หลังจากที่พาร์ท 1  ผมได้พูดถึงจุดยืนสตรีนิยมในโลกชายเป็นใหญ่ ซึ่งสะท้อนผ่านการ์ตูนเรื่อง Claymore ไปแล้ว คราวนี้เรามาต่อในประเด็นที่น่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นั่นก็คือการเมืองของโลกาภิวัตน์ กันบ้าง

แนวคิดหรือคำอธิบายของคำว่าโลกาภิวัตน์ (Globalization) นั้น สรุปอย่างง่ายๆ ก็คือโลกที่สามารถเชื่อมต่อหากันได้ง่ายขึ้น ซึ่งโดยมากแล้วจะเชื่อมโยงต่อไปถึงพัฒนาการที่ก้าวกระโดดของเทคโนโลยีการขนส่งและสื่อสาร โดยมากแล้วก็มักจะนับจุดเริ่มต้นของยุคโลกาภิวัตน์ กันในช่วงศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา

แต่ในประเด็นเรื่องจุดเริ่มต้น (Point of Origin) ของโลกาภิวัตน์นั้นเป็นข้อถกเถียงอยู่ตลอดเวลา และยาวนาน ซึ่งไม่มีแววว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ววันนี้ เช่น ปรมาจารย์แห่งสำนักแอนเนลส์ (Annales School) อย่างเฟอร์นานด์ บรูเดล (Fernand Braudel) ได้มีข้อถกเถียงถึงทั้งตัวนิยามของโลกาภิวัตน์ และจุดกำเนิดของมันว่า แท้จริงแล้วโลกาภิวัตน์เป็น ‘ปรากฏการณ์หรือกลไกในการเข้าควบคุมทรัพยากร’ ต่างหาก และจุดเริ่มต้นหากจะพอนับได้ก็คงจะอยู่แถวๆ การกำเนิดของเรือกลไฟที่เข้าทำหน้าที่ในการควบคุมทรัพยากรของรัฐ ซึ่งนั่นอยู่ราวๆ ศตวรรษที่ 18-19 เป็นต้น

แต่ในที่นี้ตัวผมเองมีข้อถกเถียงในอีกแง่หนึ่ง ซึ่งไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ เรื่องเคลย์มอร์ก็ดูเหมือนจะแฝงทัศนะลักษณะเดียวกันนี้ไว้อยู่บ้าง นั่นคือ แท้จริงแล้วสิ่งที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ก็ควรจะต้องนับว่ากำเนิดขึ้นพร้อมกับการกำเนิดอารยธรรมมนุษย์ หรือหากพูดกันในแง่นี้ มันก็คือการบอกว่าปรากฏการณ์ที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์นั้น ‘ถือว่าไม่มี’ ก็ได้

เนื่องจากการมีอยู่ของมันไม่ได้นำมาซึ่งอะไรเลย ไม่อาจจะเป็นตัวแบ่งยุค หรือเป็นปรากฏการณ์ที่มีลักษณะพิเศษอะไรให้ไปเรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ได้ เหตุที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่าวิธีการมองแบบที่บอกว่าโลกาภิวัตน์เป็นของยุคสมัยใหม่นั้น มันเป็นเพียงแค่การนำสายตาของคนสมัยใหม่ ไปตัดสินการรับรู้ และสัมผัสที่มีต่อพื้นที่และเวลาของคนยุคก่อนเท่านั้น การอาศัยความรู้สึก และการรับรู้ของคน ณ ขณะนี้ (ซึ่งแท้จริงแล้วก็เป็นอัตวิสัยหรือความรับรู้ส่วนบุคคลด้วย) ไปตัดสินแทนความรู้สึกและการรับรู้ของคนสมัยก่อนหน้า

โดยเฉพาะในเรื่องความเร็ว (Velocity) นั้น สำหรับผมมองว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะน่าขบขัน หรือพูดง่ายๆ ก็คือการคิดเป็นตุเป็นตะไปเอง เช่น การส่งข้อความ สาร หรือจดหมาย ณ ขณะนี้อาจจะใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที ในขณะที่ในยุคโบราณการส่งสารในระยะทางเท่ากันอาจจะใช้เวลาเร็วที่สุดเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน หรือเป็นปีก็ตามแต่ และเหล่านักสมัยใหม่นิยมทั้งหลายก็จะพากันยกยอปอปั้นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในยุคที่พวกเขาอยู่ และตัดสินอย่างเข้าข้างตนเองว่าพวกตนนั้นอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ พร้อมๆ กับการดูแคลนคนในยุคก่อนหน้าว่าด้อยกว่า ช้ากว่า ฯลฯ

แน่นอนว่าเรื่อง ‘ช้ากว่า’ ในแง่ของระยะเวลาในการดำเนินการนั้น ไม่ใช่ประเด็นที่จะไปแย้งอะไรด้วยเลย แต่ในประเด็นเรื่องการรับรู้ว่า ช้า หรือ เร็ว นั้น เหล่านักสมัยใหม่นิยมมักตัดสินบนมาตรฐานของมาตรวัดความเร็วของพวกเขาเอง โดยไม่แยแสต่อการรับรู้ถึงความเร็วของคนยุคนั้นๆ

ประเด็นของผมก็คือ การที่เราจะบอกว่านี่เรียกว่าเร็ว นั่นเรียกว่าช้า มันต้องตัดสินกันบนฐานของการรับรู้ของคนในห้วงเวลานั้นๆ ต่างหาก ซึ่งการรับรู้ว่าเร็วหรือช้านั้น มันก็ปรับเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีที่มีในแต่ละยุคสมัย ในอีกสักพันปีข้างหน้า ที่หน่วยในการมองความเร็วอาจจะไปอยู่ที่มิลลิวินาที คนในอนาคตอีกพันปี ก็อาจจะมองว่าการสื่อสารในยุคของเราเอง (ที่เรารู้สึกว่าเร็วนั้น) มันช้ามากก็เป็นได้ แต่ไม่ว่าคนในอนาคตจะรับรู้ต่อความเร็วในยุคของเราอย่างไร มันก็ไม่ได้มามีผลต่อการรับรู้ความเร็วของพวกเรา ณ ขณะนี้เลย

ซึ่งในเรื่องเคลย์มอร์นี้ มีการพูดถึงเรื่องการเคลื่อนที่ หรือความสามารถในการมีปฏิสัมพันธ์ที่รวดเร็วเหนือกว่าผู้อื่นของเหล่าชายชุดดำขององค์กร ในฐานะผู้ผูกขาดการเดินทางความเร็วสูง (Monopoly of High Speed Mobility) ซึ่งก็คือการเดินเรือ พวกเขาสามารถนั่งเรือรอบเกาะ ไปยังจุดต่างๆ ได้ ทำให้สามารถไปยังจุดต่างๆ ได้เร็วกว่ากลุ่มอื่นๆ ทั้งหมดในเรื่อง ซึ่งความสามารถในการผูกขาดการเดินทางและการสื่อสารความเร็วสูงทำให้ตัวองค์กรชายชุดดำนี้เอง มีสถานะในฐานะผู้นำของกระแสความเป็นไป และความเคลื่อนไหวภายในเกาะอันเป็นโลกจำลองนั้น แม้ว่าฉากดังกล่าวนี้จะเป็นเพียงฉากเล็กๆ ฉากหนึ่งของตัวเรื่อง แต่ก็เป็นฉากที่มีความสำคัญกับเส้นเรื่องหลักของการ์ตูนเรื่องนี้มาก เพราะมันตอบคำถามถึงบทบาท และการทำงาน  (Function) ของชายชุดดำและองค์กรว่าทำการ ‘กำหนดทิศทาง’ (Dominate) ทุกชีวิตบนเกาะนั้นได้อย่างไร

ซึ่งว่ากันตามตรงแล้วลักษณะดังกล่าวนี้เองก็ไม่ต่างจากโลกจริงที่ผมและท่านดำเนินชีวิตอยู่นัก ที่ผู้ซึ่งเป็นผู้นำ หรือผู้ผูกขาดของเทคโนโลยีสำหรับการเดินทาง เคลื่อนย้าย หรือสื่อสารด้วยความเร็วสูง โดยเปรียบเทียบกับคนอื่นในห้วงเวลาเดียวกัน ก็กลายเป็นผู้กำหนดทิศทางของกระแสโลกไป หรือที่เรามักเรียกกันด้วยภาษาวิชาการว่า ‘จักรวรรดิ’ (Empire) นั่นเอง จักรวรรดิในทุกยุคสมัย รวมถึงปัจจุบันจึงเป็นผู้ซึ่งมีความสามารถในการผูกขาด และควบคุมความเร็ว หรือเวลาได้ในระดับหนึ่ง และในทางใดทางหนึ่ง ผู้ซึ่งเป็นคนผูกขาดโลกาภิวัตน์ในแต่ละสมัย ก็คือผู้ซึ่งเป็นจักรวรรดิของแต่ละยุค แต่ละสมัยนั่นเอง

อย่างไรก็ดี หากจะว่ากันที่นิยามโลกาภิวัตน์นั้น มันแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ‘พื้นที่’ กับ ‘เวลา’ ในส่วนเวลา หรือความเร็วที่เราพูดถึงไปแล้วนั้นเป็นครึ่งหนึ่งของแนวคิดนี้ ส่วนอีกครึ่งหนึ่ง ผมคิดว่าการ์ตูนเรื่องนี้ยิ่งสะท้อนออกมาชัดมากกว่าเสียอีก นั่นก็คือ ฉากที่เหล่าเคลย์มอร์รับรู้ความจริงว่า แท้จริงแล้วโลกทั้งใบที่เธอเชื่อฝังหัวมาโดยตลอด เป็นเพียงเกาะขนาดใหญ่แห่งหนึ่งเท่านั้น แท้จริงที่นี่เป็นเสมือนสนามทดลองขนาดยักษ์ของจักรวรรดิหนึ่งซึ่งเน้นการพัฒนาอาวุธสงครามทางชีวภาพ และพวกเธอก็เป็นหนึ่งในอาวุธทดลองเหล่านั้น มันทำให้ การรับรู้ที่มีต่อโลก (โลกา) ของพวกเธอเปลี่ยนไปในทันที ซึ่งสิ่งนี้เองจะเชื่อมโยงอย่างมากต่อข้อถกเถียงเรื่องโลกาภิวัตน์ที่ผมจะกล่าวถึงต่อไป

เวลาที่เราพูดถึงหรือฟังคำอธิบายของคำว่าโลกาภิวัตน์นั้น มันมักจะถูกพูดถึงหรือได้รับการให้อรรถาธิบายในฐานะของการเชื่อมโยงระดับโลก คือ โลกา ในคำว่าโลกาภิวัตน์ มีความหมายถึงโลกใบนี้ทั้งใบ (The whole world is the whole planet Earth) ซึ่งว่ากันตามตรงมันก็ดูจะเป็นเหตุเป็นผลอยู่มากทีเดียว และการจะท้าทายถกเถียงกับจุดยืนดังกล่าวก็ทำไม่ได้ง่ายนัก เพราะการบอกว่า “โลกทั้งใบก็คือดาวเคราะห์โลกทั้งดวง” นั้นคงไม่ใช่อะไรที่ผิดนัก เว้นแต่ประเด็นหนึ่งซึ่งสำคัญมากๆ ต่อการทำความเข้าใจต่อแนวคิดเรื่องโลกาภิวัตน์นั่นก็คือการพูดถึง ‘พื้นที่’ ของโลกาภิวัตน์ในลักษณะดังกล่าวนั้น เป็นการพูดบนฐานคิดเสมือนว่าพื้นที่ที่เรียกว่า ‘โลกา’ นั้นมันหยุดนิ่ง และไม่เคยขยับเขยื้อนได้อีก และไม่มีทางจะขยับเขยื้อนอีกเลย กล่าวอีกอย่างก็คือ โลกา ในโลกาภิวัตน์อย่างที่อ้าปากพูดกันมาโดยตลอดนั้นก็คือ โลกทั้งใบที่คงที่ แน่นิ่ง ไม่แปรเปลี่ยนนั่นเอง

แต่ในความเป็นจริงนั้นการรับรู้ต่อพื้นที่ที่เป็นภาพแทน โลกทั้งใบ (The Whole World) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘โลกา’ นั้นมันไม่เคยหยุดนิ่ง แต่มันมีการปรับขยาย หดตัว มีการเพิ่มความละเอียดขึ้นเรื่อยๆ ตลอดเวลา พื้นที่ในฐานะ “โลก” เมื่อหลายพันปีก่อน กับในปัจจุบัน แม้จะอยู่บนพื้นที่ทางกายภาพเดียวกัน แต่การรับรู้ต่อขอบเขต อาณาบริเวณ และความเป็นโลกนั้นต่างกันชนิดคนละฝา

การรับรู้หรือภาพของโลกทั้งใบในยุคหนึ่งอาจจะสุดอยู่เพียงแหลมกู้ดโฮป ณ ปลายสุดของแอฟริกา และหากหลุดเลยจากนั้นก็จะตกขอบโลกไป หรือโลกเมื่อหลายพันปีก่อน อาจจะหมายถึงเพียงอาณาบริเวณที่คนกลุ่มนั้นๆ อาศัยอยู่ และ/หรือเคยไปพบเห็นมา เกินกว่านั้นไม่อยู่ในระบบการรับรู้ถึงภาพความเป็นโลกแล้ว เพราะฉะนั้นวิธีการมองโลกแบบแน่นิ่ง เสมือนหนึ่งว่ามันไม่เคยขยับหรือไหวติงมาก่อน

โลกต้องหมายถึงดาวเคราะห์ที่เรียกว่าโลกเท่านั้น จึงเป็นเพียงวิธีคิดแบบเหล่าผู้คลั่งในยุคสมัยใหม่อย่างล้นเกิน โดยไม่เคยให้ความสำคัญของเชื้อมูลก่อนความเป็นโลกอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้เลย ซึ่งการจะเข้าใจภาพแทนของความเข้าใจที่คนมีต่อรูปลักษณ์และขอบเขตของโลกในแต่ละยุคสมัยที่ดีที่สุดนั้นก็คงจะหนีไม่พ้น การศึกษาผ่านแผนที่นั่นเอง

ตัวอย่างแผนที่โลกยุคโบราณที่โด่งดังที่สุดชิ้นหนึ่งก็คือ แผนที่โลกของพโตเลมี (Ptolemy’s World Map) ซึ่งพัฒนาต่อมาจากงานรวมแผนที่และภูมิศาสตร์ของพโตเลมีที่ชื่อว่า Geographia ซึ่งถูกเขียนขึ้นราวคริสต์ศตวรรษที่ 2 หรือกว่าสองพันปีล่วงมาแล้ว แต่แผนที่โลกของพโตเลมีที่รู้จักและโด่งดังไปทั่วนั้นถูกเขียนขึ้น ในปี 1482 หรือราว 532 ปีก่อน โดยโลกในมุมมองของคนเมื่อราวสองพันปีก่อน (หลังผ่านการชำระแล้วหนึ่งครั้ง) มีลักษณะดังในภาพ

ภาพจาก The British Library Harley MS7182, ff58v-59

เราจะเห็นได้ว่าจากแผนที่โลกของปโตเลมี (ส่วนสีน้ำเงินคือทะเลหรือมหาสมุทร) นั้น โลกไม่ได้เป็นแบบเดียวกับที่เรารับรู้ แต่มันก็ยังคงเป็น ‘โลก’ อยู่ ในการรับรู้ของคนยุคก่อนเรา และตัวอย่างของพโตเลมีนั้นคือความเข้าใจและการรับรู้ต่อโลกของกลุ่มคน หรืออารยธรรมหนึ่งเท่านั้น หากดูแผนที่จากอารยธรรมที่หลากหลายมากขึ้น และหลายหลายยุคสมัยมากขึ้น เรายิ่งจะพบความหลากหลายของโลกาที่มีมากเต็มไปหมด และไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่ เหมือนกับที่ชาวสมัยใหม่นิยมล้นเกินพยายามปรับใช้กับแนวคิดต่างๆ ของตน เพื่อยึดครองแนวคิดนั้นให้เป็นของของยุคสมัยตนแต่ฝ่ายเดียวเลย

ไม่เพียงเท่านี้ วิธีการคิดที่คับแคบแบบนี้ของนักสมัยใหม่นิยมล้นเกินนั้น ยังนำมาสู้ปัญหาในลักษณะเดียวกับที่ผมเคยอธิบายถึงก่อนหน้านี้ในประเด็นเรื่องเวลา หรือความเร็วมาแล้ว นั่นก็คือ จะเกิดอะไรขึ้นหากขอบเขตของ โลกา ในอนาคตมีการขยับขยายเพิ่มขึ้นอีก สิ่งที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ก็จะค้างคาอยู่กับแค่ดาวเคราะห์โลกกระนั้นหรือ? จะเกิดอะไรขึ้นหากในอนาคต (อันดูไม่น่าจะไกลนัก) มนุษย์เราสามารถไปอาศัยอยู่บนดวงจันทร์ หรือนิคมในอวกาศได้ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ขอบเขตและการรับรู้ที่มีต่อ โลกา มันขยายตัวเกินกว่าขอบเขตของดาวเคราะห์โลกไป ด้วยการตีความแบบเข้าข้างตัวเองของพวกสมัยใหม่นิยมล้นเกินที่แสนจะแน่นิ่ง ที่ตรึงโลกาภิวัตน์ไว้กับขอบเขตของโลกทั้งใบนั้น ไม่กลายเป็นว่าแนวคิดเรื่องโลกาภิวัตน์ต้องล้มครืนลงอย่างไม่เป็นท่าหรือ?

การจำกัดว่า โลกา คือ โลก (ดาวเคราะห์) มันจึงเป็นวิธีคิดหรือการตีความแบบมุ่งทำลายล้างตัวเองแบบไม่รู้ตัวของเหล่าผู้อ้างตนว่าเป็นผู้สนับสนุนหรือนิยมในโลกาภิวัตน์ต่างหาก เพราะพวกเขาเหล่านั้น (ซึ่งแลดูจะเป็นคนส่วนใหญ่ของโลกใบนี้ และเสียงดังเสียด้วย) ให้ความสำคัญกับความเป็นจริงที่แน่นิ่งอยู่ตรงหน้ามากเกินไป และเย่อหยิ่งเกินกว่าจะหันมาสนใจถึงพลวัตรของเหตุการณ์ต่างๆ ก่อนหน้าอันเป็นเชื้อมูลซึ่งนำมาสู่ความเป็นจริงที่พวกเขาสาปไว้ให้แน่นิ่งตรงหน้า เพื่อที่พวกเขาจะได้ใช้ยกยอตัวเองได้นั่นเอง

และหากคนในโลกของเคลย์มอร์บังอาจนิยามยุคสมัยของตัวเองว่าอย่างนั้น—โลกาภิวัตน์ ในวันที่อนาคตมาถึงหรือความจริงอีกชั้นถูกเปิดเผยออกมา หลายคนอาจจะหน้าแตกไม่เป็นท่า

องค์กรชายชุดดำกับความเป็นรัฐ และการลุกฮือขึ้นสู้ของผู้ถูกตีตราว่าก่อการร้าย

แม็กซ์ เวเบอร์ นักสังคมวิทยาชื่อดังชาวเยอรมัน ได้ให้นิยามของรัฐไว้ในงานชื่อดังของเขาที่ชื่อ Politics as a Vocation ไว้ว่า รัฐนั้นก็คือ ผู้ผูกขาดการใช้กำลังทางกายภาพโดยชอบธรรมภายใต้พื้นที่จำเพาะแห่งหนึ่ง (The legitimate use of physical force within the given territory) และนิยามดังกล่าวนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นนิยามของรัฐที่คนกล่าวถึงมากที่สุด ใช้กันมาอย่างเหนียวแน่นที่สุดในทางวิชาการนิยามหนึ่งทีเดียว

ทีนี้พอเราดูนิยามดังกล่าว แล้วหันกลับมาดูเรื่องเคลย์มอร์เข้า เราจะพบได้เลยว่า องค์กรชายชุดดำนั้นมันคือรัฐตามนิยามแบบเวเบอร์ดีๆ นี่เอง เพราะเรามีพื้นที่จำเพาะเป็นเกาะปิดตายของเหล่าเคลย์มอร์ ดังที่เพิ่งจะกล่าวถึงไปในส่วนก่อน เรามีการมอบอำนาจให้ใช้กำลังได้อย่างชอบธรรม และอำนาจในการใช้กำลังทางกายภาพนั้นก็ถูกผูกขาดโดยองค์กรหนึ่งเดียว

การทำงานขององค์กรชุดดำในเรื่องเคลย์มอร์นี้มีความละม้ายคล้ายกับนิยายดิสโทเปียชื่อดังของจอร์จออร์เวล อย่าง 1984 อยู่ไม่น้อย แม้จะไม่ได้ถูกเขียนขึ้นมาในโทนที่ดำมืดขนาด 1984 ก็ตาม โดยเราจะพบเห็นได้จากเรื่องเคลย์มอร์ว่า ‘รัฐชายชุดดำ’ เป็นศูนย์รวมอำนาจเดี่ยวที่ไม่อนุญาตให้ตั้งคำถามได้ ไม่อนุญาตให้ตรวจสอบ เป็นผู้กำหนด และ/หรือสร้างข้อมูล รวมถึงคำสั่งแต่ฝ่ายเดียว รวมไปถึงการเฝ้าจับตา และกำหนดชะตากรรมของแทบทุกชีวิตบนเกาะ (ประเทศ) ด้วย

แม้ว่าระดับความสามารถในการควบคุมจะไม่ได้ชอนไชลงไปลึกอย่างในนิยายของออร์เวลล์ เพราะรัฐชายชุดดำในบางครั้งก็ต้องลำบากในการฝืนสู้กับศัตรูภายนอกอยู่ไม่น้อย ซึ่งส่วนนี้ดูจะแตกต่างจาก 1984 อยู่บ้าง อย่างไรก็ดีศัตรูภายนอกที่ว่านั้น แท้จริงแล้วก็เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น และควบคุมกลายๆ โดนรัฐคนชุดดำที่ว่านี้เอง เพียงแค่ว่าบางครั้งศัตรูภายนอกที่จงใจสร้างเพื่อเพิ่มความชอบธรรมทางอำนาจของตนนี้ดันมาแข็งแกร่งกว่าที่คาดไว้บ้าง

กลุ่มนักรบเคลย์มอร์ที่ตั้งตัวเป็นกบฏต่อกลุ่มชายชุดดำ (คนที่สองจากซ้ายคือ แคลร์)

ตามที่เกริ่นเรื่องนี้เล็กน้อยไว้ในตอนก่อนหน้า การที่ผมบอกว่าศัตรูภายนอกเป็นสิ่งที่รัฐชายชุดดำจงใจสร้างขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมต่อการใช้อำนาจของตนนั้นก็เนื่องจาก การจะรวมศูนย์อำนาจให้ได้อย่างมั่นคงถาวรนั้น สิ่งที่จำเป็นที่สุดก็คือขั้วตรงข้าม (Binary Opposition) ของความมั่นคง นั่นก็คือ ศัตรู, ภัย, ความไม่มั่นคงต่างๆ เพราะหากเราคิดตามแบบสำนักโครงสร้างนิยมแล้ว เราจะไม่มีทางนึกถึงความมั่นคง หรือความจำเป็นของมันออกได้เลย หากขาดซึ่งสิ่งที่เป็นคู่ตรงข้ามของมัน (เช่น หากไม่มี ยาย แล้ว ก็จะไม่มีทางนึกถึง ตา ได้ เป็นต้น)

การผูกขาดอำนาจอันชอบธรรมของรัฐชายชุดดำก็เช่นเดียวกัน การที่คนยอมรับ และให้ความชอบธรรมกับมันก็เพราะภัยภายนอกที่ถูกสร้างขึ้นมานั่นเอง ทีนี้คำถามก็คือ ความชอบธรรมในการใช้อำนาจแบบที่ว่าไว้ตามนิยามของเวเบอร์นั้นมันจะหมดลงได้อย่างไรกันเล่า? มันก็หมดลงได้ เมื่อภัยซึ่งคอยสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้อำนาจทางความมั่นคงมันหมดลง หรือเมื่อมีการสร้างความเข้าใจใหม่ต่อภัยที่รัฐผู้ซึ่งผูกขาดอำนาจไว้พยายามอ้างถึง ซึ่งโดยมากแล้วการพยายามปรับความคิดที่ต้านต่อกระแสอำนาจหรือความคิดหลักนี้มักถูกเรียกหลวมๆ ว่าเป็นขบถ และในปัจจุบันขบถที่กระทำต่อรัฐก็มักจะถูกเรียกว่า กบฏบ้าง ผู้ก่อการร้ายบ้าง เรื่อยไป

อย่างในกรณีเรื่องเคลย์มอร์นี้เหล่านักรบเคลย์มอร์เองกลุ่มหนึ่งซึ่งล่วงรู้ตัวตนที่แท้จริงของรัฐชายเสื้อดำ (องค์กร) ว่าเป็นต้นตอของเรื่องทั้งหมด และก็ได้พยายามปลดแอกสังคมจากการครอบงำและการใช้อำนาจของรัฐชายชุดดำ ซึ่งปฏิกิริยาที่รัฐชายชุดดำมีต่อพวกเธอก็เป็นดังที่คาด คือ ประนามและปิดป้ายว่าเป็นผู้ร้าย จากนั้นก็หาทางกำจัดทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะโดยชอบ หรือมิชอบ

เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มขบถในเรื่องเคลย์มอร์นี้ แทบจะไม่มีความแตกต่างอะไรเลยจากกลุ่มที่ถูกตีตราว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นโจรกบฏ ต่างๆ นานา พร้อมทั้งวาทกรรมของความโหดเหี้ยม ไร้ความเป็นมนุษย์ ไม่ฟังเหตุผล ใดๆ ดังที่เราได้พบเห็นในข่าวมากมายนั้น มันต่างอะไรกันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเหล่าเคลย์มอร์ขบถในเรื่อง ที่สุดท้ายเมื่อถูกป้ายสีด้วยข้อหามากมายเหล่านี้ ก็นำมาสู่เงื่อนไขของการกำจัดได้ทุกวิถีทางอย่างชอบธรรมไป

คำถามคือ พวกเขาเหล่านั้นเป็นเช่นว่าจริงหรือ? คำตอบคือเปล่าเลย ดังเช่นเหล่าเคลย์มอร์ขบถที่ถูกเหยียดหยาม แท้จริงแล้วกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าเป็นโจรกบฏ หรือผู้ก่อการร้ายในโลกจริงนั้น โดยมากมักจะมีชุดเหตุผลที่ฟังขึ้นมากๆ ในการต่อสู้เสียด้วยซ้ำ

ผมอธิบายเช่นนี้ไม่ได้แปลว่าผมสนับสนุนความรุนแรงที่เกิดจากการก่อการร้ายอะไร เพียงแต่อธิบายว่ามันมีเหตุผลที่หนาแน่นไม่น้อยเบื้องหลังความรุนแรงดังกล่าว ซึ่งโดยมากแล้วเป็นการพยายามตอบโต้อย่างค่อนข้างไร้ทางเลือกอื่น จากการโดนกดขี่ข่มเหงมานานปี และหากไม่นับเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 ที่เครื่องบินถล่มตึกเวิร์ลเทรดแล้ว โดยมากการก่อการร้าย (ในความหมายที่ใช้และเข้าใจกันโดยทั่วไป) เป็นปฏิบัติการที่แทบไม่ได้มุ่งเน้นให้เกิดการสูญเสียของชีวิตจำนวนมากแต่อย่างใดเลย

ตรงกันข้ามการก่อการร้ายโดยมากพยายามสร้างความเสียหายต่อชีวิตให้น้อย แต่มีผลกระทบหรือมีเมสเสจที่กระตุกความสนใจได้มากที่สุดต่างหาก ดังที่เราจะสามารถเห็นได้จากอัตราการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นจากการก่อการร้ายทั่วโลกนั้น หากเทียบกับสาเหตุการตายอื่นๆ แล้วนับว่าต่ำมาก คือ พอๆ กับการตายโดยโดนฟ้าฝ่าตาย, โดนผึ้งต่อย, หรืออุกกาบาตตกใส่นั่นเอง

ในเรื่องเคลย์มอร์ก็เช่นเดียวกัน เราจะพบเห็นได้เลยว่าผู้เขียนเรื่องเคลย์มอร์เองก็ไม่ได้ปฏิเสธภาพความรุนแรงที่ก่อขึ้นโดยเหล่าเคลย์มอร์ขบถ มีการใช้ความรุนแรง เข้าต่อต้านความรุนแรงที่ทางรัฐชายชุดดำ ซึ่งพยายามจำกัดให้เกิดการสูญเสียชีวิตน้อยที่สุดเสียด้วยซ้ำ โดยพยายามให้ได้ผลลัพธ์กลับมาสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้

ตัวอย่างของเหตุการณ์เหล่านี้นั้น มีมากมายตั้งขบวนการแบ่งแยกดินแดนของชาวบาสก์ทางตอนเหนือของสเปน กลุ่มไออาร์เอในไอร์แลนด์เหนือ หรือแม้แต่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบตามพื้นที่ชายแดนภาคใต้ พวกเขาเหล่านี้เอง มีการใช้ความรุนแรงจริง

ที่ผมเขียนอยู่นี้ก็ไม่ได้บอกให้ลืมความรุนแรง, แก้ต่างแทนความรุนแรง หรือให้ความชอบธรรมต่อความรุนแรงของฝ่ายขบถ เพียงแต่จะบอกว่าการกระทำความรุนแรง และความโกรธแค้นต่างๆ ที่ฝ่ายขบถมี หรือได้ทำลงไปนั้น มันมีที่มา และมันพอจะเข้าใจได้ และการแก้ปัญหานั้นย่อมไม่ใช่การตอบโต้ด้วยความรุนแรงที่มากยิ่งกว่า โหดร้ายยิ่งกว่า ไม่ฟังเหตุฟังผลยิ่งกว่า และใส่ร้ายป้ายสียิ่งกว่าที่กลุ่มขบถได้ทำ ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดของกรณีนี้ ที่เลวร้ายมากเสียจนทั้งโลกแทบจะไม่สามารถทนต่อพฤติกรรมของฝ่ายรัฐได้ ก็อย่างเช่นในกรณีของอิสราเอลที่เข้าถล่มปาเลสไตน์จนย่อยยับไม่เหลือเค้าลางเดิมอีกต่อไป หรือการก่อสงครามกับอัฟกานิสถานและอิรักโดยสหรัฐอเมริกานั่นเอง

คำถามที่ผมอยากจะส่งถึงท่านในส่วนนี้จริงๆ แล้วมันคงจะมีเพียงสั้นๆ แค่ว่า ท่านคิดหรือเชื่อจริงๆ หรือว่าคนเราจะยอมสู้ถวายชีวิตอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน และแทบไม่มีแนวร่วม ไม่มีพรรคพวก ไม่มีคนเห็นใจเลย ยาวนานต่อเนื่องเป็นสิบๆ ปีได้จากความบ้า ไร้เหตุผลแต่เพียงอย่างเดียว? ไม่เลยครับ ผมในฐานะคนที่ศึกษาด้านนี้มา พอจะกล้าพูดได้เลยว่าแทบไม่มีกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มไหนเลยที่ไร้เหตุผล โดยมากแล้วพวกเขานั้นล้วนแต่ผ่านการกดขี่อย่างหนักและต่อเนื่องมานานทั้งสิ้น หาทางตอบโต้หลากหลายวิธีแล้วทั้งสิ้น จนสุดท้ายต้องมาสิ้นสุดที่การใช้กำลัง แม้แต่กลุ่มอัลเคด้าเอง หากศึกษากันดูแล้ว จะพบได้ด้วยซ้ำครับว่า งานหลักของคนกลุ่มนี้ในเวลาทั่วไปคือการทำงานการกุศล ช่วยเหลือคนในพื้นที่ ที่ได้รับการกดขี่มาเหมือนกัน สภาพนี้ดำรงอยู่มานาน จนกระทั่งเกิดสงครามสหรัฐอเมริกากับอัฟกานิสถานและอิรักขึ้น

ผมเพียงอยากจะช่วยกระตุ้นเตือนท่าน ผ่านเรื่องเคลย์มอร์นี้ว่า จงอย่าได้ไว้ใจในรัฐของท่าน โดยเฉพาะกับรัฐหรือองค์กรที่ตรวจสอบไม่ได้ วิจารณ์ไม่ได้ เห็นต่างไม่ได้ และรวบอำนาจไว้กับตนแต่เพียงฝ่ายเดียว รัฐที่ไม่ได้ขึ้นสู่อำนาจจากการเลือกของประชาชนโดยตรง ยิ่งไม่มีทางเห็นค่าประชาชน และพร้อมจะหลอกประชากรของพวกเขา เพื่อการดำรงอำนาจของตนให้คงอยู่ได้นานวันขึ้นเรื่อยๆ ก็เท่านั้น เพราะรัฐแบบนี้ไม่ชมชอบพลวัตร และรับไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลง

เมื่อใดก็ตามที่ท่านอยู่ในรัฐแบบนี้ และเมื่อไหร่ที่มีการสร้าง ‘ภัย’ ที่มองไม่เห็นขึ้นมาเรื่อยๆ พร้อมกับเน้นย้ำถึงความสำคัญขององค์กรพวกเขาที่จะต้องครองอำนาจและมีความชอบธรรมในการใช้กำลังต่อไป เมื่อไหร่ที่มีการปักป้ายเหยียดหยามทำให้ฝ่ายตรงข้ามกลายเป็นผู้อ่อนด้อยกว่า ไร้ปัญญา หาเหตุผลไม่ได้ เมื่อนั้นขอให้ท่านพึงระวัง และตรวจสอบตนเองว่ารัฐผู้คุ้มครองท่านนั้น กำลังคุ้มครองท่านอยู่จริงๆ หรือเพียงคุ้มกะลาหัวตนเองให้อยู่ในอำนาจต่อไป

และหากจะมีวันที่เรารู้ตัวจากมนต์สะกดของรัฐได้ ผมก็อยากให้เป็นดังเรื่องเคลย์มอร์นี้ ที่ฝ่ายขบถสามารถมีชัยเหนือรัฐชายชุดดำได้ แม้จะเหนื่อยยาก และผ่านการโดนตราหน้า ตรากตรำมามากมายก็ตามที

ขอให้สนุกกับมังหงะครับ

Tags: ,