ในช่วงปี 1980s – 2000s น่าจะนับได้ว่า เป็นยุคทองมากๆ ยุคหนึ่งของมังหงะสำหรับเด็กผู้ชาย (shonen manga) เพราะมีโชเน็นมังหงะระดับขึ้นแท่นจำนวนมากที่ยังคงฉายซ้ำ ผลิตภาคใหม่ๆ หรือเป็นสินค้ารูปแบบอื่นอีกมากมายกระทั่งในปัจจุบัน ทั้งของเล่น เกม ภาพยนตร์ ฯลฯ อย่าง ดราก้อนบอล อาราเล่ โปเกมอน ดิจิมอน ไล่เรื่อยมาจนกระทั่งมังหงะที่ยังคงดำเนินเรื่องอยู่ในเล่มหลักของนิตยสารโชเน็นจัมพ์ในปัจจุบันอยู่อย่าง วันพีซ, ฮันเตอร์ x ฮันเตอร์ หรือที่จบไปแล้วไม่นานนักอย่างฮิคารุ เซียนโกะเกมอัจฉริยะ, ปริ๊นซ์ออฟเทนนิส, บลีช, เดธโน้ต, หรือนารูโตะ นินจาคาถาโอโหเฮะ

กระนั้นนับแต่ช่วงปลายของทศวรรษ 2000s เป็นต้นมา ก็เริ่มมีปัญหาหนึ่งที่เป็นที่พูดถึงกันมากในหมู่นักอ่านมังหงะ นั่นคือ ดูจะไม่มีมังหงะใหม่ๆ ที่จะมาขึ้นแท่นสืบทอดทายาทแทนมังหงะระดับตำนานที่ว่ามานี้ได้เลย หลายเรื่องทั้งพลังการเล่าเรื่องก็ดูจะด้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ ไม่งั้นก็ไม่ได้รับความนิยมมากนักจนโดนตัดจบไปอย่างค่อนข้างรวดเร็ว

แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความหวังดูจะเริ่มกลับมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมังหงะหน้าใหม่สายโชเน็นเริ่มโผล่มาให้เห็นขึ้นอีกครั้ง และทำท่าว่าจะไปได้ยาวพอจะสืบทอดตำนานของมังหงะระดับท็อปรุ่นพี่ได้ หลายคนฝากความหวังไว้กับมังหงะเรื่องดังอย่าง Boku no Hero Academia ที่มีเนื้อเรื่องเป็นมังหงะต่อสู้สายคลาสสิคระหว่างฮีโร่ กับเหล่าร้าย แต่มีการสร้างจักรวาลของฮีโร่รวมถึงระบบโลกแบบใหม่ชุดใหม่ขึ้นมาเลย แต่กระนั้น ด้วยรสนิยมส่วนตัวแล้ว ตัวผมเองไม่ถึงกับชอบเรื่องที่ว่านี้นัก (ค่อนข้างเบื่อ -แหะๆ)

อีกเรื่องที่แม้จะเป็นมังหงะสายเซย์เน็น หรือมังหงะสำหรับผู้ใหญ่หน่อย แต่ก็เป็นที่ฮิตฮ็อตในหมู่เด็กๆ มากอย่าง One-punch Man ที่ดูทรงจะกลายเป็นตำนาน และเราคงจะได้มีโอกาสพูดถึงในโอกาสต่อไป เรื่องนี้เป็นผลงานของ ONE ที่ต่อมาถูกขัดเกลางานภาพขึ้นใหม่โดยยาสุเกะ มุราตะ (คนวาดภาพเรื่อง Eye-shield 21) ทำให้ทุกอย่างยิ่งสุโค่ยขึ้นไปอีก แนะนำให้ไปลองหาอ่านกันดู

แต่หากพูดถึงมังหงะสำหรับเด็กผู้ชายจริงๆ ที่โดยส่วนตัวมองว่าน่าฝากความหวังและอยากเชียร์ให้ไปได้ไกลๆ นานๆ ที่สุดในยุคนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่อง Dr.Stone ซึ่งเป็นผลงานที่ค่อนข้างก้ำกึ่งระหว่างมังหงะเด็กผู้ชายกระแสหลัก ที่มีการต่อสู้ ผจญภัย มีเซ็ตติ้งที่หลุดโลก มีตัวละครที่แต่ละตัวมีความสามารถระดับเหนือมนุษย์ กระนั้นมันก็มีลูกผสมที่กำลังลงตัวมากของมังหงะสายรองหรือที่บางครั้งเรียกกันว่าสายดาร์ก เพราะมันไม่ได้ดำเนินเรื่องผ่านการต่อสู้ทางร่างกายแบบหมัดชนหมัด ดาบประดาบอะไร อย่างพวกวันพีซ หรือนารูโตะ หรือบลีช แต่ดำเนินเรื่องผ่าน “การค้นพบทางวิทยาศาสตร์” และการ “ประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีแบบใหม่ๆ” มาต่อกรกับกำลังในเชิงกายภาพ

คนด้านหน้าคือ เซ็นคุ ด้านหลังคือสึคาสะ

Dr.Stone เป็นผลงานเขียนเรื่องของ ริอิจิโร่ อินากาคิ (Riichiro Inagaki) ครับ ก่อนหน้านี้ผลงานแต่งเรื่องที่สร้างชื่อให้กับเขาก็คือ มังหงะว่าด้วยอเมริกันฟุตบอลระดับมัธยมปลายชื่อดังอย่าง Eye-shield 21 ที่นับได้ว่าอยู่ในยุคทองของมังหงะด้วย มาประกบคู่กับนักวาดมังหงะมือเก๋าอย่าง ‘Boichi’ ซึ่งเป็นนามปากกาของนักวาดมังหงะชื่อดังชาวเกาหลีชื่อปาร์ก มูชิก (Mujik Park) ซึ่งสร้างชื่อในญี่ปุ่นมานานแล้ว มีผลงานมากมาย อย่าง Space Shift Caesar, Sun-Ken-Rock, Wallman, Origin ฯลฯ

ในเรื่อง Dr.Stone นี้ เรื่องราวเริ่มต้นจากโลกในยุคปัจจุบันนี่แหละครับ แต่แล้ววันหนึ่งก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครรู้ว่าสาเหตุคืออะไร แต่เกิดแสงสว่างวูบครั้งใหญ่ แล้วสิ่งมีชีวิตแทบทุกอย่างก็กลายเป็นหินไปหมด (แต่ยังคงมีชีวิตอยู่ภายใต้เปลือกหินนั้น) และเวลาก็ผ่านไปกว่า 3,689 ปี โลกเปลี่ยนสภาพไปหมด มากเสียจนเกินกว่าจะเรียกว่าเป็นโลกยุคหลังการล่มสลาย หรือ Post-Apocalyptic World ได้ เพราะสภาวะแวดล้อมของโลกถึงขั้นฟื้นคืนกลับมาใหม่เป็นโลกอีกใบไปแล้ว และเหล่าคนที่แข็งเป็นหินก็ค่อยๆ เริ่ม “กระเทาะหินออกมา” แล้วได้กลับมาใช้ชีวิตในโลกใบเดิมแต่สภาพใหม่นี้ ข้ามกาลเวลากว่าสามพันปี โดยที่ความทรงจำก็ยังอยู่กับโลกเมื่อกว่าสามพันปีก่อนนั้นอยู่

ตัวละครหลักในเรื่องคือ เซ็นคุ (Senku) เด็กนักเรียนมัธยมปลายที่เป็นอัจฉริยะทางด้านวิทยาศาสตร์แทบทุกแขนง การคำนวณ จนถึงการประดิษฐ์ กับเพื่อนๆ ของเขาที่เป็นคนร่วมรุ่นเองอย่างไทจูและยูซุริฮะ กับอีกคนหนึ่งคือสึกาสะ ที่เป็นนักสู้ที่แข็งแกร่งมาก (สามารถล้มสิงโตได้ด้วยมือเปล่า) ทั้งยังมีความสามารถในเชิงการวางแผนยุทธศาสตร์ที่ไม่เป็นรองใคร ทั้งสองคนมีมุมมองต่อโลกที่ต่างกัน (อย่างไรนั้นควรไปอ่านเอง) และนำมาซึ่งการต้องต่อสู้ห้ำหั่น เพื่อจะยุติอีกฝ่ายลงให้ได้

ผลจากการห้ำหั่นส่งผลให้กลุ่มของเซ็นคุต้องแยกทางกัน เซ็นคุไปค้นพบมนุษย์ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นจริงๆ คือ เกิดและโตมาในโลกที่เป็นแบบนี้จริงๆ ในระหว่างที่พวกเขายังคงเป็นหินอยู่ ซึ่งก็คือมีระดับการพัฒนาการระดับมนุษย์ยุคดึกดำบรรพดีๆ นี่เองครับ แต่สภาพดังกล่าวนี้ก็ไม่ได้ต่างกันมากนัก ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ท้องถิ่นของโลกใหม่ หรือมนุษย์ผู้ฟื้นคืนจากโลกเก่า ทุกคนล้วนอยู่ในยุคที่ต้องกลับมาสู่จุดตั้งต้นทางเทคโนโลยีที่เป็นศูนย์ด้วยกันทั้งนั้น และจุดนี้เองที่บทบาทของเซ็นคุสำคัญยิ่ง เพราะเขาคิดจะทำให้ระดับของเทคโลโลยีและนวัตกรรมของโลกใหม่นี้ ก้าวทันโลกเก่าให้ได้เนี่ยชั่วเวลา 1 อายุคนของเขา และฝั่งตรงข้ามของเซ็นคุ อย่างพวกสึคาสะเองก็รู้ดีว่าปล่อยเซ็นคุไว้นานไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วเซ็นคุก็จะพัฒนาเทคโนโลยีไปไกลเกินกว่าที่ความสามารถด้านกำลังทางกายภาพล้วนๆ จะสู้ไหวหรือตามทัน

สึคาสะ ชายผู้ฆ่าสิงโตได้ด้วยมือเปล่า

ประเด็นในมังหงะที่อายุอานามไม่มากนักนี้ มีเยอะมากเลยครับ แต่ที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุด เด็ดดวงที่สุด คงหนีไม่พ้นการให้ภาพเรื่อง ‘วัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์’ หรือที่เราเรียกกันว่า Historical Materialism ในทางวิชาการ ซึ่งคาร์ล มาร์กซ์ เป็นผู้เสนอเอาไว้คนแรก

แรกเริ่มเดิมที คำอธิบายความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับสังคมนั้นมักจะมาจากคำอธิบายแนวคิดแบบที่เรียกว่า Inside-out หรือก็คือ ความคิด ความตั้งใจ ความปราถนาจากตัวตน จิตใจของมนุษย์เองในการอยากจะทำในสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ จึงสร้างการเปลี่ยนแปลงขึ้นเพื่อสนองตามความคิดนั้น และนั่นก็ดูจะถูกต้องไม่น้อยทีเดียว

แต่มาร์กซ์ได้เสนอออกมาตรงกันข้ามเลยครับ ว่าไอ้จุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนพฤติกรรม และวิธีคิดในระดับสังคมนั้นมันเกิดขึ้นจากอิทธิพลจากภายนอกเข้ามาทำให้สังคมภายในเปลี่ยนไปต่างหาก หรือก็คือเป็นคำอธิบายแบบ Outside-in ครับ โดยไอ้สิ่งภายนอกที่เปลี่ยนไปก็คือ วัตถุ (material) และพวกเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งหลายรอบตัวเรานี่แหละครับ ที่มีผลในการจัดรูปวิธีคิด และพฤติกรรมของพวกเราเอง อย่างที่บ่อยๆ ครั้งเราก็ไม่เคยคิด หรือจินตนาการมาก่อนได้

อย่างการที่ทุกวันนี้มีสมาร์ตโฟนเกิดขึ้น มีแอพลิเคชั่นสำหรับสื่อสารมากมาย มีโซเชียลเน็ตเวิร์คเกิดขึ้นมา เราก็อาจจะได้เห็นภาพอากง อาม่า คุณย่า คุณยายของเรา นั่งกดส่งรูป สวัสดีวันต่างๆ พร้อมดอกไม้หลากสีสัน ให้กลุ่มเพื่อนของพวกนาง อย่างแทบจะเป็นปกติได้ และนั่งหัวเราะคิกคักกับโทรศัพท์มือถือไปเสียครึ่งค่อนวัน แต่ภาพที่ดูจะเป็นปกติเหล่านี้ เราอาจจะไม่ได้คิดหรือกระทั่งจินตนาการได้เลยเมื่อสิบกว่ายี่สิบปีก่อน ว่ากงกะม่าเราจะมาสายนี้ ไม่ต้องนับเด็กๆ เจเนอเรชั่นใหม่ที่เกิดและโตมาในยุคสมัยที่เป็น Digital Native คือ เกิดมาก็มีของพวกนี้มาพร้อมกับชีวิตเค้าเลย วิธีการคิด การมองโลกของเขา กับเราก็ย่อมแตกต่างกันไปด้วย ดังที่ผมกับรุ่นพ่อแม่ผมมีวิธีคิด มุมมอง และพฤติกรรมต่างกันออกไป

นี่เองครับคือการเปลี่ยนแปลงที่มาจาก ‘นอกเข้าใน’ (โปรดอย่าคิดลามก) คือ การเกิดขึ้น และการเปลี่ยนแปลงภายนอกมันเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตเรา อย่างชนิดที่บ่อยๆ ครั้งเราไม่ทันได้ตั้งตัว ไม่ทันจะได้คาดคิด แต่เมื่อมันเกิดขึ้น เราก็ไหลไปตามมัน เปลี่ยนทิศทางความเป็นไปของชีวิตเราไปตามกระแสการไหลของวัตถุภายนอกที่มาพัดพาเราไป ในเรื่อง Dr.Stone นี้เองก็เช่นกันครับ คำว่า Stone นี้นอกจากจะสื่อถึงการเคยเป็นหินมาก่อนแล้ว มันยังสื่อถึงการสู้กับเงื่อนไขของสภาวะทางเทคโนโลยีประมาณยุคหินอีกด้วย และคนที่มีความรู้ (แทนด้วย Dr. ในชื่อเรื่อง) อย่างเซ็นคุนั้นก็ได้นำสิ่งที่พอจะมีอยู่ และศักยภาพมากพอจะหามาเองได้ ค่อยๆ พัฒนา ‘นวัตกรรมใหม่ๆ’ จากความไม่มีในยุคนั้น

เซ็นคุ กับจุดตั้งต้นในการเร่งพัฒนา ‘ดินปืน’

สิ่งประดิษฐ์ การทดลอง การหาทรัพยากรเพื่อการผลิต หรือกระทั่งวิธีคิดของเซ็นคุเอง ถูกแสดงให้เห็นชัดเจนมากในตัวมังหงะเรื่องนี้ว่า มันเปลี่ยนความคิดและวิถีชีวิตของคนโลคอลที่เกิดและเติบโตมากับสภาพแวดล้อมที่ไร้เทคโนโลยีอย่างไร จากเดิมทีเซ็นคุถูกมองว่าเป็นพ่อมดหมอผีที่ท่องคาถาที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ แต่สิ่งประดิษฐ์ของเขาได้เริ่มแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่นำมาซึ่งสภาพการใช้ชีวิตที่เหนือกว่า และคนก็เริ่มเข้าใจถึงความมีประโยชน์ของผลงานของเซ็นคุ และเข้ามาให้การช่วยเหลือมากขึ้นเรื่อยๆ พฤติกรรม รวมถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนดังกล่าวก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดมากมาย ทั้งในแง่อาวุธยุทโธปกรณ์ อุปกรณ์และยารักษาโรค อาหารการกิน กระทั่งอุปกรณ์เผื่อการผ่อนคลายต่างๆ โลกไม่ได้เปลี่ยนได้ด้วยศรัทธาล้วนๆ แต่มันต้องการความรู้ และต้องการพลังของวัตถุ/สิ่งแวดล้อมให้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงได้ อย่างสำคัญครับ

อย่างการเริ่มต้นการพยายามจะสร้าง ‘โหลและหลอดแก้ว’ ในยุคหินใหม่ เพื่อจะได้สามารถริเริ่มการวิจัยและผลิตด้านเคมีภัณฑ์ต่างๆ ได้โดยจริงจัง (เพราะแก้วมีความทนทานต่อกรดและเบสสูง เป็นอุปกรณ์จำเป็นในการใช้เป็นภาชนะ) และเมื่อได้แก้วมา นอกจากมันจะถูกนำมาใช้เป็นภาชนะในการทดลอง ที่นำมาสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ มากมายแล้ว อย่างการใช้รองรับกรดซัลฟิวริก ที่ถูกนำมาใช้ต่อในอีกหลายอุปกรณ์ เช่น แบตเตอรี่ (ซึ่งนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงของชุมชนอีกมากมหาศาลตามมา) แก้วยังถูกนำมาใช้แปรรูปในการทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากความตั้งใจแรกเริ่มเองแต่ต้นด้วย เพราะเทคโนโลยีนั้นมันมีบทบาทในฐานะการเป็นตัวกลางของความเป็นไปได้อื่นๆ ที่อยู่ในลำดับถัดๆ ไป (Means of Adjacent Possibilities) ซึ่งเหนือกว่าความตั้งใจแต่แรกของเราก็เป็นไปได้

อย่างในเรื่อง มันถูกนำมาใช้ทำแว่นตา แก้อาการสายตาสั้นให้คนในหมู่บ้าน ที่ตอนนั้นเข้าใจว่าอาการสายตาสั้นเป็นโรคร้าย เป็นความต้องสาปบางอย่าง เมื่อมีแว่นและสายตาที่คมชัด วิถีการดำเนินชีวิตก็เปลี่ยนไป หรือแก้วที่ต่อมาถูกนำมาเป็นส่วนประกอบสำคัญของหลอดไฟ ก็ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของทุกคนในหมู่บ้านยุคหินใหม่นี้ไปอย่างตลอดกาล พวกเขาสามารถมีแสงสว่างได้อย่างเจิดจ้าแม้ในยามกลางคืน ในขณะที่ความมืดเป็นนายเหนือทุกพรมแดนรอบกายพวกเขา นี่แหละครับคือตัวอย่างของเทคโนโลยี ของวัตถุที่มันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในทางประวัติศาสตร์ และพฤติกรรมของสังคม เพราะเมื่อสิ่งเหล่านี้ได้เกิดขึ้น โลกก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพียงแค่ในเรื่อง Dr. Stone มันเกิดขึ้นด้วยอัตราที่รวดเร็วแซงทางโค้งประวัติศาสตร์จริงแบบมากมหาศาลก็เท่านั้นเอง

Dr.Stone จึงเป็นมังหงะที่ทั้งให้ความรู้กับเราถึงประโยชน์ของวิทยาศาสตร์และวัตถุทางเทคโนโลยีที่อยู่รอบตัวเรา ว่าหลายครั้งมันอยู่ใกล้ตัวเราแค่ไหน หลายครั้งเราไม่รู้ตัวเองแค่ไหนถึงความเปลี่ยนไปของวิถีชีวิตของเราเองจากการมีหรือไม่มีสิ่งเหล่านี้ ความต่างของสภาพการ ‘มี-ไม่มี’ อย่างสุดขั้วในแง่วัตถุนี้เองที่สำหรับผมแล้วคือธีมหลักที่สำคัญมากของเรื่อง ที่มันต้องไปต่อสู้ห้ำหั่นกับฝั่งที่อาศัยกำลัง ความสามารถในการต่อสู้ รวมถึงยุทธศาสตร์ทางการสงครามด้วย ว่ามันจะยุติตัวการของความรุนแรง (Agent of Violence) อย่างสึคาสะได้อย่างไร?

นอกจากนี้เรื่องยังมีแฝงแนวคิดอีกหลายอย่างไว้ด้วย ที่คงไม่สามารถพูดหมดจนครบได้ มันแฝงวิธีคิดแบบ ‘เรอเนสซองส์’ ที่ต้องการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการของกรีกโบราณให้คืนกลับมาอีกครั้ง มันสะท้อนมุมมองแบบคนแคระบนบ่ายักษ์ มันเป็นเหมือนอนุสนธิที่เตือนสติเราถึงความฉิบหายที่อาจจะเกิดขึ้นหากเราใช้ความได้เปรียบจาก ‘การมี (วัตถุ)’ เหล่านี้จนเกินเลย ไม่รู้ตัวว่าจะนำมาซึ่งความเละเทะได้อย่างไร (โดยเฉพาะที่สะท้อนผ่านจุดยืนของค่ายสึคาสะ) ไปจนถึงแนวคิดเรื่องการคัดเลือกทางเผ่าพันธุ์อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประวัติศาสตร์โลกหลายครั้ง ผมอยากให้ลองอ่านเรื่องนี้กันดูนะครับ สนุกมากๆ และอยากเชียร์ให้เรื่องนี้อยู่ต่อไปนานๆ

ขอให้สนุกกับการอ่านมังหงะครับ

Tags: , , ,