ปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงเวลาอันเบ่งบานของวงการดนตรีนอกกระแสในเอเชีย ทั้งในประเทศไทย ญี่ปุ่น เกาหลี จีน หรือกระทั่งไต้หวัน ที่หลายวงสามารถยกระดับจากวงดนตรีในประเทศสู่วงดนตรีระดับโลก มีฐานแฟนเพลงมากมายหลากหลายประเทศ

หนึ่งในนั้นคือ Wendy Wander วงดนตรีจากไต้หวัน หลังจากที่ แซม หยาง (Sam Yang), เจนนี่ หยู่ว (Jenny Yu), วิลล์ วอง (Will Wong), โจนาธาน ลี (Jonathan Li) และเรย์ ชี (Ray Xie) เริ่มทำเพลงสไตล์ ‘โรแมนติก’ บทเพลงและท่วงทำนองของ Wendy Wander ก็เป็นที่ติดอกติดใจผู้ฟังมากมายทั้งในไต้หวันและในต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทย

The Momentum มีโอกาสพูดคุยถึงแนวคิดและมุมมองในการทำเพลงของ Wendy Wander ที่ลึกซึ้ง เสียดแทง และเปี่ยมล้นไปด้วยอารมณ์จนเป็นเอกลักษณ์ รวมไปถึงเส้นทางของวงที่พวกเขาเอ่ยปากว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างได้ เนื่องจากการสนับสนุนจากภาครัฐไต้หวัน และการได้ร่วมงานกับ Taiwan Beats ที่ทำให้วงได้เดินทางมาแสดงที่ประเทศไทยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

จุดเริ่มต้นของวงดนตรีที่ชื่อว่า Wendy Wander

พวกเราเรียนอยู่มหาวิทยาลัยเดียวกัน เอกศิลปะการแสดง มีความคิดอยากประกวดดนตรีช่วงปี 2018 แซมจึงเป็นคนเริ่มก่อตั้งกับเจนนี่ แล้วก็ชวนโจนาธานกับเรย์มาร่วมวงด้วย หลังจากนั้นพวกเราก็ทำดนตรีด้วยกันมาตลอด พอผ่านมา 2 ปี ปล่อยอัลบั้ม Spring Spring ที่มีเพลง I Want to Be With You หลังจากนั้นจึงเริ่มมีแฟนคลับ เริ่มเป็นที่รู้จักในประเทศไต้หวันมากยิ่งขึ้น

คอนเซปต์ดนตรีของ Wendy Wander คืออะไร เพลงของคุณกำลังพูดถึงเรื่องอะไร

เราพูดถึงความสัมพันธ์เป็นหลัก ถ้าในแง่ดนตรีพวกเรามองว่า มันคือ Chill Wave & Dream Pop แต่มีบางครั้งที่ผู้คนมักจะเรียกพวกเราว่าเป็นวงดนตรีแนวโรแมนติก แม้เราจะไม่ได้มองว่าเป็นแบบนั้น แต่ถ้าคนอื่นโอเคที่จะเรียกแบบนี้ ก็ไม่ติดอะไร 

ถ้าให้เปรียบเทียบดนตรีของ Wendy Wander เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เขาจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร

มันค่อนข้างยากนะ ในการอธิบายเพลงของพวกเราให้เป็นคนหนึ่งคน เพราะในบางเพลงก็แตกต่างกันเกินไป เพลงทุกเพลงจะประกอบด้วยนิสัยของพวกเราทั้งห้าคน 

ดังนั้น ขึ้นอยู่กับคุณว่าจะมองพวกเราทั้งห้าคนในรูปแบบไหน เพราะเพลงของพวกเราก็เป็นแบบนั้น 

อยากชวนคุยถึงเพลง I Want To Be With You ที่ได้รับความนิยมมากจากแฟนเพลงชาวไทย ที่มาที่ไปของเพลงนี้คืออะไร

เพลงนี้เป็นผลงานของเจนนี่นะ ต้องให้เครดิตเธอเลย เธอแต่งตั้งแต่อายุ 18 พวกเราเลยมองว่าเป็นเพลงเกี่ยวกับความรักที่รุนแรงและบริสุทธิ์เพลงหนึ่งของพวกเรา 

คิดว่าอะไรที่ทำให้เพลง I Want To Be With You ได้รับความนิยมขนาดนี้ 

อาจเป็นเพราะกลิ่นอายของทำนองและดนตรี เนื้อเพลงที่ไพเราะ มิวสิกวิดีโอที่กินใจ ที่สำคัญจะไม่พูดถึงไม่ได้ คืออัลกอริทึมของสตรีมมิงดนตรีเจ้าต่างๆ ที่แนะนำเพลงของเรา

สำหรับคนที่อยากทำความรู้จัก Wendy Wander คิดว่าเพลงไหนของวง ที่จะบ่งบอกตัวตนของพวกคุณได้ดีที่สุด  

ผมจะเลือกเพลง I Want to Be With You (Spring Spring), Love Trap (Midnight Blue) และ Angel Angel (Midnight Blue)

อัลบั้มใหม่ของพวกคุณอย่าง Midnight Blue มีความแตกต่างกับผลงานที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง

อัลบั้มนี้มีพื้นฐานมาจาก Alternative Pop แต่เราก็พยายามใส่ดนตรีแนวอื่นๆ ไปด้วย เช่นพวก Synth POP, Electronic, Rock, Disco และ Funk ฟังดูเยอะ หลากหลาย แต่เราพยายามทำให้มันกลมกลืนที่สุด ซึ่งแตกต่างจากอัลบั้มแรกที่มุ่งไปทางดนตรีร็อกอย่างชัดเจน 

ในวันนี้เราไม่อยากจำกัดตัวเองไว้กับอะไรบางอย่าง พยายามเปิดรับ พยายามทดลองอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ ส่วนด้านเนื้อหา เราไม่เจาะจงแค่ความรักของวัยรุ่นหนุ่มสาวที่รุนแรงแล้ว เรายังพูดถึงความสัมพันธ์แบบผู้ใหญ่ ที่มีทั้งรัก ทั้งขัดแย้ง ทั้งพรากจากกัน 

จากการมาแสดงดนตรีที่ประเทศไทย คิดว่าผู้ชมและบรรยากาศซีนดนตรีในไทยเป็นอย่างไรบ้าง

บอกได้แค่ว่าตกใจและดีใจมาก เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาเล่นดนตรีในประเทศไทย แฟนเพลงอาจไม่คุ้นเคยกับดนตรีและเนื้อร้องของพวกเรา แต่ยังสนุกไปกับเพลงและบรรยากาศตลอดทั้งโชว์ 

พวกคุณมีศิลปินหรือเพลงไทยที่ชื่นชอบบ้างไหม

  มีนะ พวกเราเป็นเพื่อนกับวง YONLAPA และ Rosalyn แถมเพลงของพวกเขายังมีทิศทางและเอกลักษณ์ที่ชัดเจนอีกด้วย

อะไรคือความประทับใจที่สุดในการมาแสดงดนตรีในประเทศไทย

ดนตรี อาหาร และผู้คน เหล่านี้คือสิ่งที่ประทับใจจนลืมไม่ลงสำหรับพวกเรา 

ปัจจุบันซีนดนตรีไต้หวันมีแนวทางและอัตราการเติบโตสำหรับศิลปินอย่างไรบ้าง

พวกเราขอใช้คำว่า ‘เป็นมิตร’ มากกว่า 10 ปีที่แล้ว ในวันนี้ไต้หวันมีเทศกาลดนตรี มีการส่งเสริมการเล่นดนตรีตั้งแต่เยาวชน ในระดับโรงเรียนเลย อีกทั้งยังมีค่ายดนตรีอินดี้เกิดขึ้นมากมาย ที่ช่วยยกระดับวงการดนตรีไต้หวันให้ดีขึ้น

แวดวงดนตรีและสื่อบันเทิงไต้หวันได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างไรบ้าง

ไต้หวันมีหน่วยงานที่เรียกว่า สำนักพัฒนาสื่อโสตทัศน์และอุตสาหกรรมดนตรี (The Bureau of Audiovisual and Music Industry Development: BAMID) ซึ่งจะมีแผนงานในการสนับสนุนวงดนตรีหรือค่ายเพลงอินดี้ทุกปี ทั้งในแง่เงินทุนหรือการส่งเสริมไปเล่นในต่างประเทศ พวกเรามองว่านี่เป็นวิธีที่ดีพอสมควรเลย สำหรับภาครัฐที่จะอยากสนับสนุนอุตสาหกรรมดนตรีในประเทศ 

แล้วถ้าพูดถึงโปรเจกต์ Taiwan Beats ที่ทำร่วมกับ newechoes record label สิ่งนี้ช่วยซัพพอร์ตศิลปินได้อย่างไรบ้าง

เป็นโอกาสที่ดีสำหรับพวกเราในการเข้าถึงค่ายและแฟนคลับมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังทำให้เรารู้จักและร่วมมือกับศิลปินคนอื่นๆ อีก ซึ่งอาจกลายเป็นโปรเจกต์พิเศษในอนาคตต่อไปได้

หลังจากนี้พวกคุณมีเป้าหมายต่อไปอย่างไรบ้าง   

ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่เราออกจากคอมฟอร์ตโซนในไต้หวันเป็นครั้งแรก และได้ไปเยือนสถานที่ต่างๆ โดยใช้เสียงเพลงของเรานำพาไป ดังนั้น ตลอดทั้งปีจึงเป็นเหมือนการหว่านเมล็ดพืชเพื่อดูว่า ตรงไหนคือพื้นที่ของพวกเราบ้าง ตรงไหนที่มีแฟนเพลง มีกลุ่มคนที่ชอบดนตรีในแบบที่ Wendy Wander เป็น ซึ่งในปีนี้ก็หวังว่าเราจะได้ดำเนินสิ่งนี้ต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติม

Tags: , , , ,