ผมเชื่อว่าคนรุ่นผม (บวกลบสิบปี) คือช่วงอายุประมาณ 20 – 40 ปี แทบทุกคนต้องรู้จักชื่อของมังหงะชื่อก้องโลกระดับตำนานอย่างโดราเอมอนเป็นอย่างดี ต่อให้ไม่เคยดูอย่างไรก็ต้องเคยเห็นตัวหุ่นยนต์แมวละม้ายคล้ายทานูกิสีฟ้า หรือเคยได้ยินเพลง “อั๊ง อัง อั่ง …” กันมาบ้าง

โดราเอมอนทรงอิทธิพลขนาดไหนนั้น คงดูได้จากรางวัลที่เป็นที่ยอมรับกันทั้งในญี่ปุ่นดินแดนต้นกำเนิดมังหงะและความยอมรับในระดับสากล โดราเอมอนนั้นตีพิมพ์ลงนิตยสารโชกะกุกังครั้งแรกในเดือนธันวาคม 1969 แล้วจากนั้น ในเดือนมิถุนายน 1997 หรือเกือบ 27 ปีหลังจากที่โดราเอมอนได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรก ได้มีการจัดรางวัลเท็ตสึกะ โอซามุ (Tezuka Osamu Award) ซึ่งเสมือนเป็นรางวัลโนเบลของวงการมังหงะขึ้นเป็นครั้งแรก และครั้งแรกนี้รางวัลก็ตกเป็นของโดราเอมอน ยอดผลงานของฮิโรชิ ฟูจิโมโตะ (Hiroshi Fujimoto) และโมโตโอะ อาบิโกะ (Motoo Abiko) ซึ่งร่วมกันเขียนโดราเอมอนภายใต้นามปากกา ‘ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ’ (Fujiko F. Fujio) ที่เราคุ้นเคยกันนั่นเองครับ ไม่เพียงเท่านี้ โดราเอมอนยังได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการให้เป็นทูตอะนิเมะรายแรก ด้วยเมื่อปี 2008 ส่วนในระดับโลกนั้นผมคิดว่าความยอมรับคงดูได้ไม่ยาก ก็จากยอดขายนี่แหละครับ โดราเอมอนเป็นมังหงะที่มียอดขายมากที่สุดเรื่องหนึ่งในโลกด้วยยอดขายกว่า 100 ล้านเล่ม ทั้งยังได้รับรางวัลและการยอมรับทั่วไปหมด ตั้งแต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชมพูทวีป แหลมกู๊ดโฮป ไปยันสุดชายฝั่งของแคลิฟอร์เนีย

โดราเอมอน เล่มที่ 1

เนื้อเรื่องย่อของโดราเอมอนนั้นไม่มีอะไรต้องเล่าเยอะนะครับ เรื่องคร่าวๆ มันเริ่มจากชีวิตอันแสนน่ารันทดของเด็ก ป.4 พระเอกของเรื่องอย่างโนบิ โนบิตะ ที่ผลการเรียนย่ำแย่ ขี้เกียจ ขี้แย โดนรังแกเป็นประจำ และแอบหลงรักสาวร่วมชั้นอย่างชิสุกะจังอยู่ข้างเดียว แต่ก็งกๆ เงิ่นๆ ไม่ทำห่าอะไรสักที ความเหลวเป๋วของโนบิตะนี้เองที่ส่งผลให้ครอบครัวของโนบิตะในอนาคตต้องประสบกับความย่ำแย่ เหลนของโนบิตะที่ชื่อโนบิ เซวาชิ เลยส่งหุ่นยนต์พี่เลี้ยงของเขาให้ย้อนอดีตกลับมาช่วยทวดของตัวเองด้วยไทม์แมชชีน เพื่อให้ชีวิตดีขึ้น และหุ่นพี่เลี้ยงรูปร่างคล้ายทานูกิสีน้ำเงิน (แต่จริงๆ คือแมว) นั้นก็คือโดราเอมอนนั่นเอง

ฮิโรชิ ฟูจิโมโตะ (ซ้าย) และ โมโตโอะ อาบิโกะ (ขวา) ผู้สร้างผลงานโดราเอมอน

โดราเอมอนใช้ ‘ของวิเศษ’ ซึ่งจริงๆ ก็คือข้าวของทั่วๆ ไปที่มีในอนาคตนี่แหละครับ แต่มันกลายมาเป็นของวิเศษสำหรับยุคของโนบิตะ เพราะความต่างชั้นของเทคโนโลยี และของวิเศษเหล่านี้เองที่ทำให้เกิดการผจญภัยมากมายระหว่างโนบิตะและผองเพื่อน ทั้งระดับชีวิตประจำวัน ที่โนบิตะขอของวิเศษจากโดราเอมอนเพื่อไปสู้กับเพื่อนที่ชอบรังแกเขาอย่างโกดะ ทาเคชิ (ไจแอนท์) หรือไม่ก็เอาของวิเศษโดราเอมอนไปขิง สู้กับเพื่อนที่บ้านร่ำรวยมีของเล่นใหม่ๆ เท่ๆ มากมายมาอวดให้โนบิตะอิจฉาตลอดอย่างโฮเนคาว่า ซูเนโอะ หรือกระทั่งนานๆ ครั้งไปก็อยากสร้างความประทับใจให้เหนือกว่าหนุ่มหล่อสุดฉลาดของชั้นอย่างเดคิสุงิ ฮิเดโยชิ ก็ขอเครื่องมือเพิ่มความหล่อเพิ่มความฉลาดให้ตัวเองก็มี และทั้งระดับโลกที่ร่วมขบวนกันไปกู้วิกฤติของโลกมากหลายครั้งแล้ว (แม้หลายครั้งจะทำตัวเป็นวิกฤตของโลกไปเสียเองด้วย)

เรื่องย่อของโดราเอมอนนั้นเท่านี้คงจะเพียงพอแล้ว แต่ผมคิดว่าที่น่าสนใจและซับซ้อนมากๆ นั้นคือ ‘สถานะ’ ของตัวตนโดราเอมอนเอง ทั้งเรื่องนี้ยังเกี่ยวอย่างยิ่งกับประเด็นหลักที่จะอภิปรายกันต่อไปด้วยครับ นั่นคือเรื่อง หลังมนุษยนิยม หรือ Post-Humanism เพื่อให้เห็นภาพโดยชัดเจน ผมขออธิบายแนวคิดทฤษฎีนี้คร่าวๆ ก่อน แล้วค่อยกลับมาที่โดราเอมอนกันนะครับ

อาจจะดูเหมือนอ้อมโลก ไม่เข้าเรื่องสักทีนะครับ แต่ผมคิดว่าการจะอธิบายสิ่งที่เรียกว่า Post-Humanism ได้นั้น ต้องเริ่มอธิบายโดยสังเขปก่อนว่า ‘มนุษยนิยม’ หรือ Humanism มันคืออะไร นั่นเพราะโดยทั่วๆ ไปแล้ว Post-Humanism มันคือสภาวะของสังคมที่ถัดมาจาก (after) มนุษยนิยม หรือสังคมที่ก้าวเกินไปกว่า (beyond) มนุษยนิยมนั่นเองครับ ฉะนั้นก็เลยต้องขอพูดถึงมนุษยนิยมสักนิดก่อน

หากอธิบายแบบหยาบๆ คร่าวๆ ที่สุดแล้ว แนวคิดแบบมนุษยนิยมนั้นก็คือแนวคิดที่มองว่ามนุษย์คือองค์ประธานของความคิดและเจตจำนงค์ของตนเองนั่นเองครับ โดยสิ่งที่เรียกว่ามนุษย์นั้นก็คือพวกเรานี่แหละครับที่เกิดและโตมาในฐานะมนุษย์ในทางชีวภาพ เรื่องนี้ต้องถูกขีดเส้นอย่างชัดเจนนะครับในแนวคิดแบบมนุษยนิยม เพราะมันคือพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนด้วยที่ ‘รับประกันสิทธิของมนุษย์’ ฉะนั้นมันจึงต้องมีขอบเขตที่แน่ชัดว่าอะไรคือมนุษย์ จะมาบอกว่าตุ๊กตาหรือหมาแมวเป็นคนเหมือนกันกับเราไม่ได้ เพราะมันต้องนำไปใช้กับหลักการใหญ่ที่ว่าด้วยการรับประกันสิทธินี้ด้วย

ซึ่งความเป็นองค์ประธานของตัวเองนี้ ก็สอดคล้องกับคำพูดที่โด่งดังของเรอเน่ เดส์การ์ด (Rene Descartes) ที่บอกว่า “เพราะฉันคิด ฉันจึงเป็นฉัน” (I think, therefore, I am.) ที่พยายามตอบคำถามว่า “เราจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวตน สังคมและโลกที่เรารับรู้นั้น ไม่ได้เป็นเพียงฝันของใครสักคนหนึ่ง?” คำตอบของเดสการ์ดที่ยืนยันการมีตัวตนของมนุษย์ ว่าเราไม่ได้เป็นเพียงร่างมโนในฝันของใคร แต่เป็นองค์ประธานของตัวเราเอง ด้วยความสามารถในการคิดได้ด้วยตัวเองนั้น ได้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญให้กับแนวคิดมนุษยนิยมครับ และฐานคิดทางสังคมศาสตร์แทบจะทั้งหมดก็วางอยู่บนฐานคิดนี้ เพราะในแทบทุกการวางฐานคิดนั้น เรามักจะมองว่า “มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล และตัดสินใจได้ด้วยตนเอง” เสียเป็นส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะวิชาสายเศรษฐศาสตร์)

แนวคิดที่ค้านแนวคิดแบบมนุษยนิยมก็มีตามมานะครับ โดยเฉพาะมีอิทธิพลต่อโลกอย่างมากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (แต่เริ่มต้นถกกันก่อนหน้านั้นนานแล้ว) เช่น พวกแนวคิดสายจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์, โครงสร้างนิยม, สัญวิทยา หรือหลังโครงสร้างนิยม เป็นต้น แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่เราจะพูดถึงกันในวาระนี้ คร่าวๆ แค่ว่า พวกกลุ่มนี้ก็บอกว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นองค์ประธานของตัวเองหรอก เราแค่ถูกทำให้หลงคิดไปว่า ‘คิดเองได้’ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเราเป็นเพียงแค่ร่างทรงหรือเคลื่อนไหว พูด อ่าน คิด ตามที่โครงสร้างหรือสัญญะชักนำเราเท่านั้น

ครับ ทีนี้ก็ถึงเวลาเข้าเรื่องหลังมนุษยนิยม หรือ Post-Humanism ของเราบ้างแล้ว อย่างที่บอกครับ คำนี้ใช้อธิบายสภาวะทางสังคมที่มาทีหลังหรือถัดจากยุคที่มนุษย์เป็นองค์ประธานของตัวเอง อย่างไรก็ดีแนวคิด Post-Humanism นี้ก็ยังค่อนข้างใช้กันอย่างเลื่อนไหลอยู่ โดยหากอิงตามงานของฟรานเชสโก้ เฟอร์นานโด (Francesco Fernando) ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียที่ศึกษาเรื่องหลังมนุษยนิยมที่ชื่อ Posthumanism, Transhumanism, Antihumanism, Meta-Humanism, and New Materialism: Differences and Relations (2013) แล้ว เราจะพอจำแนกแนวคิดหลังมนุษยนิยมออกได้เป็น 7 ประเภทหลักๆ ดังนี้ครับ Antihumanism, Cultural posthumanism, Philosophical posthumanism, Posthuman condition, Transhumanism, AI Takeover, และ Voluntary Human Extinction

แม้ประเภททั้ง 7 นี้จะมีจุดต่างในรายละเอียดบ้าง หรือมีจุดเน้นที่ไม่ตรงกัน แต่หลักๆ แล้วก็คือ แนวคิดที่พยายามจะปฏิเสธการตีความนิยามและเงื่อนไขของสิ่งที่เรียกว่ามนุษย์ในแบบดั้งเดิมนั่นแหละครับ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการปฏิเสธมนุษย์ในฐานะองค์ประธานแบบพวกสัญวิทยาที่พูดถึงไปก่อนหน้านี้นะครับ แต่แนวคิดหลังมนุษยนิยมนั้น มองว่าขอบเขตของความหมายของสิ่งที่เรียกว่ามนุษย์ตามกรอบคิดแบบมนุษยนิยมแบบเดิมที่มักจะอิงอยู่กับสภาพตามธรรมชาติของมนุษย์และร่างกายตามธรรมชาติของมนุษย์ (Human Embodiment) นั้นมันไม่เวิร์กแล้ว ซึ่งโดยมากก็จะพูดไปถึงความสัมพันธ์และผสานกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยี (technoscientific) ครับ และหลังๆ นี้ก็ขยับไปไกลเกินกว่าแค่เทคโนโลยีด้วย เช่น เรื่องของมนุษย์กับสัตว์ อย่าง การกลายเป็นสัตว์ของมนุษย์ หรือการกลายเป็นมนุษย์ของสัตว์ หรือเรื่องของ ‘อมนุษย์’ ต่างๆ ก็ถูกนำมาคิด ถกเถียง และตีความใหม่ เป็นต้น

หนึ่งในงานที่โด่งดังและนับได้ว่าเป็นงานที่เปิดประเดิมแนวคิดนี้ไปสู่โลกกว้าง อาจจะถือได้ว่าคืองานที่ชื่อ Cyborg Manifesto โดยดอนนา ฮาราเวย์ (Donna Haraway) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (ซานตาครูซ) ที่กล่าวสรุปแบบสั้นๆ ก็คือ ฮาราเวย์เสนอว่าหากคำว่าไซบอร์กนั้น มันแปลว่าลูกครึ่งระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร/จักรกล (หรือเทคโนโลยีต่างๆ) แล้ว สิ่งที่เรียกว่ามนุษย์ในยุคปัจจุบันนี้ก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นไซบอร์กกันหมดแล้ว เพราะเราต่างมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่ทำงานกับเราตลอดเวลา เสมือนหนึ่งเป็นอวัยวะส่วนเสริมของร่างกายเรา (บางอย่างนี่ดูจะใช้มากกว่าอวัยวะโดยกำเนิดบางส่วนเสียอีก) เช่นนั้นแล้วโลกเราในตอนนี้ก็คงจะไม่ใช่ยุคที่เป็นของมนุษย์ในความหมายเดิมอีกต่อไป แต่เป็นยุคของไซบอร์ก (หรือก็คือความหมายและขอบเขตการตีความแบบใหม่ของสิ่งที่เรียกว่ามนุษย์) ในหลายๆ กรณียิ่งมีการใช้จักรกลเข้าไปผสานเป็นเนื้อเดียวกันกับร่างกายเลยเสียด้วยซ้ำ เช่นในกรณีทางการแพทย์ อย่างเครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจ เป็นต้น

ศาสตราจารย์ดอนน่า ฮาราเวย์

ซึ่งการตีความนี้ไม่ได้จบแค่เทคโนโลยีใหม่ ไปจนถึงปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) เท่านั้นนะครับ การตีความไปถึงเทคโนโลยียุคโบราณที่ถูกใช้ประหนึ่งส่วนหนึ่งของร่างกายนั้นก็ถูกพูดถึงมานานแล้ว โดยเฉพาะในงานสายที่เรียกว่า Technoscience ที่พูดถึงความผสมกลมกลืนของมนุษย์กับเทคโนโลยี หรือ มีการทบทวนวรรณกรรมที่ย้อนกลับไปด้วย การตีความเมดูซ่าใหม่ การตีความมนุษย์หมาป่า หรือกระทั่งกระสือในภาพยนตร์เรื่องแสงกระสือเองก็เช่นเดียวกัน การตั้งคำถามง่ายๆ เพียงแค่ว่า “ระหว่างโจรที่ขึ้นมาปล้นบ้าน และฆ่าข่มขืนคนในครอบครัวของคุณ กับหมาหรือแมวที่คุณเลี้ยงและรักประหนึ่งลูกนั้น คุณให้ค่าความเป็นคนกับอะไรมากกว่ากัน?” ก็สามารถเป็นจุดเริ่มต้นของคำถามแบบหลังมนุษยนิยมได้แล้ว เพราะมันเข้าไปทำลายนิยามและเงื่อนไขของความเป็นมนุษย์แบบดั้งเดิม และจากคำถามที่ว่านี้ ผมคิดว่าหลายคนก็อาจจะให้ค่าความเป็นคนกับสัตว์เลี้ยงที่ตัวเองเลี้ยงดูมาและรักประหนึ่งลูก มากกว่าโจร (ซึ่งเป็นคนในความหมายทางชีววิทยา) ก็เป็นได้ ถ้าเช่นนั้นก็หมายความว่า เงื่อนไขความเป็นมนุษย์ อาจจะไม่ได้อยู่ที่ ‘ร่างเนื้อทางชีววิทยาที่เป็นมนุษย์’ เลยก็ได้ หุ่นยนต์ที่เป็นปัญญาประดิษฐ์ล้วนๆ อย่าง Sophia AI ที่ซาอุดิอาระเบียนั้น ก็อาจจะถูกนับว่าเป็นมนุษย์ได้เช่นกันด้วยใช่ไหม? หรือหากขยับพรมแดนของสิทธิสัตว์ขึ้นมาเรื่อยๆ สถานะของสัตว์ก็จะใกล้เคียงความเป็นคนไปเรื่อยๆ ด้วยหรือเปล่า เป็นต้น

Sophia AI ปัญญาประดิษฐ์ที่ได้รับการรับรองสถานะมนุษย์โดยซาอุดิอาระเบีย

จุดนี้แหละครับที่สัมพันธ์กับสถานะหรือตัวตนของโดราเอมอนเป็นอย่างมาก เพราะโดราเอมอนเป็นหุ่นยนต์แมว ที่กลัวหนู แต่ก็มีการหลงรักแมวจริงๆ (ทั้งยังดูจะคุยกันรู้เรื่องด้วย ชื่อ Mi-chan) พร้อมๆ กันไปโดราเอมอนก็มีความคิดความอ่านเยี่ยงมนุษย์คนหนึ่ง กินอาหารแบบมนุษย์ มีการกิน การนอน มีอารมณ์ความรู้สึก ความนึก เป็นองค์ประธานของตัวเอง (แม้จะมีสวิตช์ที่หางให้มนุษย์เปิดปิดได้ยามจำเป็นก็ตาม) และได้รับความรักจากคนในครอบครัวเสมือนเป็นมนุษย์ด้วยกัน สรุปว่าโดราเอมอนเป็นอะไรกันแน่ มันเป็นหุ่นยนต์ มันเป็นมนุษย์ หรือว่าเป็นสัตว์?

โดราเอมอน ดูจะทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมของทุกสิ่งทุกอย่างที่เหล่านักคิดสายหลังมนุษยนิยมพยายามเสนอและอยากให้เป็น มันเป็นทั้ง AI มันทั้งพยายามช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับมนุษย์ (ของวิเศษและเทคโนโลยีที่มอบให้กับโนบิตะและผองเพื่อน) ทั้งตัวโดราเอมอนเองก็ดูจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่โนบิตะขาดไม่ได้อีก ฉะนั้นหากไม่มองโดราเอมอนเป็นคน แต่มองในฐานะเป็นส่วนขยายเพิ่มของตัวตนของโนบิตะเอง ก็จะเป็นหลังมนุษยนิยมในอีกแบบหนึ่งขึ้นมา และพร้อมๆ กันโดราเอมอนก็ยังดูจะมีสถานะของ ‘สัตว์ที่ถูกทำให้เป็นคน’ ด้วย เพราะมันเป็นหุ่นยนต์ที่ถูกให้ค่าเสมือนว่าเป็นคนและไปหลงรักกับแมวที่เป็นสัตว์จริงๆ โดยกำเนิด ฉะนั้นในจุดนี้หากเรามองว่าสถานะเบื้องต้นของโดราเอมอนคือ ‘หุ่นยนต์สัตว์’ มันก็ดูจะเป็นสัตว์ที่กลายมาเป็นคนอีกทีหนึ่ง แต่หากเราเริ่มมองโดราเอมอนในฐานะหุ่นยนต์ที่มีสถานะเป็นคนก่อน แล้วมันค่อยไปพลอดรักกับสัตว์ ก็อาจจะมองเรื่องนี้ในฐานะ ‘คนที่กลายเป็นสัตว์’ ไปแทนได้อีกครับ

Mi-chan (มิจัง) แมวที่โดราเอมอนหลงรักและไปจีบบ่อยๆ

สถานะของโดราเอมอนนั้นมีความอลเวงมากๆ และผมคิดว่าในตัวเนื้อเรื่องเองก็บ่งชี้ให้เราเห็นว่า แม้แต่ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ หรือผู้แต่งเรื่องเองก็ยังไม่ชัวร์นักว่าจะจัดวางมันในสถานะไหน ไม่นับว่าโครงสร้างทางสังคมของโดราเอมอนนั้น ยังมีโครงสร้างแบบสังคมมนุษย์สูงมากด้วย ที่นอกจากครอบครัวโนบิ และสังคมของโนบิตะจะยอมรับโดราเอมอนราวกับมนุษย์ผู้เป็นองค์ประธานของตัวเองอย่างที่ว่าไปแล้ว โดราเอมอนยังมีน้องสาว อย่าง ‘โดเรมี/โดราเอมี’ ด้วยครับ แต่นับเฉพาะโดเรมีนี้เลยนะครับที่เป็นน้องสาว หุ่นยนต์ตัวอื่นๆ ที่ผลิตในล็อตเดียวกัน จากโรงงานเดียวกัน ก็ไม่ได้นับญาติกัน (โดเรมีนี่ หากผมจำไม่ผิด คือ ผลิตคนละล็อตด้วยซ้ำ) ฉะนั้นมันจึงมีความจำเพาะเจาะจง มีการคัดเลือกพันธุ์ทางเทคโนโลยี และกำหนดความเป็นญาติ (kinship) ในแบบมนุษย์แท้ๆ เลยนั่นเอง

โดราเอมอน กับครอบครัวโนบิ

สถานะหรือตัวตนของโดราเอมอนนี้เองครับ สำหรับผมแล้วจึงเป็นการสร้างเนื้อเรื่องที่เข้ามาถามท้า ‘นิยามรากฐานของความเป็นมนุษย์’ อย่างแยบคายมาก และมันทำได้อย่างกว้างขวาง คมคาย และซับซ้อนยิ่งกว่างานวิชาการชิ้นใดๆ ด้วย เพราะไม่มีงานวิชาการชิ้นไหนหรอกครับที่มียอดขายร้อยกว่าล้านเล่มทั่วโลก และมีอิทธิพลกับคนในโลกอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดทุกเจเนอเรชั่น เกือบจะครึ่งศตวรรษแล้ว ตัวตนของโดราเอมอนนั้น ทำให้ขอบเขตของสิ่งที่เรียกว่ามนุษย์ขยับกว้างออกไปอีกมาก เพราะมันทำให้เราได้กลับมาเรียบเรียง ทำความเข้าใจกับนิยามของสิ่งที่เรียกว่ามนุษย์ รวมไปถึงขอบเขตของสิ่งที่ควรจะนับว่าเป็นมนุษย์ใหม่โดยที่เราแทบจะไม่รู้ตัวเลย แม้มันจะไม่ได้ปิดบังซ่อนเร้นอะไรใดๆ มันคือก้อนกลมๆ สีฟ้าเดินได้พูดได้ มันไม่มีกระทั่งความพยายามจะ ‘เหมือนมนุษย์ในทางกายภาพ’ เสียด้วยซ้ำ และมันมาก่อน Sophai AI เกือบ 50 ปีเลยครับ

แน่นอนโดราเอมอนไม่ใช่เรื่องเดียวที่ทำงานในลักษณะนี้กับความคิดของคนอ่าน แม้แต่เรื่องดรากอนบอล ที่มียอดขายอาจจะมากกว่าโดราเอมอนเสียอีกนั้น เอาเข้าจริงๆ แล้วมันก็คือแก๊งมนุษย์ต่างดาว ที่ถูกมองหรือให้ค่าในฐานะมนุษย์นี่แหละครับ เป็นการ Humanization of Aliens (ทำให้เอเลี่ยนกลายเป็นมนุษย์) โดยแท้ แต่โดยส่วนตัวผมไม่คิดว่ามีเรื่องไหนที่ให้ภาพอย่างตรงไปตรงมาแบบโดราเอมอน เพราะแม้แต่ดรากอนบอล และอีกหลายๆ เรื่องเองนั้น ก็ยังมักจะต้องคงสภาพร่างกายแบบมนุษย์ หรือ Human embodiment เอาไว้ แต่โดราเอมอนนั้นไม่ใช่เลย มันเปลือยเปล่าต่อสายตามากว่า “ไอ้หุ่นสีฟ้านี่ไม่ได้มีร่างกายแบบมนุษย์” แต่มันกลับเอ่อล้นในความเป็นมนุษย์จนเราหลงรักมันชนิดโงหัวไม่ขึ้น

สารภาพตามตรงครับว่าตอนที่อนิเมชั่น Stand by me Doraemon เข้าฉายและผมไปดูนั้น ผมพาหลานสาววัยประถมไปดูด้วย ผมนี่ต้องแอบร้องไห้คนเดียว เพราะเขินหลาน ในฐานะแฟนบอย บอกตรงๆ ว่าน้ำตารื้นตั้งแต่เห็นฉากคอปเตอร์ไม้ไผ่บินอวดโฉมในโรงกันเลย ฉะนั้นไม่ต้องบอกนะครับ ถึงตอนจบนี่ตรูเปียกโชกกันเลยทีเดียว

ฟลายเยอร์โฆษณาของเรื่องสแตนบายมีโดราเอมอน

อย่างไรก็ตาม แม้โดราเอมอนจะเสนอเรื่องหลังมนุษยนิยมออกมาอย่างเต็มแรง และไม่หลบๆ ซ่อนๆ ใดๆ เลยก็ตาม ผมกลับคิดว่าถึงท้ายที่สุดแล้ว มันถูกเขียนขึ้นด้วยจิตวิญญาณแบบ ‘มนุษยนิยม’ อย่างสุดจิตสุดใจเลยทีเดียว เพียงแค่เล่าความเป็นมนุษยนิยม ผ่านโครงเรื่องแบบหลังมนุษยนิยมเท่านั้น เพราะเราต้องไม่ลืมว่าโครงเรื่องหลักนั้นมันคือการมาช่วยโนบิตะให้ชีวิตดีขึ้น ให้เขาแข็งแกร่งขึ้น เอาอ่าวมากขึ้น แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะด้วยเทคโนโลยีใด ด้วยของวิเศษใดๆ ที่แทบจะกลายมาเป็นอวัยวะส่วนเพิ่มของตัวโนบิตะเองอยู่แล้ว ก็ไม่ได้ทำให้ชะตากรรมของโนบิตะเปลี่ยนไปได้นัก หลายครั้งมันย้อนกลับมาทำให้พังกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ กลับกลายเป็นเมื่อโนบิตะปฏิเสธการใช้ของวิเศษและเทคโนโลยีเหล่านั้น และกลับไปสู่ ‘นิยามและเงื่อนไขความเป็นมนุษย์แบบดั้งเดิม’ ต่างหากเล่า ที่ทำให้โนบิตะเปลี่ยนตัวเอง และลุกขึ้นยืนเป็นคนเอาอ่าวขึ้นมาได้

ฉากสุดท้ายของโดราเอมอนจึงกลายเป็นมนุษย์ตามความหมายแบบดั้งเดิมแบบมนุษยนิยม โนบิตะที่ลุกขึ้นมาปฏิเสธความช่วยเหลือของเทคโนโลยี ปฏิเสธตัวตนในฐานะ ‘ไซบอร์ก’ ของตนทิ้งไป และสู้ในฐานะมนุษย์แบบดั้งเดิมนั้นแหละ กัดฟันทนโดนใจแอนท์ต่อยจนสุดท้ายไจแอนท์ต้องยอมแพ้ใจไปเอง เอาชนะความจุดอ่อน เอาชนะอุปสรรคชิ้นใหญ่ที่สุดของตนได้ ในวันที่กระทั่งเทคโนโลยี โลกอนาคต และตัวแทนของ Post-Human อย่างโดราเอมอนก็ยังต้องยอมรับความพ่ายแพ้และต้องถอนตัวกลับไปแล้วนั่นเอง แน่นอน เราอาจจะตีความย้อนกลับได้ด้วยเช่นกันว่า ก็ที่โนบิตะลุกขึ้นยืนได้ด้วยลำแข้งตัวเองในท้ายที่สุดนั้น ก็เป็นผลพวงของสิ่งที่เทคโนโลยีและโดราเอมอนมอบให้ไว้ และเขาไม่อยากจะเสียมันไปจนต้องลุกขึ้นสู้ด้วยก็ได้ แต่กระนั้น ผมคิดว่าเราปฏิเสธบทสรุปที่สุดแสนจะมนุษยนิยมนี้ไม่ได้หรอกครับ

ฉากการต่อสู้ครั้งสุดท้ายของโนบิตะในวันที่โดราเอมอนลาจากไป จากภาพยนตร์ Stand by me Doraemon

ฉะนั้น โดราเอมอนมันจึงซับซ้อนและงวยงงไปหมด ตั้งแต่สถานะของตัวโดราเอมอนเองว่าสรุปแมวหุ่นยนต์อ้วนๆ ตัวนี้มันคืออะไรกันแน่ ไปยันโครงเรื่องหลักกันเลยว่า มันจะพูดเรื่องหลังมนุษย์นิยม หรือจะเป็นมนุษยนิยมที่ซ่อนแอบอยู่อีกทีกันแน่หนอ ก็คงเป็นคำตอบที่คุณผู้อ่านคงต้องเลือกตีความกันเองแหละครับ

ขอให้สนุกกับมังหงะครับ…  

Tags: , , , , ,