนารูโตะ การไหลเวียนของจักระในตัวนารูโตะเองก็ติดขัดไปด้วย ทำให้ใช้คาถาไม่ได้อย่างเพื่อนๆ

แล้วไอ้สัตว์หางที่ถูกสะกดเอาไว้นี้ก็ไม่ได้มีแต่อยู่กับนารูโตะนะครับ อย่างที่ชื่อมันบอกนั่นแหละครับว่า ‘สัตว์หางทั้ง 9’ ก็มีอยู่ 9 ตัว กระจายอยู่กับหมู่บ้านนินจาหลักๆ ทั้ง 5 และอยู่ตามหมู่บ้านลับอื่นๆ อีกบ้าง เป็นเหมือนขุมกำลังสำคัญของหมู่บ้านนั้นๆ เลย

อย่างไรก็ตาม ด้วยความพยายามของนารูโตะ ผนวกกับตัวผนึกเองเริ่มค่อยๆ คลายตัวทีละนิดๆ นารูโตะเองก็ค่อยๆ สามารถใช้คาถาได้มากขึ้นเรื่อยๆ และเก่งกล้าสามารถขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่เรียนจบจากโรงเรียนนินจามาได้แล้ว อยู่ในช่วงฝึกหัดรับภารกิจ ซึ่งในระหว่างนี้เกะนินหน้าใหม่แบบพวกนารูโตะจะได้รับการเทรนโดยนินจารุ่นเก๋าระดับโจนิน ซึ่งนารูโตะเองก็จับพลัดจับผลูได้อยู่ร่วมทีมในการปฏิบัติภารกิจกับซาสึเกะ และซากุระ คู่แข่งกับคนที่เขาแอบชอบ โดยการนำทีมของนินจาชั้นโปรอย่างฮาตาเกะ คาคาชิ

ฮาตาเกะ คาคาชิ หัวหน้าทีมของพวกนารูโตะ

ภายใต้ทีมคาคาชินี้เอง ที่พวกนารูโตะได้ไปผจญภัย และฝึกปรือฝีมือต่างๆ มากมาย จนความสามารถก้าวกระโดดขึ้นตามลำดับ ได้เจอกับนินจาระดับมาสเตอร์อีกหลายคน และศัตรูที่เก่งฉกาจอีกมากมายครับ รวมไปถึงดราม่าภายในตัวทีมเองไม่น้อยด้วย ผ่านเกณฑ์การเป็นเกะนิน (การเรียนจบจากโรงเรียนนินจาไม่ได้ทำให้เป็นเกะนินในทันทีครับ แต่เป็นเหมือนการฝึกขั้นพื้นฐานสำหรับนินจาทุกคน และเฉพาะคนที่ผ่านการเรียนมาได้ จึงจะถือว่าพอมีความสามารถพอจะเป็นเกะนินต่อไปได้) พวกเขาได้ทั้งปะทะกับนินจาระดับโจนินของแคว้นอื่น เข้าร่วมการสอบเลื่อนขั้นเป็นจูนิน พบกับสามนินจาในตำนานของโคโนฮะ ไปจนถึงปะทะกับกลุ่มนินจาปลีกตัวที่เก่งระดับตำนานอย่างกลุ่มแสงอุษา ซึ่งพี่ชายของซาสึเกะ (อุจิวะ อิทาจิ) และหนึ่งในสามนินจาในตำนานที่ถูกขับไล่ไปจากโคโนฮะงาคุเระ ก็เป็นหนึ่งในสมาชิกด้วยนั่นเองครับ และพวกแสงอุษานี้เองก็ไล่ล่าตามหา ‘สัตว์หาง’ ที่ถูกสะกดไว้ เพื่อจะพยายามจะนำมาใช้งานเอง

เอาล่ะทีนี้มาดูกันว่าสภาพการตามที่เล่ามาของเรื่องนารูโตะนั้นมันสะท้อนภาพความมั่นคงของโลกร่วมสมัยกันยังไงบ้าง

อย่างที่เราน่าจะรู้สึกกันนะครับ ว่าแม้ในปัจจุบันนั้นจะมีข่าวเกี่ยวกับความมั่นคงอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะในระดับนานาชาติ อย่างประเทศนั้นประเทศนี้ขู่จะถล่มอีกฝ่ายให้ราบคาบ อย่างล่าสุดนี้ก็กรณีระหว่างจีน กับไต้หวันบ้าง สหรัฐอเมริกากับจีนเอง ก็เป็นคู่เขม่นกันมาราวสองทศวรรษแล้ว หรือคู่คลาสสิคอย่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซีย ฯลฯ เรามีการข่มขู่กดดันกันเยอะมาก แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วนับแต่ปี 1945 เป็นต้นมา สงครามในสเกลที่ใหญ่จริงๆ ระหว่างมหาอำนาจด้วยกันเองโดยตรงนั้น ไม่เคยเกิดขึ้นเลย หรือหากจะพูดให้ถูกก็คือ “อยู่ในสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ง่ายๆ” เสียด้วยซ้ำ ว่าแต่นั่นเป็นเพราะอะไร?

ถ้าเอาแบบง่ายๆ ห้วนๆ เลยก็เพราะนิวเคลียร์นั่นแหละครับ แต่หากจะพูดในทางทฤษฎีวิชาการแล้ว เราเรียกสภาวะที่ทำให้เกิดการถ่วงดุลย์ทางอำนาจด้วยอาวุธนิวเคลียร์ นี้ว่า Balance of Terror หรือดุลย์ความหวาดกลัว ซึ่งดุลย์นี้มีความแตกต่างจาก ‘ดุลย์กำลัง’ หรือ Balance of Power ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคย

สัตว์หางทั้ง 9 และหมู่บ้านนินจาที่มันสังกัดอยู่

ดุลย์กำลังนั้น เป็นสภาวะของสันติภาพแบบหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการคานอำนาจกันเอง ของรัฐ ประเทศ หรือชุมชนทางการเมืองที่มีกำลังอำนาจใกล้เคียงกัน และต่างไม่อยากให้ใครขึ้นมามีอำนาจนำสูงสุด ก็จะทำการคานอำนาจกันในโครงสร้างนี้ และทำให้เกิดสันติภาพจากความขัดแย้งระหว่างรัฐมหาอำนาจขึ้นได้ เว้นแต่จะเกิดกรณีที่มีรัฐใดรัฐหนึ่งเกิดนึกห่ามอยากจะมีอำนาจเหนือรัฐอื่นใดขึ้นมา ซึ่งก็ต้องทำลายโครงสร้างแบบดังว่า รัฐมหาอำนาจอื่นๆ ก็จะรุมตื้บกัน เพื่อให้กลับสู่สภาพโครงสร้างแบบเดิมครับ ซึ่งโครงสร้างความมั่นคงโลกในลักษณะนี้จะเห็นได้ชัดมากตลอดประวัติศาสตร์โลก โดยเฉพาะในยุคโบราณ และยุคกลาง และอาจจะไล่มาจนถึงช่วงกลางของสงครามโลกครั้งที่สองกันเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามโครงสร้างของความมั่นคงที่เรียกว่าดุลย์กำลังนั้นก็ต้องเป็นอันสิ้นสุดลง เมื่อสหรัฐอเมริกาทดลองระเบิดปรมาณูสำเร็จ และใช้ระเบิดดังกล่าว 2 ลูก ยุติสงครามโลกครั้งที่สองลงชนิดแทบจะในทันที และทำให้คนญี่ปุ่นสูญเสียชีวิตมากมาย (สนใจเรื่องนี้แนะนำให้ลองหา รบเถิดอรชุน มาอ่านดูกันนะครับ) ที่โครงสร้างความมั่นคงโลกเปลี่ยนแปลงไปนั้น ก็เพราะพลังอำนาจในการทำลายล้างอย่างมหาศาลของนิวเคลียร์นี้นี่เอง

ความรุนแรงของระเบิดนิวเคลียร์นั้น อาจจะเรียกได้ว่า “หลังจากได้เห็นฤทธานุภาพมันแล้ว มันก็เป็นเพียงอาวุธที่มีไว้โชว์ แต่ไม่ได้เอาไว้ใช้” เพราะต้นทุนของการสู้รบกัน และโดนทำลายโดยระเบิดนิวเคลียร์ แม้จะเพียงแค่ลูกเดียวนั้น มันสูงมากๆ ครับ สูงมากเกินกว่าจะสร้างกำไรใดๆ ได้อีก

ยกตัวอย่างก็เช่นกรณีของสหรัฐอเมริกากับเกาหลีเหนือแล้วกันครับ สหรัฐอเมริกามีกำลังทางการทหารมากกว่าเกาหลีเหนือนับเท่าไม่ถ้วน ชนิดที่หากคิดจะถล่มจริงๆ ไม่กี่วันก็คงจะราบเป็นหน้ากลองได้ และแม้ประเทศจีนจะคอยแบ็คให้เกาหลีเหนืออยู่ แต่การจะปกป้องเกาหลีเหนือขนาดที่ต้องเผชิญหน้ากับราคาขนาดการรบซึ่งๆ หน้ากับสหรัฐอเมริกานั้น ไม่ใช่เงื่อนไขที่จะเกิดขึ้นได้แน่นอน ปัจจัยเหล่านี้คือสิ่งที่นักความมั่นคงศึกษาทั่วโลกเข้าใจดี (ฉะนั้นสงครามโลกครั้งที่สามไม่ได้เกิดขึ้นง่ายอย่างที่นายกรัฐมนตรีไทยคิดหรืออ้างหรอกครับ) เช่นนั้นแล้ว อะไรกันเล่าที่ทำให้สหรัฐอเมริกากระอักกระอ่วนไม่กล้าทำอะไรกับเกาหลีเหนืออย่างจริงๆ จังๆ ทั้งที่ประเทศในตะวันออกกลางอย่างอิรักหรืออัฟกานิสถานต่างโดนบุกแบบไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมณ์มาแล้ว? คำตอบคือ ความเสี่ยงว่าเกาหลีเหนือจะถือครองนิวเคลียร์ที่มีวิถียิงไกลพอที่จะโจมตีถึงเมืองหลักๆ ของสหรัฐอเมริกาได้นั่นเองครับ

ว่าง่ายๆ ก็คือ ต่อให้สหรัฐอเมริกาสามารถยึดเกาหลีเหนือทั้งประเทศได้หมดใน 1 สัปดาห์ แล้วจบปัญหาเรื่องนี้ไปเสียที แต่ต้องแลกมากับการที่เมืองอย่างลอสแองเจลิส, ซานฟรานซิสโก หรือนิวยอร์กอาจโดนขีปนาวุธนิวเคลียร์ถล่มกลางเมืองได้ ราคาที่ต้องจ่ายนี้ สำหรับสหรัฐอเมริกาแล้ว ไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ได้รับมาแน่ๆ ครับ และไม่มีมูลค่าของการยึดได้ใดๆ ที่จะมากพอด้วย และนี่เองที่ทำให้เกิดโครงสร้างหรือดุลย์ในทางความมั่นคงแบบใหม่ที่เรียกว่าดุลย์แห่งความหวาดกลัว ซึ่งก็คือความหวาดกลัวต่ออานุภาพของขีปนาวุธนิวเคลียร์นั่นเอง

โลกของเรานับตั้งแต่จบสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เข้าสู่ยุคสงครามเย็น และองค์การสหประชาชาตินำโดยรัฐสมาชิกถาวรทั้ง 5 หรือ P5 (Permanent 5) ก็ทำหน้าที่ในการกำหนดมาตราฐานต่างๆ อย่างหยั่งรากลึกมากขึ้นนั้น ล้วนแต่เป็นช่วงของโครงสร้างแบบดุลย์ความหวาดกลัวทั้งสิ้นครับ เราจะไม่เห็นการรบโดยตรงของประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ อย่างมากก็จะเป็นสงครามตัวแทน หรือไม่ก็สงครามระหว่างรัฐมหาอำนาจกับรัฐขนาดเล็กที่ชัดเจนว่าไม่ได้ครอบครองขีปนาวุธนิวเคลียร์อยู่นั่นเอง

ลักษณะเดียวกันนี้เองครับก็ปรากฏอยู่ในเรื่องนารูโตะ ผมรู้สึกว่า 5 หมู่บ้านนินจาใหญ่นั้น สถานะดูจะไม่ได้ต่างอะไรจากประเทศ P5 แห่ง UN เลย ที่เป็นมหาอำนาจที่กุมความมั่นคงหลักของโลก แม้จะบาดหมางกันบ้าง แต่ก็ไม่ทำอะไรห่ามๆ ต่อกันโดยตรง และต่างก็ครอบครอง ‘สัตว์หาง’ สุดยอดอาวุธจักระของจักรวาลนารูโตะ ที่เป็นของที่แต่ละแคว้นต้องมี แต่พร้อมๆ กันไปก็มักจะอยู่ในสถานะที่เป็นที่รังเกียจหรือหวาดเกรงไปพร้อมๆ กันด้วย และพร้อมๆ กันไป ก็ไม่เฉพาะ 5 หมู่บ้านใหญ่เท่านั้นที่ครอบครองสัตว์หางไว้กับตัว หมู่บ้านเล็กๆ อื่นๆ บางแห่งเองก็ครอบครองสัตว์หางเหล่านี้ไว้เช่นกัน เพราะฉะนั้นแล้ว ลักษณะโครงสร้างความมั่นคงในเรื่องนารูโตะดูจะสะท้อนโครงสร้างหลักของการเมืองความมั่นคงโลกมากทีเดียว และเหล่าคาเงะของเราก็ไม่ต่างอะไรจากประมุขรัฐสมาชิก P5 ที่กุมบังเหียนโลกเลย (P5 ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, จีน, และรัสเซีย)

คาเงะหรือหัวหน้าหมู่บ้านนินจาทั้ง 5

ไม่เพียงเท่านั้น นับตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2001 เป็นต้นมา อีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองความมั่นคงโลกก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อกลุ่มอัลกออีดะฮ์จี้เครื่องบินสี่ลำ และเข้าชนกับตึกเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ และอาคารเพนตากอน โลกก็ได้เข้าสู่ความกลัวต่อภัยก่อการร้ายอย่างเต็มตัวและตื่นตัวที่สุดเท่าที่ประวัติศาสตร์เคยบันทึกไว้ แม้ภัยก่อการร้ายจะมีมาก่อนหน้านั้นนานแล้วก็ตาม และความหวาดกลัวดังกล่าวนี้ในโลกตะวันตกก็หนักข้อขึ้นไปเรื่อยๆ การก่อเหตุเองก็มีความรุนแรงมากขึ้น ถี่ยิ่งขึ้น ทั้งฝั่งที่ต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายเอง ก็ยิ่งรุนแรงขึ้น โหดร้ายขึ้นไปด้วยเช่นกัน

และความกลัวสูงสุดที่รัฐมหาอำนาจทั้งหลายมีต่อกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ ก็คือความเสี่ยงและความเชื่อในหมู่นักความมั่นคงศึกษาและนักก่อการร้ายศึกษาจำนวนมาก ที่ว่ากลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติใหญ่ๆ มีเป้าหมายในการจะครอบครองขีปนาวุธนิวเคลียร์ไว้ให้ได้ เพื่อจะใช้ต่อกรและต่อรองกับชาติมหาอำนาจ

กลุ่มแสงอุษา (Akatsuki)

ภายใต้โครงสร้างความมั่นคงที่มีดุลย์ความหวาดกลัวเป็นแกนหลักนี้ หากจะมีใครที่กล้าใช้อาวุธอย่างขีปนาวุธนิวเคลียร์ ก็หนีไม่พ้นกลุ่มก่อการร้ายนี่แหละครับ เพราะพวกเขาวางตัวอยู่นอกโครงสร้างที่ว่านี้โดยสิ้นเชิง พวกเขาจึงไม่ได้ต้องตระหนก กังวล หรือได้รับอิทธิพลอะไรจากโครงสร้างที่มีอยู่และอาจจะพังทลายลงได้ ฐานการมองนี้นี่เองที่ทำให้ กลุ่มก่อการร้ายกับการพยายามจะช่วงชิงตัวขีปนาวุธนิวเคลียร์หรือหาทางให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีกับวัตถุดิบในการผลิต (Enriched Uranium) ขีปนาวุธนิวเคลียร์ กลายเป็นฝันร้ายสูงสุดของการเมืองความมั่นคงโลกในปัจจุบัน

และเรื่องนารูโตะก็เสนอเรื่องนี้อย่างชัดเจนอีกแล้วครับ ผ่านกลุ่มแสงอุษา ที่เป็นภาพสะท้อนสำคัญของกลุ่มก่อการร้ายระดับท็อปของโลก ที่พยายามช่วงชิงและนำเอาสัตว์หางทั้งหมดมาครอบครอง เพื่อถล่มโลกนินจาก็ดูจะไม่ต่างจากมุมมองถึงภาพฝันร้ายสูงสุดของโลกความมั่นคงจริงๆ เลย และสงครามเต็มกำลังกับกลุ่มแสงอุษาโดยหมู่บ้านนินจาทั้ง 5 ก็ดูจะเป็นเรื่องเดียวกันกับสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่รัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช เคยประกาศกร้าวเอาไว้เลยทีเดียว

น่าสนใจนะครับที่มังงะสำหรับเด็กผู้ชายเรื่องหนึ่ง จะทำให้เราเห็นภาพสรุปการเมืองความมั่นคงโลกได้แทบจะครบถ้วนแบบนี้

ขอให้สนุกกับมังงะครับ

Tags: , , , ,