ลวดลายฝีแปรงและการเย็บปักบนพื้นฐานรูปทรงเรขาคณิตหรือสัญลักษณ์ทางศาสนา ที่ร้อยเรียงเรื่องราวและแสดงถึงความศรัทธา กลายเป็นเอกลักษณ์ในงานศิลปะของ มาเรียม-ธิดารัตน์ จันทเชื้อ ศิลปินผู้กำลังมาแรงในแวดวงศิลปะร่วมสมัยบ้านเรา 

แต่ในนิทรรศกาลครั้งล่าสุด เธอปรับเปลี่ยนฝีแปรงและฝีปัก มาบอกเล่าเรื่องราวในชุมชนบ้านเกิด จัดแสดงพร้อมกับ ‘วัสดุ’ หรือ ‘ขยะ’ ที่พานพบในซอยอ่อนนุช-ลาดกระบัง ไม่ว่าจะเป็นกระป๋องน้ำอัดลมหรือขอบประตูหน้าต่าง

แม้มาเรียมเคยกล่าวว่า ไม่เคยคิดจะหยิบจับเรื่องราวในชุมชนมาทำงานศิลปะมาก่อน แต่ครั้งนี้เธอขอเปิดบันทึก (ไม่) ส่วนตัว เพื่อเป็นกระบอกเสียงและเล่าความจริงให้ทุกคนฟังว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนอ่อนนุชที่คนในไม่อยากออกคนนอกไม่อยากเข้า ดังชื่อนิทรรศการ ‘เมืองลับแล’ นั้นเป็นอย่างไร?

ชุมชนอ่อนนุชที่คุณอยู่เป็นเมืองลับแลอย่างไร

เวลาพูดถึงอ่อนนุชทุกคนจะมองว่า เป็นย่านชานเมืองที่เจริญ แต่บ้านเราคืออ่อนนุชที่เกือบจะถึงลาดกระบัง ไม่ใช่อ่อนนุชย่านพระโขนง เราเปรียบซอยตรงนี้เป็น ‘เมืองลับแล’ เพราะเป็นสถานที่ทิ้งขยะซึ่งอยู่มานานมาก ตั้งแต่เมืองยังไม่พัฒนา จนตอนนี้กลายเป็นสถานที่ทิ้งขยะกลางเมืองที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อชุมชน แต่คนในละแวกนี้ก็ต้องอยู่กันไปแบบชินๆ 

ยกตัวอย่างเรานั่งรถผ่านบริเวณซอยนี้จะได้กลิ่นเหม็นมาก เกิดคำถามว่าอยู่กันไปได้อย่างไร ทำไมไม่มีใครเข้าไปช่วย จึงเอามาตั้งเป็นชื่อนิทรรศการ ‘เมืองลับแล’ สถานที่ที่ไม่มีใครอยากเข้าไป หรือหากคนในพื้นที่มีโอกาสออกมาแล้วก็จะไม่กลับเข้าไปอีก เพราะไม่ใช่สถานที่ที่สวยงามนัก

นิทรรศการครั้งนี้หยิบขยะในชุมชนออกมาบอกเล่าอย่างไร

คือการหยิบเอาขยะหรือภาพวิวทิวทัศน์ในซอยมาบอกเล่า ไม่ใช่ว่าเราต้องการรีไซเคิลขยะมาเป็นงานศิลปะ แต่เราอยากเปิดเผยความจริงที่เกิดขึ้น เป็นจุดที่ไม่มีใครได้เห็น ความจริงเราไม่เคยคิดจะทำงานศิลปะที่เกี่ยวกับซอยบ้านตัวเองเลย

สาเหตุเพราะไม่อยากเอาเรื่องราวในชุมชนออกไปขาย มันคล้ายกับว่าเราเอาสิ่งพวกนี้มาขายโดยที่คนในชุมชนไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย แต่ครั้งนี้เราขอเล่าในฐานะตัวเอง มาบอกว่านี่คือความจริง คล้ายกับบันทึกประจำวัน

ไม่เคยคิดจะหยิบเรื่องราวในชุมชนมาทำงานศิลปะมาก่อน แล้วจุดเริ่มต้นนิทรรศการนี้มาจากไหน

ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เราอยู่กับตัวเองมากขึ้น และไม่ได้ออกไปไหน จึงเห็นสิ่งต่างๆ ในซอยบ้าน ยกตัวอย่างงานชิ้นนี้ คือภาพวาดโรงงานขยะที่ถูกปล่อยทิ้งร้าง ทำให้เราเห็นและตั้งคำถามว่า ปกติจะสร้างอะไรสักอย่างมันต้องใช้ไปเรื่อยๆ จนอายุมันหมดใช่ไหม แต่โรงงานนี้พองบประมาณหมด ปิดโครงการก็ทิ้ง และเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ได้วางแผนระยะยาว ไม่ได้แก้ปัญหา 

งานตัวนี้จึงอยากเสียดสีการทำงานของภาครัฐ มีสองรูปที่เป็นด้านกลับของกันและกัน ฝั่งหนึ่งคือทิวทัศน์ในโลกของมาเรียมที่คนมักจดจำว่างานเราต้องมีลักษณะแบบนี้ ต้องมีความเป็นอิสลาม แต่ฝั่งขวาคือโลกแห่งความจริง ที่ซึ่งศาสนาเป็นเรื่องความศรัทธาทางใจ คือบางคนหาเช้ากินค่ำก็ต้องใช้ชีวิตดิ้นรนไปเรื่อยๆ 

 

บันทึกว่าด้วยเมืองที่ ‘คนในอยากออก คนนอกไม่อยากเข้า’ มีอะไรอีกบ้าง

มันเป็นบันทึกเรื่องราวของเราที่ดันไปผูกกับการจัดการของภาครัฐและสังคม เช่นงานชิ้นนี้จะมีโทนสีครีม ออกเป็นสีโทนฝ้า ฉากหลังเป็นเมือง เราเขียนขึ้นมาในวันที่ค่าฝุ่น PM2.5 สูงมาก ปกคลุมเมืองเต็มไปหมด หากดูผิวเผินเหมือนจะถ่ายรูปสวย บางคนอาจจะคิดว่าหมอกหรือเปล่า แต่จริงๆ แล้วอันตราย จึงทำโทนสีนี้ออกมาช่วยบันทึกความทรงจำอีกทาง 

นอกจากสีโทน ‘ฝ้า’ ยังมีสีอื่นอีกไหมที่ปรากฏอยู่ในบันทึกของมาเรียม

สีชมพูค่ะ ตรงนี้เป็นภาพวาดที่มีขยะเป็นพิษ เราก็เปรียบสีชมพู สีม่วง เป็นสิ่งที่เป็นพิษ และพื้นดินมีสีส้มเพราะดินเสีย เนื่องจากในชุมชนเรามีการจัดการขยะหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเผาและการฝังกลบ จึงทำให้ดินไม่บริสุทธิ์ ทั้งที่เมื่อก่อนตรงนี้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม

เหล่านี้คือชีวิตเราจริงๆ แต่บางทีภาครัฐหรือโลกไม่มีใครอยากมองเห็นหรืออยากรับรู้ จึงผลักไสมันออกไป แต่มันดันเป็นสถานที่ที่เราอาศัยอยู่

ขยะที่หยิบจับในชุมชนมาบอกเล่ามีอะไรบ้าง

มีเหล็กดัดเก่า กระป๋องอัด ถ้าไปยืนตรงหน้าแท่นสามแท่นที่เราทำขึ้นมาเพื่อต้องการให้เป็นเหมือนกำแพงเมือง เพื่อให้ดูว่าคนในเมืองลับแลเขาอยู่กันอย่างไร ในกำแพงก็จะมีกระป๋องที่เราอัด ซึ่งมาจากคนในชุมชนที่ต้องการคัดขยะขาย หรือชั่งกิโลขาย

ส่วนเหล็กดัดก็ต้องการบอกเล่าเรื่องราวในชุมชน ที่ชาวบ้านหยิบเศษเหล็กต่างๆ มาเชื่อมเป็นประตูบ้านเป็นรั้วเอง 

นับว่าเป็นนิทรรศการที่ทำลายภาพจำงานศิลปะของคุณเยอะเหมือนกัน

ใช่ค่ะ งานนี้ยังมีการปักการเย็บเหมือนเดิม แต่หากย้อนมองการจัดนิทรรศการครั้งแรกเมื่อสิบปีที่แล้ว งานมาเรียมจะเป็นเรื่องศาสนาอย่างเดียว เพราะเมื่อก่อนเราไม่ได้เคร่งศาสนา แต่มีช่วงหนึ่งที่เราปรับตัวเข้ากลับสู่ศาสนามากขึ้น และใช้ศิลปะเป็นการบำบัด ก็เย็บปักถักร้อยอะไรไป คนเลยจำว่างานของมาเรียมต้องมีการเย็บปัก และเรื่องราวของศาสนา

จากปักผ้าเพื่อบำบัดสู่ลายเซ็นในงานศิลปะได้อย่างไร

เราเริ่มปักผ้าครั้งแรกเพราะเรื่องศาสนา และการที่เลือกงานเย็บเพราะเส้นด้ายเหมือนตัวแทนแม่ ตอนเด็กๆ ฐานะที่บ้านไม่ค่อยดีแม่ก็จะปักเสื้อผ้าให้เอง โตมาเราก็ทำตามแม่เพื่อลดค่าใช้จ่าย 

แต่ความพิเศษของเส้นด้ายคือถ้ามันอยู่เส้นเดียวโดดๆ มันจะอ่อน แต่หากมาร้อยเรียงเป็นแพจะแข็งแรง เราเลยนำมาใช้ในงานศิลปะ ประกอบกับใช้แพทเทิร์นรูปทรงเรขาคณิต หมายถึงความเป็น Infinity ไม่มีทางสิ้นสุด เหมือนกับพระเจ้าสร้างโลก ที่ซ้อนเกี่ยวกันไปเรื่อยๆ โดยในหลักการทางศาสนาหมายถึงสายสัมพันธ์ช่วยเหลือของพี่น้องมุสลิมทั่วโลก

คุณคิดว่าศาสนา ความเชื่อ และการเมืองไปด้วยกันได้ไหมในโลกศิลปะ

ไปได้ นี่เป็นแนวคิดแบบเก่าที่มองว่าไปด้วยกันไม่ได้ ที่ศิลปะต้องสวยงามเท่านั้น เราคิดว่ามันอยู่ที่ความรู้สึกเวลาเห็นชิ้นงานไหนแล้วให้ความรู้สึกกับเรามันก็คืองานศิลปะ 

หลายคนมักถามว่ามุสลิมกับงานศิลปะ ติดเงื่อนไขทางศาสนาไหม เพราะห้ามวาดรูปคน ตอนเราเรียนโรงเรียนศิลปะก็ต้องเรียนเพื่อศึกษา แต่ไม่ได้ส่งต่อรูปให้ใคร เราจะเก็บหรือทำลายทิ้งก็ได้ สิ่งเหล่านี้เลยไม่ใช่ปัญหาในการทำงานศิลปะของเรา เพราะจริงๆ ครอบครัวไม่ได้เคร่งครัดอะไรเลย เป็นเราต่างหากที่หันหน้ากลับเข้าหาศาสนาเอง เลยไม่มีใครมาจำกัด ก็พิจารณาทุกอย่างเองหมดเลย

คิดว่าเติบโตขึ้นไหมในนิทรรศการครั้งนี้

คิดว่างานแต่ละช่วงก็เปลี่ยนไปตามความรู้สึกเรา ณ ตอนนั้น และคิดว่าคงพัฒนาไปเรื่อยๆ ตามสิ่งที่เจอ เหมือนไดอารี่ที่ไม่ว่าข้างหน้าจะเปลี่ยนอย่างไร เราก็จะเขียนขึ้นมาในแบบของตัวเอง

อนาคตของมาเรียมในแวดวงศิลปะจะเป็นแบบไหน

เราคงจะทำงานศิลปะไปตลอดชีวิต ถ้าพระเจ้าจะประสงค์

 

Tags: , , , , , , ,