เคล์ยมอร์ (Claymore; อสูรสาวพิฆาตมาร) เป็นมังหงะที่มีคนรู้จักกันค่อนข้างมาก แม้จะไม่ถึงกับดังเป็นพลุแตกเหมือนการ์ตูนดังอย่าง One Piece หรือ Conan แต่ก็มีแฟนๆ ที่ตามผลงานเรื่องนี้อย่างเหนียวแน่นทีเดียว ผลงานเรื่องนี้ถูกแต่ง และวาดภาพขึ้นโดยโนริฮิโระ ยางิ (Norihiro Yagi) และถึงแม้จะไม่ใช่หนังสือการ์ตูนที่ดังที่สุดของสายแฟนตาซี ผจญภัยนี้ แต่ก็คงจะไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า คนที่เคยอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นมาสักระดับหนึ่งต้องเคยผ่านหู ผ่านตาหนังสือการ์ตูนชุดนี้ตามแผงกันมาบ้าง

ภาพปกของเคลย์มอร์ เล่มแรก

เคลย์มอร์ เป็นเรื่องของกลุ่มนักรบหญิงที่มีตัวละครหลักคือ ‘แคลร์’ หนึ่งในเคลย์มอร์ หรือกลุ่มหญิงสาวผู้ถูกฝังยีนส์ของปีศาจไว้ เพื่อเพิ่มพลังความสามารถในการต่อสู้ ในการต่อกรกับ ‘ปีศาจ’ และมีเฉพาะเพศหญิงเท่านั้นที่สามารถรับการปลูกถ่ายยีนส์ได้อย่างมีประสิทธิผล (คือ เดิมทีเคยทดลองกับเพศชาย แต่ช่วงเวลาในการครองสติให้เป็นคนนั้นสั้นมาก) กลุ่มนักรบเหล่านี้มีชื่อเรียกว่า ‘เคลย์มอร์’ ตามชื่อดาบขนาดใหญ่ที่เป็นอาวุธประจำกายของพวกเธอ พวกเธอกลายเป็นกลุ่มคนที่ “สังคมมนุษย์หวาดกลัว แต่ก็ไม่อาจจะขาดได้” เพราะพวกเธอคือ ขุมพลังเดียวในการต่อต้านกับภัยที่เรียกว่าปีศาจ แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง พวกเธอกลุ่มเดียวกันนี้เอง ก็ทำงานให้แก่องค์กรไร้ชื่อองค์กรหนึ่ง ซึ่งเป็นองค์กร ‘ชายเป็นใหญ่’ และอยู่ในเกาะปิดตาย ที่ถูกอุปโลกน์ให้เป็นโลกทั้งใบของพวกเธอ (คล้ายกับภาพยนตร์เรื่อง The Truman Show ที่นำแสดงโดยจิม แคร์รี่)

การ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องนี้ ทั้งขับเน้นถึงความสำคัญ และพลังของสตรีเพศ ไปพร้อมๆ กับพูดถึงโครงสร้างทางสังคมที่กดทับการมีตัวตนของสตรีเพศ รวมถึงภาพลวงตาทางอำนาจที่สังคมเหมือนจะหยิบยื่นให้กับเพศหญิง หรือหากจะสรุปเป็นประโยคเดียวแล้ว ผมคิดว่าเคลย์มอร์กำลังสะท้อนถึงเรื่อง “ความลักลั่นของสถานะทางอำนาจของเพศหญิงในวาทกรรมแบบชายเป็นใหญ่” (The Paradoxical Condition of Women’s Power in the Patriarchic Discourse) อย่างรันทดและรุนแรงมากๆ เลยทีเดียว

แน่นอนว่าการมีตัวตนอยู่ของเหล่าเคลย์มอร์นั้น ในทางหนึ่งเป็นเหมือนสัญญะที่บ่งบอกถึงพลังอำนาจที่เพศหญิงถือครองไว้แต่เพียงเพศเดียว พลังที่เพศชายไม่มี แม้จะขวนขวายเพียงใด และนั่นเป็นพลังที่ค้ำจุนสังคมทั้งมวลให้คงอยู่ได้ คุ้มครองกระทั่งตัวเพศชายที่มักผูกติดความเข้มแข็งไว้กับเพศตนด้วย (แอบนึกถึงเพลง It’s a man’s man’s man’s world ของ ของ James Brown และ Betty Jean Newsome กันเลยทีเดียว) เหล่าเคลย์มอร์นี้ก็ไม่ได้ต่างอะไรจาก ‘หญิงแกร่ง’ ในสังคมชายเป็นใหญ่ในความเป็นจริงเลย

พวกเธอเป็นที่เกรงกลัว หรือถูกมองอย่างแตกต่างในสังคม แต่สังคมเอง หรือองค์กรเองต่างก็รู้ดีว่าไม่สามารถขาดคนแบบนี้ได้โดยเด็ดขาด เพราะพลังขับเคลื่อนที่มีค่าของพวกเธอนั้น เกินกว่าจะปฏิเสธได้ แต่ในขณะเดียวกันภายในพื้นที่ทางอำนาจที่สังคมยอมรับความสามารถ และตัวตนของหญิงแกร่งเหล่านั้น มันก็เป็นเพียงพื้นที่ได้รับการหยิบยื่น หรืออนุญาตให้ดำรงอยู่ได้ด้วยความปราณีปราศรัยจากระบอบชายเป็นใหญ่ เป็นพื้นที่ หรือโลกลวงตาของสิทธิ และอำนาจ ที่หญิงแกร่งเหล่านั้นถูกลากเข้าไป และกักขังเอาไว้ กลับกลายเป็นการทำงานในกลไกเพื่อความอยู่รอดของระบอบชายเป็นใหญ่ไปเสีย

หรือกล่าวอีกอย่างก็คือ มันคือพื้นที่ในการทำงานของอำนาจที่มอบสิทธิและอิสรภาพให้กับคนเหล่านี้  แต่อิสรภาพเหล่านั้นจะต้องเป็นอิสรภาพที่ถูกกำหนด (Conducted Freedom) แนวทางไว้แล้ว ว่าต้องเป็นไปตามครรลองของระเบียบแบบชายเป็นใหญ่ เป็นอิสรภาพแบบที่จะต้องช่วยส่งเสริมระบอบชายเป็นใหญ่เท่านั้น เช่น การทำอาหารถวายพระ ทั้งที่สังคมศาสนาพุทธเป็นสังคมที่ไม่เคยเห็นหัวสตรีเพศนักมาแต่ต้น แต่ก็ไม่อาจจะดำรงอยู่ได้โดยขาดบทบาทของผู้หญิงในทางสังคม ซึ่งบทบาทอย่างการทำอาหาร งานบ้านนี้เองที่ก็ถูกกำกับให้เป็นงานของผู้หญิงด้วยคติความคิดแบบชายเป็นใหญ่

บทของผู้หญิง ตั้งแต่เรื่องเล็กเรื่องน้อยเช่นนี้ ไปจนถึงวิธีการมองผู้หญิงที่ทำตัวเข้มแข็ง ทั้งทางกาย ทางความคิด และเหตุผลว่า เป็นสตรีที่เข้มแข็ง ‘ดั่งผู้ชาย’ ฯลฯ ความลักลั่นทางอำนาจจึงเกิดขึ้น เมื่อเพศหญิงซึ่งพยายามไต่เต้าขึ้นสู่ระดับขั้นทางอำนาจที่สูงขึ้นๆ เสมือนหนึ่งว่าพวกเธอเหล่านั้นกำลังแย่งชิงพื้นที่ทางอำนาจมาจากเพศชายได้ แต่ในขณะเดียวกันพวกเธอเหล่านั้นเองนั่นแหละที่กลับตกหลุมพรางของอำนาจในระบอบชายเป็นใหญ่อย่างหนักหน่วงที่สุด ดังที่เราจะเห็นได้จากหน้าที่ของพวกเธอ ที่ทำหน้าที่เข้ารบรากับเภทภัยนานาที่เข้ามาหวังทำลายระบอบชายเป็นใหญ่ อย่างในเรื่องเคลย์มอร์ ก็สะท้อนปรากฏการณ์ดังกล่าวผ่านการกำจัดปีศาจ (= ภัยคุกคามต่อองค์กร หรือระบอบชายเป็นใหญ่) นั่นเอง แม้ในตอนนี้เนื้อเรื่องของเคลย์มอร์จะได้ดำเนินมาถึงจุดที่องค์กรชายเป็นใหญ่ดังกล่าวได้ถูกทำลายลงไปแล้ว แต่เงาหลอน (phantom) และโครงสร้างในเชิงระบบขององค์กรดังกล่าวก็หาได้สูญสลายตามไปไม่ และยังคงฝังติดและคอยกำกับเหล่านักรบหญิงเหล่านี้ต่อไป

แน่นอน เภทภัยเหล่านั้นเองก็เป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องมี เพื่อรักษาความสำคัญ และความจำเป็นของอำนาจการปกครองแบบบนลงล่างซึ่งในที่นี้คือแบบชายเป็นใหญ่ไว้ด้วย เพราะหากไม่มีการมีอยู่ของ ‘ขั้วตรงข้าม’ (Binary Opposition) อย่างปิศาจไว้แล้ว เราก็คงจะไม่รู้สึกถึงตัวตนของตัวองค์กร เพราะมันไม่มีความจำเป็นในการดำรงอยู่อีกต่อไปแล้วนั่นเองหากไม่มีความรู้สึกถึงภัยคุกคามและความรุนแรง ความแข็งแกร่งและการปกป้องก็ไม่ใช่สิ่งที่มีค่าหรือจำเป็นอีกต่อไป

ฉะนั้นแล้วจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปเสียแล้ว โดยเฉพาะในสังคมการเมืองโลก โดยเฉพาะในระดับรัฐหรือระหว่างรัฐ เพศกับเพศขั้วตรงข้าม หรือหากกล่าวให้ถึงที่สุดก็คือ “สิ่งใดๆ ก็ตามที่มีความเป็นอื่นในทางใดทางหนึ่งไปจากตนเอง” (Otherness of Self) ที่จะต้องหาทางสร้างศัตรู หรือภัยคุกคามให้มีขึ้นตลอดเวลาให้ได้ เพื่อให้รัฐนั้น เพศนั้น หรือตัวตนของตนเองนั้น มีที่ทางให้ยืนอยู่ต่อไปได้ และหากมองต่อไปก็จะพบว่าไม่ใช่เรื่องประหลาดหากจะพบคนหมดอาลัยตายอยาก หรือแม้แต่ตัดสินใจจบชีวิตตนเองลง เมื่อเขาเหล่านั้นพบว่า ‘เหตุผลในการดำรงอยู่’ ของตน หรือความเป็นอื่นที่มีขึ้นเพื่อให้ตัวเขาเหล่านั้นมีตัวตนได้ ได้หมดสิ้นลงไปแล้ว

ซึ่งเอาเข้าจริงๆ เรื่องเคลย์มอร์เองก็มีบางฉากที่กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้อยู่เช่นเดียวกัน นั่นคือ เมื่อเคลย์มอร์คนใด ใกล้จะไม่สามารถครองสติในฐานะมนุษย์ได้อีกต่อไป จะมีการเรียกเคลย์มอร์ที่ตนสนิทด้วยที่สุด (หรือจะเหตุผลอื่นใดก็แล้วแต่) มาสังหารตนเสีย ก่อนที่จะกลายเป็นปีศาจเสียเอง นั่นก็เพราะเหตุแห่งการดำรงอยู่ของตัวตนในฐานะมนุษย์ของพวกเธอเหล่านี้กำลังจะจบสิ้นลง ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะอยู่ต่อไปอีกแล้ว หากยังคิดจะเป็นมนุษย์ต่อไป ไม่ได้ต่างไปจากการเขี่ยทิ้ง หรือไล่พนักงานผู้มากความสามารถ แต่เริ่มจะเสื่อมประสิทธิภาพลงไปบ้างในบั้นปลายในองค์กรใหญ่ๆ ตามระบบทุนนิยมเสรีเลย (ซึ่งจะต่างบ้างก็คงจะเป็นประเทศไทย ที่ยิ่งแก่ ยิ่งคร่ำครึ ยิ่งมีค่า โดยไม่สนใจในประสิทธิภาพแต่อย่างใด) แต่หากฆ่าเคลย์มอร์ที่กำลังจะสิ้นสติความเป็นคนไปไม่ทันแล้ว พวกเธอเหล่านั้นจะกลายสภาพไปเป็นพิษภัย หรือศัตรูขององค์กรแทน (คือ กลายร่างเป็นปีศาจ) ซึ่งก็เหมือนกับผู้ซึ่งไม่ยินยอม หรือเห็นด้วยกับการ ‘เขี่ยทิ้ง’ ขององค์กร สถาบันต่างๆ ที่วางระบบคิดอยู่บนฐานแบบชายเป็นใหญ่ ที่พร้อมจะเขี่ยผู้อ่อนแรง แม้จะเคยทำคุณประโยชน์ให้มากมายมาก่อนได้อย่างไม่แยแส คนเหล่านี้ก็มีอยู่บ่อยครั้งที่ออกมาต่อสู้ เรียกร้อง หรือฟาดฟันกับองค์กรที่พวกเธอเคยทำงานถวายชีวิตให้มาก่อนนั่นเอง

ภาพโดยสรุปก็คือการ์ตูนเรื่องนี้ได้ขับเน้นประเด็นเรื่องความลักลั่นของหญิงแกร่งในโลกที่เต็มไปด้วยโครงสร้าง และคติแบบชายเป็นใหญ่ดังกล่าวมานี้ออกมาอย่างถึงพริกถึงขิง จากภาพที่กลุ่มเคลย์มอร์ที่ถูกควบคุมโดยองค์กรชายล้วน ในเกาะปิดตายที่เสมือนโลกลวงตาของพวกเธอนั่นเอง ซึ่งจุดนี้เองที่เรายังสามารถนำไปคิดต่อไปได้อีกมาก

พออ่านจนเสร็จผมก็คิดว่าเราต้องกลับมานั่งย้อนถามตัวเองอย่างจริงๆ จังๆ สักทีเถิด ว่า “เรากำลังถูกคุมขัง และกำหนดบทบาทให้กลายเป็นเพียงวัตถุ (Objectification of Subject) ของระบอบชายเป็นใหญ่หรือเปล่า?” เรากำลังเป็นเพียงก้อนเนื้อที่สวมใส่ชุดคุณค่าความเป็นคน และลักษณะความเป็นคนตามที่ระบอบชายเป็นใหญ่ “อยากให้เราเป็นหรือเปล่า?” และสำคัญกว่านั้นคือ “เราเคยคิดจะพยายามดิ้นรนเพื่อออกไปจากกรงนี้ไหม”?

เกาะปิดตาย ชายเป็นใหญ่ ในความจริงลวงๆ

อีกประเด็นหนึ่งของเรื่องเคลย์มอร์นี้ที่ผมคิดว่ามีประเด็นที่น่าจะนำมาถกกัน และโดยส่วนตัวชื่นชอบมาก นั่นคือเรื่องการเป็น ‘เกาะปิดตาย’ อันเป็นที่ตั้ง และเป็นฉากของเรื่องราวทั้งหมดของการ์ตูนเรื่องนี้จนถึงปัจจุบัน มันเป็นพื้นที่ซึ่งถูกอุปโลกน์ให้เป็นโลกทั้งใบในความเข้าใจของเหล่าเคลย์มอร์ เพราะพวกเธอไม่เคยเห็นพื้นที่อื่นใด (ในฐานะโลก) รวมถึงไม่มีข้อมูลเชิงพื้นที่อื่นๆ ใดๆ อีกเลย ฉะนั้นพวกเธอจึงเข้าใจมาโดยตลอดว่า เกาะปิดตายนี้ก็คือโลก และโลกทั้งใบก็คือเกาะที่พวกเธออาศัยอยู่

ว่ากันตามตรงแล้วหากกล่าวอย่างเคร่งครัดจริงๆ การจะอธิบายว่าพวกเธอเข้าใจว่าเกาะคือโลกทั้งใบก็ยังไม่ถูกต้องนักเสียด้วยซ้ำ เพราะพวกเธอไม่เคยมองมันในฐานะ ‘เกาะ’ ตั้งแต่แรก แต่มองมันในฐานะ ‘โลก’ ตลอดมา ฉะนั้นกล่าวอีกแง่ก็คือ การพูดว่า “เกาะก็คือโลกนี้” เป็นการพูดในฐานะบุคคลที่สาม ที่สังเกตการณ์จากภายนอกของจักรวาลวิทยาของเรื่องเคลย์มอร์ ไม่ใช่การอธิบายในฐานะที่เราเป็นบุคคลที่หนึ่ง หรือตัวเคลย์มอร์เอง

นั่นทำให้ผมนึกถึงแนวคิดของสำนักคิดหลังสมัยใหม่/หลังโครงสร้างนิยมสายหนึ่งที่เรียกว่า ‘โลกจริงจำลอง’ (Simulacra) ขึ้นมา เพราะมันสื่ออย่างชัดเจนถึงภาพการควบคุม และบงการอย่างถึงจิตใต้สำนึก และจิตไร้สำนึกของมนุษย์ ที่ชอนไช และเข้าไปก่อรูปจินตกรรมทางพื้นที่ พรมแดน ชุมชน และแบบแผนของชีวิตของเหล่าเคลย์มอร์เหล่านี้ไว้อย่างหมดหนทางจะหลบหนีได้ หรือกล่าวอีกอย่างก็คือ สิ่งที่เป็นกรงขังหรือภาชนะชีวิตของเหล่าเคลย์มอร์เหล่านี้ จริงๆ แล้วหาใช่น้ำทะเลที่รายรอบเกาะไว้ป้องกันการหลบหนีของเธอไม่ หากแต่เป็นโลกอุปโลกน์นี้ต่างหากที่เข้าไปบงการ และขีดเส้นพรมแดนชีวิตและความสามารถของเธอ กำหนดแบบแผน ‘ความเป็นเธอ’ ให้กับพวกเธอเหล่านั้นเอง กรงขังทางจินตกรรมนี้ต่างหากล่ะที่ผมมองว่าทรงพลังที่สุดทั้งในการ์ตูนเรื่องนี้ และในโลกของความเป็นจริง

ทีนี้ก่อนที่ผมจะเขียนไหลหลุดไปเรื่อยเปื่อยอีก เราน่าจะมาถือโอกาสทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องโลกจริงจำลองกันสักหน่อยก่อน เพราะไหนๆ เคลย์มอร์ก็อุตส่าห์ชี้โพรงมาให้ขนาดนี้แล้ว แนวคิดเรื่องโลกจริงจำลอง หรือ Simulacra นี้เป็นแนวคิดของ ฌ็อง โบร์ดิยาร์ด (Jean Baudrillard) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ในผลงานชื่อดังของเขาที่ชื่อ Simulacra and Simulations

โบร์ดิยาร์ดเสนอถึงสภาวะของโลกที่ ‘สาร’ (Simulations) หรือหากแปลตัวตรงก็คือ สิ่งจำลอง ต่างๆ ผุดขึ้นมามากมาย และรายล้อมตัวเราอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์, ละคร, นิยาย, ข่าว, บทเรียน, แผนที่ รวมไปถึงการ์ตูนด้วย โดยสารต่างๆ เหล่านี้เองที่เราเสพกันเข้าไปนั้นจะค่อยๆ เข้าไปฝังตัว และก่อสร้างเป็นโลกจริงในมโนสำนึกของเราขึ้นมาซ้อนทับ และแทนที่โลกจริงจริงๆ ไป บางครั้งเราก็เรียกมันว่า “โลกจริงอันไม่จริง” (Unreal Real World)

ปัญหาอยู่ที่ว่าบางครั้งเราไม่รู้ตัวเสียแล้วว่าโลกที่เราคิดว่าจริงนั้นมันไม่จริง ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ ไม่ใช่ของแปลก หรือเรื่องที่ยากจะพบเห็นได้ ในสังคมไทยเอง ก็มี Simulcra ของ ‘ราชอาณาจักรไทยในอดีต’ ฝังหัวอยู่มากมาย ดังที่เราจะเห็นได้จากแผนที่การเสียดินแดนของประเทศไทย ทั้งตามบทเรียน หรือที่ส่งกันพล่านในฟอร์เวิร์ดเมลระยะหนึ่ง บ้างก็ว่าเราเสียดินแดนนับมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยากันเลยทีเดียว นี่เองก็เป็นตัวอย่างของการถูกสื่อสร้าง ‘โลกจริงจำลอง’ ขึ้นมาสวมทับโลกจริงในอดีตไป โดยไม่รู้ตัว ไม่ไยดี และไม่สนใจต่อความเป็นจริงว่าการเสียดินแดนที่อ้างและเชื่อกันเหล่านั้น ทั้งไม่จริงบ้าง เกิดขึ้นก่อนการเป็นรัฐบ้าง หรือแท้จริงแล้วไม่ใช่การเสียดินแดน แต่เป็นการพ่ายแพ้ในศึกการแย่งชิงดินแดนกับลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก ฯลฯ สุดท้ายคนไทยเราจำนวนมากก็ตกอยู่ในโลกจริงจำลองของอดีตอันยิ่งใหญ่ ที่แม้เนื้อแท้แล้วจะเป็นความกระจ้อยร้อยที่ตนเองพยายามบิดเบือนและหลบหลีกในระดับจิตไร้สำนึก (unconscious) มาโดยตลอด

ทีนี้ย้อนกลับมาที่เรื่องเคลย์มอร์บ้าง โลกจริงทั้งใบของเหล่าเคลย์มอร์นั้น อาจจะดูแตกต่างกับกรณีของแผนที่การเสียดินแดนที่ว่าไปสักเล็กน้อย สำหรับกรณีของเคลย์มอร์นั้น พวกเธอไม่ได้มีฐานเริ่มจากการรู้แบบไม่จริง แต่พวกเธอเหล่านั้นไม่รู้อะไรเลยต่างหาก ตัวเกาะที่ถูกอุปโลกน์ให้เป็นโลกของเหล่าเคลย์มอร์ คือสารจำลองที่ยิ่งใหญ่ที่สุด อันทำให้พวกเธอสามารถตั้งหน้าตั้งตาอยู่กับความเชื่อปลูกสร้างได้อย่างแน่วแน่ ยิ่งกว่านั้น สารจำลองนี้ทำให้เหล่าเคลย์มอร์คิดว่าพวกตน ไม่มีที่ไปอื่นได้อีก ไม่มีทางหนี เพราะโลกมันก็แค่นี้ และสุดท้ายก็ต้องยอมที่จะสยบต่ออำนาจขององค์กรชายเป็นใหญ่ ในโลกปิดตายที่ไร้ทางออกในความรับรู้ที่ขังพวกเธอเองเอาไว้

เคลย์มอร์เองอาจคล้ายกับหญิงแกร่งหลายคนในสังคม ที่แม้จะรู้ตัวว่าโดนสังคมแบบชายเป็นใหญ่เอาเปรียบ แต่ก็ใช้ชีวิตต่ออยู่บนพื้นฐานของความจำยอมกลายๆ ว่าไม่มีสิ่งใดจะเปลี่ยนได้อีกแล้ว นี่คือจุดแน่นิ่งของประวัติศาสตร์แล้ว เป็น The End of History ตามคติของฟรานซิส ฟูกุยามะ (Francis Fukuyama) นักทฤษฎีรัฐศาสตร์ เคลย์มอร์ส่วนใหญ่จึงไม่คิดจะลุกขึ้นสู้ หรือต่อต้านตัวขนบนี้ ละทิ้งเขี้ยวเล็บของความเป็นขบถในตัว และตั้งหน้าตั้งตาทำงานเพื่อฟูมฟักระบบชายเป็นใหญ่ที่กดขี่ตนต่อไป

ผลพวงประการหนึ่งของการตกอยู่ในเกาะปิดตาย ที่ไม่เคยสามารถขยับเขยื้อนออกนอกอาณาเขตของเกาะได้เลยนับแต่รู้ความของเหล่าเคลย์มอร์ และชาวเกาะโดยทั่วไปนั้น ก็คือ มโนทัศน์ว่าด้วย ‘โลกา’ ซึ่งเชื่อมโยงอย่างยิ่งต่อข้อถกเถียงมากมายว่าด้วยปรากฏการณ์ทางสังคมที่ใช้กันยังพร่ำเพร่ออู้ฟู่ในปัจจุบันอย่าง ‘โลกาภิวัตน์’ ซึ่งเคลย์มอร์ก็ได้เล่าเรื่องนี้อย่างน่าสนใจเช่นกัน และเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกันยาวๆ จึงอยากชวนทุกท่านติดตามกันในตอนต่อไป

Tags: , , ,