อังกฤษ ฟินนิช ฝรั่งเศส รัสเซียน ยูเครเนียน สวิดิช โรมาเนียนนิดหน่อย และ ‘ภาษาไทยเล็กน้อย’ คือจำนวนภาษาที่ เปียร์ก้า ตาปิโอลา (H.E. Mr. Pirkka Tapiola) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย บอกกับเราว่า นี่คือภาษาที่เขาสามารถใช้สื่อสารได้

“แค่ในครอบครัว เราก็ใช้กัน 5 ภาษาแล้ว” ท่านทูตนับนิ้วบอกกับเราหลังปิดเทปบันทึกบทสนทนา ทว่ายังคงบอกได้ดีถึงประเด็นที่เราคุยกันในวันนี้ ที่ว่าด้วยความสำคัญของการเป็น ‘พลเมืองโลก’ (Global Citizen) 

พูดคุยกับเอกอัครราชทูตยุโรปประจำประเทศไทย เปียร์ก้า ตาปิโอลา ในวาระ ‘วันยุโรป’ (Europe Day) ในวันที่ประตูประเทศต่างถูกปิดชั่วคราว ทำให้เราไม่สามารถเดินทาง พบปะกันได้ง่ายดายอีกต่อไป หากเป็นอย่างที่ท่านทูตว่าไว้ว่า ยิ่งเราไม่สามารถพบปะพูดคุยกันได้ง่ายดายเท่าไหร่ ยิ่งเราได้เห็นแล้วว่าปัญหาที่เกิดในประเทศหนึ่งสามารถแทรกซึมเคลื่อนไปทั่วโลกได้อย่างไร ก็ยิ่งทำให้เห็นความสำคัญของ ‘การร่วมมือร่วมใจ’ กันระดับโลก (Global Solidarity) มากกว่าที่เคย

และนั่นจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากเราไม่มีสำนึกของความเป็นพลเมืองสากล

 

เกือบครบรอบ 4 ปีของวาระการดำรงตำแหน่งของคุณแล้ว เป็นอย่างไรบ้าง 

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผมรักเสมอ ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมได้มาอยู่ที่นี่ ผมเคยเป็นรองหัวหน้าคณะทูตมาก่อนช่วงปี 1998-2001 และได้กลับมาบ้างเป็นครั้งคราว ผมจึงไม่เคยรู้สึกเหมือนเป็น ‘ฝรั่ง’ ที่นี่เลย หมายความว่ าผมไม่เคยรู้สึกว่าที่นี่เป็น ‘ต่างประเทศ’ เลย แต่แน่นอนว่ามีหลายอย่างเปลี่ยนไปใน 20 ปีที่ผ่านมา ทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ หรือความเป็นอยู่ของผู้คน แม้ผมจะรู้สึกว่าปฏิสัมพันธ์ของผู้คนอาจไม่เหนียวแน่นเช่นเมื่อก่อน แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่เราต่างเจอในโลกที่ทุกคนยุ่งขึ้น มีอะไรต้องทำกันมากขึ้น ซึ่งล้วนมาจากเรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจ 

ส่วนในเรื่องความคล้ายกันระหว่างสองช่วงเวลานั้น ครั้งแรกที่ผมมาที่นี่ ประเทศไทยกำลังฟื้นตัวจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งถึงแม้บริบทอาจต่างกันจากตอนนี้ แต่ทั้งตอนนี้และตอนนั้น ก็เป็นช่วงเวลาที่ผู้คนให้ความสำคัญกับการก่อร่างสร้างประชาธิปไตยให้แข็งแรงขึ้นเหมือนกัน 

มีพันธกิจอะไรที่คุณตั้งใจบรรลุให้เกิดขึ้นในการรับตำแหน่งครั้งนี้บ้าง

แน่นอนว่ามันต่างไปจากครั้งแรก ครั้งแรกผมเป็นรองหัวหน้าคณะทูตประจำประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป หากครั้งนี้ผมกลับมาในฐานะทูตประจำสหภาพยุโรป ซึ่งทำให้ทั้งมุมมอง วิธีการ และเป้าหมาย ต่างไปอย่างแน่นอน เป้าหมายแรกที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับผมและการมีอยู่ของสหภาพยุโรปในประเทศไทย คือการสร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ ระหว่างไทยและยุโรปในทุกๆ ระดับ ทั้งเรื่องการค้าเสรี การเจรจาให้เกิดความร่วมมือต่างๆ

ความสัมพันธ์ไทยและสหภาพยุโรปเป็นความสัมพันธ์ที่เก่าแก่ เมื่อปี 2018 เราเพิ่งฉลองการครบรอบ 500 ปีความสัมพันธ์ไทย-โปรตุเกส ซึ่งนับเป็นความสัมพันธ์ที่ยาวนานที่สุดที่ไทยเคยมีกับประเทศแถบตะวันตก มันเป็นเวลาที่นานมากเลยนะ ซึ่งผมมองว่าทั้งระยะเวลาและความคล้ายกันบางอย่างของไทยและสหภาพยุโรปทำให้ความสัมพันธ์นี้แน่นแฟ้น

 

ความคล้ายกันระหว่างไทยและสหภาพยุโรปที่ว่านั้นคืออะไร

ที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือเราต่างเชื่อและปฏิบัติตามกฎกติการะบบพหุภาคี โดยเฉพาะในวาระระดับโลกต่างๆ เช่น การผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ให้สำเร็จลุล่วง ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดว่าการทำงานร่วมกันทั้งในระดับท้องถิ่นและระหว่างประเทศ มีความสำคัญต่อโลกอย่างไร และผมคิดว่ายังมีสิ่งที่เราร่วมมือกันให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อีก

มีมิติอื่นใดอีกบ้าง ที่คุณคิดว่าดีขึ้นกว่านี้ได้ และควรส่งเสริมให้ดีขึ้นกว่านี้

แน่นอนว่าถ้าหวังจะให้ดีขึ้นก็คงเป็นในทุกด้าน แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมอยากทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนแน่นแฟ้นมากขึ้นกว่านี้ ผมมองว่านั่นคือรากฐานของความสัมพันธ์อื่นๆ ทั้งหมด ลองคิดดูว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระดับประเทศ สุดท้ายก็ต้องมาจากผู้คนใช่ไหม ที่ไว้ใจในการทำธุรกิจร่วมกันได้ หรือความเข้าใจกันระหว่างวัฒนธรรมที่แตกต่าง ก็ต้องมาจากผู้คนที่เข้าใจกันและกัน ถ้าเราทำให้ความสัมพันธ์ของผู้คนลึกซึ้งได้ พันธกิจที่ใหญ่กว่านั้น เช่น การปกป้องพหุภาคี หรืออะไรต่อมิอะไร ก็จะไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปเลย ซึ่งมันก็นำมาสู่ประเด็นที่ผมอยากเน้นในวันนี้ นั่นคือการศึกษาในฐานะสะพานสำคัญที่จะเชื่อมต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน 

ยกตัวอย่างทุนจากสหภาพยุโรปที่คุณอยากให้คนรู้จักกันมากกว่านี้

ผมขอพูดถึงทุน ‘อีราสมุสพลัส’ (Erasmus+) ทุนนี้มีประวัติยาวนาน และอีราสมุส (Desiderius Erasmus, 1467-1536) ก็สะท้อนถึงความเชื่อของทุนนี้ได้เป็นอย่างดี อีราสมุสเป็นนักปรัชญาชาวดัตช์ทั้งชีวิตและผลงานของเขาพูดถึงแนวคิดการใช้ชีวิตอย่างไร้พรมแดน การออกไปเปิดประสบการณ์จากถิ่นต่างๆ ที่ไกลจากบ้านเกิดเมืองนอนตัวเอง แม้โครงการอีราสมุสเองจะเกิดขึ้นนานหลังจากนั้นมาก คือในปี 1987 ที่ในปีแรกมีผู้รับทุนเพียง 3,244 คนเท่านั้น แต่สามสิบกว่าปีนับจากวันนั้นจนวันนี้ ตัวเลขได้เพิ่มขึ้นเป็น 9 ล้านคน และเราคาดว่าในอีก 7 ปี (2020-2027) จะมีผู้ได้รับประโยชน์จากทุนการศึกษานี้เพิ่มขึ้นอีกมากถึงสิบล้านคน

ในปีนี้ โครงการอีราสมุสได้ก้าวเข้าสู่ระยะใหม่โดยครอบคลุมปี 2021-2027 เราจัดสรรงบประมาณให้กับโครงการนี้เพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัวจากที่ผ่านมา หรือคิดเป็นงบประมาณ 28 พันล้านยูโร เพื่อที่จะสนับสนุนโอกาสในการเดินทางมาศึกษาที่ยุโรปนี้ ตัวโครงการไม่ได้จำกัดแค่นักเรียนเท่านั้น แต่ยังมีหลายโปรแกรมที่บุคลากรทางการศึกษาหรือนักวิจัยก็สามารถเข้าร่วมได้ อย่าง Erasmus+ ก็มีสามช่องทางให้เข้าร่วม

1. International Credit Mobility ที่ใช้เวลา 3-12 เดือน โดยตอนนี้มีคนไทยที่เคยร่วมโครงการอยู่ประมาณ 1,500 คน

2. หลักสูตรปริญญาโท 1-2 ปี โดยเป็นการเรียนในอย่างน้อย 2 มหาวิทยาลัยร่วมกันใน 1 หลักสูตร

3. โครงการเสริมศักยภาพในการศึกษาขั้นสูง ที่เปิดให้ทั้งครูหรือนักวิจัยเข้าร่วมได้

และนอกจาก Erasmus+ แล้วก็ยังมีโครงการอื่นๆ เช่น Marie Skłodowska-Curie Actions ที่เน้นเรื่องการวิจัยโดยตรง

 

การส่งเสริมเรื่องทุนการศึกษาสอดคล้องกับพันธกิจหลักของยุโรปอย่างไร ทำไมถึงจัดสรรงบประมาณไว้สูงขนาดนี้ในแต่ละปี

เราไม่ได้มองว่านี่เป็นเพียงโอกาสทางการศึกษาเท่านั้น ที่เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และทำอย่างต่อเนื่องเพราะมันสอดคล้องกับพันธกิจของเราในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีโดยตรง อย่างที่ผมบอกไว้ในตอนต้นว่า สหภาพยุโรปให้ความสำคัญมากกับการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ที่จะเป็นบ่อเกิดให้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกิดขึ้นได้

จริงอยู่ที่ตอนนี้ผู้คนสามารถเรียนผ่านออนไลน์ได้ แต่เราได้เห็นแล้วว่าการเรียนรู้บางอย่างต้องเกิดขึ้นจากประสบการณ์จริง การเอาตัวเองไปอยู่ตรงนั้นจริงๆ ใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนจริงๆ มีบทสนทนาร่วมกัน ในแง่นี้ ผมว่าการมีประสบการณ์ศึกษาต่อต่างประเทศไม่ได้ส่งผลดีแค่ในระดับบุคคลเท่านั้น มันยังส่งผลดีในระดับโลกอีกด้วย เพราะมันทำให้พวกเขาได้รับรู้ความหมายที่แท้จริงของการเป็นพลเมืองโลก ที่เรียกร้องการเปิดกว้างทางความคิด การยอมรับความแตกต่าง ซึ่งการได้ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความหลากหลายของวัฒนธรรมจะช่วยเรื่องนี้มาก

ใครที่เคยใกล้ชิดกับชาวยุโรปบ้าง อาจสังเกตว่าเรามักพูดถึงเรื่อง ‘คุณค่า’ อยู่บ่อยๆ ไม่ใช่ว่าเราพยายามจะสั่งสอนผู้คนว่าเขาต้องใช้ชีวิตอย่างไร แต่เราอยากแลกเปลี่ยนสิ่งที่เราได้เรียนรู้มาจากประวัติศาสตร์เปื้อนเลือดของพวกเรา ทั้งยุคเผด็จการ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ความคลั่งชาตินิยม มันไม่ง่ายเลย แต่มันสอนให้พวกเราเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับความแตกต่าง ให้เห็นคุณค่าที่จริงแท้กับขอบเขตพรมแดน ซึ่งนั่นเป็นแนวคิดที่เราอยากส่งต่อไป ไม่ว่าจะผ่านความร่วมมือต่างๆ หรืออย่างทุนการศึกษาเหล่านี้ก็ตาม การแลกเปลี่ยนคุณค่า การสร้างความสัมพันธ์อันดีจากระดับบุคคลเป็นหัวใจของสหภาพยุโรปเสมอมา เพื่อที่จะสร้างความปลอดภัยจากความเข้าใจให้เกิดขึ้นต่อไป 

หากดูในประวัติศาสตร์ มีคนไทยได้รับการศึกษาในยุโรปจำนวนไม่น้อย แต่ทุนการศึกษาจะเป็นสิ่งที่ทำให้การได้รับประสบการณ์นานาชาติเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ ไม่จำกัดอยู่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกต่อไป เราเชื่ออย่างยิ่งว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเสริมพลังให้ผู้คน และสร้างความเจริญร่วมกันในที่สุด

คุณดูให้ความสนใจกับแนวคิด ‘พลเมืองโลก’ มาก การทำงานในประเทศหลากหลายมาตลอดชีวิตส่งผลต่อความเชื่อของคุณในเรื่องนี้อย่างไร

ผมมักพูดเสมอว่าผมมีสองสัญชาติ หรือที่ผมมักเขียนลงในเอกสารต่างๆ ว่าผมเป็นชาวยุโรป-ฟินแลนด์ เพราะนั่นคือภูมิหลังของผมจริงๆ และเป็นสิ่งที่ผมผูกพันกับทั้งสองอัตลักษณ์อย่างลึกซึ้ง แต่เมื่อผมได้ใช้ชีวิตอยู่ในหลายประเทศมาตลอดชีวิต ตอนนี้ผมอยากจะเพิ่มอีกอัตลักษณ์หนึ่ง นั่นคือผมอยากบอกว่าผมเป็นพลเมืองโลก 

ถ้าถามว่ามันส่งผลต่อผมอย่างไร ส่งผลมากเลย อันที่จริงมันหล่อหลอมสิ่งที่ผมเป็นและเชื่อแทบทั้งหมด พื้นฐานเลยคือ ผมว่าผมเป็นคนไม่ตัดสินผู้คนนะ ผมพยายามที่จะทำความเข้าใจเสมอเมื่อเกิดความขัดแย้งจากความต่าง อีกอย่างคือผมไม่ค่อยเจออาการ ‘คิดถึงบ้าน’ (homesick) เท่าไรนัก เพราะสำหรับผมแล้ว บ้านคือที่ใดก็ตามที่ภรรยาของผมอยู่ ฉะนั้น เมื่อผมอยู่กรุงเทพฯ ผมจึงไม่รู้สึกว่าผมอยู่ต่างประเทศ เพราะครอบครัวผมอยู่ที่นี่

แน่นอนว่ามันมีความยากลำบากอยู่เหมือนกัน ที่เห็นชัดเลยคือมันยากที่คุณจะติดต่อกับเพื่อนวัยเด็กได้ กับบางคนนั่นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่กับผมที่ต้องย้ายประเทศไปๆ มาๆ นั่นเป็นเรื่องยากพอตัว แต่ในขณะเดียวกัน การมีประสบการณ์ต่างประเทศก็ทำให้ผมรู้สึกว่าชีวิตนี้ช่างรุ่มรวย มันให้ประสบการณ์มีค่ากับผมมหาศาล มันหล่อหลอมและหล่อเลี้ยงผม ผมรู้สึกสบายใจในทุกที่ๆ ผมไป ผมไม่จำเป็นต้องเป็นกิ้งก่าเปลี่ยนสี ผมแค่ปรับตัวเข้ากับผู้คนและสถานที่ง่าย โดยไม่สูญเสียความเป็นตัวเอง มันเป็นธรรมชาติไปแล้ว

 

แล้วในแง่การรับมือกับความท้าทายระดับโลกที่นานาประเทศเผชิญอยู่ในตอนนี้ คุณคิดว่าแนวคิด ‘พลเมืองโลก’ มีความสำคัญ หรือเรียกได้ว่าเป็นความจำเป็นอย่างไร

มันสำคัญมากเลย หรืออย่างที่คุณบอกว่านี่คือความจำเป็น ยกตัวอย่างชัดเจนคือเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ หรือการอพยพย้ายถิ่นฐาน และความท้าทายที่ไร้พรมแดนอีกมากมาย นี่คือสาเหตุที่ทำให้เราเน้นย้ำมากถึงความสำคัญของพหุภาคี เพราะเราไม่สามารถรับมือกับปัญหาเร่งด่วนระดับโลกขนาดนี้ได้เพียงลำพัง และในขณะเดียวกัน มันก็ยากที่เราจะทำงานร่วมกันได้หากขาดความไว้ใจและเข้าใจ 

หลายคนบอกว่า โควิด-19 นำมาซึ่งจุดจบของโลกาภิวัฒน์ ทำให้ผู้คนกลับคืนท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น ผมเห็นด้วยกับความสำคัญของท้องถิ่น แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็มองว่าโควิด-19 ยิ่งเป็นตัวอย่างชัดเจนว่าเราต้องการความร่วมมือกันระดับสากลมากขึ้นกว่าเคย 

แม้ตอนนี้โควิด-19 ดูจะนำมาซึ่งการปิดประเทศ ประเด็นเรื่องชาตินิยมกลับมาอีกครั้ง มันง่ายมากเลยที่เราจะเห็นความท้าทายตอนนี้และรู้สึกหวาดกลัว แล้วโยนความกลัวนั้นให้เป็นความผิดผู้อื่น แต่ผมมีความหวังกับคนรุ่นใหม่นะ และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่พวกเขากำลังสร้างร่วมกันผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ หรือแม้แต่การไปเรียนต่ออย่างที่เราพูดไปนั่นแหละกำลังร่วมสร้างความเป็น ‘เรา’ ขึ้นมา

ความเป็น ‘เรา’ ที่ไม่ได้หมายถึงเราในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ ‘เรา’ ในระดับสากล 

ใช่ ผมยกตัวอย่างความเป็นเราที่ใกล้ตัวสุดสำหรับผมก็คือครอบครัว ผมแต่งงานกับภรรยาที่ไม่ได้มาจากชาติเดียวกัน ผมมาจากฟินแลนด์ เธอมาจากยูเครน ตอนนี้ลูกสาวผมอยู่บรัสเซลส์ แม่ผมอยู่เฮลซิงกิ พ่อผมอยู่สวิตเซอร์แลนด์ ในบ้านเราสื่อสารกันด้วย 5 ภาษา (ยกนิ้วขึ้นมานับ) ขึ้นกับว่าใครกำลังพูดกับใคร เรานับถือ 3 ศาสนา ครอบครัวทำให้ผมรู้สึกถึงความเป็นเรา ให้เห็นความสัมพันธ์ของโลกใบนี้ที่เชื่อมต่อกันเสมอ

จากคนที่ต้องเดินทางตลอดเวลา ช่วงนี้เป็นอย่างไรที่เกือบครึ่งของการดำรงตำแหน่งไม่สามารถเดินทางได้ในสถานการณ์เช่นนี้

มันก็รู้สึกแปลกจริงๆ แหละที่เดินทางไม่ได้ ผมชินกับการเดินทางตลอดเวลา สัปดาห์หนึ่งอยู่กรุงเทพฯ อีกสัปดาห์อยู่บรัสเซลส์ การไม่ได้เจอครอบครัวเลยก็เป็นเรื่องแปลกเช่นกัน แต่มันก็ทำให้เราตั้งหน้าตั้งตารอคอยคริสต์มาสครั้งต่อไป ที่เราจะได้กลับมาเจอกันอีกมากๆ ผมหวังว่านั่นจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองใดเมืองหนึ่งของยุโรปในสิ้นปีนี้

อย่างที่ผมพูดในตอนต้นว่าหลายอย่างเราทำออนไลน์ได้ แต่ก็มีหลายอย่างที่ทำไม่ได้เช่นกัน อินเทอร์เน็ตนั้นเป็นผู้รับใช้ที่ดี แต่เป็นนายที่โหดร้ายเสมอ หากเราใช้มันไม่ถูกวิธี เราต้องแน่ใจให้ได้ว่าผู้คนจะไม่สูญเสียแก่นแท้ของความสำคัญไป เพียงเพราะคิดว่าจากนี้ทุกอย่างทำออนไลน์ก็ได้ แน่นอนว่าถ้ามองตามความเป็นจริง หลายอย่างคงไม่กลับไปเหมือนเดิม ผมเองก็คิดว่าคงไม่ได้บินระยะสั้น เพื่อเข้าร่วมประชุมครั้งเดียวแล้วกลับอีกแล้ว เราคงเดินทางน้อยลงกันเป็นแน่ แต่ผมว่านั่นจะทำให้ทุกครั้งที่เราได้เดินทาง มันจะเป็นการเดินทางที่มีความหมายมากขึ้น เราจะเดินทางเมื่อจำเป็นมากขึ้น และเมื่อเราอยู่ในสถานที่นั้น เราก็จะดื่มด่ำกับประสบการณ์มากขึ้น เราจะใช้เวลาในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนมากกว่าที่เคย

วาระดำรงตำแหน่งของคุณจะสิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคม มีพันธกิจอะไรที่คุณอยากส่งไม้ต่อให้ทูตคนต่อไปบ้าง 

แน่นอนว่าเป็นเรื่องของการสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์กันระหว่างผู้คน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมย้ำ และเป็นเรื่องที่สหภาพยุโรปให้ความสำคัญมาโดยตลอด ผมมั่นใจว่าท่านทูตคนต่อไปเข้าใจถึงพันธกิจนี้ของเราดี

ส่วนกับคนไทยนั้น ผมมองว่าเรามีจุดร่วมหนึ่งที่คล้ายกันมาก นั่นคือเราต่างมีสปิริตของการรักและรู้จักที่จะสนุกกับชีวิต ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากแค่ไหนก็ตาม ผมอยากให้คนไทยรักษาสปิริตนี้ไว้ต่อไป 

คุณอยากฝากอะไรให้คนไทยในสถานการณ์ที่ไม่ง่ายเท่าไรในการที่จะ ‘สนุกกับชีวิต’ ช่วงนี้ไหม

ขอให้เราเชื่อในอนาคต หมั่นฝึกฝนทักษะใหม่ๆ เรียนรู้ให้มากเท่าที่จะทำได้ เตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอเพื่อโอบรับโอกาสใหม่ๆ ในวันที่โลกกลับมาเปิดอีกครั้ง 

Fact Box

  • เปียร์ก้า ตาปิโอลา (H.E. Mr. Pirkka Tapiola) ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2017 โดยเปียร์ก้ามีประสบการณ์ทำงานระดับนานาชาติมากมาย รวมทั้งบทบาทการเป็นรองหัวหน้าคณะทูตจากฟินแลนด์ประจำประเทศไทย เมียนมา ลาว และกัมพูชา ในปี 1998-2001
  • 9 พฤษภาคมของทุกปี นับเป็น ‘วันยุโรป’ (Europe Day) นับจากวันครบรอบการจัดทำ ‘ปฏิญญาชูมันน์’ เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ส่งผลต่อการเกิดขึ้นของสหภาพยุโรปในวันนี้ โดยในทุกปีจะมีการเฉลิมฉลองสันติภาพและเอกภาพทั่วยุโรป
Tags: , , , , , , ,