กัปตันสึบาสะ, อิตโต้ นักเตะเลือดกังฟู, Viva Calcio, J Dream ทะยานสู่ฝัน, Orange, Whistle!, Fantasista หรือกระทั่งล่าสุดอย่าง Blue Lock ล้วนเป็นการ์ตูนแนวกีฬาฟุตบอลที่ทำให้นักอ่านหยิบรองเท้าสตั๊ดคู่ใจลงดวลฝีเท้าในสนามหญ้ากับผองเพื่อน รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนที่ต้องการเลือกเดินสู่อาชีพ ‘นักฟุตบอล’ 

แต่ไม่ใช่แค่ประเทศญี่ปุ่นที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจและรังสรรค์การ์ตูนประเภทดังกล่าว เพราะตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ‘The Killer Pass – ดาวเตะฟ้าประทาน’ ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการการ์ตูนไทย ด้วยการหยิบเรื่องราวในสังเวียนฟุตบอลเยาวชนของไทยมาถ่ายทอดได้อย่างน่าสนใจ

The Killer Pass – ดาวเตะฟ้าประทาน เล่าถึง ‘มาวิน’ เด็กชายวัย 16 ปี แห่งโรงเรียนมัธยมประกายดาว ผู้เปี่ยมพรสวรรค์ด้านการวางแผนและทักษะในเกมกีฬาฟุตบอล ทว่าโชคชะตากลับเล่นตลก เมื่อมาวินมีโรคหอบหืดเป็นอุปสรรค จึงไม่สามารถเล่นฟุตบอลได้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ดี จากการช่วยเหลือของคนรอบข้าง ทั้งโค้ชและเพื่อนพ้องนักฟุตบอลที่ต่างมีคาแรกเตอร์เด่นชัด บางคนแน่วแน่มุ่งมั่น บางคนมาพร้อมเทคนิคพิสดาร บางคนเป็นสายฮา แต่ทั้งหมดล้วนช่วยปลุกไฟในตัวมาวินให้กล้าเอาชนะข้อจำกัดที่เผชิญอยู่ และใช้ไม้ตายการจ่ายบอลแบบ ‘คิลเลอร์พาส’ กรุยทางสู่ฝัน ในการเป็นนักฟุตบอลอันดับหนึ่ง

เหล่านี้คือความน่าสนใจขั้นต้น แต่หากอยากรู้เบื้องลึกเบื้องหลังของ The Killer Pass บทสนทนากับ อัมรินทร์ เดชณรงค์ ผู้แต่งการ์ตูน และภัทร ชนารัตน์ กรรมการบริษัท KP Comics Studios จะทำให้ได้เข้าใจมากขึ้น ทั้งความตั้งใจตลอด 3 ปี ในการปลุกการ์ตูนแนวฟุตบอลที่ห่างหายไปนานกลับมาอีกครั้ง ไอเดียการแต่งเรื่องที่หยิบยกมาจากสิ่งรอบตัว ความรักในเกมกีฬาลูกหนัง และจุดมุ่งหมายที่อยากสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กไทยก้าวสู่วิถีนักฟุตบอลผ่านลายเส้น

การถือกำเนิดของ The Killer Pass การ์ตูนฟุตบอล โดยนักเขียนผู้หลงใหลในเกมกีฬาลูกหนัง และต้นแบบของตัวละครเอกที่อิงจากเดวิด เบ็คแฮม

ท่ามกลางบรรยากาศคึกคักจากบรรดาคอการ์ตูนที่พากันมาเดินงาน Thailand Comic Con 2023 เราใช้เวลาอยู่สักพักเพื่อรอคอยอัมรินทร์ ที่กำลังนั่งพบปะและแจกลายเซ็นแฟนคลับมือเป็นระวิง

“ขอโทษที่ให้คอยนานครับ” อัมรินทร์กล่าวกับเราเป็นประโยคแรก หลังสามารถปลีกตัวจากภาระเบื้องหน้า แม้ใบหน้าจะดูอ่อนเพลียเล็กน้อย แต่แววตาของเขายังดูเป็นประกาย เช่นเดียวกับใบหน้าที่เปี่ยมด้วยรอยยิ้ม เพราะนี่คือวันที่ The Killer Pass ประสบความสำเร็จจากการเปิดตัววางจำหน่ายเล่มแรก

อัมรินทร์เล่าถึงที่มาของ The Killer Pass การ์ตูนแนวฟุตบอลที่ห่างหายไปนานจากเมืองไทย ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

“ย้อนกลับไป ผมเป็นนักวาดภาพประกอบและการ์ตูนเด็กให้กับสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง กระทั่งวันหนึ่งทางบริษัท Motivate Gaming ติดต่อเข้ามาชวนทำโปรเจกต์ โดยมีโจทย์คือทำการ์ตูนที่เกี่ยวกับกีฬาฟุตบอล ความจริงมีทางเลือกว่า จะทำการ์ตูนแนวกีฬาฟุตบอลหรือบาสเก็ตบอล ซึ่งทั้งสองเป็นชนิดกีฬาที่บ้านเรานิยม แต่ด้วยความที่ผมชื่นชอบกีฬาฟุตบอลอยู่แล้ว จึงตัดสินใจมาทางนี้

“ตอนที่ได้โจทย์มา ยังไม่ได้นึกทันทีว่าเส้นเรื่องจะเป็นแบบไหน แต่ในหัวผมเริ่มคิดคาแรกเตอร์ตัวเอกจากนักเตะที่ชื่นชอบ นั่นคือ เดวิด เบ็คแฮม (David Beckham) ซึ่งเป็นต้นแบบของตัวละครมาวิน ผมอยากให้ตัวละครตัวนี้มีความเก่งโดยไม่ต้องฝึกพัฒนาตั้งแต่เริ่มแรก เพราะเวลาเขียนตัวละครที่มีทักษะเก่งๆ จะสามารถถ่ายทอดงานภาพออกมาได้สนุกเต็มที่ 

“แต่ผมมาคิดต่อว่า ถ้าตัวละครนั้นเก่งเวอร์คงจะขี้โกงเกินไป (หัวเราะ) ฉะนั้นเราต้องหาอุปสรรคสักอย่างมารั้งไว้ คือ ‘โรคหอบหืด’ ที่ทำให้มาวินไม่สามารถลงแข่งได้เต็มเวลา และถ้าสังเกตจะเห็นว่า นอกจากความเก่ง ทั้งเบ็คแฮมและมาวินต่างมีหอบหืดเป็นโรคประจำตัวเหมือนกัน ผมจำได้ว่านัดชิงบอลถ้วยของเมเจอร์ลีกซ็อกเกอร์ ปี 2009 มีโมเมนต์ที่กล้องจับภาพได้ขณะที่เบ็คแฮมกำลังใช้ยาพ่นหอบหืด และเป็นปีเดียวกันกับที่เบ็คแฮมเผยว่าเขาป่วยเป็นโรคนี้ตั้งแต่เด็ก

“ไม่ใช่แค่พรสวรรค์ด้านการเล่นฟุตบอล แต่ผมอยากสร้างตัวละครมาวิน ให้เป็นนักฟุตบอลที่เล่นแบบใช้สมอง แน่นอนว่านักเตะลักษณะนี้ต้องเป็นตำแหน่งเพลย์เมกเกอร์ ที่รับหน้าที่ตัวทำเกม ตัวจ่ายบอล จนสุดท้ายก็เอาคาแรกเตอร์นี้มาตั้งเป็นชื่อเรื่องว่า The Killer Pass”

เสน่ห์ของเนื้อเรื่องที่หยิบยกสิ่งรอบตัวมาถ่ายทอด 

ใครที่ติดตามการ์ตูนเรื่อง The Killer Pass เป็นประจำจะทราบดีว่า เนื้อหาแต่ละตอนมักสอดแทรกมุขตลกเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ยังสร้างสรรค์คาแรกเตอร์ตัวละครที่มีความคล้ายคลึงกับนักฟุตบอลที่มีอยู่ในชีวิตจริง โดยอัมรินทร์เล่าด้วยน้ำเสียงอารมณ์ดีว่า ไอเดียดังกล่าวถูกใส่มาด้วยความตั้งใจและเหตุผลรองรับ

“ความตั้งใจแรกของผม คือต้องการแต่งการ์ตูนที่มีเนื้อเรื่องแซวเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นหรือกำลังเป็นกระแสในสังคม เพื่อที่คนอ่านจะได้รู้สึกสนุกและเกิดการพูดคุย ส่วนหนึ่งเพราะต้องตีโจทย์กลุ่มเป้าหมายในเฟซบุ๊ก ที่เราต้องอัปเดตแต่ละตอนทุกสัปดาห์ อย่างตอนล่าสุดก็มีเนื้อหาเกี่ยวกับคดีล่าเสือดำ

“ฉะนั้น ตัวละครหลายตัวที่ปรากฏ จึงเป็นตัวละครแนวพาโรดีที่นำเอกลักษณ์ของนักเตะชื่อดังที่มีอยู่จริงมาผสมผสานความเป็นไทย เช่น ตัวละครกาแล ที่เป็นเด็กมัธยมจากภาคเหนือ แต่มีคาแรกเตอร์คล้ายนักฟุตบอลทีมชาติบราซิลที่ชื่อเนย์มาร์ จูเนียร์

นอกจากคาแรกเตอร์และสถานการณ์ อัมรินทร์ยังเล่าว่า แม้ท่วงท่านักฟุตบอลในเรื่องจะมีความแฟนตาซี แต่ก็ต้องมีพื้นฐานอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงเช่นกัน

“ท่วงท่าที่ใช้แข่งกันผมก็ต้องค้นคว้าก่อนว่า นักฟุตบอลจริงๆ เขาทำกันอย่างไร นักเตะขยับเท้าจากด้านขวาหรือซ้ายก่อน แต่ชื่อท่าเวลาใช้ก็จะเปลี่ยนให้มีความเป็นไทย เช่น ลูกยิงของตัวละครกาแลที่มีพญานาคออกมา เพราะผมอยากบาลานซ์ระหว่างความเวอร์กับความเป็นจริงให้เท่าๆ กัน

“ช่วงแรกที่คนเห็นลูกยิงแล้วมีพญานาค คอมเมนต์จากคนอ่านแตกเป็นสองเสียง ฝั่งหนึ่งบอกว่าเท่ดี แต่อีกฝั่งบอกว่า ทำไมพี่ไม่เขียนให้มันเรียล เหมือนสแลมดังก์ทำนองนั้น แต่ส่วนตัวผมว่า ตัวละครทั้งหลายในเรื่องยังมีความเป็นเด็ก การกระทำที่แฟนตาซีแบบนี้เด็กน่าจะอินได้ง่าย ตอนผมเป็นเด็ก ผมดูการ์ตูนเรื่องกัปตันสึบาสะ เวลาไปเตะบอลกับเพื่อนแล้วมีโอกาสได้ยิงก็จะตะโกนชื่อท่าไดรฟ์ชูต (หัวเราะ) เพราะมันสนุก และในแง่ภาพสามารถส่งพลังออกมาได้ดี”

นอกจากนี้ อัมรินทร์ยังอธิบายถึงสาเหตุที่เซตติงฉากหลังเรื่องราวให้อยู่ในวัยมัธยม เพราะตนเองมองว่าเป็นช่วงเวลาที่เข้าถึงทั้งคนยุคเก่าและยุคใหม่ และเป็นช่วงที่มีเสน่ห์ในสายตาของตน โดยเฉพาะมิตรภาพระหว่างเพื่อน 

“ผมว่าช่วงมัธยมเป็นช่วงเวลาที่ชีวิตมีความสนุกที่สุด มีกลุ่มเพื่อนฝูงเฮฮา พอเล่นกีฬาก็จะมีความสามัคคี เล่นกันเป็นทีม ดังนั้น สภาพสังคมที่ผมเซตไว้ จะเป็นสภาพสังคมที่อยู่ในช่วงยุค 90s แต่มีเนื้อหาหรือบรรยากาศที่เชื่อมต่อกับยุคปัจจุบัน อารมณ์เหมือนเราดูภาพยนตร์เรื่องแฟนฉัน ยกตัวอย่าง เด็กมัธยมที่เลิกเรียนก็พากันวิ่งเข้าร้านเกมเพื่อเล่นวินนิง (เกมฟุตบอล Winning Eleven) ซึ่งชื่อของมาวิน ก็มาจากคำว่า ‘มาวินนิงกันไหม’ ซึ่งเป็นประโยคที่เด็กสมัยนั้นท้ากันประจำ”

ผนึกกำลังกับ KP Comics Studios เพื่อเติมเต็มความสมบูรณ์ผ่านลายเส้นดุเดือด 

เพียงแค่ไอเดียเนื้อเรื่องคงจะไม่สามารถทำให้ The Killer Pass เฉิดฉายได้ หากขาด ‘งานภาพ’ ที่วาดออกมาได้ดุเดือดและเป็นเอกลักษณะ ซึ่งส่วนนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับ KP Comics Studios ที่นำทีมโดย จักรพันธ์ ห้วยเพชร หัวหน้าฝ่ายภาพผู้เคยฝากผลงานไว้กับการ์ตูนแนวกีฬาบาสเก็ตบอลเรื่อง ‘Super Dunker – สตรีทบอลสะท้านฟ้า’

ภัทร ชนารัตน์ กรรมการบริษัท KP Comics Studios เล่าให้เราฟังว่า กว่าขั้นตอนทั้งเนื้อเรื่องและงานภาพจะลงตัวต้องใช้ระยะเวลากว่า 3 ปี เพื่อให้ทุกอย่างออกมาสมบูรณ์ที่สุด

“KP Comics Studios ใช้เวลากับอาจารย์เล็ก (ชื่อเล่นของอัมรินทร์) ในการปั้นคาแรกเตอร์ตัวละครใน The Killer Pass เป็นระยะเวลากว่า 3 ปี ก่อนจะออกเผยแพร่ให้คนอ่านได้เห็น 

“วิธีการทำงานของเราหลักๆ คือ อาจารย์เล็กมีหน้าที่คิดและดูแลเรื่องของเนื้อเรื่องและตัวภาพเป็นหลัก จากนั้นก็จะเป็นหน้าที่ของกองบรรณาธิการที่จะตรวจสอบว่ามีตรงไหนตกหล่นหรือเปล่า สุดท้ายก็จะเป็นหน้าที่ทีมวาดของ KP Comics Studios ในการวาดภาพและลงสี ซึ่งมีอยู่ราวยี่สิบกว่าคน ที่มีจำนวนทีมงานมากก็เพื่อเอื้อต่อการทำการ์ตูนลักษณะสี่สีทุกหน้า ที่ต้องลงประจำทุกสัปดาห์

“ฉะนั้น การตั้งชื่อทีมฟุตบอลในเรื่องก็จะต้องตั้งให้ง่าย เพื่อที่ฝั่งทีม KP Comics Studios จะออกแบบโลโก้ทีมทีมนั้นได้สะดวก เช่น โรงเรียนพญากุมภีร์ก็จะเป็นจระเข้ หรือโรงเรียนไอยราที่เป็นช้าง” อัมรินทร์ที่นั่งอยู่ด้านข้างกล่าวเสริม

“วันที่เราเผยแพร่ตอนแรก กระแสตอบรับถือว่าดีเกินคาด ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะการ์ตูนไทยที่เป็นรายอาทิตย์ เป็นการ์ตูนกีฬา และเป็นการ์ตูนที่มีสี่สีตลอดเรื่องไม่มีเลยในปัจจุบัน” ภัทรกล่าวสรุปถึงกระบวนการในการสร้าง The Killer Pass ในแต่ละตอน และความภูมิใจที่สามารถดึงดูดนักอ่านได้ตั้งแต่ตอนแรกปล่อยออกมาทางเฟซบุ๊ก

การเดินทางตลอดระยะเวลา 3 ปี ของ The Killer Pass จากความตั้งใจของทีมงาน ที่อยากให้เป็นมากกว่าแค่การ์ตูนฟุตบอล

ปัจจัยส่วนหนึ่งของความสำเร็จโดยเฉพาะการเป็นการ์ตูนไทยที่สามารถรวมเล่มวางจำหน่ายได้ ย่อมหนีไม่พ้น ‘การสร้างมาตรฐาน’ ที่อัมรินทร์บอกกับเราว่า ให้ความใส่ใจค้นหาข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อที่ผู้อ่านจะได้รับประโยชน์สูงสุด

“จนถึงวันนี้ที่ The Killer Pass ได้ออกรวมเล่มฉบับแรก สิ่งที่ผมพูดได้มีเพียงคำว่าดีใจ เพราะตลอดสามปี ที่ผ่านมา คือการพิสูจน์กับคนอ่านว่า เราใส่ใจในคุณภาพมากแค่ไหน ถึงแม้ฉบับรวมเล่มที่รวมตอนที่ 1-10 เขาจะเคยอ่านแล้ว เขาก็ยังซื้อเพื่อให้การสนับสนุนเรา

“แต่ใช่ว่าจะไม่มีอุปสรรคเลย เพราะอุปสรรคที่เราเจอกันบ่อยๆ คือเรื่องของ ‘เวลา’ ที่กระชั้นชิด ถ้าเราเลต หลังบ้านก็จะเลตตามเราไปด้วย ยิ่งมีช่วงที่ต้องทำการบ้านว่า นักเตะตัวจริงเขาทำสกิลฟุตบอลแต่ละท่ากันอย่างไร ยกตัวอย่าง ตอนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสตรีทฟุตบอล ผมใช้เวลาแกะท่า Rainbow Flick พอสมควร เพราะผมอยากให้น้องๆ เยาวชนที่เป็นนักฟุตบอลสามารถเอาไปใช้ได้จริง

“คนอ่านก็มีส่วนช่วยเรา เคยมีคนอ่านทักแชตเขามาแนะนำว่า ‘เตะมุมต้องเตะตรงนี้นะ’ ‘ท่านี้สามารถพลิกแพลงแบบนี้ได้’ หรือแท็กติกการวางแผนฟุตบอลก็จะมีน้องในทีมที่ช่วย เพราะที่ผ่านผมดูฟุตบอลแค่เอาสนุก ไม่ได้มีความรู้เชิงลึกขนาดนั้น” อัมรินทร์กล่าว

อย่างไรก็ดี หากมองย้อนกลับไปในความสำเร็จ อัมรินทร์ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องพิสูจน์ตัวเองผ่านยุคสมัย ที่ผู้คนมองว่าอาชีพนักเขียนการ์ตูนเป็นอาชีพที่เลี้ยงปากท้องระยะยาวลำบาก แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การ์ตูนมีอิทธิพลมากขึ้น โดยเฉพาะฝั่งประเทศญี่ปุ่น ที่ยกให้การ์ตูนหรือที่เรียกว่ามังงะ เป็นหนึ่งใน Sub Culture เบอร์ต้นๆ ของประเทศ

“สมัยมัธยมผมเรียนสายวิทย์-คณิต แต่ความชอบของผมเป็นด้านศิลปะ ที่โรงเรียนของผมไม่ได้มีครูที่สอนด้านศิลปะโดยเฉพาะ ซึ่งถ้าจะเรียนสายศิลปะจริงๆ ก็ต้องไปโรงเรียนช่าง โชคดีที่ตอนเลือกเข้ามหาวิทยาลัยครอบครัวสนับสนุนให้ผมเรียนในสิ่งที่ชอบ

“ผมว่านี่เป็น Pain Point อย่างหนึ่งของสังคมไทยในอดีตที่มีต่อเยาวชน เพราะผู้ใหญ่มักมองว่า อาชีพนักวาดการ์ตูนหรือนักศิลปะไม่สามารถเลี้ยงปากท้องตัวเองได้ ไม่ใช่เพราะเขาไม่ชอบ เพียงแต่เขาไม่เข้าใจว่า อาชีพประเภทนี้ต้องทำอะไร เราเลยเห็นนักวาดการ์ตูนหรือนักทำแอนิเมชันเก่งๆ ไปเติบโตในต่างประเทศ แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ก็ทำให้ทัศนคติเหล่านี้เปลี่ยนไปในแง่บวกมากขึ้น

“วงการการ์ตูนไทยยังคงต้องการได้รับแรงสนับสนุนอยู่ ทั้งจากคนอ่าน ภาคเอกชน หรือภาครัฐ บ้านเรามีวัตถุดิบที่สามารถต่อยอดไอเดียได้มากมาย เพียงแต่รอคนเข้ามาทำ อย่างเช่นมังงะที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมประเทศญี่ปุ่น เห็นได้ชัดจากการที่เขานำตัวการ์ตูนไปใช้ในงานสำคัญระดับโลกอย่างโอลิมปิกปี 2020” 

ภัทรกล่าวเสริมว่า นี่เป็นยุคสมัยที่อุตสาหกรรมการ์ตูนทั่วโลกเปิดกว้าง จึงเป็นโอกาสอันดีหากเยาวชนที่มีความสนใจในอาชีพนี้ จะลองกล้าทำความตั้งใจของตัวเองสักครั้ง เหมือนที่ในอดีตอัมรินทร์จะเลือกเดินในเส้นทางนักเขียนการ์ตูน

“ต้องยอมรับว่า อุตสากรรมการ์ตูนไทยในสมัยก่อนไม่ได้เติบโตและมีผู้สนับสนุนรายได้เหมือนที่ Motivate Gaming ทำเท่าทุกวันนี้ หากเทียบกับนักเขียนฝั่งญี่ปุ่นหรือสหรัฐฯ แต่ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมการ์ตูนเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น เมื่อพูดถึงการ์ตูน คนจะไม่ได้นึกถึงแค่มังงะ แต่จะนึกถึงการ์ตูนเกาหลีหรือการ์ตูนไทยด้วยเช่นกัน จึงถือเป็นช่วงเวลาอันดีที่น้องๆ เยาวชนที่มีความฝันอยากเป็นนักวาดการ์ตูน จะสามารถใช้โอกาสเลือกเส้นทางที่ตัวเองรัก และทำความเข้าใจกับพ่อแม่ว่าอาชีพนี้ก็ประสบความสำเร็จได้ เหมือนที่อาจารย์เล็กทำ The Killer Pass” กรรมการบริษัท KP Comics Studios กล่าว

ก่อนจากกัน ชายผู้ปลุกปั้น The Killer Pass ยังหวังว่า การ์ตูนที่ตนเองและทีมงานสร้างด้วยความตั้งใจ จะสามารถจุดประกายความฝันให้แก่เยาวชน ไม่ใช่แค่ในแง่ของอาชีพนักฟุตบอลหรืออาชีพนักเขียนการ์ตูน แต่รวมถึงอาชีพอื่นด้วย ขอเพียงแค่มีความฝันและความกล้า ทุกสิ่งย่อมเป็นไปได้ เหมือนตัวละครมาวิน ที่มีอุปสรรคเป็นโรคหอบหืดกล้าก้าวข้ามข้อจำกัดดังกล่าว และสามารถทำตามความตั้งใจในการเป็นนักฟุตบอลอันดับหนึ่ง

“ผมอยากให้การ์ตูนเรื่องนี้จุดประกายหลายความฝันให้แก่เยาวชน จะเป็นนักฟุตบอล เป็นนักวาดการ์ตูน คนทำเกม คนทำหนังก็ได้

“โรคหอบหืดของมาวินก็เป็นอีกหนึ่งแก่นสำคัญของเรื่อง ที่จะทำให้เด็กหรือคนที่อ่านเห็นว่า เรามีโอกาสหายจากโรคพวกนี้ได้ด้วยการเล่นกีฬา การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและพอดี รวมถึงการกินอาหารที่มีประโยชน์

“ทั้งหมดทั้งมวลต้องขอขอบคุณคนอ่าน ที่เป็นแรงผลักดันให้ผมและทีมงานมาถึงจุดนี้ ดังนั้น เป้าหมายสำคัญในอนาคต คิดแค่ว่าจะผลิตผลงานดีๆ แบบนี้ออกมาให้คนอ่านได้ติดตามสม่ำเสมอ” อัมรินทร์กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

สุดท้าย ผู้เขียนต้องยอมรับและปรบมือให้กับความตั้งใจของทีมงานการ์ตูน The Killer Pass ทุกคน ที่สามารถจุดไฟที่เกือบจะมอดดับของวงการการ์ตูนไทยให้กลับมาลุกโชนอีกครั้ง และหวังว่าในอนาคตจะมีการ์ตูนไทยคุณภาพเยี่ยมออกมาไม่ขาดสาย เพื่อสนองความสนุกให้กับนักอ่านและอย่างที่เน้นย้ำมาตลอดในบทสัมภาษณ์นี้ นั่นคือการเป็นบันไดก้าวแรกที่ทำให้ใครหลายคนกล้าที่จะเดินตามฝันตัวเองสักครั้ง

Fact Box

  • สามารถติดตามการ์ตูน The Killer Pass ได้ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11 โมง ทางเพจเฟซบุ๊ก The Killer Pass และทางเว็บไซต์ LINE WEBTOON
  • การ์ตูน The Killer Pass ยังเผยแพร่ในรูปแบบแอนิเมชันที่ให้อรรถรสมากกว่าเดิม โดยสามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์ https://youtube.com/@thekillerpass
  • การ์ตูน The Killer Pass ฉบับรวมเล่ม วางจำหน่ายเล่มแรก โดยผลิตสี่สีตลอดทั้งเล่ม ในราคา 246 บาท สามารถติดต่อสอบถามหรือสั่งซื้อได้ทางเพจเฟซบุ๊ก The Killer Pass
  • นอกจากจะมีผลงานในการ์ตูน The Killer Pass อัมรินทร์ยังเป็นหนึ่งในนักวาดการ์ตูนแก๊กล้อฟุตบอล ของเพจเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า กูว่าแล้ว มันต้อง’ตูน
  • Motivate Gaming คือบริษัทเกม ที่ก่อตั้งทีมอีสปอร์ตชื่อดังอย่าง Motivate Trust ซึ่งประสบความสำเร็จโดยเฉพาะในเกม Dota2 รวมถึงอุดมไปด้วยนักกีฬาอีสปอร์ตชื่อดังสัญชาติไทยในสังกัด
Tags: , , , , , ,