หาบเร่แผงลอย (Hawker Stall) สัญลักษณ์ที่อยู่กับกรุงเทพมหานครมานาน กลายเป็นเมืองที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นเจ้าแห่งสตรีตฟู้ดจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

ในปี 2017 ที่ผ่านมากรุงเทพฯ ครองอันดับ 1 ประเทศที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมามากที่สุดจากการสำรวจของ CNN รายงานจากหลายแหล่งก็บอกว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองหนึ่งในเอเชียที่ ‘คุ้มค่า’ สำหรับการเดินทางมาพักผ่อน 

สาเหตุหลักที่ถูกกล่าวถึง ไม่พ้นอาหารและเครื่องดื่มที่ราคาถูก แต่แม้ว่ากรุงเทพฯ จะเป็นเมืองที่เลืองลือเรื่องสตรีตฟู้ดรสเลิศ เครื่องดื่ม และแหล่งท่องเที่ยวตระการตา เดือนสิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา คณักรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) ได้ยกระดับการจัดระเบียบทางเท้า ทำให้หาบเร่แผงลอยถูกยกเลิกทั้งหมด เกิดเป็นข้อถกเถียงระหว่างผลประโยชน์ที่ขัดกันระหว่างผู้ใช้ทางเท้า ผู้ซื้อสินค้า และผู้ประกอบอาชีพจากหาบเร่แผงลอย

ในงานสัมมนา ‘แผงลอยกับการเมือง : การจัดการที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้บรรยายได้ถกและชี้ให้เห็นถึงการเติบโตของเมืองที่อาจเรียกได้ว่า  “ยิ่งเจริญ ยิ่งเหลื่อมล้ำ” ซึ่งขัดต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ได้ยึดเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ 

และทางเครือข่ายข่ายวิชาการสร้างเมืองเพื่อทุกคน จึงเสนอให้รัฐทบทวนถึงนโยบายจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยใหม่อีกครั้ง

โอกาสทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากัน

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) แสดงความเห็นว่า แนวคิดการจัดระเบียบหาบเร่และแผงลอยนั้นสามารถเป็นไปได้ หากค้นพบจุดกึ่งกลางระหว่างรัฐและตัวผู้ค้า ผู้ค้าอาจจะไม่จำเป็นต้องถูกกวาดล้างไปทั้งหมด แต่คนก็ต้องไม่ถูกบังคับให้ลงไปเดินบนถนนเพราะทางเท้าด้วย

ดร.สมชัย กล่าวว่า ปัจจุบันนั้นเศรษฐกิจไทยเติบโตในรูปแบบ “หัวโต ตัวลีบ” กล่าวคือ กลุ่มบุคคลที่ร่ำรวยอยู่ก่อนแล้วจะเติบโตได้อย่างเต็มที่จากเศรษฐกิจที่เติบโตในช่วงเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา

ในขณะที่ ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยอาจเป็นคนด้อยโอกาส ซึ่งคำว่า ‘ด้อยโอกาส’ ในที่นี้หมายถึงในแง่ของการประกอบอาชีพ การค้าแบบหาบเร่แผงลอยมักเป็นตัวเลือกทางอาชีพที่สร้างรายได้ให้แก่คนช่วงอายุ 40-50 ปี จบการศึกษาระดับ ป.3-6 ให้สามารถยังมีรายได้เลี้ยงชีพต่อไปได้ ดร.สมชัย เน้นย้ำว่า แท้จริงแล้ว หาบเร่แผงลอยนั้นมีข้อดีตรงที่เป็นแหล่งอาหารราคาถูกสำหรับประชาชนด้วย และการที่หาบเร่แผงลอยถูกยกเลิก อาจส่งผลให้ไทยสูญเสียรายได้ประชาชาติไปจำนวนมาก

การเติบโตของเมืองเป็นแรงกดดันสำคัญที่ส่งผลให้นโยบายนี้ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหา อาจจะต้องทำสัญญารูปแบบใหม่ โดยอาจให้ผู้ค้ารวมตัวกันอย่างชัดเจนและต้องช่วยกันควบคุมกันเอง (self-regulation) ซึ่งจะช่วยลดบทบาทของเจ้าหน้าที่เทศกิจลง และอาจทำให้สามารถกลับมาค้าขายได้อีก

กฎเกณฑ์ล้าสมัย และสิทธิในพื้นที่สาธารณะ

อีกประเด็นที่ทำให้แผงลอยมีบทบาทสำคัญ คือ การจัดการพื้นที่ของภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลให้อำนาจกรุงเทพมหานครในการจัดระเบียบทางเท้า

รศ.ดร. นฤมล นิราทร โครงการดุษฎีบัณฑิต สาขานโยบายสังคม คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่า ปัญหาหาบเร่แผงลอยไม่ได้รับการจัดการที่เหมาะสม โดยยังคงใช้นโยบายจัดระเบียบทางเท้าที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 แสดงให้เห็นว่ารัฐไม่ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

ที่มาภาพ REUTERS/Chaiwat Subprasom

ส่วน ผศ.ดร. อภิวัฒน์ รัตนวราหะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการตีความประเด็นความเป็นธรรมระหว่างผู้ค้าและคนเดินเท้า เนื่องจากมีคนจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่า การหาบเร่แผงลอยถือว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่เดินทางเท้า ซึ่งกรณีเรื่องทางเท้า ชวนให้คิดว่า แท้จริงแล้วนิยามของความเป็นธรรมคืออะไร อาจารย์มองว่า ตามแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ ทางเท้าถือเป็นสินค้าสาธารณะที่ถูกใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุด จากทั้งการใช้เป็นที่ตั้งขายของและสำหรับสัญจร

นอกจากนี้ ผศ.ดร.อภิวัฒน์ ยกตัวอย่างแนวคิดเรื่องความเป็นธรรมโดยอ้างอิงจากจอห์น รอลส์ (John Rawls) ว่า ความเป็นธรรมตามแนวคิดนี้จะต้องมีรูปแบบที่เปิดโอกาสให้คนในทุกชนชั้นของสังคมสามารถยืนบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกันได้ หรือคือการที่ทุกคนต้องมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน  ซึ่งในกรณีนี้ อาจจะต้องมีการวางกรอบใหม่ให้กับความเป็นธรรม เพื่อให้คนสามารถอยู่ร่วมกัน โดยให้แต่ละฝ่ายเข้ามามีความสัมพันธ์ในระดับชุมชน

‘จัดการ’ แทน ‘กวาดล้าง’ เพื่อรักษาพื้นที่ของวิถีชีวิต

ในมุมมองด้านการออกแบบพื้นที่ของเมือง ผศ.ดร. นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center – UDDC) มองว่า จุดสำคัญที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหา คือการออกแบบพื้นที่โดยเน้นไปที่ ‘การขยายทางเท้า’ เพื่อแบ่งปันพื้นที่บนถนนร่วมกัน

ผศ.ดร.นิรมลมองว่า หาบเร่แผงลอยเป็นเสน่ห์น่าท่องเที่ยวและสอดคล้องกับวัฒนธรรมการกินของคนไทย รวมทั้งดูดซับการว่างงาน อีกทั้งวิถีชีวิตคนเมืองเปลี่ยนแปลงไป ไม่สนับสนุนให้คนเข้าถึงอาหารได้ง่ายหรือสะดวกทำอาหารเองได้ นอกจากนี้ ประโยชน์สำคัญของหาบเร่แผงลอยไม่ได้เป็นเพียงแหล่งอาหารราคาถูก แต่ยังให้พื้นที่ที่ปลอดภัย มีผู้คนและมีแสงสว่าง แต่ทางเลือกในการแก้ปัญหาตอนนี้ คิดกันออกเพียงสองวิธี ระหว่าง ‘เอาออกไปให้หมด’ หรือ ‘ปล่อยไว้ให้เป็นแบบนั้น’

ผศ.ดร.นิรมลชี้ว่า เมื่อศึกษาปัญหาหาบเร่แผงลอยในระดับนานาชาติ พบว่าไทยไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่เผชิญปัญหาดังกล่าว สิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วก็เคยเผชิญกับปัญหานี้มาก่อน และใช้เวลาแก้ไขปัญหานานถึง 50 ปี โดยใช้แนวคิด ‘Clean and Green’

แรกเริ่มก็มีการไล่จับ แต่ไม่เป็นผล ในขณะที่ทางรัฐบาลเองตระหนักถึงข้อดีของหาบเร่แผงลอยว่าเป็นอาชีพที่ดูดซับการว่างงาน สุดท้ายจึงจัดสรรให้เป็น Hawker center ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมทางสังคม ภายในจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นส่วนกลาง เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ห้องน้ำ เป็นต้น อีกทั้งยังมีการจัดการให้เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ และสร้างความเป็นธรรมโดยใช้วิธีจับฉลากผู้ค้า

ตัวอย่าง Hawker centre ในสิงคโปร์ (Lau pa Sat food centre) ที่มาภาพ REUTERS/Edgar Su

หรืออีกกรณีที่น่าสนใจคือไต้หวัน ซึ่งจัดระเบียบให้หาบเร่แผงลอยค้าขายอยู่ภายในซอย โดยซอยดังกล่าวจะมีเพียงสตรีตฟู้ด ส่วนรัฐได้เข้ามาจัดการควบคุมเรื่องความสะอาด เช่น ห้ามเทน้ำมันลงท่อ มีการจ่ายคืนการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อนำเงินจำนวนนี้ไปใช้เป็นงบฯ รักษาความสะอาด เป็นต้น

ในตอนท้ายของการสัมมนา ทางเครือข่ายฯ ได้ออกแถลงการณ์เพื่อให้รัฐทบทวนมาตรการการค้าขายแผงลอยหาบเร่ อีกทั้งยังเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมจัดระเบียบผู้ค้าแผงลอย โดยระดมผู้ที่มีความรู้และศึกษาจากกรณีศึกษาจากต่างประเทศ และนโยบายดังกล่าวไม่ควรเป็นการจัดการแบบเฉพาะหน้า อาจมีการรวมกลุ่มกันของผู้ค้าเพื่อความร่วมมือในระยะยาว และมีหน่วยงานรับผิดชอบ ที่ไม่ใช่เพียงดูแลเรื่องพื้นที่ แต่คำนึงถึงมิติอื่นๆ เช่น ความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น

 

ที่มาภาพหน้าแรก REUTERS/Athit Perawongmetha

Tags: , , , , ,