Hunter x Hunter อาจจะพอเรียกได้ว่าเป็นมังหงะระดับตำนานที่แทบจะไม่ต้องการบทแนะนำอะไรอีกต่อไป โดยเฉพาะกับคนอายุป้วนเปี้ยนแถวๆ เลขสามอย่างผมแล้วยิ่งน่าจะรู้จักเป็นอย่างดี กระนั้นเพื่อประโยชน์แก่ท่านผู้ไม่เคยอ่านหรือรู้จักเรื่องนี้ ผมก็ขอแนะนำแต่พอสังเขปครับ

Hunter x Hunter (จริงๆ อ่านออกเสียงว่า ‘ฮันเตอร์ ฮันเตอร์’ แต่ผมคิดว่าแทบทุกคนอ่านว่า ‘ฮันเตอร์ เอ็กซ์ ฮันเตอร์’ กันมากกว่า) เป็นผลงานของโยชิฮิโระ โทะงะชิ (Yoshihiro Togashi) โดยลุงโทะยะชินี้เขียนอีกเรื่องที่ดังมากๆ ในบ้านเราอย่าง ‘คนเก่งฟ้าประทาน’ หรือ Yu Yu Hakusho โดยคนเก่งฟ้าประทานเป็นเรื่องแรกที่แปลไทย ตามมาด้วย Level E ที่ไม่ได้ดังนัก แล้วก็ต่อด้วย Hunter x Hunter ที่อาจจะนับได้ว่าดังที่สุดของโทะงะชิ และที่แน่ๆ คือ ยาวที่สุดเท่าที่ลุงแกเขียนมา

ฮันเตอร์นั้นสามารถแบ่งเป็นภาคได้คร่าวๆ ประมาณ 6 ภาคครับ คือ ภาคการสอบฮันเตอร์, ภาคหอคอย, ภาคแมงมุม, ภาคกรีดไอส์แลนด์, ภาคราชามด, และภาคโลกใหม่ ซึ่งเป็นส่วนที่เนื้อเรื่องกำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ แต่เนื้อเรื่องภาคล่าสุดนี้แทบจะเปลี่ยนจากมังหงะสายต่อสู้ผจญภัยไปเป็นมังหงะสายสืบสวนตัวอักษรล้นกันแล้ว

เนื้อเรื่องคร่าวๆ ของเรื่องฮันเตอร์นั้นพูดถึงกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า ‘ฮันเตอร์’ นี่แหละ โดยฮันเตอร์นั้นเป็นอาชีพนะครับ มีองค์กรควบคุมดูแลอย่างชัดเจนเรียกว่าสมาคมฮันเตอร์ (Hunter Association) แต่มันไม่ได้เป็นอาชีพที่ใครอยากเป็นก็เป็นได้ เพราะเมื่อได้เป็นแล้วจะได้ทั้งอภิสิทธิ์ สิทธิพิเศษ และสวัสดิการมากมาย ฉะนั้นการจะเป็นฮันเตอร์ได้จึงจำเป็นต้องผ่านการสอบที่สุดแสนจะเคี่ยวและโหด คนอยากเป็นก็มีมากมายมหาศาลเพราะสิทธิพิเศษที่ว่านั่นแหละครับ  ซึ่งแต่ละปีอัตราคนสอบเข้าได้ก็มีเพียงน้อยนิด

การจะพูดถึงลักษณะหน้าที่การทำงานของอาชีพฮันเตอร์นั้นออกจะยากสักหน่อย เพราะหลากหลายเหลือเกิน แต่โดยรวมๆ กว้างๆ แล้วคือ การออกสำรวจ การออกค้นหา หรือขยายพรมแดนของการรับรู้ให้กว้างยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นด้านไหนก็ได้เลยไม่ว่าจะ สำรวจโลก, อาหาร, อัญมณี, โบราณสถาน, สัตว์วิเศษ, ไล่ล่าอาชญากร, ฯลฯ

และการสอบเพื่อเป็นฮันเตอร์นี้เองที่ทำให้ตัวละครหลักของเรื่องนี้ได้มาพานพบกัน ตัวละครหลักของเรื่องนี้มี 4 คน คือ กอน ฟรีคส์, คิลัวร์ โซลดิ๊ก, คุราปิก้า, และเลโอลีโอ (แต่ตัวละครหลักมาจนถึงภาคราชามดจริงๆ คือ 2 ตัวแรก) 4 คนนี้มาสอบเป็นฮันเตอร์ในปีเดียวกันครับ และก็ได้เจอกัน และกลายมาเป็นเพื่อนซี้กันไปในที่สุด

ตัวละครหลักของเรื่อง (จากซ้ายไปขวา): คุราปิก้า, กอร์น, คิลัวร์, เลโอลีโอ

เนื่องจากโดยตัวงานของอาชีพฮันเตอร์นั้นต้องผจญกับอันตรายที่เหนือความคาดหมายตลอดเวลา (เพราะมีหน้าที่ไปชนกับของใหม่ตลอดๆ) หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่ทางสมาคมฮันเตอร์กำหนดให้ผู้ซึ่งผ่านการสอบมาได้นั่นก็คือต้องฝึกจนสามารถใช้ความสามารถที่เรียกว่า ‘เน็น’ ได้ ซึ่งเป็นการใช้พลังของร่างกายตัวเองนี่แหละครับ แต่เหนือกว่าที่มนุษย์ปกติธรรมดาจะใช้เป็น ฉะนั้นเมื่อเหล่าฮันเตอร์ใช้เป็นแล้ว พวกเขาก็จะมีพลังความสามารถเหนือกว่าคนทั่วๆ ไป และไอ้เน็นนี่ยิ่งฝึกปรือก็ยิ่งเก่งกล้าสามารถจนกลายเป็นตัวเทพไปเรื่อยๆ (อย่างไรก็ดี ก็มีคนเก่งๆ ที่ไม่ใช่ฮันเตอร์ และใช้เน็นได้ด้วยนะครับ คือ ทุกคนที่เป็นฮันเตอร์ต้องใช้เน็นเป็น แต่คนที่ใช้เน็นเป็นไม่ได้จำเป็นต้องมาสอบเป็นฮันเตอร์ทุกคน) ก็นั่นแหละครับ มังหงะก็เล่าเรื่องของตัวละครหลัก การฝึกเน็นของพวกเค้า และผจญภัยพร้อมๆ กันไปเรื่อยๆ นั่นเอง (แถมตัวละครหลักทั้ง 4 คน เป็นผู้ชายทั้งสิ้น เรื่องนี้เลยเป็นหนึ่งในเรื่องที่โดนแต่งเป็นแฟนฟิคชั่นหรือโดจินสาย Y บ่อยสุดด้วย)

ทีนี้ส่วนใหญ่เวลาคนพูดถึงเรื่องฮันเตอร์นี้ มักจะพูดถึงแทบทุกภาค โดยเฉพาะภาคแมงมุม และกรีดไอส์แลนด์ แต่ยกเว้นภาคราชามด (และภาคใหม่ล่าสุด) ด้วยความที่ช่วงภาคราชามดนั้น เป็นช่วงที่คนเขียนอย่างลุงโทะงะชิป่วย เป็นโรคปวดหลังขั้นหนัก ขนาดที่บางกระแสบอกว่าต้องนอนเขียนกันเลยทีเดียว (ในขณะแฟนนานุแฟนผู้เคียดแค้นบางคนเชื่อว่าเป็นข้ออ้างในการอู้เล่นเกม) ทำให้งานภาพของภาคราชามดนี้ช่วงหนึ่งดร็อปลงไปหนักมาก คือ ส่งมาลงในเล่มรายสัปดาห์นั้นแทบจะมีแค่ ‘เนม’ (หรือภาพร่างต้นฉบับ) เลย ทำให้อ่านแล้วเสียอรรถรสมาก รวมไปถึงมีช่วงที่หยุดพักยาว หายไปเป็นปีๆ ด้วย ภาคราชามดนี้เลยกลายเป็นภาคที่คนก่นด่าประณามมาก ตัวผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่อินกับภาคนี้นัก

เนื้อเรื่องคร่าวๆ ของภาคนี้ก็คือมีสัตว์สายพันธุ์ประหลาดอย่าง คิเมราแอนท์ ถูกพัดพามากับทะเลและมาโผล่ที่เกาะแห่งหนึ่ง คิเมราแอนท์ตัวนั้นกลับเป็นนางพญามด ที่ได้กินอาหารชนิดแรกเป็นเด็กมนุษย์สองคน จากนั้นเธอได้ขยายเผ่าพันธุ์จากการ ‘กิน’ แล้วใช้ยีนของสิ่งที่กินเข้าไปไปผสมกับไข่ ผลออกมาเป็นสัตว์สายพันธุ์พิเศษที่มีลักษณะของแต่ละสิ่งที่เธอกินเข้าไปผสมกัน และภัยอันตรายอย่างยิ่งก็เกิดเมื่อพวกมันดันได้ยีนของมนุษย์ที่มีความสามารถในการคิดเข้าไปด้วย แล้วก็จำเพาะว่าเกาะที่นางพญามดสร้างรังนั้นก็ดันเป็นประเทศปิดที่ไม่ยอมให้ประเทศอื่นๆ เข้าไปยุ่งเกี่ยวมากนัก

ความบรรลัยยิ่งเกิดเมื่อราชินีมดให้กำเนิดราชามดที่เป็นสุดยอดของสายพันธุ์ขึ้นมา โดยตัวราชานี่ได้รับยีนของพวกมนุษย์ที่มี ‘เน็น’ เข้าไปด้วยเป็นจำนวนมหาศาล บวกกับพื้นฐานทางร่างกายของเผ่าพันธุ์มดที่แข็งแกร่งกว่าคนทั่วไปยิ่งแล้วใหญ่ ภัยพิบัติจึงยิ่งทวีความร้ายแรงขึ้นอีกเมื่อราชาคิดที่จะเป็นราชาของโลกนี้จริงๆ ถึงตอนนั้นสมาคมฮันเตอร์จึงต้องออกโรง โดยมีประธานเนเทโล่มานำทัพ

ภาพปก Hunter x Hunter เล่มที่ 22 ส่วนหนึ่งของภาคราชามด

กระทั่งเมื่อไม่นานนี้ ทาง Netflix ได้นำอะนิเมะเรื่อง Hunter x Hunter มาลง ซึ่งอะนิเมะทำดีมากและเนื้อเรื่องไล่ยาวมาตั้งแต่ต้นยันจบภาคราชามดเลย พอผมได้มาดูแบบดีๆ อีกที ผมก็รู้สึกว่าจริงๆ แล้วภาคราชามดนี่เนื้อหานอกจากจะดาร์กมากๆ แล้ว อาจจะดาร์กที่สุดเลยก็ได้ (ฮันเตอร์นี่ แม้จะเป็นมังหงะสำหรับเด็ก และมีภาพดูค่อนข้างสดใส แต่จริงๆ แล้วเนื้อหาค่อนข้างจะดาร์กมากอยู่นะครับ) มันยังมีเนื้อหาที่ซ่อนประเด็นไว้ไม่น้อยด้วยครับ และหนึ่งในประเด็นที่ผมคิดว่าน่าพูดถึงที่สุดก็คือเรื่อง Anthropocene หรือยุค (ของ) มนุษย์

หลายท่านอาจจะงงว่าไอ้คำดูยากๆ อย่าง Anthropocene (อ่านว่า ‘แอน-โทร-โพ-ซีน’) นี้มันคืออะไร คำๆ นี้เป็นคำเรียกยุค (epoch) ในทางธรณีวิทยาครับ คำๆ นี้จริงๆ แล้วเป็นคำที่กำเนิดขึ้นในโลกฝั่งวิทยาศาสตร์ก่อนโดยเหล่านักวิทยาศาสตร์ของสหภาพโซเวียตในช่วงทศวรรษ 1960s และมาถูกเผยแพร่จนคุ้นหูกันโดยทั่วไปในปี ค.ศ. 2000 โดยนักเคมีบรรยากาศ (Atmospheric Chemist) ชื่อ พอล เจ. ครุตเซ่น (Paul J. Crutzen) ครับ ว่าอีกแบบก็คือ คอนเซปต์เรื่องแอนโทรโพซีนนี้ถือว่าเป็นคอนเซปต์ที่ใหม่มากทีเดียว มีอายุอานามที่แพร่หลายทั่วโลกแค่ราวๆ 19 ปีเอง

คอนเซปต์ใหม่ที่ว่านี้มันคือการพยายามจะให้คำจำกัดความยุคสมัยที่เรากำลังอยู่กันนี่แหละครับว่าเป็น ‘ยุค(ของ)มนุษย์’ แต่การเป็นยุคในทางธรณีวิทยา หรือ Epoch นั้นมันไม่ใช่ช่วงประวัติศาสตร์สั้นๆ นะครับ การมองหรือแบ่งประวัติศาสตร์เป็นยุคทางธรณีวิทยานั้นโดยหลักแล้วเป็นการมองห้วงเวลาอย่างยาว (จริงๆ ในทางธรณีวิทยาจะมีการแบ่งตามความยาวหลายแบบ Epoch นี่ยาวกว่า Age แต่สั้นกว่า Period ครับ แต่หากเทียบกับ ยุคในทางประวัติศาสตร์ที่เรามักคุ้นชินกัน มันก็นับว่ายาวมากนั่นแหละ)

ไอ้ยุค(ของ)มนุษย์ที่ว่านี้ ก็คือ ข้อเสนอที่ว่า ตอนนี้เราอยู่ในยุคที่มนุษย์เป็นปัจจัยหลักในการสร้างผลกระทบหรือก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา ภูมิประเทศ และ/หรือภูมิอากาศแล้ว ว่าง่ายๆ ก็คือ มนุษย์นั้นเป็นตัวการของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของยุค ไม่ต่างจากที่อุกกาบาตเคยเปลี่ยนโฉมโลกมาแล้วในยุคก่อนๆ

ภาพแสดงยุค (Epoch) ต่างๆ ของโลกในทางธรณีวิทยาของ U.S. Geographical Survey โดยยุคที่เรากำลังอยู่นี้คือ Holocene ซึ่ง Anthropocene ได้รับการเสนอให้เข้ามาแทนที่

แนวคิดนี้ดูจะได้รับการตอบรับมากทีเดียว ทั้งจากการเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก โลกร้อน เอลนินโญ่ ลานินญ่า ต่างๆ ไปจนถึงหนังสือชื่อดังจากนักวิชาการมากมาย อย่าง The Sixth Extinction (การสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6) โดยอลิซาเบธ โคลเบิร์ต (Elizabeth Kolbert) ที่อภิปรายอย่างถึงพริกถึงขิงว่า เรากำลังอยู่ในยุคของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งใหม่ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 6 นับแต่กำเนิดโลกขึ้นมา และตัวการหลักของการสูญพันธุ์หลักในครั้งนี้ก็คือมนุษย์เอง หรือแม้แต่งานชื่อดังก้องโลกอย่าง Sapiens โดยยูวัล แฮรารี (Yuval Harari) ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติแบบระยะยาว ก็ดูจะมีความเห็นในลักษณะเดียวกัน คือ มนุษย์นำมาซึ่งการสูญพันธุ์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมายกับโลกใบนี้แบบที่ไม่เคยมีสิ่งมีชีวิตไหนทำได้มาก่อน

อย่างไรก็ดี ยุค(ของ)มนุษย์ หรือ Anthropocene นี้ยังเป็นเพียงข้อเสนอ ในการเรียกยุคสมัยอยู่นะครับ ไม่ใช่คำที่ยอมรับอย่างเป็นทางการแล้ว แม้จะเป็นที่ใช้กันแพร่หลายและกระจายไปแทบทุกวงการทุกสาขาวิชาแล้วก็ตาม เมื่อมันเป็นเพียงข้อเสนออยู่ ข้อถกเถียงของจุดเริ่มต้นของยุค(ของ)มนุษย์ก็ยังคงอยู่ว่าควรจะนับว่าเริ่มจากสมัยไหนที่ทำให้มนุษย์กระโดดขึ้นมาครองบัลลังก์ ‘ผู้กุมบังเหียนการเปลี่ยนแปลงของโลก’ บางข้อเสนอย้อนไปถึงช่วงยุคหิน บางข้อเสนอบอกว่าน่าจะราวๆ ศตวรรษที่ 18 ที่มนุษย์คิดค้นเครื่องจักรไอน้ำได้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการถลุงทรัพยากร (คือถ่านหิน) และสร้างกำลังอำนาจของมนุษย์ให้เหนือกว่าขีดจำกัดทางธรรมชาติได้ในสเกลใหญ่ บางข้อเสนอบอกว่าควรมองที่การปฏิวัติอุตสาหกรรม บางข้อเสนอบอกว่าควรนับที่จุดเริ่มต้นของทุนนิยม หรือการปฏิวัติการทหาร บางข้อเสนอมองใกล้เข้ามาอีก ว่าควรจะเป็นปี ค.ศ. 1945 ที่เริ่มมีการใช้ระเบิดปรมณูขึ้นเป็นครั้งแรก ที่ฮิโรชิม่า และนางาซากิ เพราะนอกจากจะมีพลานุภาพทำลายล้างมากมหาศาลแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมาย

หรือหากอ่านงานชื่อดังของแฮรารีอย่าง Sapiens มา ก็อาจจะรู้สึกว่าควรจะนับจุดเริ่มต้นของ Anthropocene ที่การปฏิวัติการรับรู้ของโฮโมเซเปียนส์ ที่รู้จักการใช้ภาษาในรูปแบบที่เหนือล้ำกว่าสิ่งมีชีวิตใดๆ นั่นคือ ‘การอธิบายถึงสิ่งซึ่งไม่มีอยู่จริง’ อย่างคติ ความเชื่อ ไปจนถึงศาสนาต่างๆ ขึ้นมาได้ นำมาซึ่งการรวมกลุ่มมนุษย์อย่างเป็นระบบ และทำให้เรากลายเป็นผู้ล่าที่ไล่แดกทุกสิ่งบนเส้นทางที่ไปเยือน เป็นต้น

การมีข้อถกเถียงเรื่องเงื่อนไข และจุดกำเนิดของ Anthropocene นี้เองที่ดึงให้แทบทุกวงการในโลกวิชาการเข้าไปเอี่ยวกับคำๆ นี้ เพราะเมื่อจะอธิบายมันในฐานะยุค(ของ)มนุษย์  มันก็ไม่ใช่เรื่องของสาขาวิชาธรณีวิทยาล้วนๆ อีกแล้ว นักมานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ปรัชญา และอื่นๆ ต่างกระโดดเข้าสู่สังเวียนของข้อเสนอนี้มากมาย และทำให้เกิดคำย่อยที่อธิบายที่มาของ Anthropocene อีกมาก เช่น Capitalocene (ยุคแห่งทุน), Plantaionocene (ยุคแห่งฟาร์มเพาะปลูก – Plantation) เป็นต้น ที่เป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้มนุษย์เป็นผู้ครองศักยภาพในการเปลี่ยนรูปโฉมโลก (Terra Forming) ได้ หรือหากจะเรียกว่ามีชัยเหนือธรรมชาติก็คงจะไม่ผิด

ฐานคิดเรื่อง Anthropocene นี้โดยรากแล้วมีการแยกระหว่างมนุษย์ออกจากธรรมชาติอย่างค่อนข้างมากในตัวมันเอง การเกิดขึ้นของ Anthropocene นั้นทำหน้าที่ในฐานะจุดแบ่งที่สำคัญของโลก 2 ยุค คือ ยุคที่ “ธรรมชาติกำหนดตัวธรรมชาติเอง” กับยุคที่ “มนุษย์เข้ามากำหนดความเป็นไปของธรรมชาติแทน” ซึ่งไอ้ความขัดแย้งหรือแบ่งขั้วระหว่างมนุษย์กับธรรมชาตินั้นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยครับ เราต่อสู้กับธรรมชาติมาตั้งแต่กำเนิดเผ่าพันธุ์ ยันปัจจุบันทุกวันนี้ อย่างไต้ฝุ่น แผ่นดินไหว สึนามิ หรือพายุปาบึกที่เพิ่งผ่านไป เราจึงต้องหาสารพัดกลวิธีมาต่อสู้กับธรรมชาติ ทั้งกำแพง รางระบายน้ำ อาวุธต่างๆ ในการล่าสัตว์ เป็นต้น

มนุษย์มองตัวเองเป็นส่วนที่แยกขาดจากธรรมชาติมาโดยตลอด อยู่แค่ว่าที่ผ่านมามนุษย์มองว่าตัวเองยังคงพ่ายแพ้ต่อธรรมชาติอยู่ จนกระทั่งเมื่อไม่นานนี้จึงได้คิดออกว่าเราถึงจุดที่มีชัยเหนือธรรมชาติแล้วในการกำหนดความเป็นไปของโลกนี้ (แค่ยังเถียงกันไม่จบว่าควรนับเริ่มจากตอนไหน) นั่นจึงแปลว่าเราเข้าสู่ยุคของมนุษย์แล้วนั่นเอง และมนุษย์ผู้เป็นเจ้าของบังเหียนโลกนี้เองก็อาจจะฉิบหายตายห่ากันหมดเพราะผลงานที่ตัวเองสร้างไว้ด้วย

ว่าแต่ที่ร่ายมานี้มันเกี่ยวอะไรกับ Hunter x Hunter และราชามดกันหนอ เอาจริงๆ ก็อาจจะไม่ได้เกี่ยวตรงๆ ขนาดนั้นหรอกครับ เพียงแค่ผมอ่านและดูภาคนี้ซ้ำแล้ว ผมรู้สึกว่ามันกำลังเล่า Anthropocene นี้อยู่ด้วยกลวิธีและภาษาแบบของมัน มนุษย์ผู้ใช้เน็น ก็คือเหล่ามนุษย์ผู้พยายามจะก้าวข้ามขีดจำกัดทางธรรมชาติ ขีดจำกัดของเผ่าพันธุ์ตัวเอง [ส่วนจากนี้ไปจะมีการสปอยล์เนื้อหาของภาคราชามดไปจนจบนะครับ] อย่างไรก็ดี ตลอดเวลาหลายแสนหลายล้านปีนับแต่มนุษย์สายพันธุ์แรกกำเนิดขึ้นมา ไม่ว่ามนุษย์จะพยายามเพียงแค่ไหนในการพัฒนาศักยภาพของร่างกายตนเอง หรือขีดจำกัดที่อยู่บนสัณฐานของความเป็นคน (Human Figure) มนุษย์ก็ยังคงพ่ายแพ้ต่อธรรมชาติอยู่ดี

ทีมมด (ซ้าย) vs ทีมมนุษย์ (ขวา) โดยมีประธานเนเทโล่อยู่ตรงกลางรูป

ความพยายามที่ไม่บังเกิดผลของมนุษย์ ก็ดูจะไม่ต่างอะไรนักกับตัวประธานเนเทโล่ ประธานของสมาคมฮันเตอร์ที่เข้าสู้กับราชามด เนเทโล่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นมนุษย์ที่เก่งที่สุดในเรื่องฮันเตอร์ฯ เขาทั้งฝึกฝนอย่างเคร่งครัด ขัดเกลาฝีมือจากการต่อสู้จริงนับครั้งไม่ถ้วน สะสมประสบการณ์ชนิดที่ไม่มีฮันเตอร์คนไหนในโลกจะไม่รู้จักหรือยอมรับ ว่าง่ายๆ ก็คือเนเทโล่เป็นเสมือนภาพของจุดสูงสุด (Pinnacle) ของผู้พยายามดิ้นรนที่จะต่อสู้กับขีดจำกัดทางธรรมชาติที่กำหนดกรอบและขีดความสามารถของเผ่าพันธุ์ตนเองไว้นั่นเอง

  ในทำนองเดียวกัน เหล่ามด หรือคิเมร่าแอนท์ก็เสมือนเป็นตัวแทนของธรรมชาติ (จะเรียกจำเพาะว่าเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือภัยที่มนุษย์ต้องต่อกรด้วยก็ได้) ที่อยู่เหนือและควบคุมมนุษย์ผู้มีขีดจำกัด ดังที่จะเห็นได้จากการที่คิเมร่าแอนท์มีสถานะเป็น ‘ผู้ล่ามนุษย์’ และมีมนุษย์เองเป็นเป้าหมายหลักในการล่าด้วย ทั้งนี้ผมรู้สึกว่ามันสะท้อนความเป็นจริงที่ว่า ดูๆ ไปแล้วมนุษย์คล้ายจะเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่พยายามต่อสู้กับธรรมชาติอย่างจริงจังมาโดยตลอด พูดอีกอย่างก็คือ เราเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกระมังที่จงใจมองธรรมชาติเป็นศัตรูที่จะต้องขัดขืนหรือก้าวผ่านไปให้ได้ ในเมื่อสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ มันไม่ได้มองธรรมชาติเป็นศัตรูแต่แรก สถานะความเป็นอื่นระหว่างตัวตนของสปีชี่ส์นั้นๆ กับตัวธรรมชาติเองมันก็ไม่เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วสถานะความเป็นอื่นระหว่าง ‘ตัวตนของเผ่าพันธุ์ กับธรรมชาติ’ จึงดูจะเกิดขึ้นเฉพาะกับมนุษย์ เหมือนดังเช่นที่คิเมร่าแอนท์มีแต่มนุษย์ที่เป็นเป้าหมาย

และราชาของมวลหมู่คิเมร่าแอนท์ ที่เรามักเรียกกันว่าราชามดนั้นก็จึงเป็นเสมือนตัวแทนของจุดสูงสุดของกำลังของธรรมชาติ ที่ยิ่งใหญ่และแข็งแกร่งมากมหาศาลเสียจนมนุษย์ไม่ว่าจะหน้าไหน รวมทั้งเนเทโล่ที่ทุ่มสุดกำลังในฐานะมนุษย์คนหนึ่งด้วยก็ไม่อาจจะทำอะไรได้ ไม่อาจจะต่อกรกระทั่งเพียงทำให้ราชาเอาจริงได้ มนุษย์ด้วยตัวศักยภาพทางร่างกายของเผ่าพันธุ์ตัวเองแล้ว เป็นผู้ซึ่งพ่ายแพ้ให้กับธรรมชาติในที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วร่างกายของเราก็เป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา เราจึงดูจะไม่อาจจะไปขัดขืนงัดข้อให้มีชัยเหนือธรรมชาติได้ ด้วยร่างกายที่ธรรมชาติให้มาและกลายเป็นกรอบบังคับขีดจำกัดของเรานี้

ฉากการสู้กันระหว่างราชามด กับประธานเนเทโล่ (จากอะนิเมะ)

เมื่อเอาชนะธรรมชาติด้วยอำนาจที่ธรรมชาติมอบให้ไม่ได้ มนุษย์ก็ต่อสู้กับธรรมชาติด้วย สิ่งซึ่งไม่ได้มาจากการมอบและกำหนดให้โดยธรรมชาติ หากแต่เป็นพลังอำนาจที่สร้างขึ้นด้วยมือมนุษย์เอง ซึ่งจะแทนด้วยเครื่องจักรไอน้ำ ภาษา การปฏิวัติอุตสาหกรรม การปฏิวัติการเกษตร การปฏิวัติการรับรู้ หรือระเบิดนิวเคลียร์ก็แล้วแต่ ไม่ต่างจากตัวประธานเนเทโล่เอง ที่เมื่อสู้จนหมดหนทางและยอมรับโดยหมดสิ้นความแคลงใจแล้วว่า ตนไม่อาจก้าวข้ามราชามด (ภาพแทนจุดสูงสุดของพลังธรรมชาติ) ได้ ก็ได้อาศัยเรี่ยวแรงหยดสุดท้ายจุดระเบิดที่คล้ายกับนิวเคลียร์ขนาดย่อมที่ฝังไว้ในร่างกายของตนก่อนจะเดินทางมาทำภารกิจปราบราชามดนี้ เมื่อแรงระเบิดจากประดิษฐกรรมที่มีอำนาจทำลายล้างรุนแรงเหนือพลังธรรมชาติใดๆ ถูกจุดระเบิดขึ้น ราชามดเองก็แทบจะมอดไหม้หมดสิ้น

กระนั้นราชามดไม่ได้ตายจากระเบิดนิวเคลียร์ขนาดย่อมนี้นะครับ เขาร่อแร่แต่ก็ฟื้นตัวได้ (ด้วยความช่วยเหลือจากเหล่าองครักษ์มด) เหมือนจะบอกเป็นนัยๆ กับเราเลยว่าตัวเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่สักชิ้น อย่างเครื่องจักรไอน้ำ เครื่องยนต์ ไปจนถึงระเบิดนิวเคลียร์สักลูกสองลูกนั้น แม้จะรุนแรงจนโลกต้องสั่นไหว แต่อำนาจโดยตรงของมันก็ยังไม่ถึงกับทำให้พลังของธรรมชาติพ่ายแพ้อย่างเด็ดขาดไป แต่สุดท้ายหลังจากโดนระเบิด และฟื้นคืนสภาพ ราชาและมวลหมู่มดแทบทั้งหมดก็ต้องพ่ายแพ้และตายลงจากพิษที่ค้างในร่างกายอันเป็นผลพวงจากตัวระเบิดนั้น (เกิดเป็นเซลล์มะเร็งขึ้น) ผลพวงจากการใช้เทคโนโลยีต่างหากที่ดูจะทำให้มนุษย์ได้ชัยเหนือธรรมชาติ และกลายเป็นผู้กุมบังเหียนของยุคสมัยได้ในที่สุด … ยุคของมนุษย์กำเนิดขึ้นแล้ว

ผมว่าการเล่าเรื่องที่ว่านี้เองที่ทำให้ผมรู้สึกนึกถึงเรื่อง Anthropocene ทันทีที่ดูจบ เพราะ Hunter x Hunter มันกำลังบอกกับเราว่า เราได้มีชัยเหนือธรรมชาติแล้ว เรามีกำลังทำลายและเป็นภัยต่อโลกเสียยิ่งกว่าภัยธรรมชาติใดๆ และวิธีการใช้งานอำนาจที่แทบจะไร้ขีดจำกัดของมนุษย์นั้นก็อาจจะกลับมาทำลายมนุษย์ให้มอดไหม้เองได้ในท้ายที่สุดครับ

นอกจากเนื้อเรื่องดาร์กๆ ที่ว่ามาแล้ว ผมคิดว่าอีกสิ่งหนึ่งที่เรื่องฮันเตอร์พยายามจะพูดคุยกับเรา อาจจะเป็นการบอกว่าจริงๆ แล้วมันมีทางออกอีกแบบหนึ่งอยู่ที่ง่ายมากๆ เลย แค่เราไม่ทำกันเอง นั่นก็คือ การไม่ต้องมองหรือสร้างความเป็นอื่นขึ้นระหว่างตัวเรากับธรรมชาติ ถ้าไม่สร้างความเป็นอื่น ก็จะไม่เกิดการต่อสู้ขัดแย้งขึ้นแต่แรก เหมือนกับอีกหนึ่งตัวละครสำคัญของภาคมดนี้อย่าง ‘โคมุหงิ’ หญิงสาวนักเล่นหมากกระดาน (ที่เรียกว่ากุนหงิ) ระดับตำนานซึ่งตาบอด ทำให้เธอเล่นหมากกระดานแข่งกับราชามดได้อย่างฉันท์มิตร เพราะเธอตาบอด เธอไม่เคยเห็นว่าราชามดเป็นอื่น เธอไม่ได้รับรู้ว่าราชามดเป็นตัวตนที่แปลกแยกตัดขาดออกจากความเป็นเธอ (โดยเฉพาะในทางเผ่าพันธุ์) เช่นนั้นเธอจึงไม่แม้แต่จะคิดที่จะมองราชามดเป็นศัตรู ในขณะที่คนอื่นๆ ทั้งหมดในเรื่องมองเห็นเหล่ามด ‘เป็นอื่น’ และต้องหาทางต่อกรด้วย เพราะหากไม่ต่อกรด้วยก็จะหมดทางอยู่รอดนั่นเอง

ราชามดกับโคมุหงิ

Anthropocene หรือยุคของมนุษย์นั้นไม่ใช่คำที่เสนอขึ้นมาเพื่อชื่นชมในความสามารถของมนุษย์นะครับ แต่เป็นคำที่ตั้งมากึ่งเตือนสติให้เราระวังตัว ที่จะไม่พลั้งเผลอทำลายตัวเองจากอำนาจที่ตัวเองสร้างขึ้น ผมคิดว่าเรื่อง Hunter x Hunter โดยเฉพาะภาคนี้ เค้าอยากสื่อสารกับเราจริงๆ นะครับ ว่าเราจะทำอย่างไรกับตนเอง จะทำอย่างไรกับโลก ในวันที่ธรรมชาติอยู่ในกำมือของมนุษย์อย่างเรา

ขอให้สนุกกับมังหงะครับ